Skip to main content
sharethis

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ รายงาน


 


เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้จัดเวทีสรุป ประเมินผลและวางแผนงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ปี 2552 โดยเชิญวิทยากร 2 ท่าน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ดร.ติรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ และ ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ มาวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจการเมืองไทยปี 2552


0 0 0


 
ดร.ติรณ พงศ์มฆพัฒน์
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


"ผมคิดว่าเมื่อระบบการเมืองดี ปัญหาเศรษฐกิจถึงจะแก้ได้ ผมเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะไม่ดำเนินนโยบายเพื่อประชาชนมากกว่า จะเป็นเพียงแค่สร้างความเชื่อมั่นเท่านั้น คือ การสร้างภาพผ่านการประชุม การแถลงข่าว แต่ไม่มีผลงานที่แท้จริงออกมา"


ดร.ติรณ  กล่าวว่าจากการประเมินส่วนตนพบว่า ประเทศไทยได้ผ่านยุควิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วตั้งแต่ปี 40- 41 ซึ่งทุกคนทราบดีว่าสถานการณ์ช่วงดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร สำหรับสถานการณ์ในปีนี้ พบว่ามีส่วนที่คล้ายกัน แต่ความต่างของวิกฤติได้ไปเริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศทางยุโรป ที่ประเทศเหล่านั้นมีการพัฒนาที่เร็วเกินไป การพัฒนาที่เร็วเกินไป นำมาซึ่งการก่อหนี้จำนวนมากมหาศาล และประชาชนเหล่านั้นไม่ทราบว่าราคาสินทรัพย์ที่ตนเองถือไว้มีค่าน้อยกว่าความเป็นจริง


นอกจากนั้น ยังพบว่าสถาบันการเงินไม่สามารถรองรับหนี้เสียที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้ มีหนี้เสียที่สถาบันการเงินแบกรับไว้ถึง 28-29 % การสูญเสียพบมากในภาคการเงิน สถาบันการเงินไม่ทำงาน หลายบริษัทต้องยุบเลิก ยุบสาขา ธนาคารหลายแห่งต้องล้มลง แต่เป็นความโชคดีที่ธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาได้เข้าไปช่วยเหลือ มีการทุ่มเงินจากภาครัฐลงไปช่วยเหลือจำนวนมาก


วิกฤติการสูญเสียครั้งนี้มีขนาดการสูญเสียเป็นสัดส่วน 3 เท่าของวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยประสบมาในอดีต คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 3.66 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 2 เท่าครึ่งของ GDP


อย่างไรก็ตามวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประสบ ยังไม่เทียบเท่ากับวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศญี่ปุ่นเมื่อตอนปี 2533-34 แต่กรณีของประเทศญี่ปุ่นมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆน้อย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ลงทุน มีการส่งออกและนำเข้าน้อย แต่เป็นการไปลงทุนในประเทศอื่นๆมากกว่า พอประเทศญี่ปุ่นมีปัญหา การแก้ปัญหา คือ การให้ประเทศอื่นๆเป็นผู้เข้าไปลงทุนแทน


นอกจากนั้นประเทศญี่ปุ่นยังเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว คิดว่าพอมีการลดดอกเบี้ย วิกฤติก็จะหมดไป แต่เอาเข้าจริงกลับพบว่าวิกฤติครั้งนี้เกิดต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี


กลับมามองที่ประเทศอเมริกาต่อ พบว่า อเมริกาเป็นประเทศผู้ก่อหนี้มาก เพราะตนเองเป็นประเทศลูกหนี้ พอลูกหนี้แย่ เจ้าหนี้ก็แย่ตามไปด้วย เช่น ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าต่างๆไปยังอเมริกา เกิดผลกระทบถ้วนหน้า เช่น ประเทศไทย หรือสิงค์โปร์ ติดลบถึง 5 %


"ผมคิดว่าวิกฤติครั้งนี้ในประเทศไทย น่าจะเกิดต่อเนื่องนาน 4-5 ปี วิกฤติครั้งนี้ยังต่างจากปี 2540-41 เพราะในปีนั้นภาคเกษตรยังสามารถรองรับวิกฤติครั้งนั้นได้อยู่ แต่วันนี้ภาคที่เจอวิกฤติ คือ ภาคส่งออก ภาคท่องเที่ยว คนงานที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออก ท่องเที่ยว จะถูกเลิกจ้างมาก แต่สถานการณ์ยังโชคดีอยู่ คือ ประเทศต่างๆยังไม่มีการปิดการค้าขายกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆในโลก เพราะไม่อย่างนั้นการปิดการค้าขายระหว่างประเทศต่างๆ จะนำมาสู่วิกฤติที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1930"


ทั้งนี้ ดร.ติรณ มองว่าแม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีการแก้ปัญหา โดยการนำเงินลงไปช่วยเหลือในภาคต่างๆ ประมาณ 1 แสนล้าน แต่ในส่วนตนแล้วคิดว่าเปรียบเหมือนกับการโยนขนมให้เด็กแบ่งกันกิน ซึ่งปัญหาคือว่า งบประมาณที่จัดสรรจากรัฐบาลได้ไปขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้เสนอโครงการเข้าไป คนนั้นก็จะได้รับงบประมาณเหล่านั้น ดูเหมือนกับว่ารัฐบาลกำลังแก้ปัญหา แต่จริงๆจะมีคนได้ประโยชน์เพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และมีผู้เสียประโยชน์อีกจำนวนมาก


ย้อนกลับมามองที่ขบวนการแรงงานไทย พบว่า วันนี้ขบวนการแรงงานไทยยังช้าอยู่ เมื่อเทียบกับนักการเมืองที่คิดและเสนอโครงการไปยังรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว


ฉะนั้นสิ่งสำคัญของพวกเราคือ ต้องรีบคิดสิ่งที่จะให้รัฐบาลช่วยเราว่า จะมีเรื่องอะไรบ้าง สร้างอำนาจต่อรองเพื่อให้เม็ดเงินมาแก้ปัญหา แม้ว่ารัฐบาลจะไม่รับข้อเสนอโครงการก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นความรู้ความคิดเพื่อพัฒนาตัวเราเอง


ขบวนการแรงงานต้องคิดวิธีในการดึงเม็ดเงินเข้ามา เช่น การยกระดับเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ พัฒนาให้กลายเป็นการประกันรายได้แทน เพื่อเป็นการดูแลค่าแรงที่มีความผันผวนมาก หรือโครงการอะไรที่ไปแก้ปัญหาผู้ใช้แรงงานในเมือง เช่น การศึกษาของลูกหลาน เป็นต้น


ตัวอย่างรูปธรรมที่เห็นได้ชัด คือ การแก้ปัญหาของประเทศสิงคโปร์ ที่มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาที่กลุ่มคนตกงานเป็นหลัก มีโครงการเพื่อช่วยเหลือคนตกงานโดยเฉพาะ ขบวนการแรงงานน่าจะคิดแนวทางนี้ ว่ารัฐบาลจะช่วยอะไรพวกเราได้บ้าง เพราะรัฐบาลก็ขาดโครงการที่จะทำเช่นเดียวกัน


"ผมพบว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาลปัจจุบัน หลักใหญ่ คือ การลดภาระประชาชน แต่ไม่สามารถทำให้คนงานมีอนาคตได้ เพราะเป็นเพียงการให้เงินแบบสงเคราะห์ จะสูญเปล่า ถ้าพูดแบบภาษามาร์กซ คือ การให้ปลา สู้ให้วิธีการจับปลาไม่ได้ เพราะรัฐบาลปัจจุบันยังเป็นการให้ปลาอยู่ เป็นการให้ของขวัญประจำปี มีความสุขใจ แต่คุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น"


หรือกรณีการประกันราคาข้าวก็เช่นเดียวกัน ก็ไม่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้น มีความสบายขึ้นแต่ไม่เปลี่ยนอนาคต ไม่เข้มแข็ง วิธีแก้ปัญหาด้านเกษตร คือ ต้องทำเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรที่ยากจนสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้


"ผมคิดว่าวิกฤติครั้งนี้ เป็นวิกฤติจริง แต่ไม่ใหญ่โตและน่ากลัวเหมือนที่เคยเกิดมาแล้วในปี 2540 ยุคฟองสบู่แตก เพราะความตกใจในวิกฤติครั้งนี้ไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศทางยุโรปแทน ฉะนั้นการมองอนาคตข้างหน้า ไม่มีใครรู้จริง เป็นเพียงการพยายามดูจุดต่างๆและอ่านออกมา นอกจากนั้นแล้วความต่างที่เกิดขึ้น คือ สถานการณ์ประเทศไทยตอนนี้ คือ ราคาสินค้าถูกลง น้ำมันถูกลง ค่าครองชีพที่ลดลง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยผู้บริโภคได้มากขึ้น ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ตกต่ำของประเทศไทยแค่เพียง 2 % ซึ่งถือว่ายังสามารถยอมรับได้อยู่"


แต่สิ่งที่น่าวิตกมากกว่า คือเศรษฐกิจประเทศไทยอาจจะโตแบบติดลบ 2 ดูได้จากตัวเลขการส่งออกที่ลดลงจำนวนมาก โดยเฉพาะในเดือน พ.ย. - ธค. ที่ตัวเลขตกกว่า 10 % และไม่ได้เกิดเพียงในประเทศไทย แต่เกิดทั่วเอเชีย นี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ แต่ต้องดูอีกสัก 2-3 เดือนต่อไป


ต่อมาในประเด็นเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร ตอนนี้สถานการณ์เกิดขึ้นจริงแล้ว เช่น ราคาน้ำสูงขึ้น น้ำสกปรกมากขึ้น น้ำดื่มได้น้อยลง รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องการกลับไปทำการเกษตร ก็ต้องเป็นระบบเกษตรที่แข่งกับคนอื่นได้ เพราะมิฉะนั้นจะล้มละลาย สิ่งที่ยังเป็นสินค้าส่งออกได้อยู่ในวันนี้ คือ ข้าว เพราะเกษตรกรในประเทศไทยยังใช้น้ำฟรีอยู่ แต่เรื่องนี้ไม่รู้จะยั่งยืนแค่ไหน เพราะประเทศไทยยังต้องแข่งขันกับประเทศพม่า ประเทศจีน ด้วยเช่นกัน 


ฉะนั้นการแสวงหาคำตอบที่สมบูรณ์จึงไม่มี การแก้ปัญหาประเทศไทยวันนี้ ต้องเป็นการแก้ปัญหาแบบมีเงื่อนไข มีโครงสร้างการผลิตที่ดี แต่ต้องไม่เอนไปทางใดทางหนึ่ง รวมถึงต้องเป็นอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรมที่ก่อมลพิษน้อย ไม่ทำลายทรัพยากร หรือการแก้ปัญหาผ่านภาคบริการก็เป็นทางออกที่ดี เพราะอาศัยทรัพยากรน้อย แต่ประเทศไทยต้องมีโครงสร้างการผลิตที่หลากหลาย สามารถรองรับประชาชนทุกประเภท ไม่ใช่เลือกด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น


"ผมคิดว่าเมื่อระบบการเมืองดี ปัญหาเศรษฐกิจถึงจะแก้ได้ ผมเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะไม่ดำเนินนโยบายเพื่อประชาชนมากกว่า จะเป็นเพียงแค่สร้างความเชื่อมั่นเท่านั้น คือ การสร้างภาพผ่านการประชุม การแถลงข่าว แต่ไม่มีผลงานที่แท้จริงออกมา" ดร.ติรณ กล่าวทิ้งท้าย


 


0 0 0


 



ดร. นฤมล ทัพจุมพล
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


"ในเรื่องหลักนิติธรรม เราพบปัญหาเรื่องการขาดหลักนิติธรรมและสภาวะสังคมที่ปราศจากนิติรัฐ เราขาดหลักนิติธรรม ไม่รู้จะใช้กฎหมายเรื่องใด เช่น คำวินิจฉัยของศาลแรงงาน บางครั้งมีการใช้ดุลยพินิจส่วนตนของผู้พิพากษา ไม่เห็นหลักการที่ใช้อย่างชัดเจน แม้เรามีอนุญาโตตุลาการ ก็ยังพบว่ามีการเข้าข้างนายจ้าง ข้อที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อศาลเป็นผู้เข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหาเอง ปัญหาที่ติดตามมา คือ เมื่อผู้พิพากษาขาดหลักการ ผู้ใช้แรงงานจะมีท่าทีอย่างไร ดิฉันคาดการณ์ว่า คดีที่ขึ้นสู่ศาลจะชนะได้ยากขึ้น"


ดร. นฤมล ได้นำเสนอเรื่องสถานการณ์ประชาธิปไตยไทยกับข้อเสนอต่อขบวนการภาคประชาชน ใน 3 ประเด็นหลัก คือ ปัญหาความขัดแย้งและการขาดดุลประชาธิปไตยใน สังคมไทย, ประชาธิปไตยระดับรากหญ้ากับบทบาทของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองภาคประชาชน และข้อเสนอประชาธิปไตยจากมุมมองของผู้ไร้อำนาจ


สถานการณ์แรงงานไม่สามารถแยกออกจากสถานการณ์การเมืองไทยได้ เราต่างเป็นผู้ผลิตสถานการณ์การเมืองไทยลักษณะนี้ร่วมกัน  ประชาธิปไตย คือ การจัดการเชิงสถาบันเพื่อให้ได้มาซึ่งการตัดสินใจทางการเมือง ทำให้รัฐบาลมองพวกเราจากฐานะพลเมืองกลายเป็นผู้บริโภคในตลาดการเมืองเท่านั้น


พบว่า สถานการณ์ของผู้ใช้แรงงานในทุกรัฐบาลไม่ค่อยแตกต่างกัน คะแนนเสียงในการเลือกตั้งของแรงงาน ไม่มีผลต่อนโยบายสาธารณะของรัฐ และการจัดการโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน รัฐบาลมีการแยกระหว่างผู้ใช้แรงงาน กับ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกจากกัน การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเปรียบเหมือนกับการจัดการของระบบตลาด ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าทางการเมือง โดยเปรียบเทียบระหว่างผลผลิตทางนโยบายที่แตกต่างกัน


มีการมองว่าถ้าสังคมไทยอยากเป็นประชาธิปไตยก็ต้องมาจากการเลือกตั้งเพียงเท่านั้น เพราะการเลือกตั้งเป็นหลักการสำคัญ สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นผู้นำที่จะสามารถเข้ามามีบทบาทในการควบคุมผู้นำ แต่ก็พบว่าประเด็นการเลือกตั้งนี้ ก็มีกลุ่มอื่นๆพูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมที่มากกว่าการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน


ปัญหาของสังคมไทย คือ เรามองประชาธิปไตยที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มต่างๆ คือ (1) มาจากการเลือกตั้ง ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องประชาธิปไตยทางตรง และการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน กับ (2) การเลือกตั้งไม่ใช่รูปแบบเดียวของระบบประชาธิปไตย ไม่ต้องเลือกตั้งก็สามารถทำได้ มองว่าความล้มเหลวของสถาบันประชาธิปไตยไทย ได้ทำให้เกิดความต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางตรงโดยภาคประชาชน การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบสำหรับประชาธิปไตยแบบที่พึงปรารถนา


ต่อมาเมื่อมามองที่สถาบันนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ พบว่ามีปัญหาการขาดดุลเชิงสถาบันประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน สถาบันเหล่านี้มีการปฏิรูปน้อยมาก มีความห่างไกลประชาชนและผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะในส่วนของสถาบันตุลาการ ดูได้จากกรณีศาลแรงงานจะเห็นได้ชัดว่ามีความขาดดุลเชิงสถาบัน นอกจากนั้นยังพบว่าประชาชนไม่มีส่วนในการปกครอง เช่น ในการออกกฎหมาย การตัดสินใจนโยบายสาธารณะ การบังคับใช้กฎหมายและการบริหารงานของรัฐ


ต่อมาในประเด็นของความหวาดกลัวของผู้มีอำนาจต่อการเมืองบนท้องถนน พบว่า มีการทำให้การเมืองบนท้องถนนถูกควบคุม ไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมหรือการมีส่วนร่วมในเชิงนโยบาย เพราะการเมืองบนท้องถนนเป็นกระบวนการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม เป็นวิธีการที่คนยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสสามารถปกป้อง และนำเสนอข้อเสนอเชิงผลประโยชน์ของตนเองได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมไทยมีปัญหาเรื่องการขาดสถาบันประชาธิปไตยแบบทางการ ที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ซึ่งรัฐบาลมักจะไม่ชอบใจ


สุดท้าย คือ ปัญหาการแยกพื้นที่การเมืองกับเศรษฐกิจออกจากกัน เช่น กรณีที่รัฐบาลมองว่านโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ กองทุนประกันสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง


ฉะนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยต้องทำให้เรื่องลักษณะนี้ให้กลายเป็นพื้นที่ทางการเมือง เป็นนโยบายสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น


ประชาธิปไตยระดับรากหญ้ากับบทบาทของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองภาคประชาชน


ประสบการณ์ของประชาธิปไตยรากหญ้า ย่อมขึ้นอยู่กับวิธีการที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมและอำนาจของประชาชนคนธรรมดา ซึ่งโดยปกติแล้วถูกกันออกไปจากพื้นที่ทางการเมือง กระบวนการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างความเสมอภาคทางอำนาจของชาวบ้านในการเจรจาต่อรองกับรัฐ ให้สาธารณะได้รับรู้ถึงความยากลำบากในชีวิตของเขา และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายสาธารณะ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ถือเป็นปฏิบัติการประชาธิปไตยของคนยากไร้


ความก้าวหน้าของประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น มักจะเกิดจากการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนในระดับรากหญ้า มีความพยายามจากฝ่ายภาคประชาชน ที่จะนำเสนอตัวแบบประชาธิปไตยที่เปิดกว้างและครอบคลุมถึงพันธะสัญญาทางการเมืองของฝ่ายรัฐหรือผู้ปกครอง ที่จะต้องมีต่อฝ่ายประชาชนผู้ถูกปกครอง


ฉะนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วง จึงถือได้ว่าเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับปฏิบัติการประชาธิปไตย


สิทธิทางการเมืองไม่ได้เริ่มต้นขึ้นที่รัฐสภา หากแต่มันเกิดขึ้นมาจากพลังที่กดดันรัฐสภาจากภายนอก หลังจากการที่ประชาชนได้มีปฏิบัติการทางตรงในการต่อสู้กับรัฐสภา พร้อมด้วยข้อมูลสนับสนุนการเคลื่อนไหวเท่านั้น ที่ทำให้รัฐมองว่าตนเองมีพันธะที่จะต้องนำเอาสถานการณ์ใหม่มาใช้ในการประเมินและให้เงื่อนไขทางกฎหมายแก่ประชาชน


เมื่อเราย้อนกลับมาทำเข้าใจขบวนการภาคประชาชน พบว่า พวกเรามีปัญหาภายในกันเอง เราต่างไม่ค่อยถกเถียงกันให้ชัดเจนในเรื่องแนวคิด เช่น แนวคิดทางฝ่ายซ้ายมีการพูดความยุติธรรมทางสังคม สิทธิชุมชน สวัสดิการทางสังคม ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายทรัพยากร แต่เมื่อมองต่อไปทางแนวคิดฝ่ายขวา พบว่า มีการพูดถึงเรื่องระบบตลาดเสรี ระบบเสรีนิยมและกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร


ความคิดเหล่านี้พบว่า ในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความคิดตั้งแต่ซ้ายสุดจนถึงขวาสุด คำถามก็คือ จากเสรีนิยมไปจนถึงสังคมประชาธิปไตย จากกึ่งเผด็จการจนถึงประชาธิปไตยทางตรง ความคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในระดับไหน เพราะสหภาพแรงงานก็ตกอยู่ภายใต้กฎกติกานี้ เพราะยังมีการยอมรับเสรีภาพการจัดการโดยการควบคุมโดยรัฐ เวลาคิดเรื่องการมีส่วนร่วมมีน้อยอยู่ ยังมองเรื่องการเป็นตัวแทนเป็นหลักอยู่


ต่อมาเรื่องมุมมองเรื่องการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม พบว่า ยังมีแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมแบบจำกัดขอบเขต คือ การควบคุมโดยรัฐ การจำกัดการมีส่วนร่วม การจำกัดสิทธิเสรีภาพ การจำกัดการเป็นตัวแทน  ไปจนถึงแนวคิดเรื่องการขยายการมีส่วนร่วม  ทั้งในเชิงนโยบาย การดื้อแพ่ง และการเมืองบนท้องถนน


ฉะนั้นเมื่อมามองในประเด็นทางแรงงาน เราต้องนั่งคิดทบทวนกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม เราจะเน้นการมีส่วนร่วมได้มากขนาดไหน


ข้อเสนอประชาธิปไตยจากมุมมองของผู้ไร้อำนาจ


ดร. นฤมล ได้เสนอข้อเสนอ 3 ข้อ ภายใต้การเมืองแบบขาดดุลประชาธิปไตยและการเมืองภาคประชาชนไม่เข็มแข็ง คือ เราต้องโยงเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานกับเรื่องเศรษฐกิจเข้าหาด้วยกัน เช่น อย่ามองเป็นเพียงสวัสดิการที่รัฐมอบให้ แต่มองเป็นเรื่องของสิทธิ หลายครั้งนโยบายที่ดี จะมาจากรัฐบาลที่อ่อนแอ เช่น การประเมินผลกระทบ EIA ก็เกิดขึ้นมาหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ฉะนั้นปีนี้อาจจะเป็นเงื่อนไขที่ดีของภาคประชาชน"


เราต้องพัฒนาระบบการเมืองที่ภาคประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองของสังคม เป็นกระบวนการให้การศึกษาประชาธิปไตยในภาคปฏิบัติ ทั้งในแง่ของการเสริมทักษะและการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย ปฏิบัติการประชาธิปไตยดังกล่าวไม่ใช่แค่มีในระดับชาติ หรือในองค์กรปกครองท้องถิ่น แต่ยังรวมไปถึงประชาธิปไตยในโรงงานและในสถานประกอบการ


ต่อมาในประเด็นความเสมอภาคของการมีส่วนร่วม หมายถึง การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจอย่างเสมอภาค และมีความเสมอภาคในเชิงอำนาจที่จะกำหนดผลลัพธ์ของการตัดสินใจดังกล่าว


คุณภาพของกระบวนการประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นมาได้ จะขึ้นอยู่กับการถกเถียงอย่างเปิดเผยซึ่งหน้า และใช้เหตุผลในกระบวนการตัดสินใจ ความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย มาจากสมรรถนะของระบบในการรองรับ กระบวนการให้ข้อมูลและการถกเถียงอย่างเปิดเผยของผู้เข้ามามีส่วนร่วม


ต่อมา คือ ปัจจัยภายในขบวนการ ที่เราไม่ค่อยวิจารณ์ตนเอง มักจะมีการคุยกันนอกวง เราควรมีการประเมินปัจจัยภายในของเรา อะไรเป็นปัญหาภายใน อะไรเป็นปัจจัยร่วม


นอกจากนั้นในประเด็นเรื่อง ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกกับการกีดกันทางการค้า ภายใต้ข้ออ้างเรื่องประชาธิปไตยและหลักสิทธิเสรีภาพแบบเสรีนิยม พบว่า มีการนำข้ออ้างเรื่องประชาธิปไตยเข้ามากีดกัน เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมามีการใช้ข้ออ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพ เช่น แรงงานข้ามชาติ แรงงานเด็ก มาเกี่ยวกับเรื่องซื้อสินค้า หรือใช้หลักสิทธิมนุษยชนมามองเรื่องสินค้าส่งออก เป็นต้น


ต่อมาในประเด็นเรื่องกระแสชาตินิยมและปัญหาเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ กับผลกระทบต่อแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ พบว่า จะมีผลกระทบกับแรงงานข้ามชาติแน่นอน เช่น ไม่มีการจดทะเบียนเพิ่ม ใช้ข้ออ้างเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ สถานการณ์เหล่านี้เป็นปัญหาทั่วโลก ยิ่งในช่วงหลังนี้เราอาศัยกระแสชาตินิยมมาก ยิ่งทำให้แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ มีปัญหามากยิ่งขึ้น


"ในเรื่องหลักนิติธรรม เราพบปัญหาเรื่องการขาดหลักนิติธรรมและสภาวะสังคมที่ปราศจากนิติรัฐ เราขาดหลักนิติธรรม ไม่รู้จะใช้กฎหมายเรื่องใด เช่น คำวินิจฉัยของศาลแรงงาน บางครั้งมีการใช้ดุลยพินิจส่วนตนของผู้พิพากษา ไม่เห็นหลักการที่ใช้อย่างชัดเจน แม้เรามีอนุญาโตตุลาการ ก็ยังพบว่ามีการเข้าข้างนายจ้าง ข้อที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อศาลเป็นผู้เข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหาเอง ปัญหาที่ติดตามมา คือ เมื่อผู้พิพากษาขาดหลักการ ผู้ใช้แรงงานจะมีท่าทีอย่างไร ดิฉันคาดการณ์ว่า คดีที่ขึ้นสู่ศาลจะชนะได้ยากขึ้น"


เราเห็นการขยายตัวของความขัดแย้งภายในของขบวนการภาคประชาชน ไม่แสวงหาความจริง เมื่อมีวิกฤติ ความขัดแย้งภายในก็จะปะทุขึ้น 


ข้อเสนอ คือ


(1)  มันเป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่สมานฉันท์ในทางอุดมการณ์ แต่เป็นการสร้างความสมานฉันท์ในเชิงประเด็นของขบวนการภาคประชาชนแทน


 (2) อาศัยความอ่อนแอของภาครัฐ เพื่อสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน เราจะผลักดันประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการ แทนประชานิยมของรัฐ เช่น ผลักดันประกันการว่างงาน สวัสดิการทางสังคม เพราะในอดีตก็ชี้ว่ามันมาจากรัฐบาลช่วงวิกฤติแทบทั้งนั้น ยิ่งรัฐอ่อนแอ รัฐยิ่งชอบเจรจา


เป็นการอาศัยความอ่อนแอของภาครัฐ เพื่อขยายพื้นที่ภาคประชาชนในการผลักดันเชิงนโยบาย ตลอดจนการผลักดันประเด็นเรื่องสวัสดิการสังคมมาแทนนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ


(3) คำถามที่สำคัญ คือ สังคมไทยจะหาทางออกจากวิกฤตโดยการเน้นการแก้ไขที่ระบบหรือตัวบุคคล และบทบาทของขบวนการภาคประชาชน ภายใต้วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net