เปิดคำสั่งศาลนราธิวาส "ทหาร" ซ้อม "อิหม่ามยะผา" เสียชีวิต

เรียบเรียงจาก โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา

6 มกราคม 2552

 

 

"จากการชันสูตรพลิกศพพบบาดแผลถลอกและรอยฟกช้ำตามร่างกาย กับกระดูกซี่โครงที่หัก เกิดจากร่างกายของผู้ตายถูกกระแทกด้วยของแข็ง ทำให้กระดูกซี่โครงหัก แล้วกระดูกซี่โครงข้างขวาของผู้ตายที่หักได้ไปแทงเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีลมรั่วออกจากปอด อันเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย"

 

"กระดูกซี่โครงของผู้ตายน่าจะเพิ่งหัก เพราะกระดูกยังไม่เชื่อมต่อกัน เนื่องจากยังไม่มีแคลเซียมมาเกาะ รอยฟกช้ำที่ศพของผู้ตายก็เกิดขึ้นได้ประมาณ 1-2 วัน สำหรับบาดแผลถลอกตื้น ก็สันนิษฐานว่าเกิดจากการถูกของแข็งมากระทบได้ไม่เกิน 2 วันเช่นกัน เพราะเริ่มตกสะเก็ด และตำแหน่งของบาดแผลดังกล่าวบางส่วนก็อยู่ตรงกับตำแหน่งที่กระดูกซี่โครงขวาด้านหลังกับกระดูกซี่โครงซ้ายด้านหลังหัก บาดแผลกับรอยฟกชั้นดังกล่าวเกิดในขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งหากมีผู้ได้รับบาดเจ็บในลักษณะเดียวกับผู้ตาย บุคคลดังกล่าวไม่น่าจะเดินได้ เห็นว่ารอยแผลถลอก ฟกช้ำ และกระดูกที่หักของผู้ตายมีความสัมพันธ์กัน และเพิ่งเกิดขึ้นไม่เกิน 2 วัน"

 

"ในคืนวันที่ 20 มี.ค.2551 มีการเบิกตัวผู้ตายไปซักถาม 3 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้นำตัวผู้ตายไป และเจ้าหน้าที่ทหารหลายคนได้ร่วมกันทำร้ายผู้ตายจนผู้ตายได้รับบาดเจ็บถึงขนาดเดินไม่ได้ และถึงแก่ความตายในตอนเช้าของวันที่ 21 มี.ค.2551 สอดรับกับผลการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย จากทางไต่สวนจึงน่าเชื่อว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายผู้ตายในคืนวันที่ 20 ม.ค.2551 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 21 มี.ค.2551 เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บ และถึงแก่ความตาย"

 

"จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตาย คือ นายยะผา กาเซ็ง ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ที่ 2
ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2551 เวลา 06.30 น. เหตุที่ตายเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่"

 

 

000

 

แม้หน่วยงานด้านความมั่นคงจะยืนยันความสำเร็จของการลดจำนวนเหตุร้ายรายวันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่ลดลงกว่า 40% ในปี 2551 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อันสืบเนื่องมาจากการเปิดยุทธการ "ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม" อย่างเข้มข้น (ตัวเลขของตำรวจระบุว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาปิดล้อมตรวจค้นไปถึง 12,335 ครั้ง)

 

แต่ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็มีสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน...

 

และหนึ่งใน "กรณีตัวอย่าง" ที่ตกเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปีที่แล้ว คือการเสียชีวิตของ นายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2551 ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 (ฉก.39) จนกลายเป็นข้อถกเถียงกันว่า อิหม่ามยะผา เสียชีวิตเพราะถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่หรือไม่

 

แม้ว่าต่อมาฝ่ายกองทัพโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะออกมายอมรับกลายๆ ว่า เหตุดังกล่าวเป็นการกระทำของ "ทหารที่ไม่ดีคนหนึ่ง" และได้สั่งย้ายกำลังพลใน ฉก.39 ออกจากพื้นที่ยกหน่วยไปแล้ว แต่นั่นดูจะยังไม่เพียงพอกับสภาพการณ์ในดินแดนด้ามขวานที่ประสบปัญหาประชาชนไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง

 

การนำเรื่องที่เกิดขึ้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การ "ยุติอย่างเป็นธรรม" จึงเป็นทางออกที่ดีสุดทั้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตเอง และสถานการณ์ไฟใต้ที่คุโชนมาหลายปี

 

ล่าสุดกระบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่นี้ในขั้นแรกแล้วอย่างน่าชื่นชม นั่นก็คือการที่ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งในคดี "ไต่สวนการตาย" ตามที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ที่กำหนดให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อไต่สวน กรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมของผู้ตายและครอบครัว

 

และคดีการเสียชีวิตของ "อิหม่ามยะผา" ก็เป็นคดีแรกๆ ที่ศาลมีคำสั่งออกมาโดยใช้เวลาไต่สวนไม่ถึง 1 ปี!

 

คดีนี้แม้จะส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพอยู่บ้าง แต่การที่วงล้อของกระบวนการยุติธรรมไทยยังหมุนอยู่และเป็นหลักประกันเรื่องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านได้ ย่อมเป็นสัญญาณที่ดีต่อการสถาปนาสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างสถาพร

 

 

เปิดคำสั่งประวัติศาสตร์ศาลนราธิวาส

ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2551 ในคดีชันสูตรพลิกศพ นายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ตามที่พนักงานอัยการยื่นคำร้อง

 

คำร้องของอัยการสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2551 เจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารได้นำกำลังไปปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านกอตอ ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และได้ควบคุมตัว นายยะผา กาเซ็ง ผู้ตาย กับพวกรวม 6 คน ในฐานะผู้ต้องสงสัยโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก  และนำตัวผู้ตายไปควบคุมที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ซึ่งเป็นรถยนต์ควบคุมตัวผู้ต้องหาของ สภ.รือเสาะ เป็นที่ควบคุมตัวผู้ตายกับผู้ต้องสงสัยรวม 7 คน โดย ร้อยตรีศิริเขตต์ วาณิชบำรุง เป็นผู้ถือกุญแจห้องควบคุม พันตรีวิชา ภู่ทอง เป็นผู้รักษาการแทนผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39

 

ระหว่างผู้ตายถูกควบคุมตัวในวันที่ 20 มี.ค.2551 เวลากลางคืน ถึงวันที่ 21 มี.ค.2551 เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวผู้ตายไปซักถามหลายครั้ง ต่อมาในวันที่ 21 มี.ค.2551 เวลาประมาณ 06.30 น. ผู้ตายถึงแก่ความตายในห้องควบคุมดังกล่าว ซึ่งเป็นการตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าได้ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงขอให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

 

ในทางไต่สวนพยานผู้ร้อง และพยานของ นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาผู้ตายซึ่งยื่นคำร้องขอนำพยานเข้าสืบ ได้ความว่า นายยะผากับพวกถูกควบคุมตัวเวลา 05.00 น.วันที่ 19 ม.ค.2551 เพราะต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อความไม่สงบในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักจากจับกุม เจ้าหน้าที่ได้นำผู้ตายกับพวกไปที่ สภ.รือเสาะ แล้วนำตัวไปแถลงข่าวที่ สภ.เมืองนราธิวาส เสร็จแล้วจึงนำผู้ตายกับพวกกลับไปที่ สภ.รือเสาะ ต่อมาเวลา 12.00 น.จึงนำผู้ตายกับพวกไปมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวต่อตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ภายในวัดสวนธรรม ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ในวันที่ถูกควบคุมตัว ผู้ตายมีสุขภาพแข็งแรง

 

เวลา 13.00 น.ในวันที่ถูกจับกุม นางนิม๊ะ และ นางนอมี กาเซ็ง บุตรสาวผู้ตาย ตามไปดูผู้ตาย แต่เจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้เข้า บุคคลทั้งสองจึงได้ตะโกนคุยกับผู้ตาย และเห็นผู้ตายเดินลงมาจากรถยนต์ที่ใช้ควบคุมตัวเพื่ออาบน้ำละหมาดด้วยสภาพร่างกายปกติ

 

20 มี.ค.2551 เวลา 08.00-12.00 น. นางนิม๊ะกับนางนอมีไปเยี่ยมผู้ตาย และได้ตะโกนคุยกับผู้ตายเหมือนเดิม ในตอนนั้นผู้ตายยังมีร่างกายแข็งแรง ทั้งยังตะโกนบอกบุคคลทั้งสองว่า ต้องการอาหารและบุหรี่

 

พยานของผู้ร้องและพยานของนางนิม๊ะซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่กับผู้ตาย ให้การว่าเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวผู้ตายออกไปจากห้องควบคุมหลายครั้งในคืนวันที่ 20 มี.ค.2551 และเห็นผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารหลายคนทำร้ายร่างกาย ทั้งได้ยินเสียงผู้ตายถูกทำร้ายและร้องหลายครั้ง เมื่อถูกนำกลับมาที่ห้องควบคุมแต่ละครั้ง ผู้ตายบอกว่าถูกซ้อม เจ็บ และไม่ไหวแล้ว

 

กระทั่งเวลา 06.30 น.วันที่ 21 มี.ค.2551 ผู้ตายจึงถึงแก่ความตายอยู่บนรถยนต์คันที่ใช้ควบคุมตัว เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารมาพบ จึงย้ายศพผู้ตายไปไว้ที่ห้องพยาบาลภายในหน่วย และแพทย์ทหารพยายามปั๊มหัวใจช่วยชีวิตหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เพราะผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารถึงแจ้งพนักงานสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเพื่อให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อทำการชันสูตรพลิกศพ

 

 

ศาลเชื่อถูกทำร้าย-เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะเหตุใด และใครเป็นผู้ทำให้ตาย น.พ.ศุภวิทย์ ภักดีโชติ แพทย์ประจำโรงพยาบาลรือเสาะ ซึ่งร่วมชันสูตรพลิกศพผู้ตาย เบิกความในฐานะพยานผู้ร้องว่า จากการชันสูตรพลิกศพพบบาดแผลถลอกและรอยฟกช้ำตามร่างกาย กับกระดูกซี่โครงที่หัก เกิดจากร่างกายของผู้ตายถูกกระแทกด้วยของแข็ง ทำให้กระดูกซี่โครงหัก แล้วกระดูกซี่โครงข้างขวาของผู้ตายที่หักได้ไปแทงเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีลมรั่วออกจากปอด อันเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย

 

ส่วนการปั๊มหัวใจด้วยวิธีกดบริเวณหน้าอกส่วนกลางค่อนไปทางซ้ายตรงกับหัวใจหลายครั้งตามที่แพทย์ทหารพยายามปฐมพยาบาลผู้ตาย ไม่ปรากฏรายงานทางการแพทย์ว่าทำให้กระดูกซี่โครงหักได้  อย่างไรก็ตาม แม้จะกดโดยแรงถึงขนาดที่ทำให้กระดูกซี่โครงหัก กระดูกส่วนที่จะหักคือกระดูกซี่โครงด้านหน้าตำแหน่งที่ 4-6 เพราะอยู่ตรงบริเวณที่กด ไม่น่าจะมีผลทำให้กระดูกซี่โครงด้านหลังหักด้วย

 

ทั้งนี้ กระดูกซี่โครงของผู้ตายน่าจะเพิ่งหัก เพราะกระดูกยังไม่เชื่อมต่อกัน เนื่องจากยังไม่มีแคลเซียมมาเกาะ รอยฟกช้ำที่ศพของผู้ตายก็เกิดขึ้นได้ประมาณ 1-2 วัน สำหรับบาดแผลถลอกตื้น ก็สันนิษฐานว่าเกิดจากการถูกของแข็งมากระทบได้ไม่เกิน 2 วันเช่นกัน เพราะเริ่มตกสะเก็ด และตำแหน่งของบาดแผลดังกล่าวบางส่วนก็อยู่ตรงกับตำแหน่งที่กระดูกซี่โครงขวาด้านหลังกับกระดูกซี่โครงซ้ายด้านหลังหัก บาดแผลกับรอยฟกชั้นดังกล่าวเกิดในขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งหากมีผู้ได้รับบาดเจ็บในลักษณะเดียวกับผู้ตาย บุคคลดังกล่าวไม่น่าจะเดินได้ เห็นว่ารอยแผลถลอก ฟกช้ำ และกระดูกที่หักของผู้ตายมีความสัมพันธ์กัน และเพิ่งเกิดขึ้นไม่เกิน 2 วัน

 

ในวันที่ผู้ตายถูกเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว ผู้ตายมีสุขภาพแข็งแรง เจ้าหน้าที่สามารถนำผู้ตายไปแถลงข่าวได้ ประกอบกับนางนิม๊ะและนางนอมี ได้เบิกความว่าได้ตามไปเยี่ยมผู้ตายโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.ช่วงบ่าย กับวันที่ 20 มี.ค.ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งบ่าย ก็ยังเห็นว่าผู้ตายมีสภาพร่างกายแข็งแรง แสดงว่าบาดแผล รอยฟกช้ำ และกระดูกซี่โครงที่หักซึ่งแพทย์ชันสูตรพบ เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ตายถูกควบคุมตัวที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39

 

เมื่อหน่วยเฉพาะกิจดังกล่าวมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว คือทางประตูใหญ่ของวัดสวนธรรม ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่เวรรักษาการณ์ตลอดเวลา บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าออกได้เว้นแต่ได้รับอนุญาต ทั้งผู้ตายถูกควบคุมตัวในรถยนต์ซึ่งมีกุญแจล็อกประตูไว้อีกชั้นหนึ่ง โดยมีทหารเวรเป็นผู้ถือกุญแจ ร้อยตรีศิริเขตต์ พยานผู้ร้องก็เบิกความว่า ในวันที่ 20 มี.ค.2551 เวลาประมาณ 22.00 น. ตนเป็นผู้ไปขอกุญแจรถยนต์ที่ใช้ควบคุมตัวผู้ตายซึ่งมีเพียงดอกเดียวจากนายทหารเวร เพื่อนำตัวผู้ตายออกมาซักถาม หลังจากซักถามเสร็จ ร้อยตรีศิริเขตต์เก็บกุญแจดังกล่าวไว้ทั้งคืน ไม่มีผู้ใดมาขอเบิกจนกระทั่งเช้า

 

เมื่อทางไต่สวนไม่ปรากฏว่ามีบุคคลภายนอกเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ตายในตอนที่ถูกควบคุมตัว พยานผู้ร้องและพยานของภรรยาผู้ตายทุกปากซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เดียวกับผู้ตายก็ให้การสอดคล้องกันว่า ในคืนวันที่ 20 มี.ค.2551 มีการเบิกตัวผู้ตายไปซักถาม 3 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้นำตัวผู้ตายไป และเจ้าหน้าที่ทหารหลายคนได้ร่วมกันทำร้ายผู้ตายจนผู้ตายได้รับบาดเจ็บถึงขนาดเดินไม่ได้ และถึงแก่ความตายในตอนเช้าของวันที่ 21 มี.ค.2551 สอดรับกับผลการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย จากทางไต่สวนจึงน่าเชื่อว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายผู้ตายในคืนวันที่ 20 ม.ค.2551 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 21 มี.ค.2551 เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บ และถึงแก่ความตาย

 

จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตาย คือ นายยะผา กาเซ็ง ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ที่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2551 เวลา 06.30 น. เหตุที่ตายเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท