Skip to main content
sharethis

ผู้ว่าระนองลั่นจะไม่ให้ผู้ลี้ภัย "โรฮิงยา" เข้ามาใกล้ฝั่งหรือขึ้นฝั่งเป็นอันขาด แต่ทุกอย่าง "ตามหลักมนุษยธรรม" ด้านกำนันระนองเรียกประชุมลูกบ้านลาดตระเวนรับมือ "โรฮิงยา" ลี้ภัย เชื่อชาวโรฮิงยาไม่เคยมีประวัติทำร้ายคนไทย แต่การถูกกดดันให้จนตรอกอาจเป็นสิ่งเร้าให้เกิดการปล้นชาวบ้านเพื่อสะสมเสบียงใช้หลบหนีต่อไป นักสิทธิมนุษยชนกังวลการละเมิดสิทธิเข้าหารือ "มาร์ค"

ผู้ว่าฯ ระนองงัดแผนผลักดันไม่ให้ "โรฮิงยา" ขึ้นฝั่งเป็นอันขาด "ตามหลักมนุษยธรรม"

ด้านนายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าววานนี้ (19 ม.ค.) ว่า อาระกันเป็นกลุ่มบุคคล หรือชนชั้นคนพม่า ที่รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับ เนื่องจากในอดีตบรรพบุรุษของกลุ่มบุคคลเหล่านี้โดนอังกฤษกวาดต้อนมาจาก บังกลาเทศ เพื่อมาร่วมทำสงครามหรือใช้แรงงานให้กับอังกฤษต่อสู้กับรัฐบาลพม่า ทำให้เกิดปัญหาไม่ยอมรับจากรัฐบาลพม่า อีกทั้งชาวโรฮิงยาก็ไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นชาวพม่า จึงถูกกดดันตลอดเวลาจากรัฐบาลพม่า ทำให้ชาวอาระกันพยายามหาทางออกจากประเทศพม่า เพื่อหาที่ตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่ยอมรับ โดยเฉพาะประเทศที่นับถือศาสนาเดียวกันคือมุสลิม

ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวต่อว่า ระหว่างเดือนตุลาคม ถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นช่วงที่กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางมากที่สุด เนื่องจากปลอดจากมรสุม และพายุต่างๆ โดยเฉพาะปีนี้ ทราบว่ากลุ่มโรฮิงยานับหมื่นคนจะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย โดยเข้ามาขึ้นฝั่งที่ จ.ระนอง เพราะมีกลุ่มบุคคลนับถือศาสนาเดียวกันคอยช่วยเหลือ รวมถึงกลุ่มขบวนการค้าแรงงานเถื่อน ที่มีเครือข่ายคอยช่วยเหลืออีกทาง

 

ทั้งนี้ นายวันชาติ กล่าวด้วยว่า ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจเข้มแนวชายแดนตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าพบจะใช้มาตรการไม่เหมือนกับช่วงที่ผ่านมา ที่มีการลากจูงเรือเข้าฝั่ง เพราะจะกลายเป็นการเอื้อ ให้กลุ่มอาระกันเข้ามาในไทยได้ง่ายขึ้น ดังนั้นปีนี้จะใช้วิธีผลักดันไม่ให้เข้ามาใกล้ฝั่ง หรือขึ้นฝั่งได้เป็นอันขาด แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม

 

 

กำนันระนองเรียกประชุมลูกบ้านลาดตระเวนรับมือ "โรฮิงยา" ลี้ภัย

ด้านนายห้าสัน อาจหาญ กำนันตำบลม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง และประธานกลุ่มประมงชายฝั่ง อ.กะเปอร์ กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มประมงชายฝั่งซึ่งเป็นชาวประมงขนาดเล็ก รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเล มีความหวดกลัวกลุ่มโรฮิงยา หรืออาระกันเป็นอย่างมาก บางรายไม่กล้าออกทำการประมง หรือจะทำการประมงเฉพาะกลางวัน เนื่องจากมีข่าวลือว่าอาจมีกลุ่มอาระกันที่เล็ดรอดจากการจับกุม หรือสกัดกั้น จากเจ้าหน้าที่ จะเข้ามายึดเรือ และทำร้าย เพื่อนำทรัพย์สิน และอาหารเป็นเสบียงขึ้นฝั่งไทย

 

อย่างไรก็ตาม กำนันตำบลม่วงกลวง กล่าวเพิ่มว่า แม้ว่ากลุ่มโรฮิงยาจะไม่เคยมีประวัติทำร้ายคนไทย แต่การถูกกดดันให้จนตรอกก็อาจเป็นสิ่งเร้าให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องดิ้นรน เพื่อความอยู่รอด ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีปล้นเรือประมง หรือปล้นบ้านเรือนผู้คน เพื่อสะสมอาหาร หรือเสบียง สำหรับใช้หลบหนีต่อไป โดยทางหมู่บ้านของตนเอง ขณะนี้ได้เรียกประชุมลูกบ้าน พร้อมจัดตั้งกองกำลังชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านขึ้น และฝึก เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ ที่อาจเป็นภัยต่อชุมชน และได้จัดชุดลาดตระเวนทั้งบนบก และชายฝั่งทะเลตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

นักสิทธิมนุษยชนเข้าหารือ "มาร์ค" กังวลเรื่องละเมิดสิทธิผู้อพยพโรฮิงยา

ขณะที่วานนี้ (19 ม.ค.) คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ นายสมชาย หอมละออ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล นางอังคนา นีละไพจิตร กรรมการคณะกรรมการรณงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือปัญหาสิทธิมนุษยชน และการแก้ไขปัญหาภาคใต้ โดยใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง

 

จากนั้น นายสมชาย เปิดเผยว่า ได้มีการหารือเรื่องปัญหาภาคใต้ โดยนายกฯได้ให้ความสนใจ เกี่ยวกับรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลเรื่องการซ้อม และทรมาน ซึ่งรัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะลดการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ ยังได้หยิบยกประเด็นข่าวที่ทหารเรือไทยทารุณกรรมชาวโรฮิงยามาหารือ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังและจะรับไปดำเนินการซึ่งขณะนี้ได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยการตรวจสอบจะอยู่บนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรม

 

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสิทธิฯได้ตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลว่าจะสามารถเป็นแบบอย่างให้กับประเทศในแถบอาเซียนในการพัฒนาด้านประชาธิไตย และเสริมสร้างสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเคารพสิทธิ์ของประเทศเพื่อบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน จึงต้องทำให้เป็นตัวอย่างกับประเทศอื่นๆ

 

ด้านนายโคทม กล่าวถึงกรณีข่าวทหารเรือไทยทารุกรรมกลุ่มโรฮิงญา ว่า เรื่องนี้รัฐบาลต้องตรวจสอบให้ชัดเจน ส่วนที่ฝ่ายทหารตั้งข้อสังเกตว่าการอพยพเข้ามามีแต่ผู้ชาย อาจเป็นการเข้ามาเพื่อดำเนินการบางอย่างในประเทศไทย และอาจส่งผลกระทบด้านความมั่นคง ตนมองว่าเรื่องนี้คงไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง อย่างที่หลายฝ่ายกังวล แต่ถึงจะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงเจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติกับกลุ่มคนเหล่านั้นโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน และความปลอดภัยในชีวิตของบุคคลเหล่านั้น

 

 

เรียบเรียงจาก: ไทยรัฐ และโพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net