Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จอม เพชรประดับ


 


 


" สิ่งที่ดีกว่าคำพูด คือการกระทำ ผมต้องการเป็นนายกฯ ที่สร้างความสามัคคีในชาติให้กลับคืนมา ให้คนไทยมีความมั่นใจในอนาคต " คำพูดชวนฟังของท่านนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


 


ก่อนหน้านี้ก็มีหลายสำนวน หลายคำพูด ที่ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ พูดได้อย่างกินใจ เพื่อหวังจะสื่อสารกับคนไทยให้เกิดความมั่นใจในรัฐบาลชุดนี้ เพราะกว่า 8 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์รับบทบาทฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่ตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ ท้วงติง และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า ทำหน้าที่ในการตรวจสอบได้อย่างบาดลึกทุกครั้ง


 


แต่นับจากนี้ไป การยอมรับและความศรัทธาที่ประชาชนจะมีต่อพรรคประชาธิปัตย์ คงไม่เพียงเพราะคำพูด หรือสำนวนโวหาร หรือหลักการที่กินใจอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องพิสูจน์ได้ด้วยกระทำอย่างที่ท่านนายก ฯ อภิสิทธิ์ได้พูดไว้นั่นแหละครับ.


 


ถ้าจะดูเฉพาะนโยบายรัฐบาล อภิสิทธิ์ 1 กับการเข้ามากำกับดูแลสื่อของรัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างก็ความพยายามที่จะเข้ามาแทรกแซง และหวังจะใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมืองต่อสู้กับฝ่ายตรงกันข้าม รวมทั้งใช้สื่อของรัฐเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องเป็นเรื่องหลัก แต่รัฐบาลชุดนี้ต้องยอมรับว่ากล้าหาญพอที่กำหนดนโยบายในการดูแลสื่อของรัฐไว้อย่างชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร และประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้จะดูแลสื่อมวลชนของรัฐ ดังต่อไปนี้


 


1.ส่งเสริมประชาชนให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากราชการ และสื่อสาธารณะอื่นๆอย่างกว้างขวางและเป็นธรรม โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ


 2.ปรับปรุงกลไกการสื่อสารภาครัฐ โดยให้คำนึงถึงบทบาทของสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ และสร้างความสมานฉันท์ในชาติ


 3.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งต้องเป็นกิจกรรมที่มีผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ต่ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์


4.จัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเพื่อให้สื่อมีเสรี ปราศจากการแทรกแซง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


เป็นคำมั่นสัญญา หรือแนวนโยบาย ที่รัฐบาลนี้ จะต้องพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยการกระทำให้ได้


ในฐานะของคนทำสื่อที่อยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งและได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมาโดยตลอด ความจริงที่ประจักษ์ชัดในหัวอกของคนทำสื่อที่เกี่ยวข้องกับรัฐและการเมืองก็คือ การจะประกอบวิชาชีพสื่ออยู่บนความถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์ เป็นกลาง สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย หวังให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างแท้จริงนั้น เป็นงานที่ทั้งยาก เหน็ดเหนื่อย และน่าอเน็จอนาจอย่างยิ่ง เพราะการจะยืนอยู่บนหลักการดังกล่าวนี้ได้ ก็เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดเสียทุกครั้ง


ต้องยอมรับอย่างเห็นใจว่า สื่อของรัฐ(หรือสื่อเอกชน)บางคนสิ้นหวัง ยอมฝังอุดมการณ์แห่งวิชาชีพ เพียงเพื่อให้ได้มีที่ยืน มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย เพราะไม่อาจจะอดทนต่อแรงเสียดทานจากขั้วการเมือง หรือจากกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องและคาดหวังกับคนทำสื่ออย่างมากในเวลานี้ได้  ซึ่งก็ถูกต้องที่สังคมฝากความหวังกับสื่อมวลชน (ต้องยอมรับว่า ประชาชนทุกวันนี้ตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก อันเนื่องจากวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมา) แต่สังคมก็ต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับคนข่าวในองค์กรของรัฐด้วยเช่นกัน


เพราะหากลองย้อนกลับมามองความเป็นจริงของคนทำงานสื่อเองบ้าง ก็พบว่าไม่มีหลักประกันอะไร ที่สร้างความมั่นใจให้ได้ว่า การจะต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ความไม่เป็นธรรม ซึ่งขัดแย้งกับหลักแห่งจรรยาบรรณวิชาชีพที่เกิดจากฝ่ายการเมืองและรัฐบาลนั้นก็มักจะไม่ได้รับการปกป้อง คุ้มครองอย่างแท้จริง   


ดังนั้น การให้คำมั่นสัญญาของ รัฐบาล อภิสิทธ์ 1 ที่จะออกกฎหมายเพื่อให้การคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อของรัฐ เพื่อให้ได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ มีเสรีภาพในการสร้างสรรค์ เสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนทุกกลุ่ม จึงเป็นเหมือนแสงสว่างแห่งความหวังของคนทำสื่อ และเชื่อว่าเป็นความปรารถนาของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย ที่ต้องการจะมีส่วนร่วมในการบริหาร และการพัฒนาชาติบ้านเมืองของตัวเอง  


เพราะหากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ สามารถทำได้จริงตามที่สัญญาไว้ ก็จะเป็นเหมือนบันไดก้าวแรก ที่จะก้าวไปสู่การสร้างความเข้าใจ หันหน้ามาพูดคุยกัน สร้างความปรองดองสมานฉันท์ และนำไปสู่ความเป็นปึกแผ่นทางการเมืองได้ไม่ยาก


อีกทั้งจะส่งผลดีต่อนโยบายของท่านนายกฯอภิสิทธิ์เองด้วย ที่ต้องการให้เกิดการปฎิรูปการเมืองอย่างมั่นคง โดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคกัน


นี่คือความฝันที่อยากให้เกิดขึ้นจริงและโดยเร็ว ฝากให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ถือเอานโยบายนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนอีกนโยบายหนึ่งก็จะเป็นการดี


ที่ผ่านมาท่านนายกฯอภิสิทธิ์ก็คงจะทราบว่า ปัญหาของคนทำงานสื่อในภาครัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการนั้นเป็นอย่างไร อย่าทำให้การเปลี่ยนขั้วการเมืองในแต่ละครั้งกลับไปสร้างนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นกับข้าราชการไทยครั้งแล้วครั้งเล่าอีกเลย ในทางกลับกัน อย่าได้เอาวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่พึงประสงค์เข้าไปแทรกแซง หรือบ่อนทำลายระบบที่ดีของราชการ หรือทำลายศักยภาพการทำงานของข้าราชการให้ต้องสูญเสียความศรัทธาในสายตาประชาชนอีกเลย


 


ขอท้าทายและให้กำลังใจรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ว่า ควรจะใช้โอกาสสำคัญนี้ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของข้าราชการเสียใหม่ให้สอดคล้องกับภาระกิจ เพื่อรับใช้ประชาชนและประเทศชาติเป็นเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจสื่อมวลชนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ เพราะไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่สนองนโยบายรัฐบาลเท่านั้น แต่จะต้องฟังเสียงประชาชนและทำหน้าที่ปกป้อง รักษาผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลักด้วย


 


แต่ถ้าหากรัฐบาลชุดนี้ต้องการให้การปฎิรูปการเมือง ปฎิรูปสังคม เปลี่ยนวัฒนธรรมความคิดของคนในสังคมเสียใหม่ให้เป็นผลสำเร็จ ก็ขอให้เริ่มจากการปฎิรูปสื่อของรัฐก่อนเป็นอันดับแรก คือ เสนอให้ดึงกรมประชาสัมพันธ์ออกจากระบบราชการเพื่อสร้างหลักประกันที่ถาวร ป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง หรือใช้สื่อของรัฐเป็นกระบอกเสียงหรือเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองต่อไปอีก


 


โดยให้กรมประชาสัมพันธ์มีลักษณะการบริหารลักษณะพิเศษภายใต้การกำกับดูแลโดยคณะกรรมการหรือ บอร์ดที่มีอิสระ เพื่อเป็นหลักประกันเช่นกันว่าจะไม่ถูกครอบงำ หรือถูกแทรกแซงจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ซึ่งบอร์ดชุดนี้จะต้องผ่านการคัดเลือกอย่างโปร่งใสจากทุกภาคส่วนของสังคม เช่นเดียวกับการได้มาของ บอร์ดสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  


 


จะต้องมีกฏหมายขึ้นมาเฉพาะกำหนดบทบาทภารกิจของสถานีโทรทัศน์ หรือสื่อที่อยู่ในการกำกับดูของกรมประชาสัมพันธ์เดิมเสียใหม่ และให้มีภาระกิจที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องแตกต่างจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แต่อาจจะมีเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างสติปัญญา สร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด ปลูกฝังการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย


 


สำคัญที่สุดคือ ต้องมีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของคนทำงานข่าวอย่างชัดเจน ไม่ถูกแทรกแซง หรือถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่ากลุ่มหนึ่งกลุ่มใด จะต้องสร้างกลไกให้สามารถแข่งขันในตลาดสื่อมวลชนทุกระดับและทุกประเภทได้ มีหลักการที่จะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของคนทำงานอย่างมีระบบ รวมทั้งต้องมีสวัสดิการที่ใกล้เคียงกับคนทำงานในตลาดสื่อโดยทั่วไป


 


จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานอยู่ในสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีทีหรือช่อง 11 ได้เห็นศักยภาพของสื่อทุกแขนงที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ ถือว่าเป็นสำนักสื่อที่มีต้นทุนเพื่อการพัฒนาในอนาคตสูงทีเดียวเมื่อเทียบกับสำนักสื่อต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งต้นทุนในศักยภาพของตัวบุคคลากร และต้นทุนในแง่ของทรัพย์สินที่ไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่


 


มีคนเคยพูดว่า กรมประชาสัมพันธ์เวลานี้เปรียบเสมือนยักษ์ที่ยังคงหลับใหลไม่ได้สติ เมื่อใดก็ตามที่ใครบางคนสามารถปลุกให้ยักษ์ตนนี้ตื่นขึ้นมาได้ สำนักสื่ออื่นๆทั้งหลายอาจจะต้องพังพาบไปในชั่วพริบตา


 


อาจจะมีคำถามจากข้อเสนอนี้เช่นกันว่า เมื่อดึงกรมประชาสัมพันธ์ออกจากระบบราชการไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลจะใช้เครื่องมือชนิดใดในการเผยแพร่นโยบายหรือข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชน หรือชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องต่างๆที่มีคำถามหรือข้อสงสัยในการบริหารของรัฐบาล


 


ข้อกังขานี้มีคำอธิบาย 3 แนวทางคือ 1. อาจจะกำหนดภารกิจการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลไว้ในกฎหมายที่ออกมาเพื่อรองรับองค์กรใหม่นี้ แต่ต้องอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม และตรวจสอบได้ว่า ไม่ใช้เพื่อเป็นกระบอกเสียงหรือโต้ตอบทางการเมือง หรือ 2. ด้วยอำนาจของรัฐบาล สามารถขอความร่วมมือ หรือใช้สื่อสารมวลชนที่อยู่ภายใต้การสัมปทานของรัฐบาล เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนได้อยู่แล้ว โดยอาจจะสับเปลี่ยนเวียนหมุนกันไปได้ในแต่ละช่อง หรือในแต่ละสำนักข่าว


 


แนวทางที่ 3. หากวิเคราะห์ตามโครงสร้างการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เชื่อเถอะว่า ทุกความเคลื่อนไหว ทุกแนวนโยบายของรัฐบาล ไม่อาจจะรอดพ้นสายตาของนักข่าวจากทุกสำนัก ที่เฝ้าติดตามชนิดเกาะติดตลอด 24 ชั่วโมงไปได้ ดังนั้นหากรัฐบาลมีเจตนาที่โปร่งใส และบริสุทธิ์ใจในการเข้ามาบริหารประเทศอย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีสถานีโทรทัศน์ หรือ องค์กรสื่ออยู่ในกำมือ เพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาลเพียงด้านเดียวแต่อย่างใด


 


อีกทั้งทุกรัฐบาลก็มีสำนักงานโฆษกประจำทำเนียบรัฐบาลสามารถให้ข่าวสารผ่านสื่อมวลชนทุกแขนงได้เป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว


 


เชื่อเหลือเกินว่า แนวนโยบายที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กำหนดไว้ เหมือนเป็นคำมั่นสัญญาว่า จะสร้างหลักประกันให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นธรรมจากสื่อมวลชนที่เป็นกลาง ไม่ถูกครอบงำและถูกแทรกแซงจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนั้นจะไม่เป็นเพียงคำพูด หรือนโยบายที่บาดลึกและกินใจเหมือนที่ผ่านมา.


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net