ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: อคติทางชาติพันธุ์ และชาติพันธุ์ในพื้นที่เล็กๆ ของสื่อ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ผู้สื่อข่าว www.prachatai.com

 

 

หมายเหตุ

บทความ อคติทางชาติพันธุ์ และชาติพันธุ์ในพื้นที่เล็กๆของสื่อ ใช้ประกอบการการประชุมชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม ในหัวข้อ "อคติทางชาติพันธุ์ และชาติพันธุ์ในพื้นที่สื่อ" ณ โรงแรม The Empres  วันที่ 23 ธ.ค. 51 จังหวัดเชียงใหม่

 

 

 

กรอบนำเสนอ

-  รัฐไทยถูกประกอบสร้างบนเงื่อนปมแห่ง "ความกลัว" ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่การแบ่งแยก เป็นอคติทางชาติพันธุ์ องค์ความรู้ถูกจัดการ ชี้นำ และจองจำจากรัฐส่วนกลาง ในแง่มุมของสื่อเองก็ถือว่าเป็น "ฐานคติ" สำคัญในการกำหนดเนื้อหากระแสหลัก

 

- พื้นที่สื่อกับชาติพันธุ์ต่างๆจากกรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ กรณีชาติพันธุ์มอญ - พม่า และกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร

 

- การช่วงชิงพื้นที่สื่อของชาติพันธุ์ สื่อทางเลือก สื่อพลเมือง ในโลกเสมือนผ่านการถอดบทเรียน "ประชาไท" มุมมองในฐานะคนทำงาน

 

000

 

มีคำกล่าวที่น่าสนใจประโยคหนึ่งว่า "สื่อเป็นอย่างไรก็สะท้อนสังคมที่เป็นแบบนั้น" ซึ่งอาจต้องยอมรับความจริงต่อคำกล่าวนี้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นอคติทางชาติพันธุ์คงไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นอคติที่สื่อสร้างขึ้นเองเท่านั้น แต่คงต้องหมายรวมถึงอคติที่มีอยู่ร่วมกันในสังคมไทยด้วย

 

ดังนั้น หากต้องการมองไปในการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนในปัจจุบันจึงอาจต้องย้อนไปมองถึง "ฐานคติ" อันเป็นที่มาของ "อคติ" ด้วย ทั้งนี้ ทิศทางการนำเสนอเนื้อหาในสื่อโดยเฉพาะปัจจุบันปฏิเสธได้ยากว่ามีปัจจัยผูกโยงกับเงื่อนไขทางธุรกิจที่ทำให้ไม่สามารถมีอิสระจริงตามอุดมคติที่เคยถูกสร้างขึ้นจนสังคมเข้าใจว่าสื่อมีเสรีแท้ แต่การซื้อโฆษณาในพื้นที่สื่อก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ความยอกย้อนที่กลายเป็นความจริงแท้แน่นอนก็คือ ปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของสื่อมวลชนกลับเป็นผู้บริโภค สื่อที่ผลิตเนื้อหาออกมาไม่ถูกรสย่อมถูกคายทิ้งเพราะระคายปากและจะล้มหายตายจากไป

 

อย่างไรก็ตาม ในเจตนารมณ์แห่งเสรีภาพ สื่อยังเหลืออำนาจในการกำหนดทิศทางอยู่บ้างอย่างอำนาจในการตัดสินใจของกองบรรณาธิการเองที่เลือกว่าจะปฏิเสธการตลาดหรืออำนาจอิทธิพลอื่นมากน้อยเพียงใด

 

มอง "สื่อรุ่นก่อน" ผ่านหนังสือรุ่นเก๋า

"ฐานคติ" ของสื่อหรือของสังคมไทยมีลักษณะที่สำคัญประการหนึ่ง คือ "ความเป็นไทย" ที่ถูกประกอบสร้างมาภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัว เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างอคติในพื้นที่สื่อ เพราะแม้ส่วนหนึ่งสื่อจะมีเจตจำนงค์แห่งเสรีภาพในการตัดสินใจก็ตามแต่เมื่อ "ฐานคติ" เป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนของสื่อ เนื้อหาที่นำเสนอก็เหมือนถูกกำหนดโดยปากกาที่มองไม่เห็นไปเสียแล้ว

 

หนังสือ "เมดอิน USA" และ "โง่เง่าเต่าตุ่น" ของ "สุจิตต์ วงษ์เทศ" ในปี พ.ศ. 2514 เป็นหนังสือเก่าเล่มหนึ่งที่เนื้อหาบางตอนสะท้อนบรรยากาศรอบๆตัวตนของสื่อมวลชนในอดีตซึ่งสามารถฉายภาพที่เชื่อมโยงมาสู่ปัจจุบันได้ดี เหตุที่เลือกหนังสือเล่มนี้มาเป็นเสมือนกระจกส่องสื่อมวลชนในอดีตเพราะหนังสือเล่มดังกล่าวเขียนขึ้นในแง่ที่สุจิตต์ วงษ์เทศ เองก็คล้ายยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่โดนครอบงำด้วย "ความเป็นไทย" อย่างโง่เง่า บรรยายอารมณ์ความรู้สึกที่กระเทาะเปลือกและมีอารมณ์ของความขัดแย้ง ตะเกียกตะกายออกจากด่านมายาคติบางประการ รวมไปถึงการตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็นและเป็นไปรอบตัว

 

นอกจากนี้ "สุจิตต์ วงษ์เทศ" ยังเป็น "นักชาตินิยม" ตัวยงที่สะท้อนตัวตนผ่านงานเขียนก่อนหน้านี้มาอย่าง "ขุนเดช" ที่ดุดันกับคนทำลายกับซากสุโขทัยราวกับว่าศิลาแลงและลายสือไทและความรักพ่อขุนมันวิ่งพล่านอยู่ในกระแสโลหิตของเขา แต่ "สุจิตต์ วงษ์เทศ" ใน "เมดอิน USA" กลับมองโลกที่ต่าง กว้างและขยายออกไปอย่างสิ้นเชิง

 

ประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้ยังอยู่ที่โอกาสการมองเห็นประเทศไทยในมุมมองจากโลกภายนอก ซึ่งก็เป็นไปตามชื่อหนังสือ "สุจิตต์ วงษ์เทศ" เขียนหนังสือเล่มนี้ในโอกาสได้เดินทางไปอเมริกา สิ่งที่น่าสนใจ คือ หนังสือ "เมดอินUSA" ได้กลับมาเป็นกระจกที่สะท้อนบางด้านของสังคมไทยอย่างมีเหลี่ยมมุมคมคาย แต่ก็ชัดเจนว่ามีอะไรบ้างอยู่ในหัวคนไทย สื่อมวลชนไทย และเมื่อสื่อมวลชนไทยยุคเก่าออกไปสัมผัสโลกข้างนอกแล้วเหลียวกลับมามองประเทศไทย เขาสงสัยอะไรจาก "ข้างใน"...เหล่านี้เปิดเผยบรรยากาศแห่งความกลัวและการครอบงำเพื่อสร้าง "ฐานคติ" ให้สังคมไทยทั้งสิ้น 

 

เนื้อที่ยกมานี้ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม 2514 ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีวิทยุทั่วประเทศว่าจะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจภาพรวมของสังคมโลกช่วงนี้คือ อเมริกาเป็นหัวขบวนใหญ่ของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งหมายความว่าจีนในขณะนั้นคือคู่ขัดแย้งสำคัญที่อาจเปรียบเทียบได้กับโลกอาหรับหรือกลุ่มอัลกออิดะห์ในยุคปัจจุบัน ในขณะที่ไทยประเทศไทยก็สมาทานแนวทางของอเมริกาเข้าไปอย่างเต็มตัว

 

"สำหรับของกูนั้นงงงวยยิ่งขึ้น อะไรคือความเปลี่ยนแปลง อะไรคือความคล่องตัว อะไรกันคือประเทศมหาอำนาจ ชีวิตหนึ่งที่เกิดมานั้นพอลืมตาอ้าปากก็พบแต่คำว่า "คอมมิวนิสต์" คิดร้ายหมายทำลายประเทศ คอมมิวนิสต์คือปีศาจ กูเข้าใจดีและรู้เรื่องดีว่าเราจะต้องสู้ ต่อสู้เพื่อไม่ให้คอมมิวนิสต์เข้าเมืองเราได้ เมาเซตุงตัวอ้วนๆขาวๆ และจูเอนไหลตัวผอมๆเสี้ยวๆ สองคนนี้แหล่ะคือตัวการสำคัญที่จะต้องเพ่งมองและหาทางกำจัดเสียออกจากโลก

 

ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้กูได้แต่ตั้งปัญหาว่า ทำไมคอมมิวนิสต์มันจึงไม่ตายไปเสียทีเพราะได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของมันตลอดเวลา ดูเหมือนว่าสายตาของมันจ้องมองมาที่เมืองไทยทุกระยะ ปากของมันแสยะแยกเขี้ยวยิงฟันอย่างมังกรตัวมหึมา ที่จะกลืนแผ่นดินไทยรูปขวานทองด้ามใหม่เอี่ยมนี้เสียให้หมด..."

 

คำว่า "คอมมิวนิสต์" อาจดูไม่ค่อยมีผลกระทบอะไรมากนักสำหรับยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่วัยรุ่นจะสวมหมวกเขียวดาวแดงอันเป็นสัญลักษณ์แทนคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันก็ดูจะกลายเป็นเพียงแฟชั่นแบบหนึ่ง แต่ในอดีตคำนี้ดูจะมีอิทธิพลทางความรู้สึกและความคิดไม่น้อย ซึ่งสุจิตต์ คงไม่ใช่สื่อมวลชนเพียงคนเดียวที่วางตัวเป็นฝั่งตรงข้าม หรือก่อนหน้านี้ในหนังสืออ่านสนุกอย่าง "พล นิกร กิมหงวน" ของ ป. อินทรปาลิต ที่มีอิทธิพลไม่น้อยต่อนักอ่านและมีแฟนอ่านมาจนถึงปัจจุบันก็มีหลายครั้งที่เอ่ยถึงนโยบายนิยมไทยของหลวงวิจิตรวาทการฯ และชูอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ขณะเดียวกันตัวละครเชยๆอย่าง "คุณหญิงวาด" ก็อาจเป็นภาพตัวแทนของคนทั่วไปในเวลานั้นที่แม้จะดูแข็งขันอย่างมากกับการต่อต้านและมักชวนลูกหลานให้ออกมาแสดงออกแต่ เมื่อถามว่า "คอมมิวนิสต์" คืออะไร ก็ไม่สามารถอธิบายได้ มีเพียงคำอธิบายที่รับรู้จากรัฐบาลเท่านั้นที่บอกว่าคือมันสิ่งเลวร้าย คือภัยคุกคามอันหน้ากลัวที่ต้องต่อต้านอย่างไม่ต้องมีเหตุผลประกอบเท่านั้นเอง  

 

เช่นเดียวกับความรู้สึกของสื่อมวลชนในยุคหลังอย่าง สุจิตต์  วงษ์เทศ เมื่อเขาบรรยายเพิ่มเติมในหนังสือของเขาว่า

 

"...กูเกลียดนักการเมืองฝ่ายซ้ายเพราะใครต่อใครพูดกันว่าฝ่ายซ้ายคือคอมมิวนิสต์......สงครามเวียดนามระบาดออกเป็นวงกว้าง ผู้คนล้มหายตายกว่าเป็นเบือ กูด่าทอคอมมิวนิสต์อยู่ในใจด้วยความเคียดแค้นที่ทำให้ผู้คนล้มตายถึงขนาดนั้น ทำไมคอมมิวนิสต์ถึงกระหายเลือดปานนั้นหนอ หัวใจของคอมมิวนิสต์สร้างด้วยอะไร มันไม่มีเลือดเนื้อ มันไม่มีหัวใจกระนั้นหรอ  มนุษยชาติจะสงบสุขถ้าหากคอมมิวนิสต์ไม่มีในโลก ผู้คนจะอยู่อย่างสันติ ถ้าหากนายเมาเซตุง นายจูเอนไหล นายครุสเซฟตายไปเสียได้ ทำไมคนส่วนหนึ่งของโลกจึงหลงไหลอยู่กับปีศาจคอมมิวนิสต์เหล่านี้ได้ ผู้คนเหล่านี้โฉดชั่วช้าหินชาติหรือกระไร ทำไมมนุษย์เราจึงจะต้องไปเป็นคอมมิวนิสต์ ทำไมนายปรีดี พนมยงค์ จึงจะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ ทำไม ทำไม และทำไมกันโว้ย - ทำไมกันโว้ย ทำไมไม่มีใครตอบกูบ้าง "

 

หรืออีกตอนหนึ่งที่เขาคิด...."รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆเหมือนจะจับไข้เข้ามาครอบครองหัวใจกู นี่กูไม่รู้เรื่องอะไรเลยหรือนี่ อเมริกาเป็นไปถึงขนาดนี้หรือนี่ คิดถึงบ้านเหลือเกิน ป่านฉะนี้เราจะเป็นอย่างไร ภัยจากคอมมิวนิสต์จะคืบคลานมาถึงขนาดไหน ถ้าหากอเมริกาคืนดีกับจีนแดงได้อย่างนี้แล้ว บ้านเราจะทำอะไรต่อไป ชีวิตไพร่ฟ้าประชาชนพลเมืองจะทำอย่างไร ความรู้สึกที่เคยเกลียดเคยกลัวคอมมิวนิสต์จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร ข้อสำคัญคือตัวกูจะเชื่อใครดี "

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ "Made in USA" และ "โง่เง่าเต่าตุ่น" ได้ทะลวงม่านมายาของอคติออกมาบ้าง ก็คือการเปิดพื้นที่ให้กับเสียงของ "ถั่น" ผู้หญิงชาวเวียดนามใต้ที่มาเรียนรัฐศาสตร์ปริญญาเอกในอเมริกา "คอมมิวนิสต์" ที่เคยน่าเกลียดน่ากลัวกลับมีภาพที่สวนกับสิ่งที่สุจิตต์หรือสังคมไทยคิด ในขณะเดียวกันสำหรับอเมริกาที่เคยมีภาพลักษณ์เสมือนมิตรกลับถูกมองอย่างแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง  

 

"เราไม่รู้จักคอมมิวนิสต์ เราไม่มีความรู้สึกชิงชังหรือรักชอบประชาธิปไตย แต่ชาติตะวันตกและมหาอำนาจไม่เคยให้เราจัดการเรื่องราวภายในประเทศของเราเองเลย ทำไมเขาต้องคอยบงการให้เราเป็นอย่างนั้น ให้เราเป็นอย่างนี้ โฮจิมินห์เดินทางมาขอความเห็นใจจากชาติตะวันตก ในสมัยหลังสงครามโลก แต่ชาติตะวันตกเหล่านั้นไม่ยอมที่จะเข้าใจและเห็นใจในเสรีภาพของเวียดนาม ชาติตะวันตกรับรองเสรีภาพของประเทศเล็กๆทางตะวันตก ซึ่งเป็นคนผิวขาวได้ แต่ประเทศเล็กๆอย่างเวียดนามซึ่งเป็นคนผิวเหลืองไม่มีใครสนใจ และโฮจิมินห์ผิดหวังจากการพยายามจะเจรจา ไม่มีทางเลือกโฮจิมินห์จำเป็นต้องเข้าปรึกษาทางฝ่ายเมาเซตุงซึ่งพอจะพูดจากันได้

 

..คอมมิวนิสต์หรือไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญสำหรับเรา ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีเสรีภาพที่จะแก้ปัญหาภายในชาติของเราเอง การลงนามในสนธิสัญญาเจนีวาเพื่อให้จัดการเลือกตั้งทั่วประเทศนั้นพอจะมีแสงสว่างที่ชาติเราจะทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง แต่มหาอำนาจอเมริกาก็พยายามหลีกเลี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงในที่สุด อเมริกาค้ำประกันรัฐบาลของโงดินเงียมห์ พยายามทุกวิถีทางไม่ให้มีการเลือกตั้งทั่วเพราะความจริงประจักษ์ออกมาว่าคนเวียดนามส่วนมากเลื่อมใสโฮจิมินห์"

 

"..สงครามก็ขยายตัวมากขึ้น อเมริกาบอมบ์เวียดนามเหนือด้วยอารมณ์อันป่าเถื่อนและใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวงโลกในสมัยหลัง ถ้าหากเป็นประเทศไทยคุณจะคิดอย่างไร คุณจะทนอยู่ได้อย่างไร คุณไม่สามารถเลือกทางของคุณได้เลย ทุกฝีก้าวของคุณจะมีคนคอยบงการอยู่เบื้องหลัง และในที่สุดคนที่บงการคุณอยู่นั้นก็บงการคุณต่อไปให้คุณฆ่ากันเอง...ฉันได้ยินแต่เสียงปืน ระเบิด เครื่องบิน และเสียงครวญครางของผู้คน เสียงขอความช่วยเลหือของชาวนา เสียงระงมของเด็กเล็กๆที่ถูกสะเก็ดระเบิด บางครั้งฉันอยากจะบ้า แต่ฉันพยายามระงับไว้ว่าจะบ้าไม่ได้ คนเวียดนามทุกคนจะบ้าไม่ได้" ถั่นกล่าว พร้อมน้ำตาที่ไหลมาเป็นทางยาว

 

สงครามในเวียดนามจบไปหลายปีแล้ว...แต่ความกลัวภัยคอมมิวนิสต์ ครั้งหนึ่งได้ก่อให้เกิดกระแสเกลียดชัง "คนญวน" ในเวลานั้นเสียงของคนอย่าง "ถั่น" คงไม่สามารถเข้าไปทำความเข้าใจกับคนไทยได้เท่าไรนัก

 

ความต่อเนื่องของความกลัว

หากลองมองภาพรวมของอคติสังคมไทยในมิติทั้งปัจจัยผู้บริโภคสื่อ (ข่าว) และผู้ผลิตในปัจจุบันแล้ว เมื่อมองจากประสบการณ์ของผู้เขียนและคนในรุ่นราวคราวเดียวกันซึ่งอยู่ในช่วงอายุราว 25 ปีขึ้นไป และปัจจัยในส่วนบรรณาธิการที่มีอำนาจในการตัดสินใจในทิศทางข่าวซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงอายุราว 40 ปีขึ้นไป จะพบว่า คนในทั้งสองยุคสมัยมีประสบการณ์ร่วมบางประการที่สำคัญ นั่นก็คือการตกค้างทางความคิดจากยุคสงครามเย็นที่เน้นเชิดชู "(เชื้อ)ชาติ(ไทย) ศาสนา (พุทธ) และพระมหากษัตริย์" เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

 

ภายใต้ความกลัว การสร้างประกอบอุดมการณ์ความเป็นไทยที่มุ่งเน้นไปที่เชื้อชาติ ศาสนาประจำชาติ และพระมหากษัตริย์ จึงมุ่งไปที่การสร้างจินตนาการผ่านความรู้ซึ่งกำหนดทิศทางมาจากรัฐอย่างมีแบบแผน คนรุ่นผู้เขียนกับคนรุ่น "สุจิตต์ วงษ์เทศ" หรือก่อนหน้านั้นที่มีอายุห่างกันนับสิบปียังคงเรียนประวัติศาสตร์ที่เหมือนไม่มีข้อค้นพบใหม่ คนไทยยังคงมาจากเขาอัลไต เป็นเจ้าของน่านเจ้า โดนจีนไล่มาตั้งสุโขทัย อยุธยา มาจนรัตนโกสินทร์ ไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นเพราะเป็นชาตินักรบ (แต่เสียกรุงฯ 2 ครั้ง) หรือใช้แบบเรียน "แผนที่" ที่ต้องปวดร้าวกับดินแดนอันมหาศาลที่โดนเฉือนไปเรื่อยๆจนเหลือขวานทองเล่มนิดเดียว แต่ไม่เคยเรียนรู้แผนที่ทางวัฒนธรรมที่อย่างน้อยแต่ละลุ่มน้ำต่างๆก็มีขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมหรือภาษาแตกต่างกันไป 

 

ถอดราก.. "ความเป็นไทย"

สังคมไทยยังคงมีลักษณะเฉพาะอยู่เสมอ บางทีการสร้างบรรยากาศของความกลัวอาจทำให้สถานการณ์ต่างกรรมต่างวาระมีจุดลงเอยคล้ายๆกัน สุจิตต์ วงษ์เทศ เหมือนจะตั้งข้อสังเกตในหนังสือของเขาว่าการเปลี่ยนแปลงท่าทีของสหรัฐที่มีต่อจีนมีผลต่อชนชั้นนำไทย สิ่งที่ตามมาหลังจากกระแสการเปลี่ยนท่าทีของนิกสันก็คือการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย 

 

ทำไมสังคมไทยจึงได้ตกอยู่ภายใต้ความกลัวและ "ความเป็นไทย" สร้างขึ้นมาได้อย่างไร

 

สังคมไทยและสังคมสื่อช่วงเวลาหนึ่งอาจพูดได้ว่าเป็นยุคของเผด็จการทหารที่สืบเนื่องกันมาจากสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม,จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์, และจอมพลถนอม กิตติขจร ดังนั้น หากจะถอดรากของผู้คนและ "ความเป็นไทย" คงต้องมองย้อนไปถึงแนวทางของกลุ่มทหารตั้งแต่หลังหลังการอภิวัฒน์ พ.ศ.2475   

 

สิ่งที่กำหนด "ฐานคติ" ของสังคมไทยหลัง พ.ศ. 2475 ที่สำคัญอาจเป็นผลมาจาก "การปฏิวัติทางวัฒนธรรม" เพื่อนำไปสู่ "ชาตินิยมไทย" หรือที่หลวงวิจิตรวาทการฯ ปัญญาชนคนสำคัญยุคคณะราษฎร์เรียกว่า "มนุสสปฏิวัติ" ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างฐานอำนาจให้แก่กลุ่มผู้ปกครองใหม่หลังการยึดอำนาจจากฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สำเร็จ ซึ่งได้นำกุศโลบาย "ราชาชาตินิยม" ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 ที่เคยใช้อย่างได้ผลเมื่อต้องการรวมอำนาจมาไว้ที่ศูนย์กลางมาต่อยอด และเครื่องมือสำคัญในการสร้างความรู้สึกรวมศูนย์ก็คือการสร้าง "คนอื่น" ขึ้นมาให้ได้เกลียดร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองสายคณะราษฎร์ได้ตัด "ราชา" ออกจาก "ชาตินิยมไทย" และนำ "รัฐธรรมนูญ" มาแทนที่ในการจัดวางระบบระเบียบของสังคม และหลวงวิจิตรวาทการมีบทบาทอย่างยิ่งในกระบวนการดังกล่าวโดยเฉพาะหลังทศวรรษที่ 2480

 

มีการนิยามความหมายของ "ความเป็นไทย" โดยการเน้นไปที่ "จิตใจ" ที่รักความก้าวหน้า มีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้ มีความอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียรในการทำงานและนิยมการค้าขาย และบอกว่าอุปนิสัยเหล่านี้จะทำให้ "คนไทย" ทั้งปวงร่วมกันสร้าง "ชาติไทย" ให้เจริญรุ่งเรืองและกลายเป็น "มหาอำนาจ" ได้ในที่สุด  "ความเป็นไทย" ในความหมายใหม่เช่นนี้รวมทั้งนโยบายรัฐนิยมที่กำหนดบทบาทหน้าที่พลเมืองเป็นกระแสที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้พอสมควร หากเคยดูภาพยนตร์เรื่อง "โหมโรง" อาจจะพอนึกบรรยากาศ "ความเป็นไทย" ในแบบยุคจอมพล ป. พิบูลสงครามออก แม้แต่การกินหมากหรือการเล่นดนตรีไทยที่ต้องนั่งเล่นกับพื้นก็ยังกลายเป็นสิ่งต้องห้ามเลยทีเดียว

 

แม้ว่าภายหลังจาก พ.ศ. 2490 ที่จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เสื่อมอำนาจลงพร้อมๆกับการพ่ายแพ้สงครามโลกของญี่ปุ่นและการเป็นพันธมิตรของไทย แต่ไทยก็ต้องเผชิญหน้ากับสงครามเย็น บรรดาชนชั้นนำไทยกลัวภัยคอมมิวนิสต์กันอย่างจริงจัง "ความเป็นไทย" ยังคงถูกนำมาใช้สืบเนื่องต่อมาแต่เพิ่มการกลับไปผูกโยงกับ "ราชา" (อีกครั้ง) หลังจากหมดบทบาทไปมากหลัง พ.ศ. 2475 รวมไปถึงได้ผูกโยงไปกับ "พุทธศาสนา" ที่แน่นแฟ้นขึ้นในกระบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์

 

ช่วงเวลาเหล่านี้จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของอุดมการณ์ (เชื้อ)ชาติ(ไทย) ศาสนา(พุทธ) และพระมหากษัตริย์ที่เติบโตขึ้นเป็นหน่อเนื้อเดียวกัน แต่ขณะเดียวกัน "ความเป็นคนอื่น" ก็ได้เกิดขึ้นอย่าง  มโหราฬและขยายวงกว้างไปหลายพื้นที่  "อคติ" ถูกผลิตซ้ำและชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ถ่ายทอดส่งต่อกันมาจนถึงปัจจุบันและกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องมาพูดกันอยู่นี้เอง

 

การผลิตซ้ำ "ความเป็นไทย" นอกจากเกิดในสื่อที่อาจทำไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวแล้ว ผู้มีบทบาทสำคัญก็คือเหล่าปัญญาชนสาธารณะหลายคน ตำราเรียน หรือแม้แต่นิทานสำหรับเด็ก

 

ส่วนสังคมดั้งเดิมหรือ "สังคมสยาม" ที่ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อุษาคเนย์พยายามรณรงค์ว่า  "ประเทศของเรารวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย/ไท ลาว คนเมือง คนอีสาน คนมอญ เขมร กูย แต้จิ๋ว แคะ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ จาม ชวา มลายู ซาไก มอแกน ทมิฬ ปาทาน ซิกข์ เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทดำ ผู้ไท ขึน ยอง เวียด ลัวะ ม้ง เย้า กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอ อะข่า กำมุ มลาบลี ชอง ญัฮกุร ฝรั่ง (ชาติต่างๆ) แขก (ชาติต่างๆ) ลูกผสม ลูกครึ่งต่างๆ อีกมากมายกว่า 50 ชาติพันธุ์ ฯลฯ " ก็ถูกกันออกไปโดยอัตโนมัติ

 

เมื่อธรรมชาติของสังคมถูกหล่อหลอมไปด้วย "ความเป็นไทย" ลักษณะนี้มานาน รสนิยม การให้คุณค่าต่อทั้งการสื่อและการเสพจึงไปในทิศทางทางเดียวกัน หรือ DEMAND กับ SUPPLY มาทางเดียวกัน "ความเป็นอื่น" ถูกลดคุณค่าและ "ขายยาก" เหมือนกับแคมเปญข้างต้นของ ดร.ชาญวิทย์ ที่ไม่ค่อยจะมีใครซื้อนัก

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาสั้นๆของประวัติศาสตร์ สังคมไม่ได้ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบเดียวกันหมดไปเสียทีเดียว แต่มีช่วงเวลาของการโต้แย้งสวนกระแสออกมาอยู่ในที โดยเฉพาะปัจจัยแนวคิดแบบสังคมนิยมหรือ "คอมมิวนิสต์" ที่เกรงกลัวกันมากมายนั่นเองที่ทำให้ความรู้ในสังคมไทยได้มีโอกาสได้แตกยอดหรือเคลื่อนตัวจากความหยุดนิ่ง อย่างหนังสือหลายเล่มของ "จิตร ภูมิศักดิ์" ที่ได้ท้าทายการบอกเล่าประวัติศาสตร์แบบชนชั้นหรือแบบศูนย์กลางประวัติศาสตร์อยู่ที่รัฐ และเป็นที่ยอมรับอย่างโดดเด่นหลังปรากฏตัวออกมาระยะหนึ่ง

 

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เองก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สังคมไทยเปิดตัวและค่อนข้างมีเสรีภาพมากขึ้นในหลายๆด้าน  "ความเป็นไทย" ถูกตั้งคำถาม มีการยกหลักฐานและตีความประวัติศาสตร์ใหม่ อุดมการณ์แบบสังคมนิยมกระจายตัวจนสามารถมีพรรคการเมืองได้ ทว่าเวลาแบบนั้นมีในสังคมไทยได้ไม่นานนัก พลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมพยายามช่วงชิงชัยชนะกลับคืนไปทุกวิถีทาง แม้ต้องใช้ความป่าเถื่อนอย่างไร้อารยะก็ตาม แท่นพิมพ์แห่งเสรีภาพหลายแห่งถูกปิด หนังสือหลายเล่มกลายเป็นหนังสือต้องห้าม ความรู้ก็ถูกจองจำ "ความเป็นไทย" กระแสหลักถูกนำมาใช้อย่างแข็งขันอย่างที่สุดและเป็นไปในลักษณะของการปราบปราม จนกระทั่งเกิดกรณี 6 ตุลาคม 2519 ขึ้น ความอึมครึมจึงเหมือนสถาปนาตัวอย่างถาวรในสังคมไทยตลอดมา อุดมการณ์(เชื้อ)ชาติ(ไทย) ศาสนา(พุทธ) และพระมหากษัตริย์ ก็กลายเป็นคำตอบสำเร็จของทุกอย่างในสังคมไทยและสังคมสื่อมวลชน

 

"ความเป็นไทย" กับที่ทาง "ชาติพันธุ์" ในพื้นที่สื่อ  

อย่างไรก็ตาม คงต้องแก้ต่างแทนสื่อมวลชนเหมือนกันว่า การที่เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ค่อยได้ปรากฏในพื้นที่สื่ออาจไม่ใช่เรื่องของ "ความเป็นไทย" เสมอไป สื่อเองอาจจะไม่ได้มีเจตนาไม่เสนอเพียงเพราะมองว่าเป็นเรื่องชายขอบที่ถูกวางคุณค่าให้น้อย แต่สื่อเองก็มีบริบทในการนำเสนอเนื้อหาอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในกระแสหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นวันต่อวัน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง ปัญหาระหว่างประเทศ เพียงเท่านี้เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยากจะปรากฏตัวบนพื้นที่สื่อแล้ว

 

เช่นก่อนหน้านี้ในขณะที่สังคมกำลังตึงเครียดเรื่องเหลืองแดง แต่เรื่องที่แหลมออกมาและชาวบ้านเลือกนำไปถกวิจารณ์กันมากกลับเป็นข่าวพริตตี้ถูกสาดน้ำกรด เป็นต้น แต่ข้อสังเกตที่อยากตั้งคำถามและเสนอกรณีตัวอย่างคือ หลังกระบวนการสร้าง "ความเป็นไทย" ดำเนินมาถึงปัจจุบันแล้ว เมื่อสื่อมีพื้นที่ให้พูดเรื่องชาติพันธุ์ สื่อพูดอย่างไร..?

 

ในแง่การส่งผ่าน "ฐานคติ" หรือผลิตซ้ำ "ความเป็นไทย" ที่เหมือนไม่มีอะไรแต่กลับทรงพลังและซึมลึกกว่าหนังสือหรือเพลงปลุกใจอาจเป็นสื่อแบบบันเทิงก็ได้ เพราะหลังชมหนังเรื่องบางระจันจบหลายคนคงยากปฏิเสธว่าอยากลุกออกไปหาควายขี่รบพม่า แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ก็คือการสื่อความหมายว่า ผู้คนในรัฐทางตะวันตกของไทยไม่ว่ารัฐใดก็ถูกมองเป็นศัตรูไปหมด ซึ่งมันควรเป็นเพียงอารมณ์หลังดูหนังละครเท่านั้นหรือไม่

 

เพราะมันคงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราเกลียดพม่าจากประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นมากกว่าการรังเกียจสิ่งที่รัฐบาลของนายพลตาน ฉ่วย ในปัจจุบันกระทำกับคนพม่าและชาติพันธุ์ในพม่า มันจะน่าเศร้าสักเพียงใดยิ่งเมื่อรับรู้เรื่องราวการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายของคนในฝั่งเพื่อนบ้านแล้วกลับยิ่งรู้สึกสาสมใจเพียงเพราะวาทกรรม "ศัตรู" ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นโดยไม่ทำความเข้าใจมิติและบริบทที่แตกต่างกันระหว่างสังคมปัจจุบันกับอดีต ความเกลียดแบบเดียวกันนี้คงเหมือนกับที่เคยถูกทำให้เกลียด "ญวน" ด้วยการตราประทับคำว่า "คอมมิวนิสต์" ให้ แต่อย่าลืมว่าหากเราเงี่ยหูฟังเสียงอื่นหรือเปิดโอกาสให้เสียงจากคนเล็กๆอย่าง "ถั่น" ได้พูดให้มากขึ้น บางทีเราอาจจะรู้ เห็นหรือรู้สึกอะไรต่อสิ่งที่ปกปิดไว้เบื้องหลังมากกว่านี้ก็เป็นได้

 

กรณีพม่ากับไทย เมื่อต้นปี 2551 มีประเด็นแรงงานข้ามชาติที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาจากการนำเสนอข่าวโดยหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ระบุว่า "แรงงานพม่ายึดมหาชัย" ประเด็นก็คือเพียงเพราะมีคำว่า "พม่า" พ่วงท้ายเท่านั้น มันก็สร้างอารมณ์ของการเสียดินแดนไปแล้ว

 

แต่ในข่าวๆเดียวกันนี้ยังมีมิติอื่นๆที่ต้องทำความเข้าใจอีก ส่วนหนึ่งคือปัจจัยภายในของประเทศไทยเองที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจและต้องการแรงงานราคาถูกมาขับเคลื่อนโดยเฉพาะในภาคประมง ขณะที่คนไทยหรือแรงงานไทยไม่อยากทำงานราคาถูกแบบนี้แล้ว

 

นอกจากนี้ ยังมีมิติทางชาติพันธุ์ที่ตีความโดยไม่ได้แยก "ความเป็นมอญ" ออกจาก "ความเป็นพม่า" ซึ่งมหาชัยหรือสมุทรสาคารเป็น "ชุมชนมอญ" ที่อยู่อาศัยกันมานานไม่ต่ำกว่าร้อยปี ปัจจุบันแม้คนมอญจะไม่มีประเทศเป็นของตัวเอง แต่ความเป็นมอญก็ยังคงอยู่และแสดงออกผ่านงานรำลึกถึงบรรพบุรุษที่มีทุกปี แต่น่าขันเป็นอย่างยิ่งเมื่อมีข่าวว่าแรงงานพม่ายึดมหาชัย งานรำลึกบรรพบุรุษที่เป็นงานวัฒนธรรมก็กลายเป็นประเด็นความมั่นคงขึ้นมาทันที

 

"วันชาติมอญไม่ใช่การเรียกร้องทางการเมือง การทหาร หรือการจับอาวุธ แต่สิ่งที่แสดงออกคือชาติกำเนิดที่ต้องรักษา นั่นคือ ภาษา วัฒนธรรมและประเพณี การเป็นแรงงานข้ามชาติและจัดงานแบบนี้ขึ้นก็เพื่อย้ำเตือนว่า เขาคือมอญ แต่การจะเกิดงานวันชาติมอญขึ้นได้นั้นต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ด้วย ซึ่งคนในพื้นที่มหาชัยคือคนไทยเชื้อสายมอญมาช่วยให้เกิดวันชาติเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ"  สุกัญญา เบาเนิด นักวิจัยเรื่องแรงงานข้ามชาติ จ.สมุทรสาคร ได้อธิบายให้เห็นภาพทางวัฒนธรรมในพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น

 

เธอยังกล่าวถึงอคติที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทยอีกว่า "กลุ่มชาติพันธุ์มอญ" ที่มาจากประเทศพม่าจะถูกบอกว่าเป็นคนพม่าทั้งหมด แต่แท้จริงแล้วในมหาชัยมีคนมอญมากถึง 70% โดยยังมีสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นมอญที่ปรากฏ ได้แก่ การใช้ภาษามอญในการสื่อสาร ประเพณีและการจัดวันชาติมอญ และจะใช้คำว่า "วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ" ในการจัดงานทางวัฒนะรรมเพื่อรำลึกถึงวันตั้งกรุงหงสาวดี

 

นอกจากนี้ เมื่อได้สัมภาษณ์พระครูปลัดโนราอภิวโร เจ้าอาวาสวัดศิริมงคล ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นวัดที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ต่อเนื่องจากข่าวแรงงานพม่ายึดมหาชัยในทำนองว่าแย่งคนไทยทำบุญนั้น ท่านกล่าวถึงผลกระทบของการเสนอข่าวว่า ทำให้ทางวัดต้องพิจารณาให้หยุดการจัดงานรำลึกบรรพบุรุษปี 2551 เพราะหวั่นเกรงผลกระทบที่อาจเกิดกับทางวัด

                                        

อย่างไรก็ตาม พระครูยอมรับว่าผู้มาร่วมงานส่วนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองมาอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ถูกกฎหมาย และเมื่อมีงานประเพณีจะทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจจับอย่างเข้มงวดมากขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริง นอกจากวันรำลึกบรรพบุรุษมอญแล้ว กลุ่มแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาทำบุญเป็นประจำทุกวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดของโรงงานรวมทั้งวันสำคัญทางศาสนา อยู่แล้ว

 

"พูดง่ายๆคือคนมอญนิยมทำบุญกันมากกว่าคนไทยเสียอีก" พระครูกล่าว

 

สำหรับคนมอญพลัดถิ่นแล้ว แม้กฎหมายจะปิดกั้นแต่ด้วยความเชื่อ ความศรัทธา พวกเขายังคงเลือกไปที่วัด ...คำถามคือ หากมองในฐานะชาวพุทธ เราจะจำกัดศาสนาไว้ให้คนไทยสักการะเท่านั้นหรือ.. ?

 

นอกจากนี้ ประเด็นแรงงานข้ามชาติมีอะไรที่รัฐไทยควรจะต้องจัดการมากกว่ามากระวนกระวายอยู่กับประเด็นชาตินิยม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการกดขี่แรงงานทั้งที่ค่าแรงราคาแสนถูกอยู่แล้ว การก่อตัวขึ้นของกลุ่มมาเฟียในกลุ่มชาติพันธุ์เองและมาเฟียในเครื่องแบบ ปัญหาคุณภาพชีวิต การพัฒนาทางเลือกที่อาจสามารถจัดการให้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ชวนท่องเที่ยวได้ เพราะมหาชัยเองมีบรรยากาศที่มีลักษณะผสมผสานแบบชายแดน และการค้าชายแดนมักมีเสน่ห์ที่น่าสนใจเสมอ

 

หากมองข้ามอคติทางชาติพันธุ์ไปในอนาคต อาจมีแหล่งการค้าและการท่องเที่ยวที่ทำรายได้เหมือนไชน่าทาวน์หรือเยาวราชที่สามารถสร้างพลังทางเศรษฐกิจได้จนสามารถต่อรองและกลมกลืนกับความเป็นไทยได้อย่างไม่ขัดเขินก็ได้

 

ปลายปี 2551 ความชิงชังคนพม่าคล้ายลางเลือนไป แต่ความชิงชังนั้นดูเหมือนจะไปเพิ่มให้ประเทศกัมพูชาแทนเมื่อกรณีปราสาทพระวิหารถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งท่ามกลางกระแสการเมืองอันร้อนระอุ คนกัมพูชาถูกทำให้กลายเป็นศัตรูของชาติคล้ายมีเป้าหมายและกลายเป็นอารมณ์ที่ปรากฏในหน้าสื่ออย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่เรื่องของ "คน" ตามชายขอบของทั้งสองประเทศซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงกลับถูกลดทอนความสำคัญที่จะพูดถึงจากคนในส่วนกลาง ความสัมพันธ์ไม่ว่าจะในมิติเครือญาติทางมานุษยวิทยา ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือทางประวัติศาสตร์ ถูกปิดไว้ภายใต้ร่ม "ธงชาติไทย" และความขัดแย้ง พื้นที่การค้าถูกแปรสภาพให้กลายเป็นพื้นที่สงครามระหว่างประเทศ ข่าวแบบสงครามทำให้หนังสือพิมพ์ขายดีขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคก็ตื่นกระหายเพราะไม่ได้เป็นคนเสี่ยงไปรบในสมรภูมิเอง

 

ครั้งหนึ่งเคยได้พูดคุยกับ นายอุบลเดช พานพบ คนบ้านภูมิซรอล อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เขาบอกว่า "..เขา (พันธมิตรฯ) ทำตรงนั้นแล้วกลับกรุงเทพ แต่พวกผมต้องอยู่หลบลูกปืน ถ้าเขายิงมาพวกผมก็รับเต็มๆ"

 

นี้เป็นความรู้สึกของคนในพื้นที่ขัดแย้งคนหนึ่งที่มีต่อการที่กลุ่มพันธมิตรฯยกขบวนไปที่ปราสาทพระวิหาร เพื่อคัดค้านการเป็นมรดกโลกของตัวปราสาทจนเกิดการปะทะกันกับคนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วย

 

"พวกผมมีประสบการณ์หลบลูกปืนมาแล้วตั้งแต่สมัยเขมรแดงแต่เด็กรุ่นหลังๆไม่ชิน ผมไม่กลัว แต่ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก"

 

อุบลเดชบอกด้วยว่า "อยากให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพราะจะได้ค้าขาย แต่เมื่อแบ่งเขตกันไม่ได้และไม่มีใครอยากเสียดินแดน จึงอยากให้พัฒนาร่วมกัน อยากให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม ตัวปราสาทเรายอมรับว่าเป็นของเขา แต่พื้นที่รอบปราสาทถ้าตกลงกันไม่ได้อยากให้พัฒนาร่วมกัน ทหารจะได้ถอนกำลัง ถ้าร่วมกันพัฒนาไม่ได้ คุยอย่างไรก็ไม่จบ"

 

เสียงของอุบลเดชถึงตอนนี้ก็อาจยังไม่ค่อยมีใครใส่ใจนัก เขาบอกว่ามีญาติพี่น้องเป็นคนกัมพูชาด้วย คนแถวๆนั้นหากไม่มีเรื่องเส้นพรมแดนก็เป็นเครือญาติที่ข้ามฝั่งกันไปมา แต่ความรู้สึกชาตินิยมก็มีเหมือนคนอื่นๆ

 

"พระวิหารในความรู้สึกผมตรงเป้ยตาดีเองก็ไม่น่าเป็นของเขมร ทางฝรั่งเศสมันขี้เกียจขีดแผนที่ นอนเขียนที่โรงแรมแล้วขีดไป แต่เรายอมรับว่าศาลตัดสินมา คือถ้าตัดสินกันเองเราก็ลุกฮือได้ แต่นี่เป็นศาลโลก เขาให้ยกมือ เราแพ้เขา 9 ต่อ 3 ปัญหาคือคนที่กรุงเทพฯไม่รู้ว่าชาวบ้านในจุดนั้นเดือดร้อนอย่างไร"

 

การท่องเที่ยวที่เขาพระวิหารสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่โดยเฉพาะฤดูกาลท่องเที่ยวจะมีคนเข้ามามากถึงวันละ 2,000 - 3,000 คน คนไทยค่อนข้างได้เปรียบทางการค้าชายแดนมากกว่ากัมพูชา หากนับเป็นรายได้เฉลี่ยถึงวันละ 7,000 - 10,000 บาท ส่วนช่วงเทศกาลบางคนเคยได้ถึงวันละ 20,000 บาท แต่หลังปิดชายแดนรายได้ลดลงถึง 90 % หรือไม่มีรายได้จนต้องกลายเป็นทำงานรับจ้าง ติดหนี้สิน หรือแม้แต่ไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน

 

นี่คือสิ่งที่สูญเสียไปแล้ว เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

 

อีกกรณีตัวอย่างหนึ่ง ปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สงครามก็ได้ คือ กรณีความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเรื่องน่าสนใจเพราะที่ผ่านมาสามารถยึดพื้นที่หน้าสื่อได้นานพอสมควรและคงเป็นไปแบบนั้นหากเหตุการณ์การเมืองในกรุงเทพฯไม่ปะทุขึ้นและยืดเยื้อมา 2 ปีแล้ว

 

สิ่งที่ทำให้ประเด็นชาติพันธุ์สามารถยึดพื้นที่หน้าหนึ่งของสื่อสิ่งพิมพ์ได้ทุกฉบับ ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะมิติของการเป็นปรากฏการณ์ความรุนแรงทำให้คนในพื้นที่ส่วนกลาง "ช็อค" และ "ท้าทาย" อำนาจรัฐอย่างร้อนแรงเมื่อมีเหตุการณ์การปล้นปืนจากค่ายทหารในวันที่ 4 มกราคม 2547 แต่ก็ตามมาด้วยเหตุการณ์กรือเซะในวันที่ 28 เมษายน 2547 และเหตุการณ์ตากใบ วันที่ 25 ตุลาคม 2547

 

หากสังเกตการพาดหัวข่าวในช่วงแรกของเหตุการณ์ คำว่า "โจร" ถูกนำมาใช้นำหน้ากลุ่มก่อการด้วยน้ำเสียงชิงชังโกรธเกรี้ยว รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดูจะเสียหน้ามากเพราะก่อนหน้านั้นเคยปรามาสกลุ่มก่อการในภาคใต้ไว้ว่าเป็นเพียง "โจรกระจอก" ความร้อนรนในขณะที่ขาดความเข้าใจมิติอันซับซ้อนของสถานการณ์ทำให้เชื่ออย่างง่ายๆว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อกวนรัฐไทยเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนหน้านั้นจึงสั่งจัดการแบบเบ็ดเสร็จด้วยการขีดเส้นตาย การปฏิบัติการจึงมีความเด็ดขาด และมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงมากในช่วงนั้น รวมไปถึงการอุ้มหาย

 

ความร้อนรนยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางการปฏิบัติจนเกิดกรณีกรือเซะและตากใบแล้วนั่นเอง รัฐบาลจึงเหมือนจะเริ่มทบทวนทางยุทธวิธี มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มีสัญญาณที่เปลี่ยนไปของการปฏิบัติที่เห็นได้ชัดขึ้นในกรณีตันหยงลิมอที่ไม่ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการช่วงชิงตัวประกันนาวิกโยธินอันเปรียบเสมือนตัวแทนฝ่ายรัฐไทย ผลคือตัวประกันเสียชีวิต แต่เป็นไปได้ว่าหากรัฐใช้วิธีที่รุนแรงกว่านี้ อาจเกิดการซ้ำรอยของเหตุการณ์ตากใบขึ้นก็ได้

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมไทยยังไม่ยอมรับหรือไม่ยอมรับรู้ร่วมกันนักคือ การไม่เชื่อว่ามี "ชาติพันธุ์มลายูมุสลิม" อยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือถึงเชื่อว่ามีก็นึกไม่ออกว่าแตกต่างจากคนในพื้นที่อื่นตรงไหน สิ่งที่นึกออกอาจเป็นเพียงการคลุมผ้า มีเมียได้ 4 คน และไม่กินหมูเท่านั้น หลายคนคงยิ่งอยากตั้งคำถามว่าทำไมกลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่รักแผ่นดิน "ไทย" เหมือนที่เขารัก

 

สื่อเองในช่วงแรกอาจไม่ได้ทำหน้าที่อธิบายปรากฏการณ์มากไปกว่าเป็นการกระทำของกลุ่มโจรแบ่งแยกดินแดนและนำเสนอเฉพาะปรากฏการณ์การสูญเสียรายวันที่เกิดขึ้นเหมือนข่าวอาชญากรรมธรรมดา ไม่มีการอธิบายมากนักเรื่อง "ความเป็นมลายู" ราวกับสื่อเองก็ไม่ยอมรับให้มีการมีตัวตนอยู่ของ "ชาติพันธุ์มลายู" หากไม่ยอมกลืนกลายมาเป็น "ไทย" ในเส้นด้ามขวาน

 

แต่สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประเด็นสำคัญที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจก่อนเป็นอันดับแรกๆก็คือ"ชาติพันธุ์มลายู" เป็นคนในพื้นที่กลุ่มใหญ่ที่สุด มีความแตกต่างจากคนไทหรือไทยทั้งทางศาสนาและมีประวัติศาสตร์ของพื้นที่เอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความแตกต่างอย่างยิ่งจากพื้นที่อื่นๆ

 

ประเด็นต่อมา พื้นที่ 3 จังหวัดเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ แม้ว่ามลายูท้องถิ่นจะมีมากที่สุด แต่ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์จีนและไทยที่อาศัยในพื้นที่มานานเช่นกัน ที่ผ่านมามีความสัมพันธ์ในระดับแนวราบสอดคล้องกัน หมายความว่าอยู่รวมกันได้ เพราะมีวิถีชีวิตที่ไปด้วยกันได้

 

ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ ความสัมพันธ์ในแนวดิ่งที่มีรัฐ ประวัติศาสตร์ และความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นปัญหาที่พูดกันไม่จบและกำลังทำลายความสัมพันธ์ในระดับราบไปด้วยความหวาดระแวงกันและกัน ส่วนการนำเสนอข่าวที่ผ่านมาส่วนมากยังคงสอดคล้องกับฐานคติที่เรียกร้อง  "ความเป็นไทย" จากคนในพื้นที่อยู่เสมอ ไม่ค่อยปรากฏความพยายามยอมรับตัวตนของมุสลิมมลายู แม้เพียงในประเด็นของผู้สูญเสีย ผู้ที่ต้องควรเยียวยา เรื่องของความยุติธรรม ซึ่งเป็นคำถามสำคัญต่อรัฐจากคนในพื้นที่เสมอมา

 

สื่อก็ยังคงนำเสนอปรากฏการณ์แบบอาชญากรรมและมุมที่ไปด้วยกันได้กับรัฐไทย ความรุนแรงจากรัฐไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามในมัสยิดกรือเซะ หรือเหตุการณ์ตากใบที่จะพูดกันทุกปีจนเป็นแผ่นเสียงตกร่องกลับเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคมไทย ในขณะที่การเสียชีวิตของครูจูหลิงหรือหมวดตี้จะได้รับการดูแลที่แตกต่างออกไป

 

ผู้ตายที่เป็นคนในสามจังหวัดถูกมองเป็นคนอื่นที่มากกว่าการเป็นคนสวมหมวกกะปิเยาะหรือคลุมฮิญาบ  ความตายที่ตากใบจึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยจดจำได้น้อย ได้รับการดูแลจากสังคมไทยน้อย การให้ความสำคัญของสื่อ (อาจรวมถึงประชาไทด้วย) ก็น้อย ภายใต้เงื่อนปมเหล่านี้คำถามสำคัญคือจะเรียกร้องความรู้สึก "เป็นไทย" ในด้ามขวานเดียวกันจากคนในพื้นที่ได้อย่างไร..?

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแรงหนุนของ "ความเป็นไทย" จะทำให้เกิดการละเลยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ ละเลยกระบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่พึงมีต่อความเป็นมนุษย์ด้วยกัน แต่ข้อกังขาเหล่านี้จะต้องย้อนกลับไปหา"(เชื้อ)ชาติ(มลายู)" และ "ศาสนา (อิสลาม)"เช่นกัน เพราะภายใต้ความวุ่นวายก็มีการสร้างและใช้ประวัติศาสตร์บาดแผล ศาสนามาสร้างความเป็นอื่นขึ้นมาเพื่อความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว หรือสร้าง "ฐานคติ" ในพื้นที่แบบเดียวกับที่รัฐไทยเคยทำเพื่อเบียดขับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นและใช้ละเมิดมนุษยธรรมต่อผู้อื่น กลุ่มขบวนการเหล่านี้จะต้องถูกประณามเช่นกัน 

 

กรณีตัวอย่างความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมเหล่านี้อาจเป็นเรื่องเก่า แต่สำคัญที่ต้องตระหนักไว้เสมอว่ามันยังมีอยู่จริง และพร้อมจะบ่มสร้างเพื่อย้อนกลับมาสร้างบาดแผลใหม่ๆให้กับเราทุกคนได้ไม่รู้จบ

 

ชาติพันธุ์กับสื่อในเส้นทาง "พื้นที่ทางเลือก"

ในส่วนนี้อาจเป็นข้อเสนอทางออกจากการถอดบทเรียนสื่อทางเลือก "ประชาไท" ในฐานะคนทำงาน ซึ่งใช้พื้นที่ในโลกอินเตอร์เน็ทในการสื่อสารและได้รับการตอบรับในระดับหนึ่ง แม้ว่าระยะหลังจะมีกฎหมายคอมพิวเตอร์ออกมาจำกัดทำลายความสร้างสรรค์ทางองค์ความรู้ไปมากมาย กระนั้นโลกอินเตอร์เน็ทก็ยังมีเสรีภาพที่กว้างขวางพอต่อการข้ามพรมแดนชาติพันธุ์ ซึ่งโลกอินเตอร์เน็ทมีข้อเด่นที่น่าสนใจคือความสามารถในการสื่อสารสองทาง สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสื่อได้ ในกรณีของ "ประชาไท" คือมีพื้นที่เว็บบอร์ดและมีพื้นที่แสดงความเห็นท้ายข่าว

 

ทุนในการสร้างพื้นที่ในโลกอินเตอร์เน็ทอาจกล่าวได้ว่าไม่สูงนัก บางกรณีอาจมีเพียงเครื่องมือที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ทได้ก็เพียงพอทำให้การนำเสนอประเด็นชาติพันธุ์และข่าวของคนตัวเล็กตัวน้อย หรือข่าวที่ไม่เป็นข่าวในพื้นที่สื่อกระแสหลักสามารถทำได้ในพื้นที่สื่อทางเลือก และสามารถให้ความสำคัญเฉพาะได้โดยไม่ต้องง้อบริบททางธุรกิจมากนัก

 

หากทบทวนประสบการณ์ "ประชาไท" ในช่วง 2 ปีแรก แนวทางการนำเสนอเนื้อหาดูจะเน้นไปที่ข่าวนอกกระแสที่สามารถบอกได้ว่านอกกระแสจริงๆ นอกกระแสจนหลายข่าวมีคนอ่านเพียง 2 คน นั่นก็คือบรรณาธิการและผู้เขียนซึ่งมาเช็คข่าวตัวเอง เว้นแต่ช่วงที่กระแสช่วยผลักดันเท่านั้น เช่น ข่าวอย่าง 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะกรณีตากใบที่สังคมมีความตื่นตัวสูงและต้องการเหตุผลว่าคนเกือบร้อยคนเสียชีวิตได้อย่างไรในคืนเดียว กรณีดังกล่าวทำให้ "ประชาไท" เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะได้ตั้งคำถามตรงๆไปที่รัฐว่ามีการใช้ถุงดำคลุมหน้าดังที่คนในพื้นที่สงสัยหรือไม่ รวมไปถึงการตัดสินใจนำซีดีที่รัฐห้ามเผยแพร่มาลงในเว็บไซต์ เป็นต้น

 

แม้ว่าจะสร้างกระแสไม่ได้มาก แต่กรณีดังกล่าวทำให้รู้ว่าความจริงแล้วผู้บริโภคยังคงกระหายข้อมูลในหลายๆด้าน และการปกปิดก็ไม่ใช่คำตอบ และความอยากรู้ไม่ได้แสดงออกมาเฉพาะที่เว็บไซต์อย่างจำกัด แต่กลับสะท้อนผ่านไปยังสื่อกระแสหลักต่างๆเช่นกัน แรงกดดันจากสังคมทำให้รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในการตายที่เกิดขึ้น

 

หลังกระแส "ประชาไท" ประสบความซบเซาเหมือนเดิม สิ่งที่เรียนรู้อีกอย่างหนึ่งคือบางครั้งการนำเสนอข่าวที่เฉพาะเจาะจงและนอกเหนือจากความสนใจอาจจะไม่ใช่คำตอบของทางเลือกเสมอไป เพราะเมื่อไม่มีคนสนใจก็หมายถึงการไม่บรรลุผลของการสื่อสาร จึงนำมาสู่การปรับตัวไปในทิศทางที่มีการให้พื้นที่ข่าวกระแสหลักมากขึ้น จำนวนผู้อ่านจึงมากขึ้นตามไปด้วย

 

สิ่งที่ต้องจัดการคือ "การเมืองเรื่องพื้นที่" เพราะในหน้าสื่อทั่วไป ข่าวเด่นดังจะถูกวางไว้ให้เด่น การจัดการหน้าข่าวบนเว็บไซต์ "ประชาไท" จึงจงใจจัดวางข่าวของคนเล็กๆไว้ใกล้ๆข่าวเด่นเพื่อให้ผ่านตา แม้ว่าจะไม่ส่งผลมากนัก แต่อย่างน้อยพบว่ามีการคลิกอ่านข่าวนอกกระแสมากขึ้น ซึ่งในกรณีแบบนี้จะถือเป็นความสำเร็จในการช่วงชิงพื้นที่ได้หรือไม่...ไม่ทราบ

 

จุดหักเหที่บอกได้ว่า "ประชาไท" มีคนเข้ามาอ่านมากขึ้นอย่างชัดเจน คือ หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ด้วยการประกาศตัวตนอย่างชัดเจนว่าต่อต้านการรัฐประหารในครั้งนี้ และมีท่าทีที่เลือกข้างไปในทางตรงข้ามกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งไม่ขอตอบอีกเช่นกันว่าผิดหรือถูก

 

แต่ในแง่ส่วนตัวของผู้เขียน หากมองในมิติเชิงชาติพันธุ์หรือพื้นที่ของคนตัวเล็กตัวน้อย ในกรณีของคนอีสานกับคนภาคเหนือ แม้ว่าจะเป็นคนส่วนมากที่ใช้สิทธิเลือกตั้งไปแล้ว แต่พลังในการต่อรองกลับน้อยและถูกมองอย่างมีอคติ ว่า "โง่ จน ซื้อได้" ดังนั้นจะเป็นอย่างไรไป หากประชาไทเลือกจะเปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มนี้เหมือนกับที่เปิดพื้นที่เรื่องมลายู เรื่องมอญ และเรื่องอื่นๆในลักษณะเดียวกัน

 

แต่สิ่งที่น่าขันเรื่องหนึ่งคือ ในอดีตเมื่อ "ประชาไท" พูดเรื่องมลายู สิ่งที่สะท้อนออกมาจากความเห็นท้ายข่าวมักจะออกในเชิงว่าขายชาติบ้าง กบฎบ้าง เว็บโจรใต้บ้าง แต่ไม่ค่อยมีการพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนมากนัก ตอนนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในปัจจุบันเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ กลายเป็นศัตรูทางการเมืองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้ว เหตุผลหนึ่งที่สำคัญในการระบุความผิดก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และปรากฏเป็นความเห็นในเว็บไซต์ที่มากขึ้น น่าสนใจว่าคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดถูกมองเป็นคนไทยขึ้นมาทันทีหากมีการเอ่ยถึงทักษิณ ชินวัตร

 

นัยยะนี้อาจมองได้ว่า "ความเป็นไทย" หรือ "ชาตินิยม" สามารถแปรผันตามกระแสความเกลียดชังที่ถูกปลุกขึ้นมาในสังคมไทยได้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม "ประชาไท" คงไม่สามารถเป็นคำตอบของพื้นที่สื่อทางเลือกบนโลกอินเตอร์เน็ตได้ทั้งหมด และคงบอกได้ว่าเป็นเพียงกรณีหนึ่งเท่านั้น ที่ผ่านมาในกรณี 3 จังหวัดภาคใต้เอง ความพยายามในการช่วงชิงพื้นที่ในการนำเสนอข่าวที่แตกต่างออกไปจากข่าวกระแสหลักมีให้เห็นหลายครั้ง เช่น การเกิดศูนย์ข่าวอิสราขึ้นบนโลกอินเตอร์เน็ท

 

ยุคแรกของการก่อตั้งศูนย์ข่าวอิศราเป็นที่ยอมรับอย่างมากในการทำหน้าที่ทั้งในพื้นที่และในสังคมวงกว้าง เพราะนอกจากเนื้อหาที่มีความแตกต่างแล้ว ยังมีมิติของพื้นที่นำเสนออกมาด้วยทั้งวิถีศาสนาและวัฒนธรรม พื้นที่กลมกลืนผสมผสาน การเกาะติดสถานการณ์ที่ฉับไวและแหล่งข่าวเชื่อถือได้ว่าไม่เอนเอียงไปทางรัฐ ในขณะเดียวกันก็พยายามหาเหตุผลของสถานการณ์อยู่เสมอ

 

นอกจากศูนย์ข่าวอิสราแล้วปัจจุบันยังมีเว็บไซต์ดีพเซาธ์วอทช์ ซึ่งทีมข่าวอิสราชุดแรกๆที่ลงพื้นที่หันมาทำงานข่าวและข้อมูลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง หรือล่าสุดก็มีเว็บไซต์บุหงารายาซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่ที่อยากจะสื่อสารสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้คนส่วนกลางได้รับรู้

 

ในโลกอินเตอร์เน็ท ยังมีพื้นที่อย่างเว็บบล็อกที่ใครก็สามารถสื่อเรื่องราว จัดสรรและจัดการพื้นที่ของตัวเองได้ ซึ่งก็อาจเป็นอีกคำตอบหนึ่งในการนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ทเกือบล้านคนและมีแนวโน้มที่สูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม อินเตอร์เน็ทมีข้อจำกัดคือการเข้าถึง 40 เปอร์เซ็นยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯและพื้นที่รายรอบ ส่วนตามท้องถิ่นแม้ว่าแทบทุกหน่วยตำบลจะมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ทก็ตาม แต่การใช้งานได้จริงต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดมาก ยังไม่นับรวมไปถึงชาติพันธุ์ที่เป็นชายขอบมากๆ อย่างในพื้นที่ป่ารอบสาละวิน หรือคนในตำบลลึกๆชายแดนใต้ ชาวบ้านที่อยู่ลึกเข้าไปคงไม่มีเวลามานั่งหัดหรือสื่อสารทางอินเตอร์เน็ท หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติไม่ว่าจะเป็นมอญ พม่า เขมร ฯลฯ ก็คงไม่สามารถใช้อินเตอร์เน็ทบอกเรื่องราวของตนเองได้

 

ในข้อจำกัดเหล่านั้นคงต้องฝากไปยังองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆที่ทำงานด้านนี้ในการสร้างพื้นที่ขึ้นมาสื่อสารแทน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเว็บไซต์ บล็อก หรือการส่งเรื่องราวไปยังสื่อต่างๆทางอีเมลล์การได้ลงในสื่อสักเรื่องอย่างน้อยคงเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสื่อสารเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์

 

ทั้งนี้ เรื่องชาติพันธุ์อาจถูกละเลยมานานจนไม่น่าสนใจ การนำเสนอเนื้อหาโดยตรงอาจมีผลแบบเดียวกับบทเรียนในอดีตของ "ประชาไท" ที่มีคนอ่าน 2 คน ซึ่งน่าท้อแท้ใจอย่างยิ่ง บางทีองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำสื่ออาจต้องมองในลักษณะการตลาดบ้างเพื่อให้เรื่องราวได้ออกสู่สาธารณะอย่างแท้จริง

 

อย่างน้อยการได้รับรู้เรื่องราวในมุมมองอื่นๆจะได้ทำให้ "อคติ" ที่มาจาก "ความเป็นไทย" ลดลงได้บ้าง แม้วันละนิดวันละน้อยก็ยังดี...

 

 

 

 

อ้างอิง

 

ใครว่า พม่ายึดมหาชัย ? "คนมอญ" อยู่มากว่า 200 ปีแล้ว. http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=9858&Key=HilightNews

 

 

รายงาน : พิพาทเขาพระวิหาร "เขาทำตรงนั้นแล้วกลับกรุงเทพฯ แต่พวกผมต้องอยู่หลบลูกปืน"

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=14086&Key=HilightNews

 

สายชล สัตยานุรักษ์ . "ประวัติศาสตร์การสร้าง "ความเป็นไทย" กระแสหลัก" . จินตนาการความเป็นไทย. นครปฐม : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล,2551.

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ.เมด อิน U.S.A. และ โง่เง่าเต่าตุ่น.กรุงเทพฯ : Open Book,2547.

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ . หลังเสื้อรณรงค์ Siam not Thailand

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท