บันทึกอันดามัน : เช่าที่ "เกาะอาดัง" บทเรียนจากนโยบายดูแลที่ดินไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มองต่างมุม "อาดังรีสอร์ท" ทับที่อุทยาน หัวหน้าอุทยานค้าน อดีต ส.ส.ปชป.อุ้ม เพราะเสียประโยชน์มหาศาลแก่นักลงทุน

สมยศ โต๊ะหลัง

 

 

จากสาเหตุกรมธนารักษ์มีที่ดินทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ในพื้นที่เกาะอาดัง จังหวัดสตูล และได้ใช้กฎระเบียบ ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ในที่ราชพัสดุ พ.ศ.2547 ให้บริษัท อาดังรีสอร์ท จำกัด เช่าที่ดินสร้างรีสอร์ทหรูบนเกาะอาดัง เนื้อที่ 5 ไร่ 11 ตารางวา ในราคาค่าเช่าเดือนละหนึ่งหมื่นบาทเศษระยะเวลา 25 ปี

 

โดยมีประธานหอการค้าจังหวัดสตูล เป็นหนึ่งในสองกรรมการบริษัท จนมีการก่อสร้างไปแล้วกว่าร้อยละ 70 ก่อให้เกิดความเห็นที่แตกต่างระหว่าง 2 หน่วยงานคืออุทยานฯกับกรมธนารักษ์

 

กรณีดังกล่าว เป็นผลให้นายไพศาล กุลวรัยรัตน์ รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติและพันธ์พืชมีคำสั่งย้ายนายนัฐพล รัตนพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ถูกโยกย้ายกะทันหันก่อนที่ผู้ออกคำสั่งจะเกษียนอายุหลังจากนั้นไม่กี่วัน

 

จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนตุลาคมปี 51 ที่ผ่านมาคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยการกระทำดังกล่าวเป็นการให้เช่าดังกล่าวผิดกฎหมาย เนื่องจากที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าว ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา การใช้ประโยชน์ดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืชก่อน

 

ทั้งที่ปรากฏว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตาคัดค้าน

 

เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีการมีคำวินิจฉัย เช่นนั้น นายนัฐพล รัตนพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จึงได้แจ้งความดำเนินคดี กับบริษัท อาดังรีสอร์ท จำกัด เจ้าของรีสอร์ทหรูแห่งนี้ พร้อมกับ "ได้ลงนามในคำสั่งรื้อถอนสิ่งก่อสร้างในที่ราชพัสดุ แปลงดังกล่าวภายใน 30 วัน หากเจ้าของสิ่งก่อสร้างยังไม่รื้อถอนเจ้าหน้าที่จะไปรื้อถอนเองและจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเจ้าของสิ่งก่อสร้างต่อไปหลังจากย้ายกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมอีกครั้ง

 

"เคยถูกขู่ไม่ให้ยุ่งกับเรื่องนี้ แต่หากเกาะอาดังได้รับอนุญาตให้มีการก่อสร้างต่อไปให้กับเอกชน ยังมีที่ราชพัสดุอีกหลายเกาะที่รอลุ้นอยู่" นายนัฐพล กล่าว

 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากคดีนี้ มีหน่วยงานรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นั่นคือ กรมธนารักษ์ โดยธนารักษ์พื้นที่สตูล ซึ่งดูแลที่ดินราชพัสดุ เป็นผู้ให้เช่าในที่ดินแปลงดังกล่าวแก่บริษัท อาดังรีสอร์ท จำกัดนั้น ก็จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปราการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ดำเนินคดีด้วยว่า เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติด้วยมิชอบด้วยกฎหมายด้วยหรือไม่

 

ตอนนี้ คดีนี้ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนที่มีนายนฤนารถ สุภัทรประทีป นายอำเภอเมืองสตูล เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน

 

ขณะเดียวกัน กรณีนี้ทำให้ ทำให้นายธานินทร์ ใจสมุทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ออกมาตอบโต้กรมอุทยานแห่งชาติฯ อย่างเผ็ดร้อน โดยให้เหตุผลว่ากรณีนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรของรัฐด้วยกันเอง แต่กลับสร้างผลเสียหายให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะโครงการนี้นักลงทุนได้ทำสัญญาร่วมการงานกับรัฐอย่างถูกต้อง มีการเปิดประมูลอย่างเปิดเผย

 

"นักธุรกิจสตูลโดนรังแกจากภาครัฐ บริษัทเข้ามาประมูลอย่างถูกต้อง ผมเองได้ลงไปดูพื้นที่แล้วไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด และขอให้ชะลอการรื้อถอนรีสอร์ท ให้บริษัทก่อสร้างต่อไปจนเสร็จเรียบร้อย เพราะนักลงทุนได้ลงทุนไปแล้ว"

 

"เป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้นที่อ้างว่ากรมอุทยานฯ ไม่เคยรับรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะหัวหน้าอุทยานฯ คนก่อนก็ได้เข้าร่วมเจรจาต่อรองราคาค่าเช่าจาก 3.5 ล้าน เป็น 5.3 ล้านบาท เมื่อเป็นเช่นนี้ กรมอุทยานแห่งชาติกับกรมธนารักษ์จะต้องรีบเจรจากันเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม ส่วนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เป็นแค่ความเห็นหนึ่ง อย่าลืมว่าหน่วยงานนี้เป็นเพียงที่ปรึกษากฎหมายของรัฐ ไม่ใช่ศาลสถิตยุติธรรมที่จะตัดสินได้ว่าใครผิดใครถูก หลายเรื่องมาแล้วที่กฤษฎีกาตีความออกมาอย่างหนึ่ง แต่ศาลได้ตัดสินไปอีกอย่างหนึ่ง"

 

นายธานินท์กล่าวอีกว่า ถ้ากรมอุทยานฯ คิดจะเข้าไปรื้อถอนจริงๆ ชาวสตูลคงไม่ยอมแน่ "ผมขอท้าเลยว่ากล้าเข้าไปรื้อไหม อย่าลืมนะว่าชาวสตูลเคยบุกไปเผาอุทยานแห่งชาติทะเลบันมาแล้วครั้งหนึ่ง"

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดแม้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ได้ยืดเวลาออกไปอีก 30 วัน นับจากวันที่ 10 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา โดยอยู่ระหว่างการแจ้งเตือนให้เจ้าของรีสอร์ทหรูแห่งนี้รีบรื้อถอนรีสอร์ทหรูหลายสิบล้านแห่งนี้เอง ก่อนถึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่รื้อถอนเองก็ตาม

 

แต่ก็เชื่อว่า การยื่นคำร้องของบริษัท อาดังรีสอร์ท จำกัด เจ้าของรีสอร์ทแห่งนี้ต่อศาลปกครองสงขลา เพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระหว่างรอผลการอุทธรณ์คำสั่งรื้อถอนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืชนั้น ก็อาจได้รับความเห็นใจจากศาล

 

กรณีนี้ ทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างน้อย 3 เหตุการณ์

 

เหตุการณ์แรก คือ นึกถึงพี่น้องประชาชนยากจนที่หาเช้ากินค่ำที่มีที่ดินที่ที่ถูกขีดเส้นให้อยู่ในเขตอุทยานหลายๆ พื้นที่ ให้เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง เช่น การเข้าไปจับกุมราษฎรและทำลายอาสินในพื้นที่บ้านคลองทรายดินแดงน้อย จังหวัดกระบี่ เครือข่ายป่ารักเทือกเขาบรรทัด ที่ถูกห้ามโค่นต้นยางที่หมดอายุเพื่อปลูกใหม่ การทำลายอาสินและการจับกุมคนเฒ่าคนแก่เจ้าของสวนเรียกค่าปรับหลายล้านบาท จนชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรมตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา

 

เหตุการณ์ที่สอง คือ หลังจากโรงแรมอมารี ตรัง บีช รีสอร์ท จำกัด มีการก่อสร้างบริเวณชายหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง ซึ่งห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมแค่ไม่กี่ร้อยเมตร มีการร้องเรียนว่าออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ หลังจากโรงแรมสร้างเสร็จนักการเมืองท้องถิ่นก็เข้าไปอุ้มและให้โรงแรมเช่าที่ดินเพียงเพราะเหตุผลการลงทุนหลายร้อยล้านบาท

 

เหตุการณ์สุดท้าย คือกลางปี 2551 นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยนายสมัคร สุนทรเวศ นายกรัฐมนตรี มีความพยายามออกกฎหมายให้เอกชนเช่าที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ได้เสนอนโยบายเปิดให้เช่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้ง 10 แห่ง นำร่องให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่จัดบริการ

 

ประกอบด้วย 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง 3.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 4.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 5.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 6.อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 7.อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 8.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 9.อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 10.อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก

 

โดยจะให้เข้ามาดำเนินการโรงแรมและที่พักในเขตพื้นที่บริการเป็นระยะเวลา 5 - 30 ปี รวมทั้งให้บริการการท่องเที่ยว ซึ่งอ้างว่าต้องการความเป็นมืออาชีพมาบริหาร และทางกรมอุทยานแห่งชาติ ได้กำหนดราคาค่าเช่าพื้นที่เพื่อบริการไว้ตารางเมตรละ 30 บาท หรือไร่ละ 4.8 หมื่นบาทต่อเดือน

 

แสงสว่างของการแก้ไขปัญหามาจากข้าราชการที่เป็นธรรม

 

แนวคิดระดับนโยบายของการจัดการทรัพยากร ที่ไม่ให้ความสำคัญกับคนยากไร้ที่ไม่มีแม้กระทั่งที่ดินจะซุกหัวนอนต้องถูกไล่ต้อน ศาลพิพากษาให้เสียค่าปรับหลายล้านบาทตลอดแนวเทือกเขาบรรทัด และประเคนที่สาธารณะเหล่านี้ให้กับนายทุนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์

 

เมื่อมีคนเป็นระดับหัวหน้าในหน่วยงานระดับหน่วยที่มีใจที่เป็นธรรมพร้อมที่จะปกป้องที่ดินของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ยอมก้มหน้าให้กับกลุ่มทุนที่ต้องการเข้ามากอบโกยเหมือนหน่วยงานอีกหลายๆ หน่วยงานต้องปะทะกับแรงเสียดทานมากมายทั้งกับนายทุนและนักการเมืองท้องถิ่นที่คอยนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มนายทุนที่ทำผิดกฎหมายเพียงเพราะต้องการกอบโกยผลกำไรจากการท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด

 

ปลายปี 2551 หลังพรรคประชาธิปัตย์กลืนน้ำลายพรรคของตัวเองร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเก่าจัดตั้งรัฐบาลโดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยการลงแรงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

คงเป็นงานหนักของเจ้าหน้าที่ปกป้องทรัพยากรอย่างนายนัฐพล รัตนพันธ์ หัวหน้าอุทยานตะรุเตา จะทนแรงเสียดทานจากพลังการเมืองที่มีความสำพันธ์เชื่อมโยงกันไม่ว่าพรรคใหญ่ระดับชาติของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยหรือนักการเมืองระดับท้องถิ่น เรื่องของผลประโยชน์ ไม่มีคำว่าพรรคของเขาหรือพรรคของใคร

 

ขอให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ปกป้องทรัพยากรของชาติได้ยุติแนวความคิดเอาทรัพย์สมบัติของชาติให้นายทุนไปค้ากำไรอีกเลย....

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท