Skip to main content
sharethis

ความคืบหน้ากรณีนายสุวิชา ท่าค้อ ถูกนำตัวเข้ากรุงเทพฯแล้ว 40 ส.ว. เตรียมเสนอเรื่องตั้งกรรมาธิการดูแลการสังคายนากฎหมายหมิ่นฯ ด้านไอซีทีปิดเพิ่มอีก 400 url เผยขอกำลังทหารเข้าช่วยเจ้าหน้าที่กระทรวงเฝ้าระวังเว็บไซต์แล้ว


เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2552 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วยพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษดีเอสไอ นำหมายค้นเลขที่ 78/2552 เข้าตรวจสอบบ้านเลขที่ 277/149 ถ.กาญจนาภิเษก แขวงและเขตคันนายาว กทม. ภายหลังสืบทราบว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นสถานที่ใช้เผยแพร่ข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูงลงในเว็บไซต์ต่างๆ เมื่อไปถึงพบว่าเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว เนื้อที่ 25 ตารางวา และบริเวณประตูบ้านมีกุญแจล็อกอยู่ ดีเอสไอจึงประสานให้ญาติเจ้าของบ้านนำกุญแจมาไขเปิดประตูเข้าไปและร่วมเป็นพยานในการตรวจค้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้อายัดเครื่องคอมพิวเตอร์มาตรวจสอบ


สำหรับเจ้าของบ้านหลังดังกล่าวคือ นายสุวิชา ท่าค้อ อายุ 35 ปี ซึ่งได้หลบหนีไปกบดานอยู่กับญาติที่จังหวัดนครพนม ดีเอสไอ มอบหมายให้ พ.ต.ต. กล้าหาญ คล่องพยาบาล พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงส์มณี เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สำนักคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ออกติดตามจับกุมและสามารถจับกุมตัวได้ขณะเดินซื้อของอยู่ที่ตลาดภายในตัวอำเภอเมือง จ.นครพนม จึงควบคุมตัวไปสอบปากคำ โดยผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งนี้ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาเข้ามาสอบสวนที่กรุงเทพฯ ในเวลา 21.00 น. โดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์


รมว.ยธ.รับจับคนทำเว็บหมิ่นฯยาก แบ่งความผิด 3 ระดับ


ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเก็บตกจากเนชั่น ถึงการปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นเบื้องสูง และข่าวการแถลงข่าวการจับกุมผู้กระทำผิดว่า วันที่ 14 มกราคมจะไม่มีการแถลงข่าวใดๆ และไม่ได้ตั้งใจออกมาพูดเรื่องนี้ และไม่ทราบว่าทำไมถึงปล่อยให้เป็นข่าวแบบนี้ ทั้งที่ได้มีการกำชับกันไว้แล้ว


นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า แบ่งความผิดกรณีหมิ่นเบื้องสูงไว้ 3 ระดับ คือ ระดับแรก รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลงผิด เข้าใจผิดในข้อมูล ก็จะเป็นการว่ากล่าวตักเตือน ระดับ 2 คือ จงใจทำผิดโดยมีการถูกจ้างหรือเจตนาไม่ดีอย่างจริงจัง และระดับ 3 เป็นการตั้งใจทำอย่างเป็นกระบวนการ โดยมีวัตถุประสงค์ไม่ชอบ


"เรื่องนี้ไม่เหมือนในหลายประเทศ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นยิ่งกว่าสัญลักษณ์ เพราะเป็นสถาบันที่ทำให้ชาติไทยเป็นชาติไทย ได้ทุกวันนี้ ฉะนั้นจึงได้จัดความผิดไว้ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ ขณะที่ประเทศอื่นๆ จัดไว้ในหมวดหมิ่นประมาท เพราะสำหรับประเทศไทยเป็นการกระทำที่กระทบความมั่นคงอย่างรุนแรง" นายพีระพันธุ์ กล่าว


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมาได้ปิดเว็บไซต์ไปกว่า 2,000 เว็บ แต่การจับกุมคนทำเว็บไซต์ สามารถทำได้ยาก เนื่องจากกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ได้ระบุความผิดไว้โดยเฉพาะและมีหลายจุดที่คลุมเครือ ต่อไปจึงต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าอีกซักระยะหนึ่ง เว็บหมิ่นเบื้องสูงจะลดน้อยหรือไม่มีเลย


 นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ขอฝากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเผยแพร่พระเกียรติยศของในหลวง ซึ่งเป็นข้อมูลจริง เพื่อให้คนไทยและชาวโลกได้รับรู้มากขึ้น


 


ICT ปิดอีก 400 url


วันที่ 15 ม.ค. นาย สือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า วันนี้ได้ขออำนาจจากรมว.ไอซีที ลงนามสั่งฟ้องและปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเพิ่มอีก 400 หน้าบนเว็บไซต์ (ยูอาร์แอล) โดยการสั่งปิดทำได้เฉพาะหน้าเว็บที่มีการแสดงความคิดเห็นไม่เหมาะสมเท่านั้น ไม่สามารถปิดได้ทั้งเว็บไซต์ และเพื่อให้การปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดภาระการทำงานของศาล จึงปรับแผนให้เจ้าหน้าที่ส่งคดีฟ้องศาลเร็วขึ้น


นายสือกล่าวอีกว่า  นอกจากนี้จะขอกำลังคนจากกองทัพบกมาเฝ้าระวัง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวง 24 ชั่วโมง พร้อมจะเร่งเปิดศูนย์เฝ้าระวัง และคุกคามภัยทางคอมพิวเตอร์ และศูนย์พิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ภายในเดือนนี้ โดยปีที่แล้วกระทรวงไอซีทีได้ส่งเรื่องต่อศาลเพื่อสั่งปิดหน้าเว็บไซต์ที่มี ข้อความหมิ่นสถาบันจำนวน 2,300 หน้าบนเว็บไซต์


40 ส.ว.ชงตั้งกรรมาธิการ สังคายนากม.ป้องสถาบัน


วานนี้ (15 ม.ค.) กลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ระบุช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีกฎหมายเกี่ยวข้องมากถึง 7 ฉบับ แต่การเอาผิดกับกลุ่มคนที่ละเมิดสถานบันยังเป็นไปได้ยาก จึงต้องศึกษาว่าติดขัดอะไร และจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร จี้นายกรัฐมนตรีให้นั่งฟังวันอภิปรายในสภา เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล


นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วย ส.ว. 23 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอญัตติให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ต่อประธานวุฒิสภา โดยระบุเหตุผลในการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญว่า รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์ให้ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และยังมีประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ. อีกไม่น้อยกว่า 7 ฉบับ ที่ป้องกันพิทักษ์มิให้ผู้ใดจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อพิจารณาโดยจำนวนแล้วนับว่ามีมากเพียงพอที่จะเป็นเครื่องมือในการพิทักษ์สถาบันให้มั่นคงปลอดภัยได้ แต่ปรากฏว่าระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมามีบุคคลบางกลุ่มเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท็จในลักษณะทำนองจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน ทั้งทางสิ่งพิมพ์ วิทยุชุมชน เว็บไซต์ในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น แต่การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทำได้ล่าช้า วุฒิสภาจึงต้องศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบัน เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เป็นไปตามเจตนารมณ์ และเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายให้สมบูรณ์มากขึ้นในอนาคต


นายคำนูณคาดว่าวุฒิสภาจะบรรจุญัตติดังกล่าวในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 23 ม.ค. นี้ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีมารับฟังในการประชุมวุฒิสภาด้วย เพราะเรื่องนี้เป็น 1 ในนโยบายสำคัญของรัฐบาล และคณะกรรมาธิการชุดนี้จะเป็นตัวช่วยรัฐบาลในการประเมินการบังคับใช้กฎหมาย 


ที่มา: โลกวันนี้,http://www.matichon.co.th, http://www.naewna.com, http://www.dailyworldtoday.com/hotnews.php?hotnews_id=8692

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net