เสวนา: ตุลาการภิวัตน์ แก้วิกฤติประเทศไทย

4 ก.พ. 51 - งานเสวนาเรื่อง "ตุลาการภิวัตน์:แก้วิกฤติประเทศไทย" ณ ห้อง 2300 มหาวิทยาลัยเกริกโดย มี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนายมานิตย์ วิทยาเต็ม อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้เกียรติเข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ โดยมี ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริกเป็นผู้ดำเนินรายการ 

เบื้องต้น ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้เป็นผู้เริ่มกล่าวในหัวข้องานเสวนาเป็นคนแรก โดยทำการวิเคราะห์ 3 องค์กรผู้ซึ่งใช้อำนาจอันสูงสุด โดยระบุว่าตนมองว่าต้องพิจารณาที่ตัวตุลาการภิวัตน์ก่อนใน เบื้องต้น โดยในการปกครองระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ นิยมแบ่งองค์กรผู้ใช้อำนาจสูงสุด เป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 คือองค์กรนิติบัญญัติ รัฐสภาที่เป็นผู้ออกกฎหมาย เพื่อกำหนดการปฏิบัติในสังคม อันดับ 2 ฝ่ายบริหาร คือการนำฝ่ายกฎหมายนำไปใช้เป็นประโยชน์มากที่สุด และสุดท้ายคือ องค์กรศาล มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดในกรณีที่เป็นข้อพิพาทอันเกิดจากการใช้บังคับกฎหมาย และเราถือว่า ฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายบริหาร เป็นสถาบันทางการเมือง แต่ในทางนักวิชาการไม่มองว่า องค์กรศาลเป็นสถาบันทางการเมือง ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นแบบรัฐสภา หรือแบบประธานาธิบดี จะต้องดูความสัมพันธ์ กับฝ่ายการเมืองนิติบัญญัติกับฝ่ายการเมืองการบริหาร ไม่มีศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้สาเหตุที่ไม่นำศาลเข้ามาเกี่ยวพันกับสถาบันทางการเมือง เนื่องจากศาลทำหน้าที่ในการตัดสินคดี ซึ่งในทางวิชาการไม่ถือว่าเป็นภารกิจทางการเมือง เพราะไม่มีดุลยพินิจ โดยการตัดสินนั้นต้องมีข้อพิพาทเกิดขึ้นมาก่อน ศาลต้องพิจารณาข้อพิพาทจากคู่ความ และศาลไม่สามารถเรียกข้อพิพาทเหล่านั้นมาตัดสินเองได้ และทั้งนี้ยังมีหลักที่สำคัญในวิธีการพิจารณาว่าศาลจะพิพากษาเกินคำขอมิได้ ขณะที่2 องค์กรที่กล่าวมาในข้างต้น สามารถที่จะใช้ดุลยพินิจ ที่จะเลือกว่า จะดำเนินการอะไร ให้เกิดประโยชน์เพื่ออะไรเป็นต้น ดังนั้นศาลจึงแยกออกไปตามหลักวิชาการ

นอกจากนี้ในหลายประเทศได้เกิดปรากฎการณ์ที่แปลกแยกออกไป คือศาลได้ตัดสินคดีโดยใช้กฎหมายแล้วเอาความคิดเห็นของศาลเข้ามา โดยเฉพาะความคิดเห็นทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมเข้ามา แล้วทำการตัดสินเพื่อวางบรรทัดฐานใหม่ในสังคม สิ่งนี้ เขาเรียกกันว่า ตุลาการภิวัตน์ โดยการแปลของนายธีรยุทธ์ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งหากแปลแล้วหมายถึง แนวคิดและการตัดสินคดี ซึ่งผุ้พิพากษา ใช้ความคิดเห็นของตน ในแนวทางการทำพิพากษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าการใช้อำนาจนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ซึ่งศาลมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อบรรทัดฐานที่ตนเองได้ตัดสินมา ซึ่งศาลต้องพิจารณาโดยฟังคู่ความ ฟังความจากทุกฝ่ายทุกคน แต่ตนมองว่าพฤติกรรมดังกล่าวควรเปลี่ยนมาใช้คำว่า "ตุลาธิปไตย" แทน เนื่องจากศาลใช้กระบวนการตัดสินคดี ที่ไม่ได้ดูเฉพาะกฎหมาย แต่ใช้ ความคิดเห็นบางส่วนเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งต่อมาทำให้ฝ่ายปกครองที่มีอำนาจรัฐทั้งหลาย มีวิธีพิจารณาคล้ายศาล เช่นอธิบดีกรมที่ดินไม่สามารถออกโฉนดให้แก่ตนเองได้ เพราะมีส่วนได้ส่วนเสีย เหมือนที่ศาลถูกคัดค้านได้ มีกฎหมายวิธีปฏิบัติข้าราชการปกครองปี 2539 ทำกระบวนการพิจารณาของฝ่ายปกครองในกระทรวงทบวงกรมทั้งหลายให้คล้ายศาล ซึ่งตนขอเรียกว่า ตุลาการลาภิวัฒน์ หมายความว่าการพิจารณาของหน่วยอื่น มีการพิจารณาคล้ายศาล พร้อมกันนี้นายบวรศักดิ์ได้หยิบยกงานศึกษา รศ.พิเชษฐ์ เมาลานนท์ นักวิชาการอิสระ โดยระบุว่า กลุ่มศึกษาบทบาทกระบวนการยุติธรรมไทย ในนโยบายสาธารณะเรื่องสิทธิ์มนุษยชนและความยากจน

อย่างไรก็ตามเลขาธิการสถาบันประปกเกล้าได้ยกตัวอย่างวิธีการตัดสินคดีของศาลไทย ที่ไม่ได้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนหน้า นายมานิตย์ วิทยาเต็ม อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยในคดี 36/42 ที่รัฐธรรมนูญระบุว่ารัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อถูกคำพิพากษาให้จำคุกแปลว่าถ้าต้องคำพิพากษาให้จำคุกต้องรับโทษจำคุกจริง ฉะนั้นถ้ายังไม่รับโทษจำคุกคือไม่พ้นผิด ทั้งที่ตอนเขียนรัฐธรรมนูญศาลก็ทราบดี โดยนำคำพูดของนายพงษ์เทพ เทพกาญจนากรรมาธิการยกร่างในขณะนั้น ขึ้นมาว่า นายพงษ์เทพ ตอบคำถามในสภาร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐมนตรีเป็นมนตรีแห่งรัฐฉะนั้นการที่ถูกศาลพิพากษาว่า จำคุก ถึงแม้ไม่ถึงที่สุด หรือจะมีการรอลงอาญาก็ตาม ก็สามารถพ้นได้ เพราะมาตรฐานของรัฐมนตรีต้องสูงกว่าคนธรรมดา แต่ศาลในขณะนั้นกลับไม่สนใจ นี่คือตัวอย่างของตุลาธิปไตยประเภทถอยหลัง

ทั้งนี้หากพิจารณาขอบเขตของการใช้ตุลาธิปไตย จะรู้ว่ามีการใช้อยู่ 2กลุ่มคือ กลุ่มแรกจะใช้ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ด้อยโอกาส กับกลุ่มที่ 2 ใช้กับนโยบายสาธารณะทางการเมือง นอกจากนี้ ตุลาธิปไตยก็มี 2 แบบ คือ 1. ศาลตัดสินคดีแบบอนุรักษ์นิยม ดึงสังคมไว้กับที่ ซึ่งจะไม่ยินยอมให้ใครเข้ามาปฏิรูปสังคม และ 2. ศาลตีความก้าวหน้า โดยตนขอตั้งข้อสังเกตว่าสังคมไทย เริ่มให้ความสนใจในกรณีดังกล่าว ทั้งที่เหตุการณ์ได้เริ่มตั้งแต่ในช่วงประมาณ ปี 2500 เศษ ที่ศาลฎีกาลงไปคานอำนาจของคณะปฏิวัติ แต่คนกลับไม่ให้ความสนใจเพราะเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่คนกลับมาให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น เมื่อศาลเข้ามาตัดสินเกี่ยวกับการเมือง รวมทั้งการที่รัฐธรรมนูญพิพากษาเพิกถอนการเลือกตั้งในเดือนเม.ย.2549 และก็ติดตามมาเรื่อย จนถึงกรณีข้อพิพาทการตีความนายจ้างลูกจ้างที่เป็นเหตุให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเองก็ไม่กล้ากล่าวว่าเรื่องดังกล่าวจะสามารถจบได้หรือไม่

ส่วนข้อดีและข้อเสียของตุลาธิปไตย นั้นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ากล่าวว่า ข้อดีคือ ศาลเข้าไปคุ้มครองผู้ที่อ่อนแอ เพื่อความเป็นธรรมในสังคม ต่อมาศาลได้ทำการถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง ให้เกิดความสมดุล และสุดท้ายคือ ทำให้รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่ล้าสมัยสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพการณ์ได้ ส่วนข้อเสียนั้น ที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดคือ ศาลไม่ใช่องค์กรทางการเมือง แต่การที่ก้าวล่วงในการใช้อำนาจตัดสินคดี วางบรรทัดฐานใหม่โดยความคิดทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองเป็นการขัดต่อการแบ่งแยกอำนาจ เพราะกลายเป็นว่าศาลลงไปทำหน้าที่เป็นสถาบันทางการเมือง ประการต่อมาศาลไม่ได้รับฉันฑามติจากประชาชนในการเข้ามาทำหน้าที่ แต่ศาลเป็นผู้พิพากษาอาชีพมาจากการแต่งตั้งจึงไม่น่าจะมีสิทธิ์กำหนดนโยบาย

ท้ายที่สุดตนขอสรุปโดยตั้งคำถามในครั้งนี้ว่า ตุลาธิปไตยแก้วิกฤตประเทศไทยได้หรือเปล่า ซึ่งในทัศนของตนมองเห็นว่าปัญหาทางการเมืองบางเรื่องไม่อาจจะแก้ได้ด้วยกระบวนการทางการเมือง เพราะกระบวนการทางการเมืองในสภานั้น ไม่เป็นที่ยอมรับของพรรคการเมืองกันเอง รวมทั้งประชาชนจำนวนหนึ่ง แล้วนักการเมืองในสภาฯก็แก้ไม่ได้ และรัฐบาลก็ไม่ลาออก และไม่ยุบสภา ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาทางการเมือง แต่กลับไม่มีการตอบรับ จึงมีการหาทางออกอื่นๆโดยการเคลื่อนไหวบนท้องถนน ซึ่งหากยังคงหาทางออกไม่ได้ท้ายสุดก็ต้องสูญเสียอันเกิดมาจากการปะทะกันเราจะยอมให้ปัญหาทางการเมืองพัฒนาไปสู่เส้นทางมิคสัญญี หรือความขัดแย้งอันรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในสังคมหรือไม่ ซึ่งหากไม่อยากเห็นความรุนแรงเหล่านั้นเกิดขึ้นในประเทศ โดยให้เข้ามาสู่ระบบศาลและศาลได้ทำหน้าที่ให้ปัญหาเหล่านั้นได้ยุติลง และเป็นทางออกให้ประเทศ และตนมองว่าตุลาการธิปไตยนั้นต้องขึ้นอยู่กับกาละเทศะ ความพอดี นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อใดก็ตามที่บ้านเมืองหมดภาวะวิกฤต และศาลยังคงทำบทบาทตุลาธิปไตยต่อไป สิ่งที่จะตามมาก็คือองค์กรทางการเมือง นิตบัญญัติ และฝ่ายบริหารจะทำการตอบโต้ อาจจะเป็นในรูปแบบการแก้รัฐธรรมนูญ หรือแก้กฎหมายโดยการลดอำนาจศาลอย่างที่ต่างประเทศได้เคยกระทำมาแล้ว

"ถ้าตุลาธิปไตยใช้เพื่อต้องการหาทางออกให้แก่บ้านเมืองในยามขับขัน ใช้แนวทางการเมืองแก้ไขไม่ได้ นี่คือการแก้วิกฤต ผมถือว่าเป็นการแก้ปัญหาวิกฤต เพราะทำให้ปัญหาการเมืองเป็นปัญหาทางกฎหมายที่ยุติเด็ดขาดได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่การเมืองกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ยังมีตุลาการธิปไตยอยู่อีก ผมว่าตรงนั้นคงต้องออกมาทำการจัดงานสัมมนากันใหม่อีกรอบ"

แนะโละทิ้งหลักนิติกลเปิดช่องยึดอำนาจผิด กม.
ด้านนายมานิตย์ วิทยาเต็ม อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนากล่าวว่า ขณะนี้ตนถือว่าเป็นผู้เฝ้าดูในบางเรื่องและบางครั้งก็เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ตนจึงขอกล่าวว่าอำนาจตุลาการหรือสถาบันตุลาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ สำหรับสถาบันตุลาการของไทยนั้นได้รับการรับรองจากสถาบันรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ซึ่งจะแตกต่างกับบางประเทศ สถาบันตุลาการตามรัฐธรรมนูญและเป็นหนึ่งในสามของสถาบันหลักดั้งเดิมของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือมีรัฐสภา รัฐบาล และศาล เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการตามลำดับ

ทั้งนี้ตนมองว่าศาลเป็นสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยแต่มีลักษณะพิเศษบางประการที่อาจจะทำให้คิดว่าไม่มีความเกี่ยวพันทางการเมือง แต่ในฐานะที่ฝ่ายบริหาร ได้เสนอกฏหมายต่อฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้มีการออกกฏหมาย อีกทั้งศาลได้ช่วยบังคับกฏหมายหรือปฏิเสธข้อกฏหมายนั้นๆที่ได้เสนอมา ด้วยเหตุนี้ในบางครั้งจึงอาจนับได้ว่าศาลเป็นผู้ที่อยู่ร่วมในสถาบันหลักประชาธิปไตยซึ่งเป็นสถาบันทางการเมือง เมื่อมีการทำรัฐประหารหรือมีการยึดอำนาจในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐประหาร คณะปฏิรูป เพื่อที่จะล้มเลิกและฉีกรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติกับคณะรัฐบาล ผู้ใช้อำนาจบริหารก็ได้ถูกยกเลิกให้หมดสภาพไปทุกครั้งด้วยอำนาจของคณะรัฐประหาร จนกลายเป็นประเพณีไปเสียแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงมีนักการเมืองฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อที่จะปฏิเสธอำนาจรัฐประหารหรือการประท้วงด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จแม้แต่ครั้งเดียว แต่ที่น่าสนใจก็คือคณะรัฐประหารทุกชุดที่ผ่านมานั้นถือว่ายังมีความยำเกรงต่อศาลโดยไม่เคยไปก้าวข้ามสถาบันตุลาการ ไม่เคยมีการปลดผู้พิพากษาทั้งที่ทำได้ ซึ่งควรเป็นเรื่องที่น่าศึกษาและน่าวิจัยว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งจากการวิเคราะห์แล้ว การที่ศาลฎีกานั้นมีส่วนในการวินิจฉัยรับรองไว้ในคดีหลายคดี ที่เกี่ยวพันกับคณะรัฐหาร เพื่อให้การปฏิวัติย่อมมีอำนาจรัฐสั่งการใดๆได้ เป็นทั้งสภานิติบัญญัติ และออกคำสั่งเป็นคำพิพากษาได้ด้วย ทำให้เป็นการมัดสถาบันตุลาการไว้ว่าต้องยอมรับอำนาจจากปฏิวัติของคณะรัฐประหาร นี่ถือว่าเป็นปัญหาของการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย

พร้อมกันนี้อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวถึงคำว่าตุลาการภิวัตน์ โดยได้ทำการวิเคราะห์ว่าจากปัญหาของการเมืองที่มีความยุ่งยากและมีความขัดแย้งกันเกิดขึ้นในกลุ่มของพรรคการเมือง ปัญหาของภาวะเศรษฐกิจและสังคม แม้แต่ทหารยังไม่กล้าทำรัฐประหาร เพราะทหารเองก็คงทราบดีแล้วว่าการเข้ามานั้นก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ โดยมีตัวอย่างจากเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติแล้ว

อย่างไรก็ดีนักวิชาการหลายท่านที่เคยออกมาเสนอว่าให้มีตุลาการภิวัตน์ คือให้มีอำนาจที่สามนั้นมาจัดการควบคุมกับอีกสองอำนาจ โดยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมาจัดการกับปัญหา ขณะที่ตอนนี้เราก็เห็นได้ว่าหลายเรื่องหลายคดีที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของตุลาการภิวัตน์นั้นเป็นเช่นใด ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง ถือว่าเป็นมาตรการชั่วคราว กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เป็นกฎหมายที่ปะปนด้วยหลักนิติธรรมและหลักนิติกลวิธี จะมีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะทำอารยะขัดขืนซึ่งมีทางแก้ไขอยู่หลายทาง ศาลไทยในทุกระดับได้เคยชินกับการใช้กฎหมายโดยไม่แยกว่าเป็นกฎหมายนิติธรรมหรือกฎหมายนิติกลวิธี อาจจะกล่าวได้ว่าศาลนั้นอาจจะตกเป็นเครื่องมือของของหลักกฎหมายนิติกลวิธีด้วย ภายหลักได้มีศาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องของกฎหมายมหาชน ศาลรัฐธรรมนูญจะดูว่ากฎหมายนั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่นั่นก็ยังขาดไปอีกข้อหนึ่งคือศาลรัฐธรรมนูญเองนั้นก็ต้องมีอำนาจด้วยตัวเองเช่นเดียวกันซึ่งไม่ได้เขียนไว้ว่าหากกฎหมายที่จะใช้บังคับนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะไม่บังคับให้ถึงแม้ว่าจะไม่มีศาลอื่นส่งมา ซึ่งผมเคยยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีอำนาจที่จะวินิจฉัยบังคับใช้กฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

จะเห็นได้ว่าตุลาการภิวัตน์ที่ยิ่งใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยก็คือจะต้องมีตัวแสดงสำคัญคือศาลปกครองที่มีรากฐานที่มั่นคงและเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีกฎหมายคุ้มครองในเรื่องดูหมิ่นศาล เพราะฉะนั้นก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด ก็อาจจะทำให้ภาพของศาลสั่นคลอนได้เหมือนกันนี่คือสิ่งที่น่าเห็นใจ อย่างไรก็ตามหน้าที่สำคัญในการที่จะให้เกิดขึ้นของตุลาการพัฒนาแทนที่ตุลาการภิวัตน์ในสภาวะชั่วคราวนั้น คือต้องจำกัดและกำจัดกฎหมายที่เป็นนิติกลวิธีให้หมดสิ้นไปจากกระบวนการยุติธรรม และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก ศาลต้องออกมามีบทบาทปฏิเสธอำนาจเผด็จการอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ต้องการให้คณะปฏิวัติมามีอำนาจและใช้อย่างไม่ถูกต้อง

วงการเดียวกันชี้ตุลาการควรสำรวมอำนาจ
ขณะที่นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กล่าวว่าโดยปกติแล้วตุลาการไม่ควรจะภิวัตน์ เนื่องจากตุลาการนั้นมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 197 ที่จะตองพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย ตุลาการควรมีความสำรวมในอำนาจหมายถึงว่าในการพิพากษาคดีนั้นจะต้องใช้อำนาจให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ในบางสถานการณ์ความเบี่ยงเบนของอำนาจอื่นก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้เรานั้นไม่สามารถสำรวมอำนาจได้

ทั้งนี้คำว่าตุลาการภิวัตน์ก็หมายความว่า ศาลไม่ได้ยึดติดอยู่กับตัวกฎหมายเพียงเท่านั้น แนวทางในการตัดสินก็เริ่มเปลี่ยนแนวออกไป ทัศนะต่อมุมมองของคำว่าตุลาการภิวัตน์นั้นมองได้หลายแบบ เช่น การใช้อำนาจของศาลในการตัดสินนั้นมันมีตัวชี้วัดอยู่12ตัวด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ศาลจะยึดในบรรทัดฐานของกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งการเมืองในสมัยนี้เป็นการสาดโคลนใส่กันซะส่วนใหญ่ ศาลจึงต้องมีมาตรการใหม่จัดการควบคุมต่อสิ่งเหล่านี้ ดูจากคุณค่าของการวินิฉัยของศาล เป็นต้นฉะนั้นตุลาการควรสำรวมอำนาจไม่ใช้อำนาจให้เกินขอบเขต มิฉะนั้นก็จะถูกกระแสต่อต้านได้

ทั้งนี้ช่วงเวลา3-4ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเมื่ออำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารมันเกิดปัญหา ก็จำเป็นให้อำนาจตุลาการจะต้องลงไปแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง ศาลต้องอำนาจบูรณาการเข้าไประงับข้อพิพาท แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น พวกเราก็ต้องทำใจยอมรับและพยายามทำความใจพัฒนาความรู้ในรายละเอียดของประชาธิปไตยให้มากขึ้นก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่อยากให้ข้อสังเกตคือในคำพิพากษาของศาลไม่ว่าจะในระบบไหนก็ตามหัวใจสำคัญก็คือเหตุแห่งคำวินิฉัย เช่นคดีอาญาของนักการเมือง จะต้องถูกเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชนทั่วไปในรูปแบบต่างๆ เพื่อการรับรู้ข้อเท็จจริงต่างอย่างแท้จริง 

ที่มา: ประชาทรรศน์ออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท