Skip to main content
sharethis


 



 


รูปปก Das Kapital ฉบับการ์ตูน


 

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา (2008) สำนักพิมพ์อิสท์เพรส (EastPress) ได้วางตลาด Das Kapital ของ คาร์ล มาร์กซ์ ในรูปแบบหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น หรือ มังงะ (Manga) โดยใช้ชื่อว่า Das Kapital: Manga de Dokuha  ในการ์ตูนเรื่องนี้จะอาศัยวิธีการเล่าเรื่องแบบการ์ตูนญี่ปุ่นเพื่ออธิบายแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองในมุมมองของมาร์กซ์


 


โดยก่อนหน้านี้ สำนักพิมพ์อิสท์เพรส ได้เคยจัดพิมพ์การ์ตูนที่ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง คานิโคเซน (Kanikosen) ของ ทาคิจิ โคมาบาชิ  เรื่อง "คานิโคเชน" หรือ "โรงเรือปู" เป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นของคนงานที่เป็นลูกเรือกับกัปตันเรือที่คอยกดขี่  นอกจากนี้สำนักพิมพ์อิสท์เพรส ยังเคยจัดพิมพ์งานจากวรรณกรรมอีกหลาย ๆ ชิ้น เช่น พี่น้องคารามาซอฟ กับ อาชญากรรมและการลงทัณฑ์ ของ ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ , สงครามและสันติภาพ ของ ลิโอ ตอลสตอย , เที่ยวบินกลางคืน ของ อังตวน เดอ แซงเต็ก-ซูเปรี , เมตามอร์โฟซิส ของ ฟรานซ์ คาฟคา , เดอะ ปรินซ์ ของ นิโคโล มาเคียเวลลี่ , สีแดงและสีดำ ของ สตองดาล เป็นต้น


 


"ผมคิดว่าผู้คนมองกำลังใช้มาร์กซ์มองหาคำตอบของปัญหาที่เกิดจากสังคมทุนนิยม" ยูซุเกะ มารุโอะ จากสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์ Das Kapital ฉบับมังงะ กล่าวไว้ "เห็นได้ชัดเจนเลยคือ ปัญหาวิกฤตโลกในปัจจุบันนี้กำลังบอกเราว่าระบบที่มีอยู่ตอนนี้ไม่ได้ทำงานอย่างเหมาะสม"


 


มารุโอะ หวังว่า Das Kapital ในฉบับหนังสือการ์ตูนจะเป็นเหมือนอารัมภบทนำไปสู่ Das Kapital ฉบับจริงของมาร์กซ์ ที่ถ่ายทอดออกมาอย่างสนุกสนาน โดยมีกลุ่มเป้าหมายมุ่งไปที่ผู้อ่านเป็นพนักงานออฟฟิศวัย 30


 


เนื้อหาในเล่มแรกของ Das Kapital ฉบับมังงะ พูดถึงพระเอกที่ชื่อ โรบิน เขาเป็นเจ้าของโรงงานชีสที่ขบถต่อหลักการแบบสังคมนิยมที่พ่อเขายึดถือ และเขาได้กลายมาเป็นคนคุมแรงงานทาสในกำมือหลังจากที่ร่วมงานกับนักลงทุนที่เป็นนายทุนเลือดเย็น แต่อย่างไรก็ตาม โรบินก็ต้องต่อสู้ระหว่างความทะยานอยากแบบนายทุนของเขาเองกับความรู้สึกผิด ในเรื่องที่เขากดขี่แรงงานของตัวเอง


 


เมื่อ Das Kapital เล่มแรกออกวางตลาดตามร้านหนังสือในญี่ปุ่น ก็ทำยอดขายได้ราว 6,000 เล่ม ภายในไม่กี่วัน และกำลังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ , เกาหลี และ จีน เพื่อขายให้กับชาวยุโรป , เอเชียและ อเมริกา ส่วนหนังสือการ์ตูนเล่มต่อ ๆ ไปยังคงอยู่ในระหว่างการผลิต


 


Steve Levenstein จากเว็บ Inventor Spot ให้ความเห็นในบทความ Marxist Manga Puts the Commie Back in Comics ว่า เรื่อง 'Das Kapital' ฉบับการ์ตูนเป็นการนำเอางานทฤษฎีสังคมนิยมของคาร์ล มาร์กซ์ มาโยงเข้ากับการต่อสู้ของมวลชนยุคปัจจุบัน และการทำออกมาในรูปแบบการ์ตูนญี่ปุ่นจะเป็นการลดทอนความขรึมขลังลง


 


ขณะที่หนังสือพิมพ์ Irish Times ระบุว่า Das Kapital ฉบับมังงะ นี้น่าจะกลายเป็นหนังสือขายดีอีกเล่มหนึ่ง จากที่ก่อนหน้านี้มีหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่พูดถึงความไม่เท่าเทียมและไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ได้รับความนิยมมาก่อน


 


ญี่ปุ่นในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกเองก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2001 แม้ว่าจะมีเงินกระตุ้นจากรัฐถึง 275 ล้านดอลล่าร์ เพื่อป้องกันวิกฤตการณ์การเงินโลกไม่ให้ไหลบ่าเข้าท่วมญี่ปุ่นด้วยก็ตาม


 


แรงงานญี่ปุ่นมากกว่าหนึ่งในสามตอนนี้ไม่ใช่ลูกจ้างแบบเต็มเวลา บวกกับการที่ได้เห็นว่าแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโซนี่และโตโยต้าก็มียอดกำไรดิ่งต่ำลงเรื่อย ๆ ทำให้ประชาชนหนุ่มสาวกว่าล้านคนเริ่มมองอนาคตในแง่ร้าย


 


ไม่เพียงการ์ตูนเรื่องนี้เท่านั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่างานเขียนอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่อง Capital (ภาษาอังกฤษของ Das Kapital) รวมถึงตำรามาร์กซิสเล่มอื่น ๆ ถูกเร่งให้ออกเร็วขึ้นและหนังสือที่อดีตนายหน้าเขียนสั่งสอนนายธนาคารมือดีแห่งวอลล์สตรีทก็กลายเป็นหนังสือที่ทำยอดขายได้อย่างรวดเร็ว


 


คาโอริ คาตาดะ อาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม พูดถึงปรากฏการณ์นี้เอาไว้ โดยมองว่าเหตุที่มีคนพากันเข้าหาหนังสือแนวนี้มากขึ้นนั้นเป็นเพราะว่า "ปัญหาความยากจนกำลังทวีความรุนแรงขึ้นและเป็นปัญหาที่หลายคนรับรู้ได้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในตอนนี้ผู้คนกำลังมองหาคำตอบว่า ทำไมปัญหานี้ยังกลับมาเกิดขึ้นอีก"


 


 



 


ต้นฉบับ Das Kapital ของ Karl Marx รูปจาก Wikipedia.org


 




ต้นฉบับ Das Kapital ของ คาร์ล มาร์กซ์ พูดถึงทุนนิยมในฐานะที่เป็นเครื่องมือกดขี่แรงงานและทำให้เกิดภาวะแปลกแยก การที่นายจ้างเป็นผู้กุมปัจจัยการผลิต มีอำนาจในการกำหนดมูลค่าโดยรวมถึงมูลค่าส่วนเกิน มีการจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงานด้วยมูลค่าทางการตลาดซึ่งต่ำกว่าที่แรงงานผลิตได้จริง และการทำงานของแรงงานก็คอยทำให้เกิดวงจรการผลิตแบบทุนนิยมนี้


 


เดิมที มาร์กซ์ ต้องการตีพิมพ์ Das Kapital ออกมาสี่เล่ม แต่มาร์กซ์เสียชีวิตไปก่อนจึงได้ตีพิมพ์เพียงสามเล่ม เล่มแรกพูดถึงระบบการผลิตและการต่อสู้ทางชนชั้นภายใต้รากฐานความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม ขณะที่เล่มสองและเล่มสามซึ่งตีพิมพ์หลังจากมาร์กซ์เสียชีวิตไปแล้วมาจากเอกสารที่มาร์กซ์เหลือทิ้งไว้ โดย เองเกล (Friedrich Engels) สหายของมาร์กซ์เป็นผู้รวบรวม


 


 


 


 


 


แปลและเรียบเรียงจาก


 


Manga Guide to Marx's Das Kapital to Ship Next Month , Anime News Network , 18-11-2008


http://www.animenewsnetwork.com/news/2008-11-18/manga-guide-to-marx-das-kapital-to-ship-next-month


 


 


'Das Kapital' Comic has mass appeal , AP , The Japan times Online , 24-12-2008


http://search.japantimes.co.jp/cgi-bin/nn20081224a6.html


 


 


Japan gives a comic twist to 'Das Kapital' , Irish Times , 21-9-2008


http://www.irishtimes.com/newspaper/world/2008/1121/1227137525860.html


 


 


Marxist Manga Puts the Commie Back in Comics , Inventor Spot


http://inventorspot.com/articles/marxist_manga_puts_commie_back_comics_21556


 


ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง Das Kapital


http://en.wikipedia.org/wiki/Das_kapital


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net