Skip to main content
sharethis

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)


 


ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสภาวะการเมืองไทยที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ของยอดภูเขาน้ำแข็งบางอย่าง ที่สะท้อนไปถึงวิธีคิดเกี่ยวกับความรุนแรงของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม อันมีผลมาจากความคุ้นชินและค่านิยมต่อเรื่องความรุนแรงที่สืบเนื่องมาจากครอบครัวและโรงเรียน จนแสดงออกมาในสังคม


 


ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ที่สนใจและศึกษาประเด็นความรุนแรงในโรงเรียนมาเป็นเวลาหลายปี ทำงานด้านวิจัยและป้องกันความรุนแรงต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ดำเนิน โครงการวิจัยเรื่องการประเมินผลโครงการนำร่องโรงเรียนปลอดความรุนแรง และ โครงการวิจัยเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบแนวทางป้องกันความรุนแรงต่อเด็กแบบยั่งยืน โดยขับเคลื่อนในประเด็น "โรงเรียนปลอดความรุนแรง" โดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


 


อาจารย์สมบัติได้กล่าวถึง ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในโรงเรียนว่า มีรูปแบบที่เห็นได้ชัดอย่างน้อย 3 แบบ คือ ความรุนแรงจากครูสู่นักเรียน ความรุนแรงจากนักเรียนด้วยกันเอง และความรุนแรงในรูปแบบการทะเลาะวิวาท และสิ่งเร้าที่มากระตุ้นให้เกิดความรุนแรงเหล่านี้ ได้แก่ ความรุนแรงที่เกิดในสื่อ ทั้งข่าว ละคร โฆษณา ภาพยนตร์ วิดีโอเกมส์ ฯลฯ จนกลายเป็นวัฒนธรรมเหมือนโรคระบาด เกิดการเลียนแบบและนำความรุนแรงสู่ครอบครัว ชุมชน และคนในสังคม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับความสนใจแก้ไขอย่างเป็นระบบ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา


 


ผลกระทบจากความรุนแรงเหล่านี้ที่เห็นชัดที่สุด คือ ระบบการเรียนรู้ สมองจะตื่นเต้น กังวล หวาดกลัว จะทำให้ขาดสมาธิ และจะเห็นชัดว่าหากระดับความรุนแรงในโรงเรียนสูงขึ้น ผลการเรียนของเด็กก็ต่ำลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่องพฤติกรรมความรุนแรงในโรงเรียน ครอบครัว ชุมชน ที่พบว่า บรรยากาศที่ก้าวร้าวก็ทำให้เด็กก้าวร้าวตาม เกิดเป็นค่านิยมและถ่ายทอดกันไปรุ่นต่อรุ่นได้


 


ปัญหาความรุนแรงนั้นไม่เลือกชนชั้น วรรณะ หรือฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เราจะพบว่าเด็กในครอบครัวที่ร่ำรวยก็จะพบเจอความรุนแรงในครอบครัวและโรงเรียนเช่นกัน ส่วนเด็กและเยาวชนที่อยู่ในสภาพด้อยโอกาสอาจมีความเสี่ยงมากกว่าเพราะขาดเครือข่ายทางสังคมคอยค้ำจุนช่วยเหลือ แต่เด็กที่มีพร้อมก็ไม่ได้มีอะไรรับประกันว่าเขาจะไม่พบความรุนแรง


 


"ความรุนแรงเหมือนเนื้อร้ายที่ซ่อนอยู่ภายใน เรามักมองไม่ค่อยเห็นจนกว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น เช่น นักเรียนเสียชีวิต จึงจะตื่นตัว พอเรื่องเงียบไปทุกอย่างก็ดำเนินไปเหมือนเดิม นักเรียนที่ถูกลงโทษรุนแรง ถูกข่มเหง รังแก ก็ต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป เป็นสภาพที่พบบ่อยเช่นเดียวกับปัญหาทารุณกรรมอื่นๆ เช่น การทารุณกรรมเด็ก สตรี หรือความรุนแรงทางเพศ ที่ผู้ถูกกระทำไม่กล้าบอกใคร กลัวและอับอาย ซึ่งการแก้ไขที่ผ่านมาเป็นระยะสั้นๆ เท่านั้น" อาจารย์สมบัติกล่าวเพิ่มเติม


 


ในระยะแรกที่อาจารย์สมบัติสนใจและศึกษาด้วยตัวเอง จากการสังเกตสภาพสังคมรอบตัว พอเห็นเข้าใจและเห็นปัญหาชัดมากขึ้น จึงจัดอบรมครูเรื่องการเสริมสร้างวินัยเชิงบวก คือการจัดการพฤติกรรมเด็กในห้องเรียนโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการอยากให้เข้าไปอยู่ในระบบการช่วยเหลือนักเรียน เมื่อมีโอกาสอบรมครูทั่วประเทศ ก็เกิดการกระตุ้นให้ครูและผู้บริหารมาสนใจมากขึ้น จึงทำวิจัยเรื่องนี้มากขึ้น ช่วงแรกๆ ปัญหาใหญ่คือ การขาดความตระหนักถึงปัญหานี้ของคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ครู ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย จึงไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร


 


อาจารย์สมบัติยืนยันว่า ปัญหานี้แก้ไข และป้องกันได้ แต่ผู้ใหญ่ต้องไม่นิ่งดูดาย และเอาจริง ต้องทำงานด้านนี้ให้ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เราคิดแต่เอาเด็กไปบำเพ็ญประโยชน์ เช่น ทำความสะอาด ไปดื่มน้ำสาบาน นั่งสมาธิ เข้าค่ายทหาร แต่โครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมก็ยังเอื้อต่อความรุนแรงอยู่ สภาพในโรงเรียนและชุมชนไม่เปลี่ยน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การแก้ต้องแก้เป็นระบบ ไม่ใช่แก้ทีละราย ต้องเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ที่ไม่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรง มีการเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง ต้องใช้เวลา ไม่มีคำตอบที่สั้นๆ ง่ายๆ


 


ในระดับนโยบายคงต้องรู้ทันค่านิยมที่ส่งเสริมความรุนแรง แล้วส่งเสริมให้ถูกทาง ทุกวันนี้เด็กแข่งขันกันมาก นำไปสู่ความเห็นแก่ตัว และเกิดความก้าวร้าวรุนแรง เราลดการแข่งขันลงได้ไหม เน้นการช่วยเหลือร่วมมือกันได้ไหม ส่วนชุมชนต้องลงทุนให้การศึกษาแก่ประชาชนมากขึ้น ให้เข้าใจถึงความเสียหายที่จะเกิด แล้วดึงให้คนหันมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ผู้นำชุมชนก็ควรสร้างโอกาสหรือธรรมเนียมการปฏิบัติให้คนช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันมากขึ้นเพื่อเยาวชนจะได้ซึมซับเอาค่านิยมเช่นนี้ไป


 


โครงการนำร่อง "โรงเรียนปลอดความรุนแรง" คิดว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้มาก แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและประเมินกันเป็นระยะๆ เพราะจะได้นำองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่พัฒนามาใช้กับงานด้านโรงเรียน เช่น การสอนด้านสันติศึกษา การแก้ไขข้อขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นต้น สอนได้ตั้งแต่เด็กระดับประถมขึ้นไป เริ่มได้เร็วก็ยิ่งง่าย ถ้ารอช้าก็ยากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุเด็ก เหมือนรักษาโรคบอกไม่ได้ว่าจะหายถาวรไหม เราต้องเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา


 


ผู้คนในสังคมที่ตระหนักถึงเรื่องความรุนแรง ก็ช่วยกันแก้ได้ เริ่มจากตัวเราที่ไม่ใช้และไม่สนับสนุนความรุนแรง แผ่ขยายไปรอบๆ ตัว แล้วขยับไปสู่ระดับโครงสร้าง ถ้าเราอยากเปลี่ยนสังคม ก็ต้องเปลี่ยนที่ตัวเราเองและสนใจคนรอบข้างด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยเวลา และต้องลงมือทำทันที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net