Skip to main content
sharethis

สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์
โลคัลทอล์ค


ตลอดระยะกว่าครึ่งปีมานี้ กลุ่มรักษ์บ้านรักษ์เมือง และคณะทำงานชาวบ้านย่านวัดเกต-ฟ้าฮ่าม, ย่านนิมมานเหมินท์, ย่านซอยวัดอุโมงค์ได้มีการขับเคลื่อน และผลักดันให้มีการทบทวนแก้ไขการวางและจัดผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาเชียงใหม่ไปสู่การเป็นเมืองที่อยู่เย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต


การวางผังเมืองเป็นไปตามนโยบายจากส่วนกลาง คือกระทรวงมหาดไทย มีกฎกระทรวงใช้บังคับทุกจัดหวัด ผังเมืองที่เพิ่งหมดอายุไปเป็นฉบับปรังปรุงครั้งที่ 2 ตอนนี้อยู่ในช่วงดำเนินการปรับปรุงครั้งที่ 3 แท้จริงแล้ว การมีผังเมืองเป็นเรื่องดี ในประเทศที่เจริญแล้ว ต่างก็มีผังเมืองที่ดีควบคุมให้เมือง


ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดการทบทวนการแก้ไขการวางและจัดผังเมืองรวม เมืองเชียงใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ของประชาชนชาวเชียงใหม่ในครั้งนี้ เนื่องมาจากสาเหตุอย่างน้อย 4 ประการด้วยกัน คือ

1. สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรับนโยบายมาจากส่วนกลาง - กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มีโครงการจะขยายถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ จำนวน 35 สาย จะมีประชาชน (ทั้งในย่านที่อยู่อาศัย, ร้านค้า, โรงเรียน รวมไปถึงผู้ใช้รถใช้ถนน) ได้รับผลกระทบเป็นเรือนแสน


2.การขยายถนนจะทำให้มีรถสัญจรมากขึ้น ก่อมลพิษให้เมืองมากยิ่งขึ้น เมืองยิ่งแออัด คนยิ่งซื้อรถเพิ่ม อากาศเสีย เกิดก๊าซเรือนกระจกยิ่งซ้ำเติมปัญหาโลกร้อน คนเชียงใหม่ไม่ต้องการให้เดินตามรอบกรุงเทพมหานคร

3.การวางผังเมือง (โดยเฉพาะผังคมนาคมขนส่งหรือผังถนน) ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, ตามกฎหมายที่ต้องให้ผังเมืองจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนนั้น พบว่าที่ผ่านมายังไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึง และมีประชาชนส่วนน้อยเท่านั้นที่รับรู้เรื่องนี้ และ


4.การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ที่ไร้ทิศทาง มุ่งแต่สร้างถนน และส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว ทางการบิน และอื่นๆ นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาย ซึ่งตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาก็ยิ่งหนักหน่วงมากขึ้น หลายปัญหาการเป็นปัญหาเรื้อรังให้กับเชียงใหม่ เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาการการจราจรติดขัด ปัญหาขยะ และปัญหาตึกสูง เป็นต้น


การเติบโตของเมืองในเชียงใหม่ ทั้งมาจากผลพวงกระแสการพัฒนา การส่งเสริมการท่องเที่ยว การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่เชียงใหม่ - ศูนย์กลางหน่วยราชการ และศูนย์กลางทางการศึกษา สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ประชากรในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก


ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาเรียนต่อในเชียงใหม่ นักท่องเที่ยว คนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น มาหลงใหล มาอยู่ที่เชียงใหม่เป็นการถาวรก็มีจำนวนมาก รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ และพี่น้องจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไม่สามารถอยู่บ้านเกิดที่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ก็เข้ามาพำนักที่เชียงใหม่จำนวนหลายแสนคน


บริเวณหน้าและหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเฉพาะบริเวณซอยวัดอุโมงค์ มีการก่อสร้างตึกสูง ที่เป็นทั้งหอพักและเพื่อสำหรับค้าขายจำนวนหลายสิบอาคาร ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในช่วง 2-3 ปีมานี้, เขตย่านถนนนิมมานเหมินท์ ที่ก่อนเคยเป็นที่พักอาศัย สงบร่มรื่น บ้านเรือนจำนวนมากถูกเปลี่ยนมือ ไม่ก็ให้เช่า กลายเป็นธุรกิจร้านอาหาร คลับบาร์จำนวนหลายสิบแห่ง บัดนี้ เสียงเพลงดัง ขับกล่อมยามราตรี และการจราจรที่ติดขัดเกือบตลอดทั้งวัน กลายเป็นเรื่องปกติสามัญของชุมชนนิมมานเหมินท์ไปเสียแล้ว


แถบย่านวัดเกต ซึ่งเป็นย่านเดียวและย่านสุดท้ายที่เหลืออยู่ เป็นถนนสายศิลปวัฒนธรรม มีตึกอาคารที่ยังคงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยก่อน และยังมีวัด ศาสนสถานอยู่ด้วย แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ และตัวอาคารไปสู่การเป็นถนนสายท่องเที่ยว และคลับบาร์ยามค่ำคืนไปก็มากแล้ว กระนั้นชาววัดเกต ก็กำลังพยายามฟื้นฟูความเป็นชุมชน หลักการจัดการใช้ประโยชน์ที่ดินขึ้นใหม่ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกับการท่องเที่ยวได้อย่างสมดุลไปด้วย


การขยายถนน 35 สายในตัวเมืองเชียงใหม่นั้น กลุ่มรักษ์บ้านรักษ์เมือง ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนชาวเชียงใหม่จำนวนหนึ่ง รวมถึงนักวิชาการ นักกิจกรรม และแกนนำชุมชน ต่างเข้ารวมกลุ่มกัน จัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารด้านผังเมืองกันอย่างแข็งขัน


เพราะไม่ใช่เพียงแค่คนขับรถบนท้องถนนเท่านั้น แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ หมายรวมถึงผู้อยู่อาศัย พ่อค้าแม่ขายอีกจำนวนมาก แม้ว่าบ้านของคุณ จะไม่ถูกถนนตัดผ่านแต่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น ย่านตลาด ถ้าตัดถนนขนาดใหญ่แล้ว ก็จะเกิดมลพิษทางอากาศ รถวิ่งเร็ว คนไม่มาจ่ายตลาด ร้านขายตลาดก็ต้องออกมาคัดค้าน หรือการขยายถนนด้านหน้า ทำให้คนเลี่ยงเข้าไปจอดรถในซอย จนทำให้ซอยเล็กซอยน้อยขาดความสงบ รถติดในซอย เช่นในย่านนิมมานเหมินท์ ขณะนี้ แม้แต่คนกรุงเทพฯ และชาวต่างประเทศต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการขยายถนนในเชียงใหม่


ในขณะที่มีโครงการวางไว้ว่าจะขยายถนนเชียงใหม่ แต่ปรากฏว่าระบบการขนส่งมวลชน สำหรับเมืองใหญ่เช่นนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพ และยังไม่สามารถตอบสนอง หรือสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คน เส้นทางสำหรับจักรยาน ที่เตรียมไว้ กลายเป็นที่จอดรถ หรือไม่ก็ถูกรถใหญ่วิ่งทับเลน ขณะนี้ ความปลอดภัยของผู้เดินทาง และคนปั่นจักรยานยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไข


กลุ่มศึกษาเมืองและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยทางสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาและวิจัย ตลอดจนมีการสื่อสารไปยังหน่วยงานรัฐ และประชาชนทั่วไป มาโดยตลอด เกี่ยวกับเรื่องปัญหาสภาพอากาศ ปัญหาหมอกควัน ทั้งนี้พบว่า สถิติคนเชียงใหม่เป็นโรงมะเร็งปอดมากที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์


ในบทความของ รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง "เชียงใหม่อำลา พ..2551" เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมนี้ เขียนไว้ชัดเจนว่า ประเด็นในท้องถิ่นหลายประเด็นถูกละเลยจากสื่อกระแสหลักไปในช่วงวิกฤตทางการเมืองระดับประเทศที่ผ่านมา "การต่อสู้เพื่อสิทธิบางอย่าง พี่น้องย่านวัดเกตและทั่วเมืองชุมชนคัดค้านการขยายถนน... พี่น้องย่านถนนนิมมานเหมินท์และซอยวัดอุโมงค์เดือดร้อนกับอาคารสูง และร้านอาหาร-ดนตรีที่รุกอย่างต่อเนื่อง, พี่น้องชาวนาคัดค้านการรื้อฝายประวัติศาสตร์ 3 ฝ่าย เพราะมองว่ากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวต้องการล่องเรือ แต่ทำลายการเกษตร..."


"อีกไม่นาน เมืองกับประเทศนี้จะเป็นตัวตลกของโลกสมัยใหม่อีกครั้ง คือแต่งตัวทันสมัย อาหารทันสมัย อาคารสูงทันสมัย การโฆษณาทันสมัย ยวดยานทันสมัย แต่กลับไม่มีระบบขนส่งมวลชน รถติดหนึบ บ้านเมืองมีแต่ฝุ่นควัน ป้ายโฆษณาติดเลอะเทอะ เมืองมีกระถางดอกไม้ตามราวสะพาน ริมถนน แต่ไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงา ข้ามถนนไม่ได้ เพราะไม่มีรถคันไหนจอดให้ ทางม้าลายไม่มีรถหยุด ขับรถไม่สวมหมวกกันน็อค ดื่มแล้วขับ สถาบันการศึกษาก็เฝ้ากดขี่ข่มเหงน้องใหม่ เพื่อครอบงำทางความคิดและสร้างหุ่นยนต์รุ่นใหม่ และที่สำคัญ เป็นเมืองที่มุ่งขายวัฒนธรรม แต่ด้อยวัฒนธรรม" รศ.ดร.ธเนศวร์ นักวิชา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว


วาสนา ชินวรกรณ์ นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ เขียนลงบางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ต่อประเด็นการกำหนดผังเมืองของเมืองเชียงใหม่ด้วยว่า "คนเชียงใหม่ต้องการเมืองที่น่าอยู่ ไม่ผิดพลาดอย่างกรุงเทพฯ เมืองที่ให้คุณค่า ให้ความสำคัญกับคนมากกว่ารถยนต์"... เชียงใหม่ถูกทำให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงฮับการท่องเที่ยว มีทั้งไนท์ซาฟารี และสวนสัตว์กลางวัน พืชสวนโลก และยังมีการปล่อยโคมไฟตลอดทั้งปีอีกด้วย ในขณะที่แทบไม่มีใครถามคนท้องถิ่นเลยว่า "เมืองแบบไหน ที่พวกเขาอยากให้เป็น"


อย่างไรก็ตาม คนท้องถิ่น และคนรักเชียงใหม่หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มรักษ์บ้านรักษ์เมือง มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง กลุ่มชาวบ้านย่ายวัดเกต-ฟ้าฮ่าม ย่านนิมมานเหมินท์ และย่านซอยวัดอุโมงค์ ก็ลุกขึ้นมา พยายามผลักดันเรื่อง "เมืองเนิบช้า" อยู่เช่นกัน โดยมีการประชุมในชุมชนแต่ละแห่งหลายต่อหลายครั้ง เพื่อรวบรวมข้อเสนอ เสนอต่อทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. อบจ. และเทศบาล รวมไปถึงข้อเสนอต่อส่วนกลาง หรือระดับประเทศด้วย โดยมีข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรม และเป็นความต้องการที่แท้จริงของชุมชนท้องถิ่น


เช่น 1.ให้มีการแต่งตั้งนักวิชาการด้านผังเมือง และตัวแทนองค์กรประชาชนเป็นคณะกรรมการผังเมืองระดับชาติและระดับเมือง ในสัดส่วนเดียวกับธุรกิจและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

2.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดผังการใช้ที่ดินตั้งแต่ต้น โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองสำรวจข้อมูลในพื้นที่อย่างถูกต้องทุกด้านก่อนกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน มิใช่เพียงแค่นำความหนาแน่นของประชากรมากล่าวอ้าง เพื่อให้การใช้ที่ดินเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม


3.แก้ไขการกำหนดสีการใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมือง ให้สอดคล้องกับย่านของเมือง เช่น สีเทา หมายถึงสถาบันศาสนา, สีน้ำตาลอ่อน - อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยฯลฯ ให้มีการควบคุมความสูงของอาคาร และให้มีการก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมและสีที่กลมกลืนกับธรรมชาติ รวมไปถึงการจัดเส้นทางสัญจรในพื้นที่ การก่อสร้างของหอพัก หรืออาคารสถานที่ที่มีสถานที่จอดรถที่เหมาะสม เพียงพอ, การจัดโซนนิ่งประเภทของร้านค้า สถานที่เริงรมย์ ที่อยู่อาศัย วัดฯลฯ


4. ไม่เห็นด้วยกับการขยายถนน แต่ให้มีระบบขนส่งมวล ที่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางสำหรับคนเชียงใหม่ และผู้มาเยือนต่อไปในอนาคต และ 5.ให้มีการรักษาระบบพื้นที่เปิดโล่งสีเขียวสาธารณะที่มีอยู่เดิม และเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมสำหรับในอนาคต


ด้านแนวทางความคิดและหลักการปฏิบัติจาก ขบวนการอาหารจานเนิบ (Slow Food Movement) ที่ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมอาหารจานด่วน (fast food) ซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นที่อิตาลี เมื่อประมาณปี ค..1986 [ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 110,000 คน ใน 83 ประเทศทั่วโลก] ต่อมาได้พัฒนามาเป็นขบวนการ Slow City Movement หรือขบวนการหยุดขยายเมือง ในปี ค..1999 ทั้งนี้ขบวนการดังกล่าวเรียกตัวเองว่า ซิตต้าสโลว์ (Citta Slow) นับว่าเป็นทางเลือกที่น่าคิดอย่างยิ่งสำหรับเชียงใหม่ในเวลานี้


สุภาพ ดีรัตนา ได้เขียนเรื่อง เล่าถึง "เมืองออร์วิเอโต ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงโรมไปประมาณ 100 กิโลเมตร ว่าชาวเมืองนี้ ได้ตระหนักถึงมหันตภัยของระบบอุตสาหกรรมบริโภคนิยมที่รุกลามเข้าสู่ทุกอณูของชีวิต เช่น เรื่องอาหารการกินในชีวิตประจำวัน ให้เป็นเชิงพาณิชย์ ไม่เว้นแม้แต่ระบบการศึกษา ศาสนา และการเมือง ชาวเมืองนี้กำลังชะลอฝีเท้าเพื่อหันกลับมาใส่ใจกับรายละเอียดของการกินอยู่ และดำเนินชีวิตดังที่เคยเป็นมาในอดีต และการผ่อนฝีเท้ากลับสู่ชุมชนนี้เอง ได้พาให้เมืองเล็กๆ มีพลังจากภายในเป็นแรงเชื้อเชิญ คนจากทั่วโลกให้ไปเยี่ยมเยือนตามเงื่อนไขที่ชาวเมืองและผู้นำร่วมกันกำหนด และกระแสนี้กำลังเป็นที่ตอบรับกว้างขวางขึ้นอย่างช้าๆ แต่ทว่ายั่งยืน นี่คือการประกาศตัวเพื่อเดินสวนทางการพัฒนาของแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักข้างต้น" (อ้างใน กมล กมลตระกูล. ประชาชาติธุรกิจ 21 เมษายน พ.. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3994)


"ประเทศอิตาลีเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีการอนุรักษ์เมืองและร้านค้าชุมชน (ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายและผลิตของชำร่วย ร้านขนมปัง โรงแรมขนาดเล็ก) และปฏิสังขรณ์ โบราณสถานจนกลายเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวปีละเกือบ 40 ล้านคน และนำรายได้เข้าประเทศ ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านยูโร ซึ่งมากกว่า งบประมาณแผ่นดินไทยเสียอีก"


นอกจากนี้ ในคำประกาศของชิตต้าสโลว์ มีปฏิญญาอยู่ 55 ข้อ (กรรณิการ์ พรมเสาร์, 2549 หน้า 106-107) เป็นต้นว่า "ลดเสียงดังรบกวนและการจราจร เพิ่มพื้นที่สีเขียว และเขตคนเดิน สนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น ตลอดจนร้าค้า ตลาด และร้านอาหารที่ขายผลผลิตของเกษตรกรเหล่านั้น ส่งเสริมเทคโนโลยีที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์สุนทรียภาพ และวัฒนธรรมการครัว เสริมสร้างความมีน้ำใจต้อนรับขับสู้และมีไมตรีจิตมิตรภาพฯลฯ โดยหวังว่าการปฏิรูปปลีกย่อยเหล่านี้จะนำไปสู่การปฏิวัติวิธีคิดของผู้คนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในเมืองด้วย...สร้างบรรยากาศใหม่ มองชีวิตด้วยสายตาใหม่โดยสิ้นเชิง"


กระนั้น "การเป็นเมืองเนิบช้าไม่ได้หมายความหยุดทุกสิ่งทุกอย่างแล้วหมุนเข็มนาฬิกาถอยหลัง แต่เป็นการสร้างดุลยภาพระหว่างสมัยใหม่กับของดั้งเดิมที่สนับสนุนให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น" นั่นเอง นอกจากนี้ "ซิตต้าสโลว์ก็เป็นเหยี่อของความสำเร็จของตัวเองอยู่เหมือนกัน การให้ความหวังว่าที่นี่ใช้ชีวิตอย่างเนิบช้า ได้นำพานักท่องเที่ยวและคนนอกเข้ามา ซึ่งนำเอาความเร็ว ความอึกทึกครึกโครมและความวุ่นวายตามมาด้วย"


การจัดการเมืองแบบซิตต้าสโสว์ มีข้อสังเกตที่สำคัญคือ ต้องมีการจัดการทุกอย่าง อย่างเป็นระบบ ในทุกระบบ และด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ระดับชุมชน เมือง ภูมิภาค และระดับประเทศด้วย กล่าวคือ ตั้งแต่การวางผังเมือง ไปจนถึงการจัดการด้านเวลาของเมือง เวลาเปิดปิดของสำนักงาน หน่วยงานต่างๆ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล คลินิกฯลฯ การโซนนิ่งเมือง ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ มีเน้นทางที่เหมาะสมสำหรับรถยนต์ จักรยาน และคนเดินเท้า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้มากขึ้น ให้ร่มเงาฯลฯ


กอปรกับ การสนับสนุนผู้ประกอบการ และธุรกิจรายย่อยของท้องถิ่น มากกว่าการสนับสนุนบริษัทที่มีสาขาทั่วเมือง หรือบรรษัทต่างชาติ และสนับสนุนธุรกิจ หรือสินค้าที่มาจากท้องถิ่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ สิ่งนี้ยังช่วยให้เศรษฐกิจในท้องถิ่น มีเงินหมุนเวียนในระบบได้ดีขึ้น ก็เป็นหลักการที่สำคัญ ในประเทศเยอรมัน การรับเอาปรัชญาเมืองเนิบช้าไปใช้นั้น กลายเป็นทางเลือกในการพัฒนาเมืองที่แพร่หลายไปในหลายๆ เมืองของประเทศด้วย


แม้ว่า "ปรัชญาเมืองเนิบช้า" นี้ จะถูกแปรความ หรือเข้าใจผิดไปบ้าง ว่าเป็นการเดินถอยหลัง ความแปลกแยกของชุมชนที่ต้องการไปสู่เมืองเนิบช้า ทั้งนี้ทั้งนั้น ปรัชญาเมืองเนิบช้า ต้องการสร้างดุลยภาพ ตลอดจนความยั่งยืนของคนและเมืองเสียมากกว่า เมืองเนิบช้าไม่ได้ต่อต้านการมาตั้งของร้านอาหารจานด่วนอย่างแมคโดนัล หรือพิซซ่าฮัทเท่านั้น แต่มุ่งหวังให้ประชาชน เป็นผู้บริโภคที่มีจิตสำนึกที่จะเลือกซื้อ เลือกรับประทานที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่างหาก


สำหรับเชียงใหม่แล้ว แน่นอนว่าไม่มีใครต่อต้าน หรือปฏิเสธให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ หรือแม้แต่ห้ามทำอะไรเลยกับเมืองแห่งนี้ ทว่าทุกอย่าง ต้องมาจากการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ที่จะร่วมกันกำหนดทิศทางของเมือง อีกทั้งต้องศึกษาบทเรียน หรือตัวอย่างจากที่อื่นด้วย บนพื้นฐานของความยั่งยืน ความกินดีอยู่ดีของทุกคน ทุกชุมชนด้วย


ปีใหม่ ปี 2552 ที่กำลังจะมาถึงนี้ คนเชียงใหม่ รวมไปถึงคนไทยและคนต่างชาติ จะมีส่วนร่วมและช่วยกันกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ หรือจะดูแลเมืองอย่างไรต่อไป จะให้เป็นเมืองที่พัฒนาแบบไร้ทิศทาง ทันสมัยแต่ไม่ยั่งยืน หรือจะเป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว อากาศดี อนาคตเชียงใหม่อยู่ในมือของพวกเราทุกคน...


แหล่งข้อมูลประกอบการเขียน:




  • ขอขอบคุณ Ko We Kyaw ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่ายจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า



  • ข้อมูลจาก โครงการเมืองยั่งยืน สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่



  • เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตเนิบช้า, ผู้เขียน Carl Honore, ผู้แปล กรรณิการ์ พรมเสาร์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, พิมพ์ครั้งที่ 1, ตุลาคม 2549.



  • เชียงใหม่ปริทัศน์. ปีที่ 9 ฉบับที่ 103 ตุลาคม 2551



  • เชียงใหม่ปริทัศน์. ปีที่ 9 ฉบับที่ 104 พฤศจิกายน 2551



  • http://www.prachatai.com/05web/th/home/14966



  • http://www.planetizen.com/node/21630



  • http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2008q2/2008april21p2.htm



  • http://www.matogmer.no/slow_cities__citta_slow.htm



  • http://www.cittaslow.org.uk/



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net