Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รัฐนันท์ โสภโณดร เรื่องและภาพ


 


 


 



 



 



 



 



 


 


(1)


 


เมื่อครั้งยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ คราวใดที่แหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้ากว้างใหญ่ระยิบระยับไปด้วยดวงดาว เป็นการจ้องมองตามความเชื่อว่าอาจได้เห็นกระต่ายตำข้าวอยู่บนพระจันทร์ หากคืนไหนโชคดีอาจได้เห็นดาวตกที่คนเฒ่าคนแก่บอกว่าจะมีชีวิตเล็กๆ เกิดขึ้นใหม่ ดวงดาวที่มองเห็นจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการของวัยเด็ก


 


ครั้นเติบโตขึ้น ภาระหน้าที่มากมาย ทำให้ไม่มีเวลาแม้จะแหงนหน้ามองดาว เหมือนดังคราวที่ยังเล็ก หรืออาจด้วยแสงสีจากหลอดไฟนีออนที่ส่องสว่างสร้างความสนใจแก่วัตถุเบื้องหน้า มากกว่าท้องฟ้าเบื้องบน แต่จะด้วยข้ออ้างใด มันก็ทำให้จำแทบไม่ได้เลยว่าครั้งสุดท้ายที่ตั้งใจมองขึ้นฟ้า เพื่อดูความยิ่งใหญ่เหนือโลกใบน้อยนั้นนานเท่าใดมาแล้ว...


 


 


(2)


 


รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อกำลังมุ่งขึ้นสู่ "ดอยไตแลง" บริเวณรอยต่อเมืองปั่นกับเมืองโต๋นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ดอยแห่งนี้เป็นฐานที่ตั้งของกองบัญชาการสูงสุด กองทัพกู้ชาติ "ไทใหญ่" ห่างจากหมู่บ้านสุดท้ายของปางคาม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ราวๆ 5 กิโลเมตร เบื้องหน้าปรากฏด่านทหารไทยเป็นระยะ ตามภารกิจหน้าที่ในการพิทักษ์เขตแดนตามแผนที่ขวานทอง (ซึ่งก็สุดแสนคลุมเครือในสภาพธรรมชาติที่เป็นจริง) ถูกกำหนดขึ้นมาแบ่งแยกผู้คน (ที่มีอัตลักษณ์อย่างเดียวกัน) ออกจากกัน


 


เสียงเพลงต่างๆ ของแอ๊ด คาราบาวที่พูดถึงการกู้ชาติและความทุกข์ยากของชาวไทใหญ่แบบตรงไปตรงมา ในอัลบั้มที่ชื่อว่า "ไม่ต้องร้องไห้" ถูกเปิดซ้ำไปมา ขณะที่รถก็โยกเยกไปบนถนนดินสายเล็กที่ถูกตัดลัดเลาะป่าเขา คอยวัดใจทั้งคนขับ และผู้โดยสารอยู่แทบจะทุกนาที


 


เมื่อรถเดินทางมากว่าชั่วโมงเศษ ก็ถึงยังจุดหมายปลายทาง มองเห็นบ้านเรือนปลูกอย่างง่ายๆ ตามแนวสันเขา ผู้คนที่นี่วันนี้แต่งตัวด้วยชุดพื้นเมืองสีสันสดใส จูงลูกจูงหลานไปเที่ยวงาน "วันปีใหม่ไทใหญ่" [1] ที่จัดขึ้นบริเวณลานฝึกทหารขนาดย่อม ซึ่งช่วงนี้ถูกแทนที่ด้วยเวทีซึ่งถูกตกแต่งอย่างสวยงาม ฉากหลังของเวทีแสดงภาพวาดตัวการ์ตูนหลายหลากชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉานมาช้านาน ฝีมือออกแบบของเด็กนักเรียนจากโรงเรียนเด็กกำพร้าบนดอยไตแลงนั่นเอง ต่อหน้าอนุสาวรีย์ 2 ยอดนักรบของชาวไทใหญ่ คือ เจ้าเสือข่านฟ้ากับเจ้ากอนเจิง (หรือนายพลโมเฮง) ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาอีกด้านหนึ่งของเวที


 


การแสดงชุดแล้วชุดเล่า สะท้อนชัดว่าพวกเขาไม่ลืมที่จะสืบต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของบรรพบุรุษ แม้จะอยู่ในภาวะยากลำบากจากภัยสงครามเพียงใดก็ตาม ขณะที่บริเวณรอบๆ นั้นก็เต็มไปด้วยแผงขายอาหารพื้นถิ่น (เช่น ข้าวซอยไทใหญ่, ข้าวแรมฟืนทอด, ไข่อุ๊บ ฯลฯ) และขนมนำเข้าจากฝั่งไทย ผสมปนเปกันไป มองดูแล้วขายดีทุกแผง คืนนี้รอยยิ้มเคล้าเสียงหัวเราะปกคลุมทั่วทั้งดอย เป็นอีกห้วงเวลาอันน้อยนิดในขวบปีหนึ่งๆ ที่หลายร้อยหลายพันชีวิตบนดอยแห่งนี้พอจะคลายทุกข์ลงได้บ้าง


 


นาฬิกาบอกเวลา เมื่อเริ่มเข้าสู่วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 เสียงตะโกน "ใหม่สูงเมิงไต" ก็ดังขึ้นไม่ขาดสาย พร้อมเสียงปืน พลุ ประทัดกึกก้อง บรรยากาศคึกคักดำเนินไปท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บ อุณหภูมิลดลงต่ำเกือบ 10 องศาเซลเซียส


 


 


(3)


ก่อนการเดินทางคราวนี้ ผู้เขียน (และผู้ร่วมเดินทางทุกคน) หวังไว้ว่าจะมีโอกาสได้พบกับ "เจ้ายอดศึก" ที่คุ้นเคยเพียงชื่อจากชั้นเรียนระดับมหาวิทยาลัย และตามสื่อนอกกระแสหลัก ทว่าเมื่อมาถึงที่หมายปลายทางแล้วก็จึงทราบว่า "เจ้ายอดศึก" หรือที่คนที่นี่เรียกว่า "พ่อเฒ่า" ต้องเดินทางไปร่วมงานปีใหม่ที่ดอยสามสิบ บริเวณตรงข้ามเขต อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อีกหลายวันกว่าจะกลับ ดังนั้น เที่ยวนี้จึงได้ผู้กองกับพลทหารคนใกล้ชิดของ "พ่อเฒ่า" คอยต้อนรับ และดูแลพวกเราอย่างดีเป็นการชดเชย เราจึงได้เห็นทั้งค่ายทหาร โรงพยาบาล วัด โรงเรียน สถานีวิทยุ หมู่บ้านผู้อพยพ รีสอร์ท จุดชมวิว อยากเห็นตรงไหนแกก็จะเป็นธุระพาไปหมด


 


แม้นการเดินทางข้างต้นพึ่งพารถยนต์เป็นส่วนใหญ่ (สลับกับการเดินเท้าบ้าง) ภายใต้การเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ (มาก) เพราะในเขตปกครองซึ่งกินอาณาบริเวณประมาณ 2,000 - 3,000 ไร่ครอบคลุมดอยหลายสิบลูกแห่งนี้ เขาก็มีกฎหมายในแบบฉบับของตัวเอง "ที่นี่ห้ามไม่ให้ขับรถเร็วเกินกว่า 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง และถ้าใครขับรถชนสัตว์เลี้ยงก็จะต้องถูกปรับ หรือหากชนคนก็อาจติดคุกได้" ยิ่งไปกว่านั้น "การจะถ่ายรูปที่นี่ได้ก็จะต้องทำเรื่องขอบัตรอนุญาตก่อนด้วย" ผู้กองบอกเตือนล่วงหน้า


 


 


(4)


ถึงกระนั้น ท่ามกลางความงดงามของขุนเขาก็กลับซุกซ่อนเรื่องราวมากมายของเหล่าคนทุกข์จากทั่วสารทิศแผ่นดินฉาน ผู้ถูกกระทำย่ำยีและทารุณกรรมสารพัด ทั้งปล้นสะดม แย่งชิงทรัพย์สิน เผาไล่ที่ ฆ่าขมขืน ฯลฯ นับตั้งแต่รัฐบาลทหารพม่าเริ่ม "เบี้ยว" ข้อตกลงตามสัญญาปางโหลง [2] เป็นต้นมา


 


ยุทธศาสตร์ทางทหารของพม่าหลังจากนั้น กลับเน้นมุ่งทำลายล้างชาติพันธุ์อื่น (ซึ่งก็ล้วนมีภาษา ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ฯลฯ ของตัวเอง) ให้สูญสิ้น เพื่อครองความเป็นใหญ่แต่เพียงชนชาติเดียว ชาวไทใหญ่ ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มใหญ่ของรัฐฉานก็ไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน


 


ดอยไตแลงจึงเป็นทั้งฐานที่มั่นสำคัญทางการทหารของ SSA และเป็นทั้งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคนทุกข์เหล่านี้ ขณะที่ชาวไทใหญ่จำนวนมากก็พยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อเข้าสู่ฝั่งไทย มาเป็นลูกจ้างแรงงานราคาถูกในบ้านเรา ทั้งๆ ที่ระบบกฎหมายก็ยังคงเข้มงวดต่อ "คนไร้รัฐ / เด็กไร้สัญชาติ" เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเชื่อว่าก็ยังดีเสียกว่าอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นแน่


 


ที่ผ่านมา กองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ที่จับอาวุธต่อสู้ เรียกร้องเอกราชจากพม่าถูกจัดตั้งขึ้นมาแล้วหลายกลุ่ม กระทั่ง ณ เวลานี้เหลือเพียงแค่ "กองกำลังกู้ชาติไทใหญ่" (Shan State Army-SSA) [3] นำโดยพันเอกเจ้ายอดศึกเท่านั้นที่ยืนหยัดตั้งมั่นต่อสู้เพื่อทวงคืนอิสรภาพในอันที่จะปกครองตนเองคืนจากรัฐบาลทหารพม่า การต่อสู้สุดแสนเหนื่อยยากนี้ คนภายนอกอย่างเราอาจเห็นว่าความสำเร็จตามมุ่งหวังนั้นดูๆ แล้วไม่ง่ายเลย หากพม่ายังคงเป็นเผด็จการเข้มแข็งเช่นนี้ อย่างไรก็ดี สำหรับคนไทใหญ่เองนั้น การต่อสู้อย่างต่อเนื่องยาวนานยังจักดำเนินต่อไปอย่างไม่ท้อถอย ด้วยความหวังอันสูงสุด สู่อิสรภาพของรัฐฉาน ที่เต็มเปี่ยมอยู่ทุกลมหายใจ ในฐานะหนทางเดียวที่จะรักษาชีวิต และรากเหง้าของชนชาติให้คงอยู่สืบไป


 


 


(5)


พระอาทิตย์คล้อยลงหลบหลังภูเขาลูกใหญ่ ความมืดไล่แสงสุดท้ายของวันไปจดหมด    ดาวประจำเมืองเปล่งประกายสดใส ดวงดาวนับพันนับหมื่นที่ซ่อนตัวอยู่ต่างพร้อมใจกันเปล่งแสง จนทำให้สายตาต้องมองตามแสงระยิบระยับที่เริ่มตั้งแต่เส้นขอบฟ้า ไล่มองสูงขึ้นเรื่อยๆ พบความงดงามตระการจากธรรมชาติเบื้องบน ทางช้างเผือกปรากฏให้เห็นเป็นบุญตา และนี่คงเป็นเหตุผลที่ชาวไทใหญ่มีตำนานเกี่ยวกับดวงดาวมากมายที่เล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น แหงนหน้ามองดูดาวมาเนิ่นนาน มีเพียงสิ่งเดียวที่กำลังบดบังดวงดาวในค่ำคืนนี้ ก็คือ เปลือกตาที่ทำท่าจะปิดลงจากความเหนื่อยล้ามาตลอดหลายวันมานี้


 


สองคืน สามวัน บนดอยไตแลง สร้างความรู้สึกหนักอึ้งหัวใจ เมื่อหวนคิดถึงการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยความยากลำบากของมวลมิตรไทใหญ่ ขณะเดียวกันก็อิ่มเอมไปกับความหวังที่ลุกโชติอยู่ในดวงใจไทใหญ่ทุกดวง เหมือนกับที่ดวงดาวนับล้านบนฟากฟ้าส่องแสงมายังยอดดอยนี้ทุกค่ำคืน


 


 


เชิงอรรถ


[1] ชนชาติไทใหญ่เริ่มนับศักราชที่ 1 เมื่อก่อตั้งอาณาจักรแห่งนี้ และกำหนดวันขึ้นปีใหม่ของตัวเองใน วันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนอ้าย ของทุกปี ตามปฏิทินจันทรคติไทใหญ่ ซึ่งแต่ละปีก็จะไม่ตรงกัน เช่นปีที่ผ่านมาตรงกับวันที 10 ธันวาคม พ.ศ.2550 และในปี พ.ศ.2551 นี้ตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 เป็นการเริ่มต้นปีไทใหญ่ที่ 2103


ชมรูปภาพการจัดงานปีใหม่ไทใหญ่ 2103 ในท้องถิ่นต่างๆ ได้ทาง http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=khurtai&date=28-11-2008&group=2&gblog=8 และ http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=khurtai&date=02-12-2008&group=2&gblog=9


[2] สัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่สภาสหพันธรัฐเทือกเขา (ประกอบด้วยสมาชิก 18 คน จากไทใหญ่, คะฉิ่น, ฉิ่น ฝ่ายละ 6 คนเท่ากัน) ลงนามร่วมกับนายพลอองซาน ในวันที่12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการร่างรัฐธรรมนูญสหภาพพม่า จนทำให้บรรดารัฐต่างๆ ที่รวมกันในสหภาพพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปีถัดมา


ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหภาพพม่าได้มีเงื่อนไขให้รัฐของชนกลุ่มน้อยใช้ "สิทธิแยกตัว" (Right of Secession) ได้ต่อเมื่อหลัง 10 ปีที่ได้รับเอกราช หากรัฐของชนชาติต่างๆ ในสหภาพพม่าต้องการแยกตัวเป็นเอกราช


สรุปจาก "ครบรอบ 61 ปีวันชาติรัฐฉาน เจ้ายอดศึกลั่น "ถ้าไม่มี "วันชาติรัฐฉาน" ก็ไม่มี "สหภาพพม่า"" ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/11156


[3] สืบเนื่องมาจากการที่กองกำลังปฏิวัติแห่งรัฐฉาน (SURA) ของเจ้ากอนเจิง รวมกลุ่มกับกองกำลังไตรวมพลัง (SUA) ของขุนส่า เมื่อพ.ศ.2528 ก่อตั้งกองทัพเมิงไต (MTA) ซึ่งรุ่งเรืองอย่างมากในยุคขุนส่าเป็นผู้นำ ภายหลังเกิดการแยกตัวของกลุ่มต่างๆ ภายใน MTA และเมื่อขุนส่ายินยอมวางอาวุธเลิกสู้รบกับทหารพม่า กองกำลังของเจ้ายอดศึก เจ้ากานยอด และเจ้าเสือแท่น ตกลงที่จะรวมตัวกันจัดตั้งกองกำลังรัฐฉาน (SSA) สานต่ออุดมการณ์กู้ชาติไทใหญ่ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2539 และย้ายที่ตั้งมาอยู่บริเวณดอยไตแลงตั้งแต่ พ.ศ.2542 จนถึงปัจจุบัน


ที่มาของข้อมูล : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว และนวลแก้ว บูรพวัฒน์, ไทรบพม่า, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ openbooks, 2549).

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net