Skip to main content
sharethis

โดย    ทรงวุฒิ พัฒแก้ว, ชัยพงศ์ เมืองด้วง


กลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนครศรีธรรมราช



ชาวบ้านเฮ ประกาศชัยชนะยกที่หนึ่งของขบวนการต่อสู้เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรและแผ่นดินเกิด จากนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นที่สิชล นครศรีธรรมราช หลังจาก   นายเอนก นาคะบุตร และคณะ ผู้รับการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ประกาศยกธงขาว ยุติการจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นและยุติบทบาท เนื่องจากประชาชนผนึกกำลัง คัดค้านและต่อต้านอย่างหนัก พร้อมคืนเงินให้การนิคมอุตสาหกรรมส่วนที่เหลือ และเสนอให้ผู้บริหาร กนอ.รับทราบทันที

เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๒ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำโดยนายเอนก นาคบุตร จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ณ ศาลาประชาคมประจำอำเภอสิชล โดยมีพี่น้องประชาชนเข้าร่วมล้นห้องประชุม และคาดว่าไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ คน


 


ทั้งนี้ ประชาชนผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนไม่ได้รับทราบและเชิญประชุมอย่างเป็นทางการจากการนิคมอุตสาหกรรมแต่ประการใด แต่รับทราบจากการเคลื่อนไหวของ "กลุ่มรักษ์ทุ่งปรัง" ที่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าไม่เอานิคมอุตสาหกรรมทุกกรณี โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เมื่อประชาชนรับทราบว่า จะมีเวทีที่จัดโดยการนิคมอุตสาหกรรมจึงกระจายข่าวต่อๆ กัน และมาประชุมจนแน่นห้องประชุม นอกจากนี้ยังมีประชาชนจากเครือข่ายต่างพื้นที่เข้ามาร่วมด้วยอย่างคับคั่ง


 


นายเอนก นาคะบุตร เริ่มด้วยการเปิดรับความคิดเห็นจากที่ประชุม และไม่ได้ชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่าผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบข้อมูลเรื่องการนิคมมาพอสมควรแล้ว และได้ขอเชิญให้ตัวแทนแต่ละหมู่บ้านขึ้นแสดงความคิดเห็น


 


อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประชุมได้โจมตีว่าการเริ่มต้นประชุมเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่จริงใจของการนิคมอุตสาหกรรม โดยระบุว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งทราบว่า ทางการนิคมอุตสาหกรรมได้จัดเตรียมคนของตัวเองไว้ขึ้นพูดในทุกหมู่บ้าน โดยบุคคลเหล่านั้นเป็นบุคคลที่การนิคมอุตสาหกรรมมอบหมายให้ดำเนินการจัดกระบวนการสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อมวลชนในพื้นที่ และได้จัดการศึกษาดูงานให้ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองมาแล้วครั้งหนึ่ง


 


 "การนิคมอุตสาหกรรมไม่เคยจริงใจในการให้ข้อมูล และไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาแก่ชาวบ้าน แอบทำอย่างเงียบๆ ในพื้นที่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคนอื่นๆ ไม่รับทราบจากการนิคมว่ามีเวทีนี้เกิดขึ้น แต่จุดยืนของคนที่นี่ชัดเจนว่าไม่เอานิคมอุตสาหกรรม" นายทวีผล พรหมคีรี ผู้ใหญ่บ้านต้นจันทร์ หมู่ที่ ๓ ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มรักษ์ทุ่งปรังไม่เอานิคมอุตสาหกรรมกล่าว


 


หลังจากนั้น นายมาโนชญ์ วิชัยกุล อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งปรัง กำนันตำบลทุ่งปรัง และตัวแทนของพื้นที่คนอื่นๆ ต่างกล่าวยืนยันว่า ไม่ได้รับทราบเรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอย่างเป็นทางการมาก่อน แต่ถึงทราบก็ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม


 


ทั้งนี้ในการสัมมนาดังกล่าวชาวบ้านได้ตั้งคำถามอย่างหนักเกี่ยวกับข้อมูลที่ไม่ยอมเปิดเผยกับชาวบ้าน ไม่มีเอกสารใดประกอบการรับฟังความเห็น ทำให้ชาวบ้านต้องติดตามข้อมูลกันเอง หลังจากนั้นตัวแทนของการนิคมได้ไปหยิบโปสเตอร์มัดใหญ่ที่เตรียมไว้ แต่ไม่ได้รับการติดตั้งไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ทำให้พี่น้องประชาชนในห้องประชุมโห่เสียงดังลั่น ด้วยความไม่พอใจ และบอกว่าไม่ต้องแสดงข้อมูลใดๆ อีกแล้ว เพราะชาวบ้านรับรู้ข้อมูลหมดแล้ว จากนั้นได้นำป้ายผ้า โปสเตอร์ ซึ่งชาวบ้านร่วมกันลงขันจัดทำขึ้น โดยมีใจความของป้ายผ้าส่วนหนึ่งว่า


 


 "เดินตามพ่อ อยู่อย่างพอเพียง" "หยุด!นิคมอุตสาหกรรม" "หยุด! ทำลายแหล่งอาหารทะเลของคนนคร" "มัสยิด กุโบร์ ที่ดินวะกัฟ ใครก็เอาไปไม่ได้" "ที่ดินของลูกหลาน ไม่ใช่ของนายทุน"


 


บรรยากาศในห้องประชุมเป็นไปค่อนข้างตึงเครียด และทางการนิคมอุตสาหกรรมพยายามสรุปเป็นระยะๆ แต่ชาวบ้านขอให้สรุปมติใหม่ เพียงข้อเดียว คือ "หยุดนิคมอุตสาหกรรม หยุดการศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ" และได้ยกมือสนับสนุนทั่วห้องประชุม ถือเป็นมติสุดท้ายอย่างเด็ดขาดของเวทีรับฟังความคิดเห็น


 


นาย เอนก นาคบุตร จึงประกาศว่า"ผมรับทราบมติของชาวบ้านแล้ว เพราะฉะนั้นผมยืนยันกับท่านว่า ผมจะหยุดภารกิจการเปิดเวทีทั้งหมดโดยสิ้นเชิง และจะรายงานกนอ. ให้รับทราบสถานการณ์ด้วยตัวเองต่อผู้บริหาร กนอ. ว่าวันนี้ไม่ใช่แต่พี่น้องตำบลทุ่งปรัง แต่พี่น้องตำบลอื่นก็มีความเห็นคล้ายกันที่ต้องการให้หยุดโครงการนี้" และกล่าวยืนยันอีกว่า จะคืนเงินส่วนที่เหลือเกือบล้านบาทที่ได้รับมาเพื่อจัดเวทีฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ๑๓ ตำบลให้แก่การนิคมอีกด้วย


 


อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็คงยังมีความกังวลว่าเสียงนี้จะไม่สะท้อนถึงรัฐบาล เนื่องจาก กนอ.จะสรุปข้อมูลให้ รมว.อุตสาหกรรม เสนอ ครม. ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อขออนุมัติงบประมาณนับแสนล้านบาทเพื่อลุยโครงการเซารืเทิร์นซีบอร์ดต่อ ในพื้นที่ อ.สิชล อ.ท่าศาลา และ อ.นาบอน แต่ทั้งนี้แกนนำกลุ่มรักษ์ทุ่งปรังและเครือข่าย ลั่น พร้อมสู้ต่อ ตายเป็นตาย เพื่อรักษาแผ่นดินเกิดสุดชีวิต


 


 "เราไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะมีผลกระทบเต็มๆ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งกำนันพื้นที่อื่นๆ ปรึกษากันแล้วก็ไม่เห็นด้วย และจะให้เราไปอยู่ที่ไหน เราอยู่อย่างลงตัวดีแล้ว" กำนันตำบลทุ่งปรังกล่าว


 


สำหรับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งปรังกล่าวว่า พร้อมยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชน เนื่องจากหวั่นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา "โครงการนี้เกิดขึ้นแล้ว จะเกิดผลเสียมากกว่าได้ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ต้องย้ายที่อยู่อาศัย ซึ่งเราเป็นพี่น้องกันทุกบ้าน ต้องย้ายไปอยู่ที่ไกลๆ จะย้ายไปอยู่ที่ไหน"


 


ด้าน "กลุ่มรักษ์ทุ่งปรัง" ซึ่งได้จัดเวทีสัญจรไปยังหมู่บ้านต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแก่ชาวบ้าน และได้แนวร่วมพร้อมทั้งแกนนำในทุกพื้นที่ เพื่อรณรงค์และแสดงจุดยืน ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม ขออยู่แบบเดิม แบบพอเพียง ขอเดินตามรอยพ่อหลวง "ผมไม่เชื่อโครงการนิคมอุตสาหกรรม ระบบเงินมันเยอะ ไม่เชื่อที่เขามาทำแบบนี้ เพราะชาวบ้านไม่เคยรับรู้ ต่อไปโครงการนี้จะมาเหนือเราอีก เราต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านต่อเนื่อง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net