Skip to main content
sharethis

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสและประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "อารยะประชาธิปไตย การสร้างความเข้มแข็งการเมืองภาคพลเมือง" ในเวทีร่วมคิดร่วมสร้าง อารยะประชาธิปไตย เรื่อง "กระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมืองและการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี" จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอล์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. "ประชาไท" เรียบเรียงมานำเสนอ ดังนี้


 


000000


 


ประชาธิปไตยควรจะเป็นสิ่งที่ดีงามในตัวของมันเอง ไม่จำเป็นต้องมีคำว่า "อารยะ" เพราะประชาธิปไตยควรจะเป็นอารยะในตัวของตัวเอง แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ประชาธิปไตยของเราดูเหมือนไปเชื่อมโยงกับความเลวร้ายต่างๆ เช่น การใช้เงิน การทุจริตคอร์รัปชั่น จึงคล้ายเป็นอนารยะประชาธิปไตย คือเป็นประชาธิปไตยที่มีการโกงกิน จึงเติมคำนี้เข้าไป เป็นอารยะประชาธิปไตย


 


คำว่าระบอบประชาธิปไตย คำว่าระบอบคือดูให้ครบทั้งระบบ เช่น ถ้าดูระบบรถยนต์ต้องดูให้ครบทั้งตัวรถยนต์ ทั้งล้อ ทั้งเครื่อง ทั้งตัวถัง รถถึงจะวิ่งได้ ระบอบประชาธิปไตยของเราดูไม่ครบทุกทาง 70 กว่าปีมาแล้ว เพราะเราไปจับส่วนเดียว ที่แล้วมาเราสนใจแต่องค์กรทางการเมือง การเลือกตั้ง มีสภาผู้แทนฯ มีรัฐบาล สนใจแต่เพียงแก้โจทย์ขององค์กรทางการเมือง เขียนรัฐธรรมนูญกันมา 18 ฉบับแล้ว เพราะเราคิดว่ารัฐธรรมนูญนั้นสร้างประชาธิปไตย ขณะที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ตั้งประเทศมา 200 กว่าปี เขามีฉบับเดียว อังกฤษไม่มีเลยสักฉบับ ดังนั้นการคิดว่ารัฐธรรมนูญสร้างประชาธิปไตยจึงเป็นมายาคติ


 


ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือ วัฒนธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเราเกือบไม่สนใจอะไรเลยทั้งที่เป็นตัวที่ใหญ่กว่าองค์กรทางการเมือง ทั้งนี้ วัฒนธรรม หมายถึงวิถีชีวิตร่วมกันซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก หมายถึงมีความเชื่อร่วมกันว่าอะไรเป็นคุณค่าร่วมกัน กรอบขนบธรรมเนียมประเพณี การประกอบอาชีพ โดยวัฒนธรรมประชาธิปไตยนี้จะไปกำกับองค์กรทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยจริง จะเห็นว่า อังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย


 


ความที่เราไม่ได้สนใจเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตยเลย สนใจแต่องค์กรทางการเมือง เป็นเรื่องกลไกแล้วก็เป็นกลโกงบางเรื่อง อะไรที่เป็นกลไกขาดความลึกซึ้งทางศีลธรรม ก็จะเป็นเรื่องการโกงได้ง่ายๆ และเราก็อยู่ตรงนั้นมา 70 กว่าปีแล้ว ดังนั้น อยากจะให้มองเรื่องอื่นด้วย แน่นอนว่า องค์กรทางการเมืองก็พยายามทำให้ดีขึ้น แต่เรามองเฉพาะตรงนั้นไม่ได้ เราต้องสร้างสังคมให้เป็นสังคมอารยะประชาธิปไตย ต้องมองไปตรงสังคมด้วย


 


ถ้าเราไปดูสิ่งที่เรียกว่า นักการเมืองมีประมาณ 3,000-4,000 คนเท่านั้น ถึงเวลาก็ไปลงเลือกตั้ง แล้วก็ใช้เงินใช้ทอง มีกลุ่มมีก๊วน แล้วก็เข้ามาเป็นรัฐบาล ความรู้ก็น้อย ความสุจริตก็น้อย แต่มีมากในเรื่องสัตว์ร้าย 3 ตัวในตัวมนุษย์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ ตัณหา มานะ และทิฐิ ตัณหาคืออยากได้มากๆ มานะ คืออยากได้มากเหนือคนอื่น ทิฐิ คือ เอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่ เราทุกคนมีสัตว์ร้ายอยู่ในตัวมากบ้างน้อยบ้าง แต่คนบางคนมี 3 ตัวนี้ใหญ่มาก และนำไปสู่ความเดือดร้อนในบ้านเมือง ขณะที่เรามีผู้คนมากกว่านั้นและดีกว่านั้นเยอะ เรามีชาวบ้านตั้ง 70,000 กว่าหมู่บ้าน 7,000 กว่าตำบล มีสถาบันการศึกษานานาชนิด แต่เราปล่อยให้เป็นเรื่องของ 3,000-4,000 คนที่เป็นนักเลือกตั้งเท่านั้น


 


ดังนั้นจึงต้องขยายเรื่องประชาธิปไตยให้กว้างขวางขึ้น โดยหันมาพัฒนา "สี่เหลี่ยมประชาธิปไตย" มี 4 มิติ คือ 1.คนไทยทุกคนเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง 2.จิตสำนึกประชาธิปไตย 3.การกระจายอำนาจ และ 4.ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจสาธารณะ


 



 


1.คนไทยทุกคนเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและมีความลึกซึ้ง เป็นเรื่องศีลธรรม สังคมไทยเป็นสังคมชนชั้น มีชั้นบน ชั้นล่าง คนชั้นล่างเป็นคนจน ไม่มีเกียรติ ไม่ได้รับความเคารพนับถือ เข้าไม่ถึงทรัพยากรทางสังคม เข้าไม่ถึงบริการทางศึกษา ทางสังคม แล้วจะอยู่ได้อย่างไรในสังคมซึ่งขาดความเป็นธรรม


 


ที่เรียกว่า คนไทยทุกคนเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง หมายถึง การเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นศีลธรรมพื้นฐานและเป็นเบื้องลึกที่นำไปสู่สิ่งดีงามทั้งปวง เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางสังคมต่างๆ ถ้าเราขาดศีลธรรมพื้นฐานตัวนี้ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เกิด


 


เราเป็นสังคมชนชั้นมานาน ชนชั้นล่างไม่มีความหมาย ผู้ใช้แรงงาน ชาวไร่ชาวนา กรรมกรไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี คนขายก๋วยเตี๋ยวจะมีเกียรติได้อย่างไร คนขายของชำจะมีเกียรติได้อย่างไร คนผสมปูนจะมีเกียรติได้อย่างไร นั่นคือสังคมไทยที่คนตั้งเยอะรู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะไม่มีเกียรติ เพราะเข้าไม่ถึงทรัพยากรต่างๆ แม้แต่กฎหมาย


 


อ.บวรศักดิ์ (อุวรรณโณ) บอกเอาไว้หลายปีแล้วว่า กฎหมายไม่ยุติธรรมกับคนจน มีอคติกับคนจน ดังนั้นจะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องลึกซึ้งและหากเราจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป มีเรื่องลึกๆ เยอะที่เราต้องทำความเข้าใจ ถ้าเราไปเย้วๆ เฉยๆ มันไม่มีแรงที่จะขับเคลื่อน


 


ทั้งนี้ การจะให้คนไทยทุกคนเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง ขึ้นกับว่าสังคมไทยเคารพความรู้ชนิดไหน ความรู้ในตำรากับความรู้ในตัวคน มีฐานที่มากับการให้ความหมายต่างกัน ความรู้ในตำราได้มาจากการวิจัย สังเคราะห์ความรู้ อาจจะเรียกว่ามีฐานอยู่ในทางวิทยาศาสตร์ แต่ความรู้ในตัวคนได้มาจากวิถีชีวิตการทำงาน ทุกคนมีความรู้ ถ้าเราเคารพเฉพาะความรู้ในตำรา คนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีเกียรติ คนส่วนใหญ่ไม่มีเกียรติ ถ้าเราเคารพความรู้ในตัวคน คนทุกคนเป็นคนมีเกียรติ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวกับการศึกษาของไทย


 


ถ้าเราเคารพความรู้ในตัวคน พ่อแม่เป็นคนมีเกียรติ ปู่ย่าตายาย ช่างผสมปูน คนขายก๋วยเตี๋ยว คนขายของชำ ช่างเสริมสวย ทุกคนเป็นคนมีเกียรติหมด เพราะมีความรู้ในตัว และความรู้เหล่านั้นมีประโยชน์ ทุกวันนี้เราวางระบบการศึกษาของเราไว้มีแต่ท่องตำรา แล้วทิ้งความรู้ในตัวคนที่มีฐานจากวัฒนธรรมและวิถีชีวิตไป เราเคารพแต่ความรู้ในตำรา ซึ่งอาจจะถ่ายทอดมาจากฝรั่ง ทำให้เราขาดจากฐานวัฒนธรรมไป เมื่อการศึกษาของเราเป็นแบบนี้ ตั้งแต่จากอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ระบบการศึกษาทั้งหมดจึงคือเครื่องทำลายศีลธรรมพื้นฐาน


 


เหมือนดังประสบการณ์ชีวิตผมที่เป็นเด็กยากจนมาก่อน มีประสบการณ์ว่าเมื่อเราเข้าเรียนได้สักพัก นักเรียนจะไม่กล้าเดินกับพ่อแม่เพราะโรงเรียนจะสอนโดยไม่รู้สึกตัวว่า ชาวบ้านไม่มีเกียรติ ซึ่งเป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จะต้องต่อออกไปสู่การปฎิรูปการศึกษาทั้งหมด


 


อย่างเรื่องราวที่เราคุยกันนี้ ถ้าสถาบันการศึกษาทั้งหมดเข้ามาสนใจก็จะเป็นกำลัง แต่เขาเอาตำราเป็นตัวตั้ง จึงไม่มีกำลังในสังคมไทย เพราะฉะนั้นเราจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปต้องดูอย่างละเอียดและเชิงลึก จะไปเย้วๆ ใส่กันก็ไม่ได้


 


ดังนั้น ถ้าเราจะขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตย ต้องไปเรื่องศีลธรรมพื้นฐานว่าคนไทยทุกคนเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง มีเกียรติ มีคุณค่า ตอนคุณทักษิณ (ชินวัตร) เป็นนายกฯ ปีแรก ผมคุยกับท่าน ผมบอกว่าท่านนายกฯ น่าจะทำ Human Mapping แผนที่ความรู้ในตัวคน ถือว่าคนทุกคนเป็นคนมีความรู้ในตัว และสถาบันการศึกษาทั้งหมดไปทำแผนที่คนทั้งหมู่บ้านทั้งตำบล ว่าลุงคนนี้ ป้าคนนี้ น้าคนนี้ เขาเก่งอะไร ทำอะไรเก่ง เราจะมีฐานข้อมูลของคนทั้งประเทศ แล้วคนทั้งประเทศก็จะรู้สึกมีเกียรติ แล้วสิ่งที่เขารู้ก็จะนำไปใส่ในฐานข้อมูลแห่งชาติ ต่อไปใครอยากเรียนรู้อะไร ก็ไปกดคอมพิวเตอร์ดู เอ๊ะ ใครเลี้ยงปลาเก่งที่สุดในประเทศไทย อาจจะไปเจอว่า ครอบครัวนั้นอยู่ร้อยเอ็ด ใครทำเกษตรกรเก่ง ก็ไปเจอผู้ใหญ่สาย ที่บุรีรัมย์ เป็นต้น


 


2.จิตสำนึกประชาธิปไตย อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว


 


3.การกระจายอำนาจ ระบบรัฐไทยเป็นระบบเผด็จการรวมศูนย์อำนาจ อำนาจรัฐครอบคลุมไปทุกตารางนิ้วของประเทศไทย ควบคุมไปหมดทุกกระทรวงจนถึงหมู่บ้าน เป็นอำนาจรัฐเผด็จการ ส่วนเรื่องการเมืองเป็นเพียงแต่เปลี่ยนว่าใครเข้ามาคุมอำนาจรัฐ แต่ว่าความเป็นเผด็จการไม่ได้เปลี่ยน เพราะตัวโครงสร้างของรัฐก็เป็นโครงสร้างเผด็จการ เดิมคือพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกว่า สมบูรณาญาสิทธิราช ต่อมาคณะราษฎรก็มายึดกุมตรงนั้น ต่อมาก็กองทัพ และต่อมาคือนักเลือกตั้ง แต่ตัวอำนาจรัฐเป็นเผด็จการ ดังนั้น ต้องทำให้โครงสร้างของรัฐเป็นโครงสร้างในระบอบประชาธิปไตย ให้ทุกคนมีส่วนร่วมให้ได้


 


4.ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ ถ้าอำนาจรัฐเป็นอำนาจเผด็จการก็ไม่อยากให้ใครมีส่วนร่วม กินงบประมาณกันเยอะมาก ถามว่าคุณแก้ปัญหาอะไรได้บ้างรึเปล่า แก้ปัญหาความยากจนได้ไหม แก้ปัญหาความเป็นธรรมทางสังคมได้ไหม รักษาสิ่งแวดล้อมได้ไหม เปล่าทั้งเพ แก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ได้ไหม เปล่าทั้งเพ แต่คุณกินเงินเดือน เอาภาษีอากรของประชาชนไป นี่คือการขาดธรรมาภิบาลอย่างใหญ่ เพราะฉะนั้นเรื่องธรรมาภิบาลเป็นเรื่องใหญ่มากที่จะต้องทำถ้าจะกลับไปสู่ประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้น การเมืองมีแรงจูงใจมาก ลงทุนเท่าไหร่ก็ได้ พอได้อำนาจแล้วก็กินรวบหมดทั้งประเทศ


 


ถ้าเราอยากเห็นประชาชนมีส่วนร่วมในกิจสาธารณะทุกประเด็น รัฐธรรมนูญ มาตรา 87 เขียนไว้รุนแรงมากว่ารัฐ "ต้อง" ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยสรุปคือ มีส่วนร่วมใน 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ หนึ่ง มีส่วนร่วมในการพัฒนา สอง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย สาม มีส่วนร่วมในการตรวจสอบอำนาจรัฐทุกระดับ


 


รัฐธรรมนูญบัญญัติว่ารัฐ "ต้อง" ถ้าไม่ทำถือว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ และคำว่ารัฐไม่ได้หมายถึงรัฐบาลเท่านั้น หมายถึงกลไกของรัฐทั้งหมด ทุกกระทรวง ทบวง กรม มหาวิทยาลัยทั้งหมด กองทัพ ตำรวจ องค์กรท้องถิ่น ทุกวันนี้เกิดเฉพาะข้อสาม เรื่องตรวจสอบอำนาจรัฐเท่านั้น


 


นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ว่าประชาชนมักถูกกีดกันออกจากสมการการเมืองตลอดมา เมื่อก่อนเป็นเรื่องของชนชั้นสูง ต่อมาก็เป็นเรื่องของนักการเมือง ถ้าประชาชนขาดไปจากสมการการเมืองแล้ว ไม่มีทางลงตัวและไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยต้องเป็นเรื่องของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่ประชาธิปไตยของนักการเมือง โดยนักการเมืองและเพื่อนักการเมือง


 


ถ้าเราต้องการดูประชาชนทั้งหมดที่จะมามีส่วนร่วม มาดูภาพต่อไปนี้ว่าหมายถึงอะไรบ้าง เพราะนี่จะหมายถึงการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ในทุกองค์กรและในทุกเรื่อง


 


หนึ่ง-พื้นที่ เรามี 76,000 หมู่บ้าน ตำบล 7,600 ตำบล เทศบาลจังหวัดเฉพาะที่เป็นท้องถิ่นประมาณ 8,000 แห่ง มี อบต.มีเทศบาล อบจ.ต่างๆ


 


สอง-ตามกลุ่ม เรามีกลุ่มเกษตร กลุ่มกรรมกร กลุ่มและองค์กรต่างๆ


 


สาม-ประเด็นที่จะทำ เรื่องที่จะทำ เรื่องการกำจัดการคอร์รัปชั่น เรื่องพลังงาน การศึกษา สุขภาพ


 


สี่-ภาคประชาสังคมและวิชาการ


 


ถ้าระดับหมู่บ้านเราเห็นได้ง่าย เราเห็นบางหมู่บ้านมีสภาประชาชน คนทั้งหมู่บ้านมารวมตัว ร่วมคิดร่วมทำเรื่องของหมู่บ้าน มีสภาผู้นำชุมชน วางแผนขับเคลื่อนแล้วทุกอย่างดีขึ้นหมด เศรษฐกิจก็ดีขึ้น สังคมจิตใจ สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น ดูตัวอย่างที่บ้านหนองกลางดง จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือดูทั้งตำบลที่นครศรีธรรมราช ทุกอย่างดีขึ้นหมด เศรษฐกิจ จิตใจ เด็กเล็กทุกคนได้เรียนฟรี เด็กเล็กได้กินนมฟรี ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้กินนมฟรี เวลาประชาธิปไตยเกิดในระดับพื้นที่แล้วมันดีงามทุกอย่างเชื่อมโยงกันไปหมด ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ การศึกษา สาธารณสุข หรือสุขภาพ เราเห็นประชาธิปไตยสมานฉันท์ คือประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่น


 


เราต้องตั้งคำถามว่าประชาธิปไตยให้อะไรที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงาน คนพิการ คนชรา หรือสตรี ดีขึ้น ถ้าตั้งคำถามแบบนี้เขาจะเกิดความสนใจเพราะเป็นเรื่องของเขาเอง แต่ทางวิชาการต้องเข้ามาทำงานด้วย เพราะอาจมีความซับซ้อนของเรื่องที่เขาไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นทางมหาวิทยาลัยต้องเข้ามาทำวิจัยว่าประเด็นคืออะไร ความซับซ้อนมันคืออะไร คลี่มันออก ที่ประชาชนจะเข้าใจได้ง่าย จับต้องและขับเคลื่อนมันได้ ไม่อย่างนั้น แม้แต่เราเองนั่งอยู่ในที่นี้ เรายังไม่รู้เลยว่าจะขับเคลื่อนไปอย่างไร เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยซึ่งมีอยู่ 100 กว่าแห่งต้องปรับตัวจากการท่องหนังสือ มาเอาความเป็นจริงเป็นตัวตั้ง มหาวิทยาลัยต้องทำการวิจัยเพื่อสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นชีวิตเกษตรกรที่ดีขึ้น ชีวิตผู้ใช้แรงงานที่ดีขึ้น ว่าประเด็นอยู่ที่ไหน นโยบายอยู่ที่อะไร


 


ส่วนเรื่องคอร์รัปชั่น ภาคประชาชนจะเข้ามาตรวจสอบได้ กลไกอื่นถึงจะมี ป.ป.ช. มีอะไรก็ไม่ค่อยแข็งแรงไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์ ถูกครอบงำได้ง่าย แต่ถ้าประชาชนขับเคลื่อนเข้ามาตรวจสอบคอร์รัปชั่นตรงนี้จะมีพลังเยอะ  เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยต้องเข้ามาวิจัยว่าคอร์รัปชั่นเกิดด้วยอะไรบ้าง ที่ไหนบ้าง ต้องทำข้อมูลหนุน ภาคประชาชนจะได้มีพลังในการขับเคลื่อน


 


เรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่เบ้อเริ่มเลยที่ประเทศไทยเจ๊งอยู่ทุกวันนี้เพราะปล่อยให้เป็นเรื่องของพวกที่ได้ประโยชน์เข้ามากำหนดนโยบาย เช่นเรื่องการขนส่ง คนอยากสร้างถนน คนอยากขายรถยนต์ คนอยากขายน้ำมัน เต็มไปหมด ไม่ใช่มหาวิทยาลัย ไม่ใช่นักวิชาการ เพราะฉะนั้นนักวิชาการต้องเข้ามาสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงานทั้งระบบ


 


มีผู้เคยเสนอไอเดียว่า การขนส่งโดยสิบล้อเป็นเรื่องผิด ใช้น้ำมัน ผลาญน้ำมันทั้งประเทศ เราต้องขนส่งโดยใช้รถไฟกับเรือกลไฟ แล้วคนไทยต้องสร้างหัวรถจักรเองให้ได้ แล้วใช้ฟืน ใช้ไม้โตเร็วที่ชาวบ้านปลูกมาทำฟืน ชาวบ้านได้รายได้หมดทั้งประเทศ แต่มันจะไม่เกิด เพราะมันจะถูกกำหนดโดยคนที่มีผลประโยชน์ มหาวิทยาลัยมีตั้งเยอะและเป็นชุมชนทางปัญญา แต่ไม่มีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยต้องเข้ามาทำวิจัยเรื่องนโยบายสาธารณะและร่วมกับประชาชนในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ


 


ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องการเลือกตั้งเท่านั้น ถ้าจะมองอธิปไตยต้องไปดูรัฐธรรมนูญ อธิปไตยเป็นของปวงชน ไม่ใช่ปวงชนมีอธิปไตยว่าพรุ่งนี้ไปลงคะแนนเท่านั้น อธิปไตยของปวงชนต้องมองเรื่องทั้งหมดที่จะมามีส่วนร่วม ในการพัฒนา ตัดสินใจนโยบาย ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องการงานวิชาการมากทีเดียว ฝากว่าทำอย่างไรที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป ทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาทั้งหมดปรับตัวมาสร้างปัญญา สร้างความรู้ที่จะเน้นกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด


 


จะพัฒนาสังคมไทยอย่างไรให้มีพลัง เรามีผู้คน มีองค์กรเยอะ แต่ไม่มีพลัง เพราะวิธีการของเราทอนกำลัง ไม่ได้สร้างพลังร่วม ถ้าไปดูนักวิชาการส่วนใหญ่จะไปหยุดอยู่แค่วิเคราะห์ วิจัย แต่เราต้องเดินไปถึงการสังเคราะห์ และการจัดการ ถ้าจะตอบว่าอะไรไม่ดี ตอบได้เยอะ แต่ถ้าถามว่าแล้วจะทำอย่างไรถึงจะปรับได้ เพราะนั่นเป็นการสังเคราะห์หรือการจัดการแล้ว เป็นภูมิปัญญาทึ่สูงขึ้นไปอีก


 


ถ้าเราไล่ตามที่เขาท่องกัน ระดับของสติปัญญาคือ "จำ-ใจ-ใช้-วิ-สัง-ประ"


จำ- ท่องจำ อันนี้คือสติปัญญาขั้นต่ำ


ใจ- เข้าใจเรื่อง


ใช้- ทำเป็น ประยุกต์เป็น


วิ- วิเคราะห์ โรคมันเป็นอะไร ต้องวิเคราะห์โรคได้


สัง- สังเคราะห์


ประ- ประเมินเรื่องทั้งหมดให้เกิดการตัดสินใจเชิงนโยบาย


 


เราไปหยุดแค่วิเคราะห์วิจารณ์เท่านั้นยังไม่มีพลังพอในความซับซ้อนของบ้านเมืองต้องให้เกิดการสังเคราะห์ การจัดการ การร่วมสร้าง


 



 


เรามีบุคคล องค์กรเยอะแยะ เรามีคณะองคมนตรี มีรัฐบาล มีรัฐสภา มีกองทัพ กลไกของรัฐ องค์กรสื่อรัฐ สื่อสังคม ส.ส. ส.ว. ส.จ. สปสช. กป.อพช. สถาบันพระปกเกล้า ภาคประชาชน สื่อมวลชน มหาวิทยาลัย ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ สภาทนายความ ร้อยแปด สภาประชาชนทุกหมู่บ้าน สภาพัฒนาการเมือง สภาที่ปรึกษาฯ สภาองค์กรชุมชน สภา อบจ. สภาเทศบาล สภาจังหวัด สภากรรมกร เกษตรกร ทั้งหมดรวมกันมโหฬารมาก แต่ขาดการเชื่อมโยงเข้ามา ต่างคนต่างทำ ถ้าเราจูนคลื่นมันจะมีพลัง เหมือนแสงเลเซอร์ ซึ่งเกิดจากแสงพลังอ่อนๆ ถ้าเราจะมีพลังแสงเลเซอร์ทางสังคม เราจะจูนคลื่นเข้ามาด้วยกันอย่างไร ทางธุรกิจจะใช้คำว่าสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม ถ้าทุกองค์กรทั้งหมดมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมจะเกิดพลังมหาศาล ในการสร้างสังคมอารยะประชาธิปไตยหรือการสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ที่สุดในโลก



 


................................


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


เก็บตกเสวนา: รัฐธรรมนูญ 50 เครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งการเมืองภาคพลเมือง 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net