Skip to main content
sharethis

หลังจากแถลงข่าวเปิดตัวรายการ "ดีสลาตัน ณ แดนใต้" ไปเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2551 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จะประเดิมออกอากาศ ในวันที่ 9 มกราคม 2552 ตั้งแต่เวลา 11.00-12.00 .ทุกวันศุกร์ ทางทีวีไทยทีวีสาธารณะ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ คือ พัทลุง สงขลา ปัตตานี สตูล ยะลาและนราธิวาส


 


โดยเป็นรายการโทรทัศน์ที่ร่วมมือกันระหว่างไทยพีบีเอส กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันอิศรา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep Sout Watch) และเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ ในท้องถิ่น มีเนื้อหาเน้นข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับภาคใต้ทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ พร้อมเปิดโลกมุสลิมในประเทศต่างๆ เพื่อสะท้อนความแตกต่างหลากหลาย


 


ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนการผลิตรายการ มีผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา จากคณะรัฐสาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการผลิตรายการและข่าวท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การสร้างที่มีส่วนร่วมให้กับคนในพื้นที่ ที่เป็นรูปธรรมก็คือการให้พื้นที่ในรูปแบบของนักข่าวพลเมือง แต่ดูเหมือนปรากฏการณ์ใหม่แบบนี้ในองค์กรสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ยังไม่ได้มีแนวคิดที่ตกผลึกร่วมกัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น อ่านบทสัมภาษณ์ "เทพชัย หย่อง" ผู้อำนวยการ ไทยพีบีเอส และ "สมเกียรติ จันทรสีมา" หัวหน้าโต๊ะข่าวพลเมืองใต้


 


00000


 


 


 


............................................................


 


"นักข่าวพลเมืองไม่ควรเป็นนักข่าวอาชีพ"


 


............................................................


 


เทพชัย หย่อง


ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส


 


เนื้อหาข่าวที่นำเสนอยังไม่ค่อยแตกต่างกับโทรทัศน์ช่องอื่นๆ


ก็ต้องทำให้มันแตกต่าง


 


แล้วที่มาที่ไปของรายการ ดีสลาตัน ณ แดนใต้


ความจริงถ้าจะมองย้อนกลับไป ความคิดนี้มันเริ่มต้นบนพื้นฐานที่เราอยากจะมีเวลาพิเศษเฉพาะให้กับคนในพื้นที่ ความจริงเราอยากให้มีทุกภาคด้วยซ้ำไป เราคิดว่าเราน่าจะเริ่มต้นที่ใดที่หนึ่งก่อน เป็นโครงการนำร่องเพื่อจะดูการตอบรับของคนในพื้นที่ เราก็นึกถึงภาคใต้


 


ก็อย่างที่บอกว่ามันมี สถานการณ์ที่พิเศษของตัวเอง ความรุนแรงและความแตกแยกที่เกิดขึ้น เราก็มีความรู้สึกว่าคนในภาคใต้เอง หลายส่วนมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แล้วก็รายการโทรทัศน์ที่มีอยู่ไม่ได้ตอบสนองความสนใจหรือความต้องการของคนในพื้นที่เท่าที่ควร


 


เราก็ดูว่า สื่อกระหลัก ก็คือ โทรทัศน์ส่วนใหญ่ก็จะมีมุมมองของตัวเอง ในการรายงานข่าวเกี่ยวภาคใต้ แล้วก็เป็นมุมมองของคนส่วนกลางเป็นหลัก ความเข้าใจของคนในพื้นที่ก็มีน้อย ก็เลยเป็นที่มาของรายการ ดีสลาตัน ณ แดนใต้ เป็นรายการที่เราคิดว่าจะเป็นเวทีที่ให้คนในพื้นที่ อันดับแรก เลย ให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม ในการสะท้อนมุมมองของตัวเองต่อสถานการณ์ในพื้นที่ อย่างตรงไปตรงมา และมีความหลากหลาย


 


สองเป็นการสะท้อนและรับรู้กันไม่ใช่ในพื้นที่อย่างเดียว หมายถึงสะท้อนให้คนนอกพื้นที่เข้าใจด้วย ตรงนั้นเป็นหัวใจหลักของรายการ ก็คือ น่าที่จะเป็นช่องทางให้คนพื้นที่มีส่วนร่วมในสะท้อนมุมมองาของตัวเอง ต่อทุกปัญหา หรือต่อสถานการณ์ในพื้นที่


 


เนื้อหาที่ต้องการให้ชาวบ้านสะท้อน


ผมคิดว่า เน้นความหลากหลายก่อน โทรทัศน์สำคัญมาก คือ ทำแล้วต้องมีคนดู มันถึงจะมีความหมาย ถ้าจะมีคนดูได้ ต่อเมื่อเนื้อหามันต้อง หนึ่ง เนื้อหาต้องมีความหลากหลาย และต้องมีความน่าสนใจ และวิธีการผลิตต้องมีสีสันพอสมควร เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงเนื้อหา หรือว่าสิ่งที่อายกให้ชาวบ้านในพื้นที่ มีส่วนร่วม คือการเข้าให้ความหลากหลายกับภาษา เน้น เรื่องการเมืองเศรษฐกิจ สังคม เรื่องศิลปวัฒนธรรม


 


รูปแบบวิธีการนำเสนอ


รูปแบบเป็น กึ่งข่าว กึ่งรายงานข่าว และการสัมภาษณ์ ซึ่งในหนึ่งชั่วโมง แบ่งไว้กว้างๆ 3 -4 ส่วน คือ การรายงานหรือการติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ซึ่งเราคิดว่ารายการแบบนี้ จะมีความน่าสนใจก็ต่อเมื่อผู้ชมมีความรู้สึกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทันต่อเหตุการณ์ เช่น ล่าสุดเราได้ยินรัฐบาลชุดใหม่ จะตั้งองค์กรใหม่เพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่คนภาคใต้สนใจแน่ ว่า องค์กร หน้าตาจะเป็นอย่างไร ทิศทางจะเป็นอย่างไร จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ นี่เป็นตัวอย่างว่า ถ้ามีเหตุการณ์นี้ขึ้นมาเราควรจะเกาะติด และควรจะขยายความแล้วก็ให้คนในพื้นที่ รับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันมีความหมายอย่างไร


 


สอง เป็นเรื่องการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ เหตุการณ์สำคัญในพื้นที่ที่คนในพื้นที่คิดว่ามันเป็นประเด็นใหญ่ๆ สาม เป็นเรื่องวิถีชีวิต เรื่องเบาๆ เรื่องสีสัน เรื่องคนรุ่นใหม่บ้าง เรื่องศาสนา วิถีชีวิตของคน และสี่จะเป็นการสัมภาษณ์ ในเรื่องที่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับคนในระดับกว้าง


 


เทียบกับสถาบันอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่ทำงานในพื้นที่อยู่แล้ว เนื้อหาจะมีอะไรแตกต่างบ้าง


เนื้อหาอาจมีความคล้ายกันและแต่ต่างกันในขณะเดียวกัน ผมความแตกต่างสำคัญอยู่ที่วิธีการนำเสนอ อันดับแรก หนึ่งคือ สื่อโทรทัศน์จะเข้าถึงคนได้ในพื้นที่กว้างไกลมากกว่า และสามารถนำเสนอได้อย่างมีสีสันมากกว่า แต่ศูนย์ข่าวอิศราก็เป็นพันธมิตรกับเรา ก็ช่วยกัน เราก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน เราร่วมมือกันด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นผมคิดว่า สิ่งที่ศูนย์ข่าวอิศรา ที่เราต้องไปคุยกันก็มีเครือข่าย ซึ่งเขามีข้อมูลที่ค่อนข้างจะลึกและเยอะด้วย ซึ่งตรงนี้ที่เราต้องนำมาใช้ มาประกอบเป็นพื้นฐานที่จะมาพัฒนาเรื่องราวต่างๆ ได้


 


 


กรณีนักข่าวพลเมืองที่พยายามจะสร้างขึ้นมา จะมีบทบาทอย่างไร


นักข่าวพลเมือง เป็นมิติใหม่ของวงการสื่อสารมวลชนบ้านเรา เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีสิทธิ และมีบทบาทที่จะเป็นคนรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองในพื้นที่ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ผ่านทางมุมมองของตัวเอง เราก็เชื่อว่าไม่มีใครจะรู้เรื่องในพื้นที่มากกว่าคนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นนี่จะเป็นช่องทางที่จะทำให้ หนึ่ง ทำให้เราได้ข้อมูล ได้ข่าวที่มีความหลากหลายและสะท้อนข้อเท็จจริงในพื้นที่ได้มากขึ้น สอง นักข่าวพลเมืองก็จะมีโอกาสที่จะเป็นปากเสียงคนในพื้นที่ได้ด้วย


 


เข้ามามีส่วนร่วมแบบไหน


เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งรายการ ทำข่าว ส่งรายงานที่เขาทำเอง ส่งขึ้นมาให้เรา แล้วก็อาจให้ความเห็นเราในการติดตามข่าวต่างๆ ในพื้นที่เขา


 


พูดถึงในวงการข่าวมีข้อถกเถียงกันมาก ในกรณีนักข่าวพลเมือง โดยเฉพาะในวงการนักข่าววิชาชีพว่า นักข่าวพลเมืองสามารถทำข่าวได้จริงหรือไม่ มีความโน้มเอียงหรือเปล่า หรือมีความรอบด้านมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้เราจะอุดช่องว่างอย่างไร


เรื่องนี้เราก็ตระหนักเหมือนกัน เพราะเราต้องการให้ผู้ชมมีความมั่นใจว่า ถึงแม้จะเป็นรายงานหรือเป็นข้อมูลจากนักข่าวพลเมือง ก็ต้องมีความน่าเชื่อถือเหมือนกัน เพราะฉะนั้นนักข่าวพลเมืองทุกคนที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ก็จะผ่านการอบรมที่เรากันกับเครือข่ายของเราอยู่ ซึ่งอาจตอกย้ำความเป็นวิชาชีพด้วย เรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ ก็คือนักข่าวพลเมืองจะต้องไม่ใช้ความเป็นนักข่าวพลเมืองในการหาข้อมูลที่อาจจะโจมตีใครให้เสียหาย หรือเพื่อผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นการอบรมก็ช่วยวางบรรทัดฐานได้ส่วนหนึ่ง


 


สอง เราต้องมีกลไกตรวจสอบข่าวด้วยว่า เนื้อหาที่เข้ามามันมีอะไรแอบแฝงหรือเปล่า มีการนำเสนอเพื่อจะทำให้ใครเสียหายหรือเปล่า ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐาน ไม่ใช่เป็นการเซ็นเซอร์หรือตรวจสอบ แต่เป็นการทำให้เกิดความมั่นใจว่า ข้อมูลหรือรายงานที่ส่งเข้ามา ไม่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับใคร หรือมุ่งไปโจมตีใคร


 


กระบวนการทำข่าวในกองบรรณาธิการมีการทำข่าวร่วมกันอย่างไรกับนักข่าวพลเมือง


มีสองส่วน คือ เราอยากให้นักข่าวพลเมืองเขามีอิสระเต็มที่ในการเลือกประเด็นหรือมุมมองของเขาเองในเรื่องต่างๆ แต่ สอง ในเรื่องบางเรื่องเราอาจประสานกันที่จะให้นักข่าวพลเมือง ตามเรื่องราวที่อาจมีผลกระทบในระดับกว้าง เช่น มาตรการบางอย่างในการแก้ปัญหา มาตรการที่อาจต้องเกิดการถกเถียงการ เราอาจร่วมมือกับนักข่าวพลเมือง ขอความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ที่หลากหลายทั่วประเทศก็ได้ ตรงนี้นักข่าวพลเมืองจะช่วยได้เยอะมาก


 


นักข่าวพลเมืองมาอุดช่องโหว่ให้กับนักข่าวอาชีพได้ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ทุกเรื่อง แล้วตัวนักข่าวพลเมืองซึ่งเรารู้เรื่องของเขาเองเขาก็มา ขณะเดียวกัน เราสงสัยว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการสมดุลกัน


เราคงไม่ใช้นักข่าวพลเมืองทำหน้าที่เหมือนนักข่าว หรือ สตริงเกอร์ เราไม่ให้คุณไปทำหน้าที่สัมภาษณ์ตำรวจ หรือ ไปเอาข้อมูลที่ล่อแหลม หรือเรื่องที่เป็นคดี นักข่าวพลเมืองควรจะรายงานข่าวที่เขาประสบด้วยตัวเอง ปัญหาในชุมชนที่เขาประสบอยู่ หน้าที่คือสะท้อนปัญหา หรือสะท้อนเรื่องที่เกิดขึ้นในชุมชนเขา ไปใช่ไปตรวจสอบ ไม่ใช่ไปทำเรื่องคดีต่างๆ ที่นักข่าวธรรมดาทั่วไปเขาทำอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีข้อจำกัดและมีความจำกัดความที่ชัดเจนเรื่องบทบาทนักข่าวพลเมือง มันก็แก้ปัญหาเรื่องที่ถามมาได้เยอะมาก


 


นักข่าวพลเมือง ไม่ควรไปทำเรื่องคดีอาชญากรรมที่ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะต้องมีความรอบด้าน นักข่าวพลเมืองแค่สะท้อน สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนที่เขาเห็นก็พอแล้ว เช่น ปัญหาเรื่องน้ำเสียในชุมชน หรือร้องเรียนว่ามีการบุกรุกที่ป่า ไม่ได้กล่าวหาว่าใครบุกรุก แต่เป็นการบอกให้ประชาชนรู้ว่ามันมีปัญหานี้เกิดขึ้นอยู่ หรือจะเล่าในสิ่งที่ดีงามที่เกิดขึ้นในชุมชนก็ได้ ไม่ต้องเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาอย่างเดียว


 


บางทีก็อาจเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆชุมชน


ถ้าเราคิดว่าเป็นปัญหาที่มันเกิดขึ้นในหลายๆชุมชน เราควรจะวางแผนให้นักข่าวพลเมืองในชุมชนต่างๆ รายงานในเรื่องเดียวกันได้ ในมุมมองที่แตกต่างกันก็ได้ นั่นก็เป็นการตอบคำถามว่าจะร่วมกันอย่างไรระหว่างกองบรรณาธิการของไทยพีบีเอสกับตัวนักข่าวพลเมือง


 


ที่จริงแล้วพื้นที่ข่าวของทั้งประเทศ 90 เปอร์เซ็นต์ อยู่ต่างจังหวัด กรุงเทพมหานครคล้ายๆกับเป็นสำนักงานใหญ่แต่มีอิทธิพลสูง เพราะนโยบายแต่ละตัวที่ออกมามันส่งผลกระทบต่อชุมชนต่างจังหวัด ตัวต่างจังหวัดเป็นตัวได้รับทั้งผลบวกและผลลบ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือถ้าเราทำนักข่าวพลเมืองได้ดี มันจะไปผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เยอะ ถ้าเราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ผมคิดว่ามันจะต้องมีโครงสร้างที่จะต้องรองรับข่าว เช่น กรณีป่าสันทราย ซึ่งเอาเข้าจริงพบว่ามันมีความสำคัญพอกับป่าชายเลน ถ้าเราคิดว่าป่าสันทรายเหลือน้อย จะต้องอนุรักษ์ไว้ กองบรรณาธิการที่กรุงเทพก็น่าจะขานรับที่จะไปทำข่าวต่อ ไปพูดกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไปสัมภาษณ์สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น ซึ่งไม่ทราบว่ามีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร


ข่าวที่เราจะจับ มันต้องหวังผล ไม่ได้จับข่าวเพื่อรายงานแล้วจบ เหมือนกับข่าวที่เราจับ เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม ปัญหาชุมชนต่างๆ ก็จะมีการวางแผน จะเป็นการร่วมมือกับนักข่าวพลเมืองหรือเครือข่ายอื่นๆ เราก็มีการหวังผล รายงานไปแล้วมันต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบนั้นบ้าง เพื่อตอบคำถามได้ว่าแล้วมันจะขานรับอย่างไร ต้องไปไล่ถามอธิบดี ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างไร เพื่อทำให้ปัญหาที่เราไปสืบค้นมาว่า มีข้อมูลว่ามันมีปัญหาจริงๆ แล้วการเยียวยาแก้ไข


 


เป็นห่วงว่านักข่าวพลเมืองสะท้อนปัญหาทั้งสวยงามและด้านลบ แล้วก็ดูดี แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น


ส่วนกลางก็ต้องมีกลไกรองรับตรงนี้ เราก็ไม่ปล่อยให้นักข่าวพลเมืองรายงานแล้วก็จบ แล้วก็ผ่านไป แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราก็ต้องยอมรับว่า เราก็ไม่ได้มีคนที่รองรับได้ทุกเรื่อง ก็ต้องเลือกเรื่องที่มีน้ำหนักเพียงพอที่ต้องตาม สานต่อ แล้วก็มุ่งให้มันมีผลทางการเปลี่ยนแปลง


 


แล้วมีโอกาสที่จะหลอมรวมการทำงานระหว่างนักข่าววิชาชีพกับนักข่าวพลเมือง


อันดับแรกอย่างที่ว่า นักข่าวพลเมืองเราไม่ควรจะไปก้าวก่ายเขามากเกินไป เพราะว่าเขาไม่ใช่นักข่าวอาชีพ แล้วเขาไม่ควรจะเป็นนักข่าวอาชีพเลย ผมว่านักข่าวพลเมืองก็เป็นประชาชนธรรมดาๆ ที่มีความรู้สึกว่ามันมีเรื่องที่เกิดขึ้นในชุมชนแล้วเขาอยากรายงาน เขาไม่ควรที่จะทำหน้าที่เหมือนนักข่าวอาชีพ ผมว่าน่าจะดีที่สุด แล้วก็การประสานงานร่วมมือกัน ก็ควรจะทำแค่ระดับหนึ่ง ไม่ควรที่จะหลอมรวมจนกระทั่งเขามองเหมือนกับนักข่าวมอง อย่างนั้นมันก็ผิด เดี๋ยวมันก็ไปกันใหญ่


 


ถ้าทำอย่างนั้นมันก็จะทำให้สูญเสียความเป็นประชาชน พลเมือง เขาต้องมองข่าวเหมือนชาวบ้านธรรมดามอง มีความรู้สึกเหมือนชาวบ้านธรรมดารู้สึก ซึ่งจะแตกต่างจากนักข่าวมืออาชีพมอง ซึ่งนักข่าวมืออาชีพจะมองแบบคนที่ผ่านการอบรมมาแล้ว แล้วมีมุมมอง มีสูตรสำเร็จของตัวเองในการมองประเด็น แต่นักข่าวพลเมืองจะมองแบบใส แบบชาวบ้านมอง


 


บางทีการนำเสนออาจเป็นเรื่องที่เขาเข้าใจแต่คนนอกชมแล้วยังไม่เข้าใจ


ก็อย่างที่บอกว่า มันอยู่ที่เรื่องที่เขารายงานเข้ามา เขาไม่ควรรายงานในเรื่องที่มันซับซ้อนเกินไป แล้วก็เขาควรจะรายงานในสิ่งที่มันใกล้ตัวเขาที่สุด แล้วก็สัมผัสได้ดีที่สุด อย่าลืมว่านักข่าวพลเมืองไม่ใช่หมายถึงชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลเท่านั้น คนในกรุงเทพ ในเมืองก็เป็นนักข่าวพลเมืองได้


 


นักข่าวพลเมืองเป็นนิมิตใหม่ ถ้าทำให้ดีจะช่วยเติมเต็มนักข่าวอาชีพได้


บางเรื่องที่เขานำเสนอมา เราอาจไม่ออกอากาศก็ได้ แต่เอาไปตามต่อ เช่น เรื่องที่มันดูแล้ว เรื่องใหญ่แน่ นักข่าวพลเมืองรายงานแค่นี่มันไม่แก้ปัญหาหรอก เราก็ส่งนักข่าวไปลุยอยู่อยู่ในพื้นที่ เพราะเป้าหมายสูงสุดของนักข่าวพลเมืองคือ รายงานในสิ่งที่ ถ้าเป็นปัญหาเขาก็หวังให้มีคนมาแก้ปัญหาให้เขา


 


ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าได้ออกอากาศหรือไม่ได้ออกอากาศ อยู่ที่ว่าเขารายงานมาแล้ว มีคนมาแก้ปัญหาให้หรือไม่ ถ้าไปสานต่อหรือไปขยายความต่อแล้วมีคนเข้าไปลุยแล้วแก้ปัญหาได้เร็วแล้วก็จริงจังเมือไหร่ มันก็เป็นการตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ ถือเป็นนโยบายหลัก เพราะนี่เป็นตัวอย่างของการมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรมที่สุด


 


การให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน


ก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหลัก ที่เป็นวิสัยทัศน์ของผมเลย ตอนที่ผมไปสมัครในตำแหน่งผู้อำนวยการว่า บทบาทของไทยพีบีเอสมันต้องมีมากกว่าในประเทศ ต้องทำให้คนไทยรู้จักเพื่อนบ้านเรามากขึ้น และให้เพื่อนบ้านรู้จักประเทศไทยเรามากขึ้น อย่างที่ผมบอกวาประเทศไทยติดกับ ลาว พม่า เขมร มาเลเซีย แต่ว่าคนไทยรู้จักเพื่อนบ้านเราน้อยมาก รู้จักน้อยจริงๆ ทำอย่างไรที่จะให้รู้จักมากขึ้น


 


ซึ่งรวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน (ประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่เกิด 10 ปี ข้างหน้านี้ที่อาเซียนจะกลายเป็นประชาคมแล้ว มีธรรมนูญของตัวเองเรียบร้อยแล้ว แต่คนไทยด้วยกันเอง ยังไม่รู้เลยว่าอาเซียนคืออะไรเลย อย่างแต่อาเซียน แม้แต่เพื่อนบ้านแท้ๆ ยังไม่รู้จักเลย


 


เพราะฉะนั้นหน้าที่ของไทยพีบีเอส คือให้ความรู้คนไทย เกี่ยวกับเรื่องเพื่อนบ้านาของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเลเซีย เพราะมาเริ่มเรื่อง ดีสลาตัน ณ แดนใต้ เราก็ต้องให้คนไทยรู้จักมาเลเซียมากขึ้น แล้วคิดว่าในมาเลเซียก็มีเรื่องราวมากมายที่คนไทยควรจะเรียนรู้ ทั้งเรื่องการเมือง สังคม ศาสนา วัฒนธรรม แล้วก็ทำให้หันมามองตัวเรามากขึ้นได้ด้วย ถือเป็นนโยบายใหญ่เลย คือ ทำให้สู่สาธารณะระดับภูมิภาคเลย ทังอาเซียนเลยโดยเริ่มจากเพื่อบ้านเราก่อน


 


มุมมองต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้เป็นอย่างไร


ผมคิดว่าปัญหาพื้นฐานยังไม่ได้รับการแก้ไข ที่ผ่านมามีการเยียวยา คือสกัดกั้นไม่ให้มันบานปลาย ในส่วนนั้นถือว่าทำสำเร็จในระดับหนึ่ง ก็คือสกัดกั้นไม่ให้บานปลาย แต่ปัญหาพื้นฐานยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะว่าที่ผ่านมากำลังหลักในการแก้ปัญหาคือ ทหาร และทหารก็ไม่มีแผนหรือไม่มีหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหาระยะยาว รัฐบาลใหม่เข้ามาจะตั้งองค์กรใหม่ในการแก้ปัญหา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีแสดงว่ารัฐให้ความสำคัญ แต่ก็ยังเร็วเกินกว่าที่จะบอกได้ว่ามันจะได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร แต่ผมว่าอยู่ที่ความพยายามให้ความสำคัญและความสนใจ


 


ผมว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะแก้ไม่ได้เลย ถ้าไม่แก้ปัญหาตรงพื้นฐาน คือ เรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ เรื่องระบบยุติธรรม ซึ่งตรงนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลเองยังไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร แต่มีปัญหาเรื่องการประสานงานกัน แล้วก็ตัวระดับผู้นำประเทศเอง ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาถึงนายสมัคร สุนทรเวช และก็นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่เคยมีใครให้ความสนใจเรื่องภาคใต้จริงๆ ได้แต่เพียงพูด แต่ตัวเองไม่เคยสนใจ มอบหมายงานต่อๆมา ทหารก็เป็นหลัก แล้วทหารก็ฟังแต่รายงานจากพื้นที่มา นี่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ


 


แล้วรายการนี้จะมีส่วนช่วยอย่างไร


รายการนี้ก็ช่วยสะท้อนปัญหาเหล่านี้ออกมาในเชิงลึก เพื่อที่จะช่วยกระตุ้นคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งหลายาต้องลงมาแก้อย่างจริงจัง


 


00000


 



 


.........................................................................


 


"ปัญหาใหญ่คือคนที่คิดมุมแบบนี้ในองค์กรมีน้อย"


 


.........................................................................


 


สมเกียรติ จันทรสีมา


หัวหน้าโต๊ะข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส


 


นิยามของนักข่าวพลเมืองในมุมมองของคุณสมเกียรติเป็นอย่างไร ที่มาเป็นอย่างไร


มันเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด คือมองว่า จริงๆ แล้วเจ้าของประเด็น ชาวบ้านที่เราเรียกว่า Active citizen คือสามารถที่จะสื่อสารด้วยตัวของเขาเองได้ นี่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญ คือ ต้องเชื่อว่าเขาสามารถที่จะสื่อสารเรื่องราวของเขาเอง เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเงื่อนไขหรือโอกาสยังไม่เปิดเท่านั้นเอง พื้นที่สื่อยังเป็นพื้นที่ของความเป็นมืออาชีพอยู่เสียส่วนใหญ่


 


แล้วระหว่างนักข่าวอาชีพกับนักข่าวพลเมืองสามารถที่จะหลอมรวมกันได้หรือไม่


ที่จริงต้องทำงานด้วยกัน ผมคิดว่านักข่าวพลเมือง ถ้าดูหน้าจอทีวีไทย จะเห็นว่าเขาเป็นคนเปิดประเด็น เป็นคนชี้เป้าเปิดประเด็น แต่จริงๆแล้วเราคงไม่ใช้นักข่าวพลเมืองไปทำ เช่น กรณีจะนะ จะให้เขาไปสัมภาษณ์โรงแยกก๊าซ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตรงข้ามก็คงไม่ได้ คงเป็นไปไม่ได้ แต่เขาอาจจะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับเขาได้ ในมุมพื้นที่ของเขาเองที่เขามีประสบการณ์ตรง อธิบายมันว่าเกิดอะไรขึ้น แต่หน้าที่ของนักข่าวมืออาชีพก็ต้องเอาประเด็นนี้ไปขยายความต่อ


 


ที่ผ่านมามีปัญหาหรือไม่


มี ก็คือถ้าในระดับพื้นที่ยังไม่เกิดขึ้นในเรื่องการเชื่อมต่อระหว่างนักข่าวอาชีพกับนักข่าวพลเมือง แต่ในส่วนกลางมันขยับ อาจเป็นเพราะว่าเริ่มต้นความคิดมันเกิดขึ้นที่ส่วนกลางก่อน แล้วมันมีคนที่เห็นความสำคัญ แล้วก็ขยับ มีการตามต่อประเด็น แล้วก็มีการใช้เครื่องมือ เช่น ถ้าประเด็นเรื่องจะนะก็เอาประเด็นนักข่าวพลเมืองมาเชื่อมกับฝ่ายรัฐ ข้ามผ่านในเชิงโครงสร้าง แล้วก็มาประยุกต์ใช้ มันก็มีการขยับ เริ่มมีการไหลเวียน หรือเอาประเด็นที่เขาตั้งขึ้นมาแล้วก็เอาไปถามคนที่เกี่ยวข้อง ถามรัฐมนตรี ถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ทางพื้นที่ว่าอย่างนี้แล้วคุณจะว่าอย่างไร


 


ข่าวที่นักข่าวพลเมืองเปิดประเด็นขึ้นมาแล้วมีการตามต่อในส่วนกลาง


เช่น กรณีคลิตตี้ บ้านชาวกะเหรี่ยงที่เมืองกาญจนบุรี ที่ 10 ปี ได้รับผลกระทบจากเหมืองตะกั่ว มีคนเข้าใจว่าจบแล้ว เพราะมีการฟ้องศาล แล้วศาลก็สั่งให้ชดใช้ ความจริงก็คือคลิตตี้ล่างมีปัญหาก็คือ เขาอยู่ในป่าอนุรักษ์ วันดีคืนดีก็มีหน่วยงานรัฐไปส่งเสริมให้ปลูกพืชแทนป่า คือปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งชาวบ้านก็ทำ เพราะมันเป็นเงื่อนไขโอกาสรอดของเขา


 


ประเด็นก็คือว่าพอเกิดอย่างนี้ปุ๊บ กรมป่าไม้ไม่ยอม ก็เลยถูกจับขึ้นศาล ชาวบ้านก็เล่าให้ฟังว่าเขาลำบากมาก เพราะวันที่ต้องขึ้นศาล ต้องขับมอเตอร์ไซด์ประมาณ 70 - 80 กิโลเมตรไปกลับทุกวัน


 


แล้วเขาก็สะท้อนว่ามันเป็นปัญหาที่เขาจัดการไม่ได้ เพราะว่ากรมป่าไม้ไม่ยอมให้อยู่ทำกินในพื้นที่ นักข่าวก็ไปตามต่อว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็พบปัญหาที่มันซ้อนขึ้นมาอีกทีหนึ่ง


 


ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำไมชาวบ้านคลิตตี้ จึงต้องมาเป็นเหยื่อซ้ำสอง แล้วนำไปสู่การเปิดเวทีเอากรมป่าไม้ เอารัฐมนตรีว่าการกระเกษตรและสหกรณ์มาคุย เอาชาวบ้าน กลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่มานั่งคุยว่า ปัญหาชาวบ้านแบบนี้จะจัดการอย่างไร


 


สุดท้ายก็ตกลงกันว่า เขายังยอมให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ได้ เพียงแต่ว่าต้องมาจัดการเรื่องพื้นที่ว่า ต้องกันพื้นที่ให้กี่พันไร่ที่จะให้ชาวบ้านอยู่ จะอยู่อย่างไร ซึ่งชาวบ้านก็พอใจแล้ว เขาก็จะไม่ไปบุกรุกต่อ


 


อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีแรกที่ถือว่าขยับได้เร็ว คือ กรณีสัญชาติ คือเรื่องของอายู ซึ่งเขาเป็นนักข่าวพลเมืองด้วย ขณะที่ที่เขาทำประเด็นเรื่องสัญชาติว่า เป็นคนที่ได้รับสัญชาติตามถิ่นฐาน แต่ไม่ได้รับบัตรประชาชน วิธีการก็คือ ถ่ายให้เห็นเลยว่า เดินไปยื่นขอสัญชาติในที่ว่าการอำเภอ อย่างอายู 8 รอบ ขึ้นดอยลงดอย ยื่นเสร็จก็พบว่าเอกสารไม่ครบก็ต้องขึ้นไปอีก แต่สุดท้ายก็รับ


 


กรณีฟองจันทร์ ปรากฏว่าได้รับเลย เพราะเขตพื้นที่ทำเร็ว แต่พอกรณีฟองจันทร์ได้รับการนำเสนอ ที่อื่นก็รู้ คนอื่นก็มาร้องว่าของเขาก็เข้าเงื่อนไขเหมือนกับฟองจันทร์ ก็ต้องมีสิทธิได้ซิ เพราะฉะนั้นทุกคนก็ไปยื่นเรื่อง เราก็ไปตามว่ามีใครบ้าง ก็มีสมพงศ์ อะไรอย่างนี้ มันก็เกิดการทำตามกันมาซึ่งมันก็ได้ ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วที่ผ่านมาทำไมจึงไม่ทำ ตอนท้ายกลายเป็นว่า คนที่เข้าเงื่อนไขก็สามารถอ้างได้ว่าก็มีคนได้แล้ว ทำไมตัวเองถึงไม่ได้ มันจะเกิดอย่างนี้ เป็นต้น


 


แสดงว่าความร่วมมือระหว่างนักข่าวอาชีพในส่วนกลางกับนักข่าวพลเมืองสามารถเชื่อมต่อกันได้


ใช่ ถ้าดูจากตัวอย่างที่ยกมา แต่มันก็เป็นลักษณะโต๊ะข่าว ซึ่งโต๊ะข่าวที่ทำเรื่องนี้เป็นโต๊ะข่าวประชาสังคม


 


บทบาทของนักข่าวพลเมืองควรจะพัฒนามาเป็นนักข่าวมืออาชีพ หรือควรจะเป็นชาวบ้านต่อไป


ในเชิงประเด็นเป็นมืออาชีพได้ แต่โดยตัวเงื่อนไข คือ นักข่าวพลเมืองไม่ได้มีรายได้ เราไม่ได้ให้ค่าตอบแทน ที่จริงเขาใช้เครื่องมือของเขาเกือบทั้งหมด แล้วเข้ามาพัฒนาทักษะกับเรา โดยตัวเขาเอง ผมคิดว่าเขาเป็นพลเมืองที่ทำงาน เป็นครู เป็นชาวบ้าน ประมงพื้นบ้าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของเขาไป ซึ่งตรงนั้นเป็นจุดที่เขาโอเค หมายความว่าเขายังมีสิทธิที่จะสื่อสาร เมื่อเขามีประเด็นที่อยากสื่อสาร เขาก็ต่อเชื่อมกับเราได้


 


แต่ที่คุยกันก็คือ มันอาจจะมีการยกระดับขึ้นมาอีกระดับหนึ่งก็คือ มีเป้าหมายมากขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ บางประเด็นมาเชื่อมกันได้ อย่างกรณีการกัดเซาะชายฝั่ง มันก็มีปัญหาทั้งชายฝั่งอ่าวไทยทั้งหมด แต่ต่างคนต่างเสนอ ทำไมไม่นั่งคุยกัน ทำไมไม่ได้มาคุยกับพื้นที่ที่เขายังไม่มีเครือข่าย ยังไม่มีนักข่าวพลเมือง ลองเปิดประเด็นดึงเขามาคุยไหม ให้เป็นเครือข่ายที่เฝ้าระวัง ก็เป็นการพัฒนาความร่วมมืออีกแบบหนึ่ง แต่ตรงนี้เป็นหน้าที่ของเครือข่ายที่ต้องทำเอง


 


ต้องมีโครงสร้างขึ้นมารองรับเพื่อหาความร่วมมือขึ้นมาเรื่อยๆ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย


ใช่ ซึ่งผมก็ทำแล้ว ตอนนี้เราทำฐานอยู่ ก็คือพัฒนาให้งานขึ้นมาให้สื่อสารได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น เช่น ประเด็นข่าวต่างๆ รวมทั้งทักษะอื่นๆ ทำให้เป็นเครือข่ายของการทำงานในพื้นที่


 


ผมคิดว่าตรงส่วนกลางต้องคิดกระบวนการอยู่ แต่ที่ดีก็คือมันจะมีระบบการประชุมวง หรือโต๊ะข่าว แล้วก็โยนประเด็นลงไป เพื่อให้มีการตามต่อประเด็น แต่เหนื่อยหน่อย เพราะมันยังเป็นกลไกที่ไม่ค่อยเป็นทางการนัก แต่คิดว่าโดยหลักการที่เสนอไปคือ ให้มีกลุ่มข่าวขึ้นมาเลย ทำหน้าที่ตามต่อข่าวตรงนี้ มันเป็นทีมเฉพาะขึ้นมาทีหนึ่งที่มีการทำงานขึ้นมา แล้วที่เหลือค่อยใช้ให้เป็นตัวหมุน


 


คือที่ผ่านมายังไม่เห็นภาพก็เลยยังนึกไม่ออก หรือนึกออกก็ยังไม่ได้ทำ เพราะมันไม่ใช่งานของตัวเอง มีเส้นแบ่งความเป็นโต๊ะข่าวอยู่ มันต้องหลอมรวมตรงนี้


 


การพัฒนานักข่าวพลเมืองในช่วงต่อไปจะเป็นอย่างไร


คิดว่า เท่าที่ฟังดู เขาก็มองว่าทักษะหลายอย่างยังอยากพัฒนาอยู่ แต่คิดว่าคนรุ่นแรกที่อบรมไปแล้วก็เยอะ ก็หลังว่าเขาจะมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับคนในพื้นที่ อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ไม่ได้คิดว่าทั้งทีมจะต้องมาทำงานทั้งหมด แต่จะมีศูนย์กลางของแต่ละจังหวัด อย่างน้อยจังหวัดเป็นทีมที่จะช่วยหมุน ยังขาดตรงทีมที่จะไปช่วยสนับสนุน แต่พยายามจะมองในเชิงประเด็นด้วย เช่น บางประเด็นที่มันร้อนอยู่แล้ว เช่น เรื่องที่ดิน ซึ่งเขารู้ข่าวเขาก็มาอบรม เขาก็เชื่อมเครือข่ายกัน แม้ยังไม่ได้เชื่อมการทำงานก็ตาม ยังไม่ได้ใช้เครื่องมือที่ใช้ในการเชื่อมเครือข่าย


 


เห็นมีการทุ่มเทมาทางภาคใต้มาก


เพราะมีรายการดีสลาตัน ณ แดนใต้ ความจริงแล้วที่อื่นก็เวิร์กอยู่ เช่นที่น่าน เชื่องราย ระนอง และระยอง แต่ทีมทำงานตอนนี้มีแค่ 3 คน รวมทั้งผมด้วย ซึ่งทำไม่ไหว ก็กำลังจะเพิ่ม แต่ปัญหาใหญ่คือ คนที่คิดมุมแบบนี้ในองค์กรมีน้อย หรือถ้าจะเพิ่มคน ถ้ามีงบประมาณมาก็ต้องใช้เวลา เป็นสื่อที่เข้าใจเรื่องงานชุมชน เพราะมีมุมที่แตกต่างอยู่


 


มันมีประเด็นที่คุยกันอยู่บ่อยๆ เช่น นักข่าวพลเมืองก็ทำหน้าที่ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ งานองค์กรได้ไหม บางทีก็ส่งเป็นงานแถลงข่าว ผมว่า เอ้ย มันอาจไม่ตรงบทบาทของนักข่าวพลเมือง โดยจุดแข็งมันอยู่ที่ตัวเนื้อหา ตัวนักข่าวจะเป็นคนที่เข้าใจประเด็นตรงนั้น อย่างน้อยคุณอยู่พื้นที่คุณรู้ คุณสามารถอธิบายในสิ่งที่คุณอธิบายได้


 


ประเด็นเหล้านี้เป็นประเด็นของชุมชนที่เขาอยากสื่อสาร แต่นักข่าวพลเมืองมันมีโจทย์ใหญ่คือ คุณเล่าเรื่องของคุณในพื้นที่ แต่คุณก็เล่าให้คนทั้งประเทศรู้นะ มันต้องเป็นเรื่องที่เขาฟังด้วย คุณว่าเรื่องของคุณน่าสนใจพอที่คนจะฟัง ทำอย่างไรให้มันน่าสนใจ ให้คนทั้งประเทศฟัง นี่เป็นสิ่งที่คุยกันตลอดเวลาในทีมข่าว


 


ผมว่าคนในชุมชนเขาก็ชัดเจนว่า สื่อนี้มันมองว่า มันน่าจะช่วยอุดช่องว่าง ซึ่งผมทำงานในพื้นที่มาก็เห็นว่าประเด็นข่าวสารในพื้นที่มันก็สำคัญ ที่ผ่านมาเจ้าของพื้นที่ไม่ได้มีพื้นที่ในการสื่อสาร มันก็เลยแสดงออกเพื่อจะบอกหรืออธิบายกับสังคมด้วยวิธีการอื่นๆ ผมว่าถ้าทำได้จริงแล้วก็เปิดพื้นที่ให้มากพอ อย่างน้อยก็ช่วยนับหนึ่งในเรื่องของการหาแนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ได้ แต่มันก็คงไม่แก้ปัญหาทั้งหมด สุดท้ายมันอยู่ที่คนในพื้นที่ต้องแก้เอง แต่สื่อมันเป็นเครื่องมือใหม่ที่คนอื่นต้องเข้ามาช่วย เขาจะใช้ประโยชน์อย่างไร


 


นักข่าวพลเมืองในชายแดนใต้ให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน


เขากระตือรือร้นมาก เพราะภาคใต้มีปัญหาใหญ่คือเรื่องเทคโนโลยี เพราะมันไกล การส่งชิ้นงานมันต้องใช้ ซึ่งบางที่ส่งเป็นชั่วโมง พอส่งได้ 99 เปอร์เซ็นต์หลุด ก็หงายตึงเลย แล้วเขาส่งมาก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้เลย เราต้องแก้กลับไป เพราะฉะนั้นเราแบ่งงานในภาคใต้เยอะ เพราะเขาอยากสื่อสาร ผมคิดว่าต่อไปต้องมีศูนย์ข่าวที่ปัตตานีด้วย แทนที่จะมาส่งงานที่ศูนย์ข่าวหาดใหญ่


 


บทบาทนักข่าวพลเมืองสามารถขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือไม่


ที่ผ่านมาเท่าที่ผมสังเกตดูเขาจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงปัญหาตรงๆ จะพูดแต่เรื่องวัฒนธรรมเยอะ ผมก็เข้าใจอยู่ว่าบางทีเขาก็พูดยาก แรงปะทะมันสูง ผมว่าเขากำลังเรียนรู้วิธีการมันอยู่ตอนนี้


 


มีชิ้นหนึ่งที่พูดถึงน้องนักศึกษาพยาบาลที่ถูกยิงบนรถไฟ เขาสัมภาษณ์ครอบครัว ซึ่งผมว่าดีมากเลย คือเขาใช้หลักศาสนามาอธิบาย แต่ต้องเติมรายละเอียดให้เห็นภูมิหลังของน้องคนนี้หน่อย ครอบครัวเขาเป็นใครมาจากไหน มันจึงจะสมบูรณ์มากเลย คือ เขาเริ่มจะกล้าขึ้นที่จะสื่อสาร บางครั้งผมอยากให้เอาปัญหาจริงๆ มาออก แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นได้หรือเปล่า ไม่แน่ใจ ที่ผ่านมาบางคนก็ยังขัดเขิน แต่ชาวบ้านบางคนก็ดีใจได้ออกหน้าจอ


 


00000

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net