นปช. ควรจะเคลื่อนไหวอย่างไร จึงจะเป็นการเมืองภาคประชาชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สามชาย ศรีสันต์

 

คำถามเมื่อคราวที่พันธมิตรฯ ก้าวร้าว รุกล้ำ สิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของผม (ในเรื่องความเห็นทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมือง ที่เมื่ออยู่นิ่งเฉยแล้วก็จะถูกแกนนำ ตลอดจนสมาชิกกลุ่มพันธมิตรเย้ยเยาะ ถากถางทั้งทางตรงโดยการสนทนาส่วนตัวและทางอ้อมผ่านหน้าจอ ASTV,การเดินทางที่ไม่ได้รับความสะดวกต้องคอยหลบหลีกเส้นทางที่มีฝูงชน, ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเมื่อผ่านถนนวิภาวดี, ตลอดจนทำให้รู้สึกว่ากฎหมายบ้านเมืองนี้ขาดความศักดิ์สิทธิ์ และใครจะล่วงละเมิดต่อใครก็ได้เพียงอ้างคำว่า "กู้ชาติ" ) ก็คือ ถ้าผมเป็นแกนนำพันธมิตรผมจะทำอย่างไร เพื่อให้รัฐบาลลาออก หรือหมดความชอบธรรม คำตอบที่ได้ก็คือ ผมคงทำไม่ต่างไปจากที่แกนนำเหล่านั้นทำ หากแต่ต่างกันตรงที่ว่า ผมจะไม่เรียกร้องให้ประชาชนออกมาในช่วงสถานการณ์คับขันอันตรายและเสี่ยงชีวิต ไม่นำคนไปล้อมเป็นโล่มนุษย์เพื่อป้องตนเอง และไม่นำพาสถานการณ์ไปสู่การหมิ่นเหม่ที่จะปะทะและเกิดความรุนแรง มาวันนี้หากจะถามว่าแล้ว นปช. ควรเคลื่อนไหวอย่างไร ผมตอบตัวเองว่า ผมจะไม่ทำในแบบที่ นปช. ทำเลย

ประการแรก เป้าหมายที่ชัดเจนไม่กำกวม โดยเฉพาะท่าทีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ

นปช. ควรแสดงให้มวลชนได้รับรู้ว่า ต้องการอะไรกันแน่กับการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ระหว่าง ต้องการให้ทักษิณกลับมา, ต้องการต่อต้านรัฐประหาร, ต้องการประชาธิปไตย, หรือต้องการรัฐธรรมนูญปี 40, ต้องการให้ยุบสภาฯ จัดให้มีการเลือกตั้ง, หรือต้องการประกาศ "ความจริง(วันนี้)" ให้โลกรู้ หรือเพียงเพื่อต้องการแก้แค้นแก่ความพ่ายแพ้ให้กับ พธม. หรือต้องการไม่ให้มีอภิสิทธิ์ชน ไม่ว่าชนผู้นั้นจะอยู่ในสถานะใด ๆ ที่สูงกว่ารากหญ้า ความเคลื่อนไหวที่ไม่มีนิยามที่ชัดเจนสะท้อนให้เห็นจากสัญลักษณ์ที่ขาดเอกภาพ ทั้ง "ตีนตบ" "หัวใจตบ" ภาพของอดีตนายกฯ ทักษิณ, โลโก้รายการ "ความจริงวันนี้"ที่ปรากฏบนเสื้อสีแดง, ทั้งหมดล้วนเปะปะขาดความหนักแน่นในเป้าหมาย นำไปสู่คำถามว่า จะเอาอะไรกันแน่ ?

แต่หากเป็นผม สิ่งที่ไม่ทำแน่ ๆ คือ พัวพันเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เพิ่มแนวร่วมแล้วจะทำให้สูญเสียมวลชนคนเสื้อแดงด้วยกันเองด้วย สิ่งที่พึงกระทำคือ ทำให้สถาบันกษัตริย์ปลอดพ้นการเมือง และตัดขาดจากการเมืองไปได้อย่างสิ้นเชิง

ประการที่สอง แกนนำต้องหลากหลายแตกต่างมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่การจะมีแกนนำที่หลากหลายได้ เป้าหมายต้องชัดเจนว่า ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใด หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น หากแต่ต้องเป็นปัญหาร่วมกันของคนในชาติ ที่คนหลากหลายกลุ่มหลากหลายสาขาประสบร่วมกัน สิ่งที่ นปช. ทำได้ก็คือ การสร้างความหลากหลายที่เป็นหนึ่งเดียวกัน สามเกลอควรถอยออกไป ทำ "ความจริงวันนี้" ให้ปรากฏบนเวที และเชิญชวนคนจากหลากหลายสาขาให้เข้าร่วม จัดองค์กร วางเป้าหมาย แบ่งกลุ่มปัญหาที่ประเทศชาติเผชิญอันสืบเนื่องมาจากการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ และกำหนดยุทธวิธีเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายร่วมกัน มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการรวมกันตามคำสั่งเป็นครั้งคราว ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อมวลชน เพราะจะก้าวก็ไม่ก้าวจะถอยก็ไม่ถอย จึงทำได้ไม่ดีไปกว่า ฝูงชนที่มารวมตัวกันชมการแสดง หรือมุงดูเหตุการณ์ (social engagement) ชั่วครั้งชั่วคราวซึ่งไม่ใช่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement)

ประการที่สาม การสร้างความหลากหลายของมวลชนให้เป็นหนึ่งเดียว แนวร่วมของ นปช. มีอยู่จำนวนมากแต่ไม่เคยได้รับการส่งเสริมบทบาท หรือยกย่องเชิดชูขึ้นมา ดังเช่น วิทยุคลื่น 92.75, กลุ่มแท็กซี่ที่รักอดีตนายกทักษิณ, เกษตรกรที่กำลังรอการพักชำระหนี้รอบสอง และต้องการให้ราคาสินค้าการเกษตรสูงขึ้นกว่านี้, ประชาชนที่รักและเลือกอดีตนักการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง, ประชาชนที่ต้องการให้นำรัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้, ประชาชนที่ศรัทธาในตัวอดีตนายกซึ่งมีทั้งผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว แม่ค้า จนถึงนักธุรกิจ, ประชาชนที่ถูกพันธมิตรล่วงละเมิดโดยไม่ได้รับการชดเชยทางกฎหมาย และไม่สามารถจับกุมลงโทษผู้กระทำผิดได้, ประชาชนผู้ที่ได้รับชีวิตใหม่จากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และการเจรจาประนอมหนี้, กลุ่มผู้ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับการรัฐประหารและต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง, ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่ชื่นชอบอดีตนายกทักษิณ รวมไปถึงนักวิชาการที่มีอยู่จำนวนมาก และกลุ่มผู้ถูกเลิกจ้างที่จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้รับโอกาสที่จะแสดงพลัง ตัวตน ของพวกเขา แต่ถูกลดรูปและศักยภาพความสามารถลงเหลือเพียง "กลุ่มคนเสื้อแดง" ที่ขาดพลัง ไร้ทิศทาง

ประการที่สี่ ความหลากหลายของกิจกรรมที่เป็นประชาธิปไตย

สิ่งสำคัญที่ นปช. ต้องทำให้ได้คือ ทำให้ประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้ง หรือการไม่มีรัฐประหาร แต่ประชาธิปไตยคือ ปัญหาของคนส่วนใหญ่ต้องได้รับการพิจารณาแก้ไขก่อนปัญหาของกลุ่มคนชั้นสูง ประชาธิปไตย คือ รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งยอมรับกันว่า รัฐธรรมนูญฯ ปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญฯ มา นอกจากนั้นยังมีปัญหาของประเทศอีกมากมายที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความไม่เป็นประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมที่เสื่อมถอยและขาดความน่าเชื่อถือ ทหารที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ความอ่อนแอของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดกรณียึดสนามบิน ทำลายทรัพย์สินทางราชการ บุกยึดทำเนียบรัฐบาล นักการเมืองที่เป็นกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งทั้งที่หลายคนไม่มีส่วนรับรู้การกระทำความผิด และไม่เปิดโอกาสให้มีการแก้ข้อกล่าวหา รวมไปถึงการที่สถาบันถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับการเมืองมากกว่ายุคใดสมัยใด ดังปรากฏในสื่อต่างประเทศที่ให้ความเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด สิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่สังคมไทยเผชิญร่วมกัน เพื่อแลกกับการเปลี่ยนขั้วแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ที่สำคัญที่สุดคือ เฝ้าระวังการเมืองใหม่ภายใต้ความเคลื่อนไหวกดดันของพันธมิตรฯ ที่ถอยหลังประชาธิปไตยไทยไปสู่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง นี่คือความหลากหลายภายใต้เป้าหมายหนึ่งเดียวที่ต้องแปลงเป็นกิจกรรม ทั้งการให้ความรู้ ตรวจสอบ กดดัน ทวงถาม เรียกร้อง เปิดเผยแสดงหลักฐาน โต้แย้งตอบกลับข้อกล่าวหาของกลุ่มพันธมิตร ตลอดจนเสนอทางเลือกและสิ่งที่ดีกว่าให้กับประชาชน สร้างความหวัง และบ่งชี้ทิศทางการเมืองไทยที่ต้องการไปให้ถึงที่ดีกว่า "การเมืองใหม่" ซึ่งไม่น่าจะใช่แนวทางแบบเช้าไปเย็นกลับ

ประการที่ห้า ตอบคำถามให้ได้ว่าเคลื่อนไหวแต่ละครั้งประชาชนได้อะไร ?

ขณะที่การเคลื่อนไหวของพันธมิตรแต่ละครั้ง ล้วนได้ชัยชนะ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี มีการเฉลิมฉลองทุกเย็นค่ำ ซ้ำได้รับการเชิดชูยกย่อง เกิดความภาคภูมิใจ [1] และสามารถทำผิดกฎหมายได้โดยไม่สามารถเอาผิดได้ การเคลื่อนไหวของ นปช. ให้อะไรกับประชาชนผู้เข้าร่วมเคลื่อนไหว เป็นคำตอบที่แกนนำต้องตอบให้ได้ ถ้าหากภาพลักษณ์ของนักรบกู้ชาติยิ่งใหญ่ ทรงเกียรติ ร่ำรวยมีอันจะกิน เป็นที่รักของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับ "คนเสื้อแดง" ที่ผิดหวัง ยากจน และไม่เป็นที่โปรดปราน ก็ยากยิ่งที่จะทำให้แนวร่วม นปช. เพิ่มจำนวนขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป้าหมายสุดท้ายของ นปช. ที่ต้องการไปให้ถึงคือ การกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยให้ได้อีกครั้ง หรือการเรียกร้องให้นิรโทษกรรมอดีตนายกฯ ทักษิณด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้ นปช. กลายเป็นองค์กรทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม โดยไม่ได้ให้อะไรกับประชาชนเลย ซึ่งมีแต่จะเสื่อมถอยและถูกทำให้สลายไปในที่สุด

สิ่งสำคัญที่สุดที่ นปช. ต้องทำคือ ทำให้หัวใจการเคลื่อนไหวคือประชาชน ดังที่พรรคไทยรักไทยเคยใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพื่อการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ เพราะเมื่อได้หัวใจประชาชนแล้วอำนาจก็จะถูกมอบให้ตามมา

หาก นปช. สร้างความหวังและมีเป้าหมายที่ชัดเจน ที่ทำให้ประชาชนเห็นว่า ประเทศจะได้ประโยชน์อะไรในระยะยาว ที่มากกว่าการวนเวียนอยู่กับอดีตนายกฯ ทักษิณและผลประโยชน์ของนักการเมืองแล้ว การเมืองภาคประชาชนของไทยจะก้าวไปอีกขั้น

 หลังจากที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้สร้างคุณูปการที่ทำให้การชุมนุมประท้วง และการไม่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมไทย รวมทั้งเปิดเผยสิ่งที่มองไม่เห็นให้ปรากฏรูปร่างขึ้นอย่างชัดเจน แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ ก็ควรจะช่วยสร้างให้สถาบันทางสังคมทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมต่อคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมให้มีศักดิ์ศรี สิทธิ์ และได้รับประโยชน์จากการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ หรือไปกระจุกรวมอยู่ที่คนบางกลุ่มบางพวกในสังคม... อย่างน้อยประเทศชาติก็น่าจะได้ประโยชน์บ้างสำหรับชีวิต เลือดเนื้อที่สูญเสียไปครั้งแล้วครั้งเล่า

 

 

..................
เชิงอรรถ
[1] ดู นักรบกู้ชาติการเมืองอัตลักษณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ประชาไท http://www.prachatai.com/05web/th/home/14559)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท