Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย  คำหอม จินตนา


ที่มา : S-exchang online ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 


http://www.teenpath.net/sexchange/default.asp


 


"รับปรึกษาปัญหาคุมการกำเนิด โทร 0-2xxx-xxxx"


ครั้งแรกที่เห็นสติกเกอร์ที่มีข้อความดังกล่าวติดอยู่ด้านในของรถสองแถวก็ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดว่าเป็นการให้บริการปรึกษาเรื่องคุมกำเนิด แต่พอคิดตามคำที่ปรากฏในข้อความดีๆ แล้ว... ไม่น่าจะใช่


"คุมการกำเนิด" คำนี้ตีความในอีกแบบหนึ่ง จะได้ภาพกระบวนการที่ทำให้เด็กไม่คลอดออกมา ไม่ใช่ภาพ "คุมกำเนิด" ที่เป็นกระบวนการตัดตอนไม่ให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่จนปฏิสนธิ


พูดง่ายๆ "คุมการกำเนิด" ก็คือรับทำแท้งนั่นเอง


การทำแท้งของผู้ที่ตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมมักเกิดขึ้นอยู่เสมอ ส่วนใหญ่ที่ตกเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็มักจะเป็นวัยรุ่น เพราะสังคมเชื่อว่า วัยรุ่นไม่ควรตั้งท้องในขณะเรียน หรือถ้าจะให้ดีก็อย่ามีเพศสัมพันธ์เมื่ออยู่ในวัยเรียน แต่ไม่เพียงเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้นที่เลือกจะยุติการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งที่ใช้ชีวิตคู่ อาจจะเป็นแฟนหรือสามีภรรยา เมื่อตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมก็เลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์เช่นกัน (เพียงแต่อาจจะไม่ค่อยเป็นข่าว)


 


รูปจาก www.tnews.teenee.com


 


การยุติการตั้งครรภ์ที่ว่า...ไม่ใช่เดินเข้าไปที่โรงพยาบาลแล้วแจ้งกับแพทย์ว่าต้องการจะยุติการตั้งครรภ์ เพราะการทำแท้งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301-305 อย่างไรก็ตามกฎหมายได้กำหนดข้อยกเว้นให้แพทย์สามารถทำแท้งได้กรณีที่เป็นไปเพื่อสุขภาพของหญิงที่ตั้งครรภ์ เช่นป้องกันโรคทางพันธุกรรมหรือความพิการที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์กังวลอย่างมากจนเสียสุขภาพจิต และกรณีที่หญิงถูกข่มขืนกระทำชำเรา แต่ก็เป็นข้อยกเว้นที่มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก และต้องอาศัยการตีความของผู้พิพากษา เช่น กรณีที่หญิงตั้งครรภ์เป็นผู้วิกลจริตหรือปัญญาอ่อน การทำแท้งเพื่อการป้องกันไม่ให้เด็กที่เกิดมาวิกลจริตหรือปัญญาอ่อนนั้นไม่สามารถอ้างความจำเป็นเพื่อสุขภาพของหญิงนั้นได้ เป็นต้น


 


เมื่อเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ผู้ที่ต้องการทำแท้งและผู้ให้บริการทำแท้ง จึงมักต้อง "แอบซ่อน" บ้างก็ต้องถามจากคนที่พอจะรู้ บ้างก็อาศัยตามคำโฆษณาแบบสติกเกอร์ที่ยกมา บางคนต้องหาข้อมูลจากเว็บไซต์เอง และเว็บไซต์ก็เป็นแหล่งที่มีข้อมูลหลากหลายจริงๆ enter ปุ๊บ ข้อมูลขึ้นมาเป็นหน้าๆ


เรื่องยาสำหรับยุติการตั้งครรภ์ก็เช่นเดียวกัน หลายเว็บไซต์ให้ข้อมูลเรื่องนี้อย่างละเอียด ทั้งราคา ตัวยาที่เหมาะสมกับอายุครรภ์ วิธีการสั่งซื้อ ฯลฯ และยาที่ดูจะราคาแพง เป็นที่นิยมก็คือยาที่ชื่อ "ไซโตเทค" (CYTOTEC)


"ไซโตเทค" เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนว่า เป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร แต่มีคุณสมบัติในทางสูตินรีเวช เนื่องจากยาจะไปเพิ่มความแรงของการบีบตัวของมดลูกในเวลามีครรภ์ ทำให้เกิดการแท้งได้ แต่ก็มีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปวดมดลูก ส่วนอาการทางระบบทางเดินอาหารได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน หรือ ท้องเดิน ซึ่งจะพบได้ร้อยละ ๒๐ ยาสอดชนิดนี้เป็นยาที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป (http://cytotec.iscool.net/)


ไม่เฉพาะแต่ไซโตเทคเท่านั้น เว็บไซต์เหล่านี้ยังมียาอีกหลายชื่อ หลายยี่ห้อ ที่โฆษณาว่าเหมาะกับอายุครรภ์ที่ต่างกัน บางเว็บไซต์ระบุชื่อแพทย์ที่ให้คำปรึกษา ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาดีๆ ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะในเว็บไซต์ก็ระบุว่ามีใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ทำไมจึงมีขายตามเว็บไซต์ได้?


 


 


รูปจาก www.hollowayfoundation.org


 


ที่ขำๆ คือ บางเว็บไซต์ก็บลัฟเว็บไซต์อื่นว่าเป็นพวกมิจฉาชีพ ผู้อ่านอย่าได้หลงเชื่อซื้อยามาจากเว็บไซต์เหล่านั้นเด็ดขาด


นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อมูลที่อาจจะพบได้เมื่อค้นหาวิธีการยุติการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม ส่วน ความน่าเชื่อถือของข้อมูลถือเป็นภาระของผู้หญิงที่นำพาสุขภาพและชีวิตตัวเองเข้าไปเสี่ยง เพราะไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครได้ในยามคับขันของชีวิต


แต่หากถามว่า คนที่ท้องไม่พร้อมส่วนใหญ่อยากหาข้อมูลเรื่องนี้ด้วยตัวเองหรือเปล่า


คำตอบก็คือ "ไม่ใช่"


ณัฐยา บุญภักดี จากมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพ ได้แสดงความคิดเห็นในเวที "มาช่วยกันชี้โพรงให้กระรอกปลอดภัย" ซึ่งเป็นเวทีวิชาการโครงการเพศศึกษาเพื่อเยาวชน "ก้าวย่างอย่างเข้าใจ" ของภาคตะวันตก/ตะวันออก ที่จัดขึ้นที่ จ.ราชบุรีเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยกล่าวว่า สถานที่บริการทำแท้งควรเป็นโรงพยาบาลเพราะสูตินรีแพทย์ทุกคนได้เรียนเรื่องวิธีการทำแท้ง แต่ด้วยกฎหมายและวิธีคิดเรื่อง "บาป" ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถเป็นสถานที่ทำแท้งที่ปลอดภัยได้


อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง หากผู้หญิงคนหนึ่งเกิดตั้งท้องโดยไม่พร้อมขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องการคือ การได้พูดคุยกับคนที่เข้าใจ รับฟัง และไม่ตัดสินพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับทุกคนที่มีปัญหาก็อยากได้คุย ได้ระบาย ให้คนอื่นฟัง แต่คุณสมบัติของคนฟังก็ต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้ว่าจะไม่นำเรื่องที่ได้ฟังไปเล่าต่อ และรับฟังอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสินถูกผิดกับเรื่องราวที่ได้ฟัง


เรื่องการจัดการปัญหาท้องไม่พร้อมอาจจะเป็นเรื่องปลายเหตุ เพราะหากจัดการเรื่อง "เพศ" ได้ เรื่องท้องไม่พร้อมอาจจะไม่เกิดขึ้นเลย


เรื่องเพศที่ว่า ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องเพศสัมพันธ์หรือการป้องกัน แต่หมายรวมถึงการจัดการเรื่องความสัมพันธ์ การคุยกับคู่ การประเมินผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ และหาวิธีเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับผลดังกล่าว


ส่วนระดับสังคม อาจจะต้องคิดเรื่องการจัดการยุติการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมอย่างจริงจัง รอบด้าน และมองปัญหานี้ในมุมของ "ชีวิต" ไม่ใช่มองในมุมของศีลธรรม การแก้กฎหมายให้ผู้หญิงสามารถตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมได้ เป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยให้คนมีทางเลือก


การมีสถานที่พักพิงกรณีที่หญิงท้องไม่พร้อมไม่สะดวกที่จะอยู่ที่บ้าน การมีบริการดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ มีบริการ Day Care หรือ Child Care สำหรับเลี้ยงดูเด็กเวลากลางวันที่แม่ต้องออกไปทำงานหรือไปเรียน การมีสวัสดิการสำหรับแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกตามลำพัง หรือบริการยกบุตรบุญธรรมในกรณีที่คลอดแล้วไม่พร้อมที่จะดูแลเด็กต่อ ก็จะทำให้คนมีทางเลือกมากกว่าการทำแท้ง


บอกไม่ได้หรอกว่า หากมีบริการเหล่านี้เกิดขึ้นจริง เว็บไซต์ขายยาทำแท้ง หรือคลินิกทำแท้ง(เถื่อน) จะหมดไป แต่เชื่อได้ว่าคนจะมีทางเลือกมากขึ้น


เมื่อคนเรามีทางเลือก ก็คงไม่มีใครเลือกทางที่จะทำให้ตัวเองไม่ปลอดภัยหรอก จริงไหม?


 


 


เอกสารอ้างอิง


วิทูรย์ อึ้งประพันธ์. นิติเวชสาธกฉบับกฎหมายทำแท้ง ข้อโต้แย้งที่ยังไม่ยุติ. กรุงเทพฯ : เจนเดอร์เพรส, 2537.


สุวัฒน์ จันทรจำนง. การทำแท้งกับปัญหาทางการแพทย์และสังคม. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์, 2525.


http://cytotec.iscool.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net