Skip to main content
sharethis

 

กิจกรรม "สมานฉันท์ผู้หญิงทำงานในภูมิภาคเอเชีย: นับถอยหลังสู่ 100 ปีวันสตรีสากล" อันเป็นกิจกรรมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของระบบเศรษฐกิจที่มีต่อผู้หญิงและสร้างความสมานฉันท์เพื่อผลักดันให้เกิดการเฉลิมฉลองครอบรอบ 100 ปี วันสตรีสากลในปี พ.ศ. 2554
เมือวันที่ 21 มกราคม 2551 ในวงสัมมนา "สมานฉันท์ผู้หญิงทำงานในภูมิภาคเอเชีย: นับถอยหลังสู่ 100 ปีวันสตรีสากล" ได้มีการพูดคุยเสวนาประเด็นสิทธิแรงงานหญิง
ในหัวข้อ "Women Workers at RMG Sector Bangladesh" ตัวแทนผู้ทำงานกับแรงงานหญิงในประเทศบังคลาเทศ ได้บรรยายถึงชีวิตของแรงงานหญิงในภาคสิ่งทอ โดยในเขตดากา (Dhaka) ทางภาคกลางของประเทศ และเขตชิตตากอง (Chittagong) ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมภาคสิ่งทอ มีโรงงานในสองเขตนี้ถึง 5,000 กว่าโรงงาน โดยอุตสาหกรรมภาคสิ่งทอคิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP ประเทศซึ่งแรงงานในภาคสิ่งทอของประเทศบังคลาเทศมีผู้หญิงถึงร้อยละ 80 และมาจากครอบครัวที่ยากจนของประเทศ
แต่ทั้งนี้แรงงานหญิงในภาคสิ่งทอของบังคลาเทศยังคงได้ค่าแรงน้อยกว่าแรงงานงานชาย, ไม่มีพลังในการรวมตัวต่อรอง และแทบที่จะไม่มีผู้หญิงเป็นแกนนำแรงงานหญิงต้องทำงานถึงวันละ 10 - 14 ชั่วโมงต่อวัน และทำงานตลอดทั้ง 7 วัน บางครั้งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์นายจ้างมักจะให้ออกจากงาน นอกจานี้ยังพบปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย
จากนั้นในหัวข้อ"Structure of Production & employment in TNC-led economic growth" จรรยา ยิ้มประเสริฐ จากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้บรรยายถึงโครงสร้างการทำงานของบริษัทข้ามชาติและสายพานการกดขี่ผู้หญิง
ทั้งนี้พบว่าปัญหาของผู้หญิงในยุคโลกาภิวัตน์ พบว่าการค้าขายข้ามประเทศ การถ่ายโอนเทคโนโลยี สิทธิแรงงาน การรับประกันว่าผู้หญิงจะมีงานทำ ข้อตกลงการค้าที่เป็นธรรมจะผลักดันให้ประเทศได้รับการพัฒนา โฉมหน้าของโลกาภิวัตน์ต่อมนุษย์นั้นน่าเกียจยิ่งนัก ดังนั้นมันจึงถูกซุกซ่อนเอาไว้ มันมีลักษณะโฉมหน้าแลดูอ่อนหวานเหมือนผู้หญิง แต่ถูกทำให้บิดเบี้ยว ความเป็นจริงของเรื่องราวนั้นได้ฉายภาพให้เห็นว่าผู้หญิงนับล้านคนในตลาดแรงงานถูกกดขี่ขูดรีด ถูกลดระดับ ได้รับค่าจ้างแสนต่ำ ทำงานด้วยชั่วโมงที่ยาวนานและถูกละเมิดสิทธิแรงงาน คนงานเหล่านี้ต้องทำงานหนักเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต ผลิตให้เพียงพอกับความต้องการที่จะส่งออก แต่พวกเขากลับถูกริดรอนสิทธิที่จะได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตรากำไรที่พวกเขาสร้างขึ้นมาอย่างไม่เป็นธรรม นี่คือโฉมหน้าที่แท้จริงของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งถูกสรรเสริญและส่งเสริมโดยนานาชาติ รัฐบาลประเทศต่างๆ ธนาคารโลกและองค์กรการเงินระหว่างประเทศ 
ลักษณะสำคัญที่หล่อเลี้ยงบริษัทข้ามชาติในด้านแรงงานก็คือ การมีตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งหมายถึง ระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วง การทำงานที่บ้าน รูปแบบการจ้างงานแบบนี้มีการอ้างว่าเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถสร้างสมดุลในชีวิตได้ คำอ้างนี้ล้วนหลอกลวง ลักษณะเหล่านี้มันทำให้ผู้หญิงอ่อนแอเพราะได้รับค่าจ้างแสนต่ำทำงานในชั่วโมงที่ยาวนานภายใต้การทำงานที่ไม่ปลอดภัยและปราศจากสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงงาน และไม่สามรถเจรจาต่อรองเพราะขาดโอกาสที่จะจัดตั้งสหภาพแงงานและต่อรองเรียกร้องร้องปกป้องสิทธิของพวกเขาเอง ผู้หญิงซึ่งทำงานหนักและได้ค่าจ้างต่ำ ถูกบีบกดลงไปอีกภายใต้ห่วงโซ่การผลิต พวกเขาทำงานภายใต้เงื่อนไขที่เลวร้าย มีการลวนลามทางเพศ และไม่ได้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังแรงงาน พวกเขาไม่มีอำนาจในการเจรจาต่อรองและต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง หรือผู้ประกอบการรับเหมาช่วงซึ่งมักจะขู่คนงานเสมอๆว่าพวกเขาจะตกงาน 
ในระดับชาติมีการสนับสนุนให้จ้างงานผู้หญิงและคนงานต่างชาติ โดยใช้รูปแบบการจ้างงานแบบระยะสั้น จ่ายค่าจ้างในระบบชิ้นและทำลายความสามารถของผู้หญิงที่จะจัดตั้ง รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้แลกสิทธิชนิดต่างๆของแรงงาน ลดการเก็บภาษีเพื่อแลกการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ สิ่งเหล่านี้ถูกสังเวยด้วยสิทธิและการจ้างงานที่มีศักดิ์ศรีของคนงานหญิง
0 0 0
จากนั้นที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยคณะตัวแทนกลุ่มผู้ทำงานกับแรงงานหญิงจากต่างประเทศได้เข้าเยี่ยมชม โดยมี อ.ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา เป็นคนนำชมและบรรยายถึงประวัติศาสตร์ของแรงงานไทยในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชีย มีการแสดงสิ่งของและบอกเล่าเรื่องราวของแรงงานตั้งแต่ในยุคศักดินาการใช้แรงงานบังคับไพร่-ทาสในสังคมไทยโบราณ, กุลีจีนซึ่งเป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรก, กรรมกรกับการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเกี่ยวกับบุคคลและประเด็นการต่อสู้ของแรงงานในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้กลุ่มตัวแทนแรงงานสตรีไทยได้แลกเปลี่ยนประเด็นสถานการณ์ในเมืองไทยแก่เพื่อนชาวต่างชาติ
เพลินพิศ ศรีสิริ ประธานกลุ่มบูรนาการแรงงานสตรี กล่าวว่ารู้สึกยินดีที่ได้ทำความรู้จักกับคนทำงานด้านแรงงานผู้หญิงในต่างประเทศที่ห่างไกลออกไปเพราะมีโอกาสน้อยมากที่จะได้พบกัน ทั้งนี้ที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านแรงงานหญิงในไทยยังมีการขับเคลื่อนน้อย เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วประเด็นแรงงานมักจะเคลื่อนกันทั้งกลุ่มก้อนแรงงานหญิงชาย แต่ทั้งนี้ก็ยังมีการเรียกร้องให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนในขบวนการแรงงานมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสภาแรงงาน หรือการเข้าไปร่วมเสนอข้อเสนอกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้หญิง
ในปีนี้กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีมุ่งเน้นไปที่การเยียวยาแรงงานหญิงที่ตกงาน ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยจะมีการสำรวจข้อมูลละนำเสนอข้อมูลแก่รัฐบาล เพื่อให้ผู้หญิงสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนี้
ธนพร วิจันทร์ จากกลุ่มบูรนาการแรงงานสตรีและคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย การเคลื่อนไหวที่ผ่านมามีการเรียกร้องในประเด็นต่างๆ เช่น ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และสิทธิในร่างกายของตนเอง ทั้งนี้ธนพรมองว่ากลุ่มแรงงานหญิงยังมีกิจกรรมเคลื่อนไหวไม่มากนัก เพียงแค่มีการเดินรณรงค์ในวันสำคัญต่างๆ เท่านั้น
อารยา แก้วประดับ จาก ICEM กล่าวว่าประเด็นที่สำคัญสำหรับแรงงานหญิงในไทยก็คือแรงงานหญิงที่เป็นแรงงานจ้างเหมาช่วง ที่เป็นแรงงานที่ไม่มีความมั่นคงในสังคมไทย นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจและแรงงานในภูมิภาคเอเชียควรช่วยกันขับเคลื่อนก็คือ การรณรงค์ให้รัฐบาลแต่ละประเทศลงนามในอนุสัญญา ILO 183 ที่ว่าด้วยสิทธิการลาคลอดของคนเป็นแม่ซึ่งสำคัญมากสำหรับแรงงานหญิงทั้งในระบบและแรงงานหญิงนอกระบบ นอกจากนี้ยังมีอนุสัญญา ILO 87 และอนุสัญญา ILO 98 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันรวมกลุ่มอีกด้วย ที่ควรร่วมกันกฎดันให้รัฐบาลในภูมิภาคเอเชีย
ศิริพร สุขสวัสดิ์ จากสหพันธ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่าขณะนี้ปัญหาที่พบของแรงงานหญิงก็คือเรื่องการเลิกจ้าง เช่นในกรณีของภาคตะวันออกมีการเลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพซึ่งเป็นผู้หญิง โดยนายจ้างอ้างเรื่องปัญหาเศรษฐกิจแต่นายจ้างกลับรับแรงงานชาวต่างชาติที่มีค่าแรงถูกเข้ามาแทนที่
0 0 0
จากนั้นในวันที่ 22 มกราคม 2552 ได้มีการพูดคุยกันในหัวข้อ Gender Mainstreaming and action plan around IWD 2001 and the future
โดยความเป็นมาของวันสตรีสากลนั้นเกิดจากการที่ในสังคมในอดีตนั้น สตรีมักเป็นฝ่ายที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของชาย ไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพอย่างที่ควรจะได้รับ การถูกกดขี่ข่มเหง และการเอารัดเอาเปรียบที่มีต่อสตรีในสังคมได้กลายเป็นแรงผลักดัน ให้สตรีส่วนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม และความเท่าเทียมกันในสังคม เรื่องราวแห่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธินี้สืบย้อนไป โดยเริ่มตั้งแต่  
ปี ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) บรรดาสตรีชาวปารีสพร้อมใจกันเดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซายส์ ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส พร้อมทั้งเรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพและเรียกร้องความคุ้มครองแก่สตรีขึ้นเป็นครั้งแรก 
ปี ค.ศ.1857 (พ.ศ.2400) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีจากโรงงานทอผ้าและตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ได้พากันเดินขบวนประท้วงในกรุงนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงาน และให้มีการรับรองสภาพการทำงานของสตรีที่ดียิ่งขึ้น โดยเรียกร้องเพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพ การทำงาน แต่แล้วเหตุการณ์ก็จบลงด้วการฆาตรกรรมโหดคนงานหญิง 119 คน โดยการเผาโรงเรียนในขณะที่คนงานหญิงกำลังประท้วงอยู่ 
ปี ค.ศ.1866 (พ.ศ.2409) การประชุมสมัชชาของบรรดาสมาคมผู้ใช้แรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 1 ได้มีการออกมติเกี่ยวกับการทำงาน อาชีพของสตรี รับว่าเป็นการท้าทายอย่างเปิดเผยต่อขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ในสมัยนั้นที่กำหนดให้สตรี ต้องอยู่แต่เฉพาะในบ้านเท่านั้น 
ปี ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1889 คลาร่า เซทกิ้น (Clare Zetkin) ได้แสดงสุนทรพจน์เป็นครั้งแรก เรื่องปัญหาของสตรีต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้ง
สภาคองเกรสสากล ครั้งที่ 2 ในกรุงปารีส โดยเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการทำงาน ให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็ก รวมทั้งยังได้ เรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติ และระดับสากลอีกด้วย นับเป็นเสียงเรียกร้องที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง 
ปี ค.ศ.1899 (พ.ศ.2442) ได้มีการจัดประชุมกลุ่มสตรีผู้ต่อต้านสงครามขึ้นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งมีการประชุมดังกล่าว นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น ของขบวนการต่อต้านสงครามที่พัฒนา และเติบโตขึ้นมากในช่วงศตวรรษที่ 20 
ปี ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบกดขี่ ขูดรีด ทารุณจากนายจ้าง ที่เห็นผลผลิต สำคัญ กว่าชีวิตคน ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ คลาร่า เซทกิ้น โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงาน จากวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมงพร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการ เรียกร้อง ครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก และส่งผลให้วิถีการแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน 
ปี ค.ศ.1910 (พ.ศ.2453) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ได้มีการประชุมครั้งที่ 2 ของสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ (International Conference of Socialist Women) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมี คลาร่า เซทกิ้น นักสังคมนิยมจากเยอรมัน ในฐานะที่เป็นเลขาธิการ ของสตรีสากล ได้เสนอให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของคนงานหญิงโรงงานทอผ้าในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่การต่อสู้จบลงด้วยการฆาตกรรมหมู่ และก็ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์ จากผู้เข้าร่วมการประชุมนับร้อย จากองค์กรต่าง ๆ 17 ประเทศ อันประกอบด้วยออสเตรเลีย เดนมาร์ก เยอรมัน และสวิสเซอร์แลนด์ มีประชาชนชายหญิงมากกว่า 1 ล้านคนเข้าร่วมชุมนุม มีการเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่มเติม จากการเรียกร้องสิทธิ ในการทำงาน การเข้ารับการอบรมวิชาชีพ และการให้ยุติการแบ่งแยกในการทำงาน 
ปี ค.ศ.1911 (พ.ศ.2454) มีการจัดงานวัดสตรีสากลเพิ่มขึ้น ในประเทศฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ และสวีเดน 
ปี ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) มีการจัดชุมนุมเนื่องในวันสตรีสากลขึ้นในรัสเซียเป็นครั้งแรก ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก แม้ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางก็ตาม 
ปี ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) วันสตรีสากลได้จัดขึ้น โดยได้เชิดชูคำขวัญของขบวนการสันติภาพ ทั้งนี้เพื่อต่อต้านสงครามที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในยุโรป หลังจากนั้น เป็นต้นมา การฉลองวันสตรีสากลก็ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สตรีในทวีปต่าง ๆ ทั้งแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาต่างก็ร่วมมือ กันต่อสู้ เพื่อสิทธิเท่าเทียมกัน เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งร่วมกันผลักดันให้มีการตระหนัก ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ของสตรีอย่างสมบูรณ์ 
ปี ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) องค์การสหประชาชาติได้เห็นความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วม โดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ได้มีมติที่ 32/142 ในการเชิญชวน ให้ทุกประเทศทั่วโลก กำหนดให้วันหนึ่งวันใดเป็นวันฉลองแห่งชาติ ว่าด้วยสิทธิสตรีและสันติภาพสากล โดยทั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณี และสภาพทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ ซึ่งหลายประเทศส่วนใหญ่ได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล (International Women's Day)
จากนั้นในช่วงท้ายผู้เข้าร่วมเสวนามีข้อสรุปร่วมกันที่จะมีการผลักดันวาระครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล 2011 ซึ่งจะมีการร่วมรณรงค์กันทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net