Skip to main content
sharethis


ทันทีที่การนับคะแนนโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่เสร็จสิ้น "ประชาไท" คว้าข้อมือ "ไพโรจน์ พลเพชร" ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งเป็นวิทยากรในเวทีเสวนาแห่งหนึ่งพอดี มาพูดคุยถึงทัศนะและความหวังที่มีต่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทิศทางที่ควรจะเป็น ปัญหาเร่งด่วนในสายตาของภาคประชาชน ซึ่งไพโรจน์ระบุว่ามีอยู่ 3 ข้อหลัก ทั้งการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของทุกๆ ส่วนให้เหมาะสม ลงตัว ในการร่วมกันกำหนดทิศทางการเมือง, การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสุดท้าย การฟื้นและยึดหลักนิติธรรมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งเพื่อลดความเกลียดชัง สามงานหินที่รัฐบาลกำลังแบก และยังไม่มีใครบอกได้ว่างานนี้หมู่หรือจ่า


 


000


 


 


ภาพนายยกคนใหม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ไหม?


โดยปัจจัยทางการเมืองผมคิดว่ามีข้อจำกัดเยอะมาก หลังจากที่มีการโหวตคุณอภิสิทธ์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี คือตอนแรกข้อเรียกร้องคือการยุบสภา แต่ปรากฏว่าทางพลังประชาชนเขาไม่รับเงื่อนไขในเรื่องนี้ ในวิถีทางประชาธิปไตยมันก็ต้องเปลี่ยนขั้ว ซึ่งถ้าบอกมันเป็นการเปลี่ยนโดยสถาบันรัฐสภา ก็อาจจะใช่แม้ว่ามันจะมีแรงกดดันทั้งหลายฝ่าย แต่ว่ามันยังอยู่ในกระบวนการซึ่งมันเปลี่ยน ต้องเข้าใจข้อจำกัดการเมืองไทยว่า มันเป็นการเอาเสียงมาสู้กัน เราก็ไม่ได้เห็นพฤติกรรมที่แตกต่างในการตั้งรัฐบาลทุกๆ ครั้ง ก็คือว่ามีการเป็นมิตรกันอยู่ และพร้อมที่จะร่วมมือกันได้แม้ว่าจะมีขั้วที่ต่างกันในอดีตก็ตาม อันนี้ก็เป็นสภาวการณ์ทางการเมืองที่มันดำรงอยู่ 


 


นี่เป็นเรื่องที่เราเห็น ปรากฏการณ์ทางการเมืองแบบนี้ มันมีการย้ายขั้ว หรือที่มีความขัดแย้งกันก็สามารถรวมตัวกันได้อะไรทำนองนี้ จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าไม่มีมิตรแท้ หรือศัตรูถาวรในทางการเมือง ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ใช้กันมาตลอด


 


คิดว่ารัฐบาลนี้จะมีอายุยืนนานสักแค่ไหน?


ถามว่าแล้วมันจะอยู่ได้นานหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของรัฐบาลว่าจะมาแก้ปัญหา สามารถสร้างความชอบธรรมต่อเนื่องได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าตอนนี้เขามีความชอบธรรม มีคนเห็นและคาดหวังมากๆ ว่าจะแก้นู่นแก้นี่ในภาวะที่มีความขัดแย้งสูง


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งมี 3 เรื่องใหญ่ที่สำคัญ เรื่องแรกคือการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ดุลอำนาจทางการเมืองที่ไม่ลงตัว มีการต่อสู้กันทางการเมือง ไม่ลงตัวในผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะในชนชั้นนำทั้งหลาย ซึ่งอันนี้ข้อเรียกร้องที่ผ่านมาในระยะ 1 ปี คือ การปฏิรูปการเมือง เขาจะมีทิศทางหรือนโยบายต่อเรื่องปฏิรูปการเมืองอย่างไร นี่คือเรื่องใหญ่ของความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน


 


อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากซึ่งถ้าตีโจทย์นี้ไม่แตกก็ไม่สามารถจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจให้ลงตัวได้ ซึ่งความขัดแย้งอาจไปอยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่ว่าที่ลึกกว่านั้นคือความขัดแย้งในเรื่องการปฏิรูปการเมืองและสังคมที่แฝงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน ความแตกต่างระหว่างผู้คน ระหว่างคนชนบทกับคนเมืองทำไมมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ด้านหนึ่งมันสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย มันไม่ใช่ทางการเมืองอย่างเดียว ไม่ใช่ทัศนะทางการเมืองอย่างเดียว แต่มันหมายถึงความไม่เท่าเทียม ทำไมคนชนบทจึงไม่ได้รับผลของการพัฒนาที่เพียงพอ อันนี้ก็เป็นเรื่องสังคมแท้ๆ


 


รวมทั้งความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจที่ไม่ลงตัวต่างๆ ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการ ฐานะ บทบาท มันจะเป็นอย่างไร ใครจะมีบทบาท พรรคการเมือง นักการเมืองจะมีบทบาทในอำนาจรัฐแค่ไหน ราชการจะเข้ามามีบทบาทมากแค่ไหน สถาบันที่ใช้อำนาจไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตุลาการ หรือศาล จะเป็นอย่างไร นี่มันเป็นความขัดแย้งทั้งนั้นในปัจจุบัน รวมทั้งในเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือบทบาทการเมืองของภาคสังคม หรือภาคประชาชนจะมีบทบาท มีที่ยืน มีอำนาจมากแค่ไหน สามารถทำบทบาทใหม่ ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างไรในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ผมว่านี้คือสิ่งที่ไม่ลงตัวอยู่ทั้งสิ้น ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถตีโจทย์นี้ให้แตก ความขัดแย้งก็จะยังดำรงอยู่ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะสูงขึ้น และก็เป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลถูกกดดัน อายุรัฐบาลก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยนี้


 


ปัจจัยที่สองคือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบจากความรุนแรงของระบบทุนนิยมที่มันกระทบเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ มันจะไปกระทบกับชนชั้นล่างมาก โดยเฉพาะเรื่องที่มีการพูดกัน คือแรงงานจะต้องถูกปลดออก รัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไร แทนที่จะอุ้มชูภาคธุรกิจ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมทั้งที่ฝ่ายธุรกิจจะลดภาษีรายได้นิติบุคล ซึ่งเป็นการไป support กลุ่มธุรกิจโดยตรง จะมีมาตรการอย่างไรที่จะไปช่วยคนละดับล่าง โดยเฉพาะคนที่รายได้น้อย หรือแม้แต่เด็กที่จะจบออกมาไม่มีงานทำ หรือคนที่รายได้คงที่แต่อยู่ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่มันผันผวนตรงนี้จะทำอย่างไร


 


ถ้ารัฐบาลไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนต่อเรื่องเหล่านี้ คิดแต่แก้ไขภาคธุรกิจอย่างเดียว ผมว่าจะเป็นปัญหาต่อภาคคนยากไร้ ประชาชนทั่วไปมาก อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ เป็นเชื้อมูลที่จะทำให้รัฐบาลอายุสั้นได้


 


เรื่องที่สามเป็นเรื่องเฉพาะหน้า แต่เป็นเรื่องใหญ่มาก คือ ปัญหาเรื่องวิกฤติความขัดแยงที่ผ่านมา มันสร้างความเกลียดชัง สร้างความบาดหมางทั่วไปในสังคม เกิดความแบ่งฝักฝ่าย เกิดการเลือกปฏิบัติโดยใช้กฎหมายอย่างมากที่ผ่านมา


 


ทีนี้การที่จะลดความเกลียดชังลง ลดความขัดแย้งระหว่างผู้คน จำเป็นต้องนำหลักการอันหนึ่งมาใช้ให้ได้ในสังคมไทย นั่นคือหลักนิติธรรมที่จะต้องเป็นจริง หมายความว่าจะต้องมีการสอบสวน มีกรรมการหรืออะไรก็แล้วแต่เพื่อที่จะตรวจสอบกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ทั้งหมด ตั้งแต่การชุมนุมมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี อย่างน้อย 6-7 เดือน หรือ 9 เดือน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วด้านในสังคมไทย มันจำเป็นจะต้องเอาคนผิดก็ผิด ถูกก็ถูกออกมาให้ได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าฝ่ายไหน


 


2 ปีที่ว่านี้ ก็คือนับรวมตั้งแต่ที่มีรัฐประหารใช่หรือเปล่า?


ผมเข้าใจว่าถ้าเอาหลังรัฐประหารมา และช่วงที่มีการชุมนุมของพันธมิตรฯ ซึ่งคัดค้านเคลื่อนไหว เกิดความแตกแยก เกิดความรู้สึกที่ตัวเองไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากหลักกฎหมาย จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากอะไรต่างๆ เราจะเห็นข้อโต้แย้งกันอยู่เสมอๆ ใช้ไหม เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่มากถ้าไม่คลี่คลาย และยิ่งกว่านั้นก็คือ สังคมไทยมันจะต้องเจ๊ากันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว หมายความว่าพอจบเหตุการณ์ทุกอย่างก็โอเคจบ ไม่ต้องเอาผิดเอาถูกใครทั้งนั้นแล้วก็หมกเรื่องเหล่านี้ไว้ หมกปัญหา หมกความขัดแย้งเอาไว้ แต่ครั้งนี้สังคมไทยจะหมกเรื่องเหล่านี้ไม่ได้อีกแล้ว ต้องเปิดออกมา


 


เรียกว่าเป็นพันธะกิจของรัฐบาลชุดใหม่?


ถูก คือถ้าไม่ทำเรื่องนี้ ก็จะเป็นปมกลับมาอีก ผมยกตัวอย่าง เช่น จะดำเนินการทางกฎหมายกันพันธมิตรฯ ไหม จะดำเนินการกับคนที่เอาเอ็ม 79 หรือไม่ หรือการฆ่า หรือทำร้ายกันในหลายๆ พื้นที่ทั้งหมด


 


ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ?


ถูก ไม่ว่าเชียงใหม่ที่ถูกยิง ถูกฆ่า หรือการตีกันไม่ว่าที่บุรีรัมย์ ที่อุดรฯ ทุกพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งจากการเมืองทั้งหลายต้องสะสาง ถ้าไม่สะสางหรือสะสางไม่ดีก็นำไปสู่ความขัดแย้งอีก และมันนำไปสู่เงื่อนไขทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปมทางการเมือง ปมเศรษฐกิจก็นำไปสู่การเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งปมปฏิรูปการเมืองหรือสังคม เป็นปมทั้งหมดและเป็นภารกิจที่หนักมากสำหรับรัฐบาล


 


แล้วสำหรับเรื่องเร่งด่วนอันดับแรก ที่รัฐบาลควรจะทำเมื่อได้รับการจัดตั้งขึ้นมาแล้ว คืออะไร?


ผมคิดว่าทั้ง 3 เรื่องนี้ครับ เรื่องที่ 1 ก็คือการสะสางเรื่องที่เกิดขึ้น ต้องเอากฎหมายกลับมา ต้องทำให้เขารู้สึกว่ามันยุติธรรม รัฐต้องทำหน้าที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมที่ไม่เลือกปฏิบัติ เสมอหน้ากันทุกฝ่าย มันจึงจะทำให้รัฐสามารถสร้างภาวะการนำที่ได้รับการยอมรับนับถือจากฝ่ายประชาชนทั้งหมด เรื่องที่ 2 ก็คือเรื่องเศรษฐกิจที่ว่า โดยเฉพาะเรื่องภาวะคนว่างงาน คนตกงาน จะทำอย่างไรที่จะมีข้อเสนอที่จะชะลอคนตกงานได้ อะไรทำนองนี้ มาตรการเหล่านี้ต้องคิดให้ได้ เรื่องที่ 3 ปฏิรูปการเมืองต้องพูดให้ชัดว่าเราจะปฏิรูปการเมืองและสังคมด้วยกระบวนการอะไร ใครบ้างจะเข้ามามีส่วนร่วมปฏิรูปสังคมและการเมือง และมีภารกิจให้ชัดว่าจะทำอะไร ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว


 


รัฐธรรมนูญเป็นแค่เรื่องหนึ่ง เงื่อนไขหนึ่งของการสร้างการปฏิรูปการเมืองและสังคมแต่ไม่ใช่ทั้งหมด มันต้องมามองปมเรื่องการปฏิรูปการเมืองและสังคมเสียก่อนว่ามันมีเรื่องอะไรบ้าง หลังจากนั้นจึงมามองว่าใครควรที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยกันคิด ช่วยกันทำ แล้วหลังจากนั้นจึงบอกว่าจะทำอะไรบ้าง


 


เรื่องรัฐธรรมนูญ ในรัฐบาลชุดเก่าที่เป็นปัญหาเพราะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาแก้ไข สำหรับภาคประชาชนเองรัฐธรรมนูญควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจริงหรือเปล่า?


ใช่ แต่ว่าต้องมีโจทย์ของการปฏิรูปสังคมและการเมืองก่อน ก่อนที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ไม่อย่างนั้นมันมองภาพรวมไม่ออก อย่างที่ผมพูดตอนต้น ปัญหาทางการเมืองที่เป็นความขัดแย้งในปัจจุบันมาจากการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่ลงตัว ความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้คนในการเข้าถึงอำนาจ หรือการใช้อำนาจ และการมองโจทย์นี้ต้องมองเสียก่อนว่าจะปฏิรูปสังคมการเมืองอย่างไร และจึงจะนำไปสู่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องอะไร ซึ่งต้องเห็นพ้องต้องกันบางระดับก่อน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็บอกว่าจะแก้นู่นแก้นี่เหมือนสมัยที่แล้ว ซึ่งมันก็จะเกิดความขัดแย้งอีก เพราะไม่ได้เห็นพ้อง


 


มันต้องการภาวะของการนำ ผู้นำต้องมีภาวะในการนำที่เด็ดขาดพอสมควร พอที่จะชี้ไปข้างหน้า ซึ่งอันนี้เป็นเงื่อนไขทั้งนั้นว่ารัฐบาลจะอยู่ยาวหรือไม่ยาว อันนี้คือสิ่งที่ต้องทำ แต่แน่นอนว่าเนื่องจากมันร่วมหลายฝ่าย ความขัดแย้งมันมีแน่ๆ ในเรื่องผลประโยชน์ เรื่องอะไรต่างๆ


 


ขอย้อนไปตรงที่บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความชอบธรรม ช่วยขยายความให้ชัดอีกนิด ?


คือมันก็ไม่มีทางเลือกมากกว่านี้ ถูกไหมครับ เสนอยุบสภา ไม่ไป ทีนี้พอตั้งมันจะตั้งยังไง มันก็ต้องมีรัฐบาลขึ้นมาบริหาร อยู่ที่ว่าสถาบันรัฐสภามันแก้ปัญหาได้ไหมในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ก็หมายความว่าถ้าหากเรายังใช้สถาบันรัฐสภาในการแก้ปัญหามันก็ยังพอยอมรับได้อยู่ แม้ว่าบางฝ่ายอาจจะยังรู้สึกว่ามันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่ายังดีกว่าอย่างอื่น


 


แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่เห็นว่าประชาธิปัตย์ไม่ชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ดูจากภาวการณ์ก่อนหน้านี้ทั้งหมด  คิดว่าควรจะมีการบริหารความขัดแย้งตรงนี้อย่างไร?


ผมคิดว่ามันมาจากผลการปฏิบัติจริงๆ ด้วย เรื่องที่ผมพูดมาทั้งหมดมันเป็นเรื่องที่จะพิสูจน์ภาวะการนำของรัฐบาลว่าจะนำพาสังคมได้หรือไม่ แล้วก็จะทำให้เป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เท่านั้นเองเองที่มีทางเลือกอยู่ เพราะว่ามีคนตรวจสอบ ก็เหมือนกับตอนที่ฝ่ายพลังประชาชนขึ้นแล้วอีกฝ่ายเป็นคนตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ในทางกลับกันก็ต้องถูกตรวจสอบอย่างหนักหน่วง


 


ทีนี้ถ้าคุณยิ่งเดินไปในหนทางหายนะ คุณไม่แก้ปมบางอย่าง คุณก็จะเจอเหมือนกัน


 


มองอย่างไรกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง มันมีแนวโน้มลุกลามเหมือนการชุมนุมของพันธมิตรฯ ไหม? 


ผมยังไม่อยากมองให้เลวร้าย ไม่อยากเล็งผลร้ายขนาดนั้น แต่แน่นอนว่าเขามีสิทธิจะคัดค้าน ตรวจสอบ แต่ว่าอยู่ในกรอบไหนเท่านั้น ผมคิดว่าเขาก็มีความเห็นได้ ประชาชนอยากตรวจสอบ ไม่เห็นด้วยต้องแสดงออกได้ ต้องยืนหลักการนี้ เพียงแต่ว่าประชาชนจะตรวจสอบรัฐบาลไหนก็ตาม มันสามารถสร้างการยอมรับในสังคมขึ้นมาจนสังคมเห็นพ้องหรือไม่ว่าสิ่งที่รับบาลทำมันไม่ถูก ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เป็นเรื่องปกติ


 


หมายความว่า พันธมิตรฯ ชุมนุมแล้วได้ผลทางการเมืองออกมาเป็นอย่างที่ตั้งใจ คนเสื้อแดงก็ชุมนุมได้?     


ชุมนุมได้ ต้องแสดงออกได้ เพียงแต่ว่า... รัฐบาลต้องมีหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้ หมายความว่าคุณจะยอมรับข้อเรียกร้องได้มากขนาดไหน จะสร้างให้คนเข้าใจได้มากขนาดไหนว่าข้อเรียกร้องนี้ใช้ได้ ไม่ได้ มันเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลทำอยู่แล้ว


 


ถ้าจะไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่บานปลายจนเป็นความสูญเสียอีก รัฐบาลก็ต้องสะสางเรื่องเก่าให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ว่าต้องเดิน ต้องสามารถใช้กลไกรัฐจัดการกับความขัดแย้งได้ ใครทำความผิดกฎหมาย ใครสร้างความรุนแรง ต้องโดนดำเนินการทางกฎหมายไม่ว่าเรื่องที่ผ่านมาหรือว่าเรื่องที่จะเกิดขึ้น ตรงนี้สำคัญเพราะจะทำให้รัฐมีฐานะ มีบทบาทจริงๆ มีอำนาจปกครองได้จริง


 


บทบาทของภาคประชนเองในความขัดแย้งที่ผ่านมา วางตัวเองในระดับไหน เพราะที่ผ่านมาจะมีคำถามว่าทำไมภาคประชาชนไม่ออกมาแสดงบทบาทที่ชัดเจน?


ที่จริงผมว่าเราแสดงชัดว่าเราไม่เอาทั้ง 2 ฝ่าย เราแน่ชัดอยู่ แต่แน่นอนว่าภาคประชาชนเรามีหลาย section มันอาจะมีท่าทีทางการเมืองแตกต่างกับไปบ้าง แต่ว่าถ้าพูดถึงโดยรวมในนาม กป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน) เราก็ไม่เอาทั้ง 2 ฝ่าย คือเราเชื่อว่านี่คือความขัดแย้งของชนชั้นนำที่ไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเราคัดค้านความรุนแรง เราคัดค้านรัฐประหาร เราก็ยืนยันจุดนั้นมาตลอด  


 


คิดว่าอะไรคือทางออกของปัญหาความขัดแย้ง ณ ปัจจุบัน?


ที่จริงผมตอบไปแล้วนะว่ามัน... คือแน่นอนว่ารัฐบาลเป็นปัจจัยหนึ่งของความขัดแย้ง เพียงแต่รัฐบาลเป็นปัจจัยหลังนั่นเพราะรัฐบาลมีอำนาจที่จะใช้อำนาจได้ ที่จะคลีคลายปัญหากลับได้ เป็นตัวกระทำหลัก เพราะว่าอยู่ในฐานะผู้กุมอำนาจรัฐปกครองประเทศ เพราะฉะนั้นเขาต้องแสดงบทบาทเป็นหลัก มากกว่าจะให้ฝ่ายอื่นๆ


 


สำหรับภาคประชาชนเองคิดว่าจะมีการขับเคลื่อนอะไรในรัฐบาลสมัยต่อไป?


ผมคิดว่าเราพูดถึงการปฏิรูปสังคมและการเมืองที่เป็นปัญหาปมเงื่อนของสังคมไทย ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสังคมและการเมืองก็ยังดำรงอยู่ ที่จริงหลายเรื่องอยู่แล้ว ทุกมิติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปสังคมการเมืองที่เราต้องขับเคลื่อน รวมทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของพี่น้องประชาชน ในอย่างน้อยรัฐบาลสูญเสียโอกาสตั้งเกือบ 2 ปีกว่า ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน อันนี้คือปัญหา


 


เพราะฉะนั้นรัฐบาลใหม่แน่นอนว่าต้องมาแก้ปัญหาที่มีเยอะแยะไปหมด ปัญหาที่ดินทำกินยังดำรงอยู่ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหลายที่อาจมีการเดินหน้า ทั้งเรื่องเขื่อน โครงการผันน้ำ เรื่องอะไรต่อมิอะไรจำเป็นต้องทบทวนหมด เพราะว่าเรื่องเหล่านี้มันทับถมปัญหาของประชาชนและไม่ได้รับการดูแลเลย ที่จริงตั้งแต่รัฐประหารมาแล้วปัญหาพวกนี้ไม่ได้รับการดูแลเลย


 


เกือบ 2 ปี ที่จริงตั้งแต่เริ่มมีการคัดค้านก็เป็น 2 ปีกว่า เรื่องพวกนี้ไม่ได้รับการพูดถึงเลย ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญอยู่ที่เราจะเห็นว่าจำเป็นจะต้องมาแก้


 


ข้อเสนอทั้งระยะยาวและระยะสั้นในส่วนของปัญหาที่พี่น้องประชาชนเผชิญอยู่ ระยะยาวก็คือการปฏิรูปสังคมและการเมือง ผมคิดว่าที่เราทำมาก็ต้องยืนยันที่จะทำต่อ ส่วนปัญหาเฉพาะหน้า คือผลของปัญหาที่เพิ่มเติมจากวิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาโครงการขนาดใหญ่ที่ผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ปัญหาเรื่องทรัพยากร เรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาเรื่องหนี้สิน ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ปัญหาเหล่านี้ก็ยังเป็นปัญหาที่รัฐต้องเอาใจใส่ทั้งสิ้น  


 


ต่อไปจะมีการขับเคลื่อนอย่างไร?


อันที่จริงยังไม่ได้หารือกันมา แต่เข้าใจว่าคงจะมีการเสนอข้อเสนอใหม่ต่อรัฐบาลอะไรกันบ้าง เราอาจจะต้องคุยกันและต้องดูว่าองค์ประกอบมันเป็นแบบไหน แต่ว่าเรามีข้อเสนออยู่แล้วคร่าวๆ 3 เรื่องที่ผมพูดถึง เป็นแกนหลักของแนวคิด เรื่องปฏิรูปสังคมการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาวิกฤตคนยากไร้ ปัญหาเฉพาหน้าของพี่น้องประชาชนที่เผชิญอยู่ตอนนี้ ปัญหาที่ดิน ปัญหาโรงงานขนาดใหญ่ รวมทั้งปัญหาที่สำคัญคือการสะสางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ในช่วงที่ผ่านมาทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาที่เป็นพันธกิจที่รัฐบาลต้องทำ


 


ก็เป็นเรื่องความคาดหวังอยู่ดี ซึ่งผมก็ได้ได้คาดหวังว่ารัฐบาลจะทำอะไรได้มาก เพราะว่ามันมีข้อจำกัดทั้งนั้นไม่ว่าพรรครัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร แต่ว่าเราคิดว่านี่คือปัญหาของสังคมไทยที่เรามอง เพราะฉะนั้นรัฐบาลเห็นหรือมีทิศทางต่อปัญหาเหล่านี้ มันอาจจะไม่คลี่คลายไปในระยะเวลาอันสั้น แต่ถ้ามีทิศทางของการเดินหน้าว่าจะแก้ มีความตั้งมั่น มีความมุ่งมั่นทางการเมืองหรือไม่ อันนี้สำคัญ


 


รัฐบาลที่ผ่านมา ความมุ่งมั่นทางการเมืองไม่มี มีแต่เรื่องการตัดสินประโยชน์ทางการเมืองเสียมากกว่า ทุกรัฐบาลเป็นลักษณะแบบนั้น เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเรื่องข้อเสนอเรื่องความมุ่งมั่นทางการเมือง ในการที่จะแก้ปัญหา ที่เขาเรียกนโยบายทางการเมืองที่ไม่ใช่ผลประโยชน์ทางการเมือง แท้ที่จริงคือผลประโยชน์ของประชาชน นั่นแหละคือประเด็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net