Skip to main content
sharethis


ในการประชุมวิชาการ "ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม" ซึ่งจัดโดย โครงการจัดตั้งศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (RCSD) สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม 2551 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่นั้น


 


ในช่วงเช้าวันนี้ (22 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. มีการอภิปรายหัวข้อ "นโยบายของรัฐและความหลากหลายของชาติพันธุ์" โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม มูลนิธิเล็กประไพ-วิริยะพันธุ์ ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ สถาบันวิจัยภาษาเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณพิชัย รัตนพล อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.ยศ สันตะสมบัติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


 


"ศรีศักร" หวั่นชาตินิยมรวมศูนย์พ่นพิษ เชื่อถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดก็รอวันเจ๊ง


รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อภิปรายหัวข้อย่อย "รัฐกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์" กล่าวว่า ประวัติศาสตร์รัฐที่รวมศูนย์แบบเชื้อชาตินิยมกำลังพ่นพิษ ตัวชาตินิยมถูกใช้เป็นเครื่องมือแต่จัดการความเรียบร้อยของสังคมไม่ได้ เห็นได้จากความขัดแย้งเร็วๆ นี้ที่เป็นความขัดแย้งของคนสองภูมิภาค คือภาคเหนือและภาคอีสานที่มีฐานทางสังคมที่ต่างจากภาคกลางและภาคใต้ มันต่างกันมาก


 


"ขณะนี้ ถ้าเรายังอยู่ยืนในรัฐแบบรวมศูนย์ คิดแบบเชื้อชาตินิยมก็เจ๊งลูกเดียว รอวันฆ่ากันตาย ประเทศไทย 63 ล้านคนคนเพิ่มขึ้นมาก ประเทศมาเลเซียเล็กๆ ทำไมเขามีลักษณะเป็น federation (สหพันธรัฐ) ทำไมต้องแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม เพราะเขาต้องตอบสนองต่อความหลากหลายในภูมิภาค แต่ของไทยเอาไปรวมศูนย์กันหมดเลย ผมคิดว่าถ้าตราบใดที่มองแบบรวมศูนย์ ฉิบหายลูกเดียว จะต้องปะทะกันต่อไป" รศ.ศรีศักรกล่าว


 


 


ชี้หลังพัฒนาเศรษฐกิจ เกิดโลกาภิวัตน์จากท้องถิ่น


รศ.ศรีศักร กล่าวต่อไปว่าการจะมองเห็นวัฒนธรรม ต้องมองเห็นความเป็นสังคม ระบบเศรษฐกิจทุกวันนี้ทำให้ครอบครัวชุมชนแตกเป็นปัจเจกหมด คนอยู่บ้านจัดสรรอยู่กันแบบไม่มีหัวนอนปลายเท้า ถ้ามองย้อนหลังประวัติศาสตร์สังคมที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ถึงปัจจุบันเราเห็นการเปลี่ยนผ่านจากสังคมชาวนาสู่สังคมอุตสาหกรรม


 


ทั้งนี้แต่เดิมสังคมชาวนา ไม่ได้มีเฉพาะสังคมบ้านอย่างเดียว แต่มีความสัมพันธ์กับการใช้พื้นที่สาธารณะทำให้คนมาอยู่รวมกัน ความหลากหลายของชาติพันธุ์คนในสังคมชาวนาท้องถิ่นแต่เดิมไม่ปรากฏความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ แต่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่งยุคพัฒนาสมัยจอมพลสฤษดิ์ เริ่มมีการแย่งพื้นที่สาธารณะของชุมชนทำให้เกิดการแตกแยก ผลจากการพัฒนาทำให้ชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลายด้วยชาติพันธุ์เริ่มแตกสลาย และมีการนำคนท้องถิ่นเข้ามาเป็นแรงงานในกรุงเทพมหานคร


 


คนอีสานที่เข้ามาในกรุงเทพฯ ก็นำไก่ย่าง ส้มตำ การเป่าแคน เข้ามาด้วย เป็นการเปลี่ยนสังคมชาวนาเป็นสังคมกรรมกร ที่น่ากลัวที่สุดคือยุคที่เศรษฐกิจที่กำลังพัง คนที่เป็นกรรมกรต้องกลับบ้าน แต่เขากลับไปทำงานที่บ้านเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว แต่เดิมแม้เขาไม่มีที่ดินทำกินเขายังอาศัยพื้นที่สาธารณะป่าไม้ ลำธารได้ แต่ปัจจุบันกลับไปไม่มีที่เหลือแล้ว ก็แตกสานซ่านเซ็นไป เกิดเดือดร้อนมาก จึงต้องมาคิดว่าการเปลี่ยนแปลงขณะนี้จะทำอย่างไรให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะเกิดจากรัฐคงเป็นไปได้ยาก แต่น่าจะช่วยกันทำเกิดโดยสิทธิเข้าถึงที่ดินโดยคนในท้องถิ่น


 


การพัฒนาทางเศรษฐกิจยังทำให้เกิด Ethnic City ในเมืองด้วย โดยคนหลายกลุ่มที่เข้ามาทำงานในเมือง เช่น พบว่าคนอีสานที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เขาก็นำภาษา วิถีปฏิบัติแต่เดิมมาเชื่อมเพื่อให้เขาอยู่รวมกันในเมืองได้ หรืออัตลักษณ์ชาวจีนใน จ.นครสวรรค์ แต่เดิมก็ไม่ได้โดดเด่นแบบนี้ ปัจจุบันมีการจัดงานเชิดสิงโต มีศาลเจ้าจีนที่แทบจะแทนศาลหลักเมือง จ.นครพนม ก็เช่นกัน คือความเป็นชาติพันธุ์เริ่มปรากฏขึ้นมา


 


 


"สุวิไล เปรมศรีทัศน์" เผยไทยหลากหลายทางภาษา


ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีทัศน์ อภิปรายหัวข้อย่อย "นโยบายด้านภาษาสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทย" โดยกล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมของคนในชาติ เพราะประชากรในเอเชียอาคเนย์มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกัน จากงาน "แผนที่ภาษาในประเทศไทย" พบว่าประชาชนมีความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติมาก


 


โดยประเทศไทยมีภาษาถึง 70 กลุ่มภาษา แบ่งตามความสัมพันธ์เชิงเชื้อสายแบ่งได้ 5 ตระกูล ได้แก่ 1.สกุลภาษาไท 2.สกุลออสโตร-โอเชียติก หรือมอญ-เขมร ซึ่งเชื่อว่าเป็นคนดั้งเดิมของภูมิภาคนี้ 3.สกุลจีน-ทิเบต 4.สกุลออสโตรนีเซีย โพลีนีเซียน ได้แก่กลุ่มชาวเกาะ และคนมาเลย์ 5.สกุลม้ง-เมี่ยน และมีภาษาไทยมาตรฐานมาจากภาษาไทยกลางคนสมัยสำเนียงทำนองอยุธยาซึ่งเป็นเมืองหลวงเป็นเวลานานใช้เป็นภาษากลาง ภาษาราชการใช้เชื่อมโยงกลุ่มคนต่างๆ ถือว่าสังคมมีความหลากหลายไม่ได้แยกกันเป็นกลุ่มแต่อยู่อย่างปะปนกันในไทย


 


ประเทศไทยมีลักษณะพหุภาษาและพหุวัฒนธรรม นับได้ว่ามีความสัมพันธ์เป็นสังคมต่อกัน มีภาษาไทยกลางหรือภาษาไทยมาตรฐาน มีภาษาไทยภูมิภาค ได้แก่ ภาษาลาวอีสาน ภาษาเหนือหรือคำเมือง ภาษาปักษ์ใต้ ในชุมชนท้องถิ่นมีภาษาไทยถิ่นต่างๆ มีภาษาพลัดถิ่นเพราะบรรพบุรุษได้อพยพเข้ามาเพราะการเมือง หรือสงคราม เช่น กลุ่มลาวเผ่าต่างๆ


 


มีภาษาในตลาดเช่น จีน เวียดนาม มีภาษาเขตชายแดน มีภาษาในวงล้อมเป็นกลุ่มเล็กๆ น้อยๆ คนพูดภาษาต่างๆ เหล่านี้กระจัดกระจายทั่วประเทศ โดยคนในชุมชนท้องถิ่นปกติมีสามารถในการพูดได้มากกว่า 1 ภาษา คือ พูดภาษาของตัวเอง ภาษาของภูมิภาค และภาษาไทยกลาง สะท้อนภูมิปัญญา ปรัชญา และระบบคิดด้านภาษา


 


 


หวั่นโลกาภิวัตน์ทำภาษาถิ่นสูญ ชวนภาครัฐ-วิชาการ-ชุมชน ร่วมจัดการศึกษา


ศ.ดร.สุวิไล กล่าวว่า ปัจจุบันโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วรวมทั้งภาษา ความเข้มข้นของการใช้ภาษาลดลง การใช้ภาษาท้องถิ่นเริ่มถดถอยลง ทั้งนี้เกิดจากนโยบายด้านภาษาของรัฐที่ส่งเสริมภาษาไทยกลาง การมีระบบการศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวย คือไม่มีพื้นที่ให้ภาษาท้องถิ่น และเยาวชนไม่สนใจภาษาท้องถิ่นของตนเอง ลักษณะถดถอยทางภาษาเหมือนเสื่อมถอยทางพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ และก็เกิดทั่วโลก นักภาษาศาสตร์เกรงว่า 60-90% ของภาษาในโลกจะสูญสิ้นไปในศตวรรษนี้ เหลือแต่ภาษาใหญ่ๆ เช่น ภาษาราชการ และภาษาที่อยู่ในระบบสื่อมวลชน


 


ทั้งนี้ในประเทศไทยมี 14 ภาษาที่อยู่ในวิกฤตใกล้สาบสูญ หมายถึงเป็นภาษาที่ไม่พบที่ไหนในโลกนอกจากพื้นที่นั้นแห่งเดียว เป็นภาษาที่ไม่มีหน้าที่ทางสังคม และไม่มีคุณค่าต่อไป ทำให้เยาวชนไม่เห็นประโยชน์ก็ไม่เรียนหันไปเรียนภาษาใหญ่ๆ


 


ศ.ดร.สุวิไล กล่าวว่าความสูญเสียของภาษาจะเป็นการเสียระบบความรู้ความคิดภูมิปัญญาต่างๆ เพราะมนุษย์ใช้ภาษาเพื่อสื่อสารความคิดความรู้ระหว่างกันระหว่างกลุ่มบุคคล การสูญเสียภาษาจะสูญเสียองค์ความรู้ที่ผูกติดภาษา เสียเครื่องมือในการเรียนรู้กัน และเสียอัตลักษณ์ในกลุ่ม เสียความมั่นใจ เป็นลักษณะที่เกิดทั่วไปกับกลุ่มภาษาชาติพันธุ์


 


นอกจากการถดถอยทางภาษาแล้ว นอกจากปัญหาสูญเสียอัตลักษณ์ แล้วยังเกิดปัญหาระดับลึก เพราะคนยังเข้าไม่ถึงการศึกษาและการบริการของรัฐ ทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น และเกิดปัญหาผู้ไม่รู้หนังสือ ทำให้กลายเป็นปัญหาสังคม คนอ่อนแอ พัฒนายาก และเกิดการต่อต้านสังคม


 


ทั้งนี้ทั่วโลกตระหนักปัญหาเหล่านี้ จึงมีความพยายามรณรงค์ให้ทุกคนได้รับการศึกษา การศึกษาเพื่อทุกคน ไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ย่อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ ทุกกลุ่มควรเข้าถึงระบบการศึกษา การจัดการศึกษาที่เหมาะสมต้องนึกถึงการนำภาษามาใช้ที่เหมาะสม ระบบการศึกษาเดิมใช้แต่ภาษาไทยกลาง การศึกษาควรจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ดำรงอัตลักษณ์ของตนเองและเป็นคนไทยด้วย คือไม่ละทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่ได้ทั้งสองสิ่ง ดังนั้นจึงมีความพยายามของท้องถิ่น จัดการศึกษาเอง


 


ศ.ดร.สุวิไล อธิบายแนวทางการฟื้นฟูภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤตและถดถอยว่ามีสองแนวทาง คือหนึ่งอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษา พัฒนาภาษา ไม่มีภาษาเขียนก็ให้มีการเขียน นำภาษานั้นไปใช้ในระบบโรงเรียน ใช้ในสื่อท้องถิ่น มีวิชาภาษาท้องถิ่นในโรงเรียน เช่น ภาษาชอง ที่มีสอนมา 3-4 ปีแล้ว อีกกลุ่มที่อยู่ในเขตชายแดน ก็พยายามใช้ภาษาแม่ของเด็ก และภาษาราชการจัดการเรียนการสอนควบคู่กันไป ใช้ภาษาท้องถิ่นก่อนเพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่เครียด โดยขณะนี้มีการทดลองทำเช่นใช้ภาษามลายูถิ่นในเขตภาคใต้ มีการวิจัยเชิงปฏิบัติการด้วย


 


 


อดีต สมช. เสนอฝ่ายความมั่นต้องมองความหลากหลายเป็นปัญญาไม่ใช่ปัญหา


นายพิชัย รัตนพล อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อภิปรายในหัวข้อย่อย "ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และความมั่นคงของชาติ" โดยกล่าวว่าในอดีต รัฐอาจมองความแตกต่างเป็นปัญหา แต่ในอนาคตต้องกลับมาคิดใหม่ว่าความแตกต่างโดยเฉพาะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งมีคุณค่า เป็นประโยชน์ ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับมนุษย์ เพราะวัฒนธรรมเป็นแหล่งที่มาสำคัญของปัญญา ชาติใดมีวัฒนธรรมมากย่อมมีปัญญามาก สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดี คือมีความหลากหลายและสามารถสร้างชาติโดยประชาชน ดังนั้นสังคมต้องเปลี่ยนมิติคิดจะกลับไปเป็นแบบเก่า เลิกมองความหลากหลายเป็นเรื่องของการท้าทายรัฐ เป็นเรื่องยอมไม่ได้ คงต้องยอมรับว่าความแตกต่างเป็นคุณค่า เป็นปัญญา เป็นประโยชน์ เวลามีวิกฤตจะได้หาทางออกได้ ถ้ารวมศูนย์จะหาทางออกไม่ถูกเพราะคิดคับแคบ


 


นายพิชัย ซึ่งเป็นอดีตรองเลขาธิการ สมช. ยังกล่าวว่าเขารับราชการมา 45 ปี ปัญหาภาคใต้ยังวนอยู่ที่เดิมไม่ได้เปลี่ยนเลย ปัจจุบันนี้ประชาชนและนักวิชาการมีทัศนคติดีขึ้น แต่วิธีคิดของฝ่ายความมั่นคงยังยากที่จะข้ามผ่าน


 


ดังนั้นจึงต้องมองวิธีใหม่ ประการแรกคือมองว่าความต่างไม่ใช่ปัญหา แต่เป็น ปัญญา ต้องเลิกหลอกตัวเอง และเรียนรู้กับมัน จะได้รู้ว่าชาวเขามีภูมิปัญญารักษาป่า หรือพี่น้องชาวใต้มีวิธีอยู่ในสังคมอย่างร่มเย็น ต้องเปลี่ยนวิธีคิดไปเลย


 


"อดีตเน้นว่า ขอให้รั้วแข็งแรง มียามมีตำรวจ แต่คนในบ้านทะเลาะกัน ไม่มีความสุข ไม่เป็นไร เพราะเรามีอำนาจ เราสั่งการได้ สั่งปุ๊บก็หยุดเลย บัดนี้ไม่ใช่แล้ว ผมไม่ได้มองว่าประชาชนแต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่อย่างนั้นอีกแล้ว ถ้าคนในบ้านไม่รักกัน มีกำลังเท่าไหร่ ตำรวจกี่หมื่นก็เอาไม่อยู่ จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องความมั่นคงของชาติ" นายพิชัยกล่าว


 


ประการที่สอง ต้องทำให้คนที่แตกต่างมีที่ยืนในสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจกันแล้วว่า บางคนคิดว่ายอมมันได้อย่างไรไปคุย บางคนคิดว่าขืนไปคุยก็แพ้ เราต้องเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ให้ประชาชนรู้กฎหมาย รู้สิทธิ และรู้จักตรวจสอบ การเพิ่มอำนาจให้ประชาชนมากเท่าไหร่ ก็ถือเป็นการเพิ่มความมั่นคงด้วย ถ้าคนรู้สึกว่าไม่ได้พิงฝา ไม่ได้อยู่ชายขอบ สามารถภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเองสิ่งนี้จะเป็นพลังมหาศาล การเข้าใจมิติความมั่นคงต้องเปลี่ยน รัฐต้องร่วมมือประชาชน ให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น


 


ส่วนอุปสรรคสำคัญคือรัฐไม่ถามตัวเอง ไม่โทษตัวเองว่าทำไมประชาชนไม่รักเรา มีแต่กลัวคนอื่นมาแย่งความรักของประชาชนไปจากตนไป ต้องมาดูว่าตัวเองแก้ปัญหาอย่างสอดคล้องไหม ประชาชนต้องการสิทธิของอัตลักษณ์แต่รัฐกลับให้อย่างอื่น ดังนั้นรัฐต้องแก้ให้ตรงจุด คือต้องเคารพซึ่งกันและกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน สังคมจะสามารถพัฒนาไปเอง แทนที่จะมองความหลากหลายอย่างไม่ไว้ใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพียงแต่ว่าจะมีใครกล้าเดินข้ามวัฒนธรรมอำนาจ วัฒนธรรมอุปถัมภ์


 


นายพิชัยได้ยกตัวอย่างการข้ามไม่พ้นวัฒนธรรมอำนาจสองเรื่อง เรื่องแรกคือที่ศาลากลางเชียงใหม่ ที่มีชาวเขามาชุมนุมโดยบอกว่ามาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็หาว่าเขารับเงินต่างชาติ


 


เรื่องที่สองที่นายพิชัยยกคือกรณีชายแดนใต้ ที่บางมหาวิทยาลัยให้ขอมีคณบดีของในวิทยาเขตท้องถิ่นเอง แต่ผู้ใหญ่ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยบางคนกลับบอกว่าจะให้แขกเป็นใหญ่หรือ ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาได้ยินมาเองใน พ.ศ.นี้ และเขายังตัวอย่างว่าเมื่อสองเดือนที่แล้วในกรรมการสภาวิจัยฯ เรื่องศึกษาประวัติศาสตร์ปัตตานี ปรากฏว่ามีแต่คนไทยพุทธ ตนในฐานะกรรมการสอบก็ถามว่าทำไมไม่มีนักวิชาการมุสลิมในพื้นที่ เพื่อให้เขาภาคภูมิใจด้วย แต่นักวิชาการก็ตอบว่าก็ได้จ้างเป็นนักวิจัยแล้ว ผมก็ถามว่าถ้าให้เขาเป็นนายไม่ใช่ลูกน้องจะยอมไหม เขาก็เงียบไป ไม่มีคำตอบ นายพิชัยกล่าวในที่สุด


 


 


ข่าวจากการประชุม "ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม" ที่เกี่ยวข้อง


ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: "ศรีศักร วัลลิโภดม" หวั่นชาตินิยมรวมศูนย์พ่นพิษ ไม่เปลี่ยนวิธีคิดก็รอวันเจ๊ง, 23/12/51


ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: "หมอโกมาตร" ย้ำอคติชาติพันธุ์ในระบบสุขภาพ, 23/12/51


ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: 6 ปีหลักประกันสุขภาพ "ไม่" ถ้วนหน้า ลอยแพชาว "สยาม" ในดินแดนไทย, 23/12/51


ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: เสนอไปให้ไกลกว่า "อคติชาติพันธุ์" ไม่ควรมองข้าม "อคติทางชนชั้น", 24/12/51


ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: สายชล สัตยานุรักษ์อภิปราย "ชาตินิยม วัฒนธรรม และความขัดแย้ง", 25/12/51


ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: ปาฐกถานำโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, 28/12/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net