คปส.ชี้ใช้ "พ.ร.บ.ความมั่นคง" คุมวิทยุชุมชน ละเมิดสิทธิ

กรณี สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 .. ว่า รู้สึกหนักใจปัญหาวิทยุชุมชน ที่มีการปลุกระดมคนออกมาเคลื่อนไหวขณะนี้ แต่การเข้าไปดูแลนั้นติดปัญหา เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แต่ยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนี้ พ...จัดสรรคลื่นความถี่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลไม่มีอำนาจจัดการ ดังนั้น การป้องกันเบื้องต้นจึงทำได้เพียงอาศัยกฎหมายด้านความมั่นคง และขณะนี้ตำรวจคงดำเนินการตรวจสอบอยู่แล้ว โดยเฉพาะบางคลื่นที่ปลุกระดมคนให้โค่นล้มรัฐบาล ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน นั้น

 

สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) แสดงความเห็นว่า แม้ กทช. ยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจน และยังไม่มีการกำกับดูแล แต่การที่รัฐบาลนี้จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ออกมาจาก สนช. เข้ามากำกับดูแลนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิ อีกทั้งภาคประชาชนก็เคยคัดค้านกฎหมายความมั่นคงนี้ เพราะมีเนื้อหาเปิดช่องให้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะนายกฯ ในฐานะ ผอ.รมน. เป็นผู้สั่งการให้ กอ.รมน. ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นคนดำเนินการยุติ หรือสั่งห้ามการกระทำใดๆ ที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคง เทียบเคียงได้ว่ากฎหมายนี้เป็นดาบอีกเล่มของภาครัฐที่จะออกมาจำกัดสิทธิของสังคมเอง ไม่ว่าจะเสื้อสีไหนก็ตาม

 

"ปัญหานี้เกิดขึ้นจากสุญญากาศที่ไม่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมากำกับดูแล เมื่อไม่มีองค์กรกำกับดูแล การออกมาใช้สิทธิในการสื่อสารจึงมีมากขึ้นและไม่สามารถควบคุมได้ รัฐบาลประชาธิปัตย์หรือไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตามก็สามารถใช้กฎหมายความมั่นคง เป็นเครื่องมือยุติหรือยับยั้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เพราะสิ่งที่ให้ข่าวคือ มองว่ากลุ่มเสื้อแดงซึ่งมีการจัดตั้งวิทยุขนาดเล็กขึ้นมา ออกมาให้ข่าวหรือระดมคน ซึ่งเป็นผลต่อความมั่นคงของรัฐบาล ตรงนี้ก็ต้องตั้งคำถามว่ามันเป็นความมั่นคงของรัฐบาลหรือความมั่นคงของรัฐกันแน่"

 

เขาเสนอว่า ต้องผลักดันกฎหมายและการจัดตั้งองค์กรอิสระที่จะมากำกับดูแล แต่ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกำกับดูแลกันเอง ซึ่งเกณฑ์ในการกำกับดูแล หรือ code of conduct ของวิทยุชุมชน เป็นกลไกที่ต้องสร้างจากประชาชนขึ้นมา

 

เขาอธิบายว่า สิ่งที่วิทยุชุมชนดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก็มีหลักปฎิบัติของเขาอยู่ แต่ยังไม่ได้สะท้อนออกมาในภาพรวมว่าเขาจะกำกับดูแลกันเองอย่างไร หากสร้าง code of conduct ของวิทยุชุมชนขึ้นมาได้ การกำกับดูแลกันเองก็จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน องค์กรอิสระก็จะสามารถหยิบหลักเกณฑ์นั้นมาเป็นเกณฑ์การพิจารณาว่าจะให้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ด้วย อาทิ การมีมาตรฐานกลางร่วมกัน เช่น ประเด็นเรื่องการเมืองที่พูดเป็นเรื่องปกติ เพราะมันกระทบกับชีวิตของเขา ไม่ว่านโยบายส่วนกลางหรือนโยบายท้องถิ่น แต่ก็ต้องมีสิ่งที่วิทยุชุมชนระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้อื่น เช่น กรณีหมิ่นประมาท หรือการพูดถึงบุคคลอื่นในทางเสียหาย อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นประเด็นสาธารณะหรือบุคคลสาธารณะ อย่างรัฐมนตรี หรือ ส.. อบต. เจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ ก็เป็นสิทธิที่เขาสามารถหยิบมาพูดหรือวิจารณ์ได้

 

"เคยได้คุยกับคุณสาทิตย์ (วงศ์หนองเตย) ตั้งแต่ก่อนแถลงนโยบายว่า โจทย์ใหญ่คือรัฐบาลต้องผลักให้เกิดการกำกับดูแลกัน ไม่เช่นนั้นทุกรัฐบาลที่มาก็จะตกอยู่ในฐานะละเมิดสิทธิหรือเข้ามาแทรกแซงเรื่องการสื่อสาร ถูกข้อหาว่าละเมิดสิทธิของประชาชนในการสื่อสาร แน่นอนว่าท้ายสุดไม่ว่าเขาจะเป็นวิทยุชุมชนประเภทใดก็ตาม เขาก็มีสิทธิสื่อสารเรื่องราวของเขาออกมาอยู่ดี"

 

สุเทพระบุถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับองค์กรกำกับว่า มาตรา 78 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงของกิจการวิทยุโทรทัศน์ หรือ พ.ร.บ. วิทยุโทรทัศน์ 51 ได้กำหนดให้ กทช.เป็นผู้ออกใบอนุญาตชั่วคราวให้กับกิจการเคเบิลทีวีและวิทยุชุมชน โดยให้ตั้งอนุกรรมการวิทยุโทรทัศน์ขึ้นอีกคณะหนึ่ง เพื่อออกร่างหลักเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้อนุฯ ชุดนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ฯ โดยมีกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับสาธารณะ 4 ครั้งแล้ว และกำลังจะจัดอีกครั้งที่อุบลราชธานี หลังจากนั้นจะจัดทำร่างหลักเกณฑ์เพื่อออกใบอนุญาตชั่วคราวไม่เกิน 1 ปีให้กับวิทยุชุมชน ซึ่งก็จะเป็นการคัดสรรว่า วิทยุที่ได้รับใบอนุญาตในกรอบวิทยุชุมชนจริงๆ มีลักษณะหรือหน้าตาแบบไหนบ้าง

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้จะมีองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ มีกทช. แต่ก็ขาดองค์กรที่จะมากำกับดูแลด้านวิทยุโทรทัศน์ ทำให้กลายเป็นว่าวิทยุชุมชนจะดำเนินการอย่างไรก็ได้ แม้กระทั่งวิทยุชุมชนกว่า 4,000 สถานีในขณะนี้ ก็มีส่วนที่ดำเนินการตามกรอบของวิทยุชุมชนที่สอดคล้องกับกฎหมายไม่มากนัก ไม่น่าจะเกิน 200-300 สถานี

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ที่ผ่านมา กทช. ได้ร่วมกับตำรวจปิดวิทยุชุมชนไปแล้วหลายแห่ง สุเทพกล่าวว่า การดำเนินการสั่งปิดนั้นเป็นการใช้กฎหมาย วิทยุคมนาคม พ.. 2498 ในฐานะครอบครองเครื่องส่ง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครมีใบอนุญาต ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าการมีเครื่องส่งนั้นผิดและจะจับกุม ก็ต้องดำเนินการทั้ง 4,000 กว่าสถานี ดังนั้น นี่จึงนับเป็นกฎหมายที่ตกค้างอยู่และกลายเป็นเครื่องมือที่ กทช. หยิบมาใช้ควบคุมได้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท