Skip to main content
sharethis

วานนี้ (23 ธ.ค.51) ภายหลังงาน เวทีผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ปี 255 1 ซึ่งจัดโดยสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) นางสาวจุฑา สังขชาติ ผู้แทนจากศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า ผู้บริโภคในภาคใต้มีความตื่นตัวในเรื่องสิทธิมากขึ้น โดยมีปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินมากที่สุด เนื่องจากชาวบ้านนิยมใช้งานจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะใช้เพื่อเอาไว้รอรับสาย จึงทำให้ชาวบ้านต้องเติมเงินอยู่ตลอดเพื่อไม่ให้หมดอายุการใช้งาน ซึ่งความจริงแล้ว การใช้งานแบบนี้เหมาะสำหรับการใช้โทรศัพท์พื้นฐาน แต่จากอดีตถึงปัจจุบัน โทรศัพท์พื้นฐานยังเข้าไม่ถึงชาวบ้าน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนิยมติดอินเตอร์เน็ตไว้ให้ลูกหลานไว้ทำรายงานหรือเล่นเกมส์ แต่ก็มีปัญหาเรื่องอินเตอร์เน็ตช้า


 


" ผู้บริโภคขาดความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาอยู่ตลอดเวลาและความเท่าทันเรื่องสิทธิ อีกทั้ง กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของไทยยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ทำให้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ไม่ได้ "นางสาวจุฑากล่าว


 


นางสาวจุฑากล่าวอีกว่า ทิศทางข้างหน้า สิ่งจะมาเสริมได้คือ ทีมวิชาการในพื้นที่ ขณะนี้ กำลังจะประสานให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่เข้ามาช่วยเหลือในการให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ เช่น ระบบ 3G แก่เครือข่าย และอาจจะดึงกลุ่มเยาวชน ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีค่อนข้างมากมาร่วมเป็นทีมอาสาสมัคร


 


ด้าน นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ผู้แทนจากศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคเหนือเปิดเผยว่า ผู้บริโภคในภาคเหนือมีการตื่นตัวในเรื่องสิทธิกันมาก ทั้งในเรื่องโทรคมนาคม เรื่องทรัพยากร เรื่องอาหาร เรื่องสินค้าและบริการ ทำให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญ และเห็นความเชื่อมโยงกัน


"ปัญหาที่พบก็ไม่ต่างจากภาคอื่น เช่น เรื่องบัตรเติมเงิน เรื่อง 107 บาท เรื่องการคิดค่าบริการผิดพลาด นอกนั้นเป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจมีมากกว่านี้ แต่ว่าการร้องเรียนอาจจะมาไม่ถึงเราก็ได้ " นางสาวสุภาพรกล่าว


 


นางสาวสุภาพร กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่อยากเสนอแนะคือเรื่องการสนับสนุนในเรื่องข้อมูลความรู้ รูปแบบการสื่อสารที่ทันสมัย เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันเช่น บางเครือข่ายที่มีประเด็นเฉพาะ เช่นพี่น้องชาติพันธุ์ หรือพี่น้องผู้พิการ จะต้องการสื่อเฉพาะที่ไม่ได้เหมือนคนอื่น การจัดการเรียนรู้ที่เป็นหลักสูตร ที่สามารถนำไปใช้ได้ง่ายๆ สร้างความเข้าใจ มีหลักสูตรการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ชัดเจน ที่ให้นำไปใช้ได้ด้วย จึงจะเกิดประโยชน์


นางสาวสารี อ๋องสมหวัง   กรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาสำหรับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมทั้ง   13 ศูนย์ คือ ความสามารถในการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อสามารถคุ้มครองสิทธิให้กับผู้บริโภคได้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net