กระทรวงศึกษาฯ เร่งแก้ปม "เอเน็ต" ให้แยกที่มาของปัญหา สกอ.-ตัวเด็ก?

เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานว่าจากกรณีที่มีผู้ปกครอง และนักเรียน นำโดย น.ส.ศุภรัตน์ หล่ายกลาง นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมัธยมศึกษาวัดบึงทองหลาง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ในฐานะประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกติดสิทธิในการเข้าทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือเอเน็ต โดยอ้างว่าไม่สามารถชำระค่าสมัครในวันที่ 14 มกราคม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดให้ชำระเงินวันสุดท้ายได้ เนื่องจากเครื่องอ่านบาร์โค้ดไม่สามารถอ่านบาร์โค้ดได้ จึงได้ชำระเงินที่ธนาคารกสิกรไทย สาขารามคำแหง ในวันที่ 15 มกราคม โดยใช้เลขที่สมัคร และเลขที่ประจำตัวประชาชนแทน แต่เมื่อตรวจสอบผลการชำระเงินกับเจ้าหน้าที่ สกอ.ปรากฏว่าไม่มีสิทธิเข้าสอบเอเน็ตนั้น


เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดพลาดของระบบอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจึงได้หารือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ข้อสรุปว่า ให้นักเรียนที่อ้างว่าชำระค่าสมัครเอเน็ตไม่ทัน ไปยื่นเรื่องร้องทุกข์ที่ สกอ. โดย สกอ.จะแยกเป็นกลุ่มของประเภทปัญหาไว้ ได้แก่ ประเภทที่ลืมชำระค่าสมัครจริง ก็จะนำเข้าหารือผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะช่วยเหลือกลุ่มนี้ได้อย่างไร และประเภทที่อ้างว่าเป็นความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์ของ สกอ.หากพบว่าเป็นความผิดพลาดของระบบจริงๆ ก็จะพิจารณาว่าจะเยียวยาอย่างไรได้บ้าง


"ที่ผ่านมา นักเรียนกลุ่มนี้พยายามบอกว่าที่ชำระค่าสมัครไม่ทัน และไม่มีสิทธิสอบเอเน็ต เป็นความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์ของ สกอ. แต่ผมยืนยันว่าระบบคอมพิวเตอร์ไม่ได้ผิดพลาด แต่เมื่อมีเด็กอ้างว่าเสียสิทธิเพราะชำระเงินไม่ทัน ฉะนั้น จึงให้ไปร้องทุกข์ที่ สกอ.โดยจะต้องเล่ารายละเอียดให้เจ้าหน้าที่ฟังว่าเป็นเพราะเหตุใดที่ทำให้จ่ายเงินไม่ทัน ส่วนจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้างก็คงต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งผมเชื่อว่าเด็กที่มีปัญหามีจำนวนหลักพันคนเท่านั้น แต่ทั้งหมดนี้ต้องไม่ให้กระทบสิทธิกับผู้ที่สมัครเอเน็ต และชำระค่าสมัครตรงตามเวลาที่กำหนดอีก 1.9 แสนคน" นายชัยวุฒิกล่าว


นายชัยวุฒิกล่าวว่า สำหรับในเขตกรุงเทพฯ ให้ร้องทุกข์ได้ตั้งแต่วันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00-18.00 น. ส่วนในต่างจังหวัด ให้ สกอ.ประสานไปยังโรงเรียนประจำจังหวัดทั่วประเทศ ขอใช้โรงเรียนประจำจังหวัดเป็นจุดในการร้องทุกข์ โดยร้องทุกข์ได้ตั้งแต่วันที่ 10-13 กุมภาพันธ์


ด้านนายจุรินทร์ให้สัมภาษณ์ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ว่าได้สั่งให้แก้ปัญหา โดยแยกเด็กเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกหากเกิดจากความผิดพลาดของกระทรวง หรือเจ้าหน้าที่ที่รับสมัคร รวมถึงระบบอินเทอร์เน็ต และอื่นๆ กระทรวงจะต้องเยียวยาเพราะไม่ใช่ความผิดของนักเรียน โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าสอบใหม่ ส่วนกลุ่ม 2 หากเป็นความผิดพลาดของเด็ก ทาง สกอ.จะเป็นผู้พิจารณาตัดสิน อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพราะเด็กบางคนอาจคิดมาก ทั้งนี้ ยอมรับว่าการสอบเอเน็ตมีปัญหาทุกปี


นางศศิธร อหิงสโก ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของ สกอ.กล่าวว่า จะเปิดรับเรื่องร้องทุกข์ที่บริเวณชั้น 4 สกอ.โดยผู้ที่มาร้องทุกข์นั้น จะได้รับแบบฟอร์มการร้องทุกข์ เพื่อให้กรอกรายละเอียดว่าเป็นเพราะสาเหตุใดที่ทำให้ชำระเงินไม่ทัน และหากใครมีหลักฐาน เช่น กรณีที่อ้างว่าบาร์โค้ดไม่ชัด ให้นำหลักฐานนั้นแนบกับใบร้องทุกข์ด้วย เป็นต้น


นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา สว.สรรหา กล่าวว่า จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และพูดคุยกับ น.ส.ศุภรัตน์ พบว่ากรณีนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การอ้างว่า น.ส.ศุภรัตน์จ่ายเงินไม่ทันตามกำหนด เป็นการอ้างโดยปราศจากระเบียบรองรับที่ชัดเจน และที่ น.ส.ศุภรัตน์จ่ายเงินไม่ได้ เกิดจากข้อผิดพลาดทางเทคนิค ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนจากใบสมัครของ น.ส.ศุภรัตน์ และคำยืนยันจากที่ทำการไปรษณีย์ที่ไปจ่ายเงิน ดังนั้น กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ และเห็นด้วยที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยส่วนตัวแล้วก็อาจจะร่วมฟ้องร้องด้วย


"การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นชีวิต และอนาคตของเด็ก จะตัดสิทธิเช่นนี้คงไม่ได้ หากไม่ใช่ข้อผิดพลาดของเด็ก ก็ต้องเยียวยา เห็นว่าทางออกคือขยายเวลาจ่ายเงินให้เด็ก หรือหากไม่มีเงินจ่าย ผมและเพื่อน ส.ว.อีก 10 กว่าคน พร้อมจะช่วยกันระดมเงินบริจาค มั่นใจว่าการขยายเวลาจ่ายเงินไม่กระทบสิทธิเด็กที่สมัครแล้ว 1.9 แสนคนฆ นายสมชายกล่าว และว่า หากเด็กกว่า 2 หมื่นคน ที่มีปัญหาไม่ได้สอบเอเน็ต ต้องถือว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนสามารถเข้าชื่อ 2 หมื่นคน ยื่น ส.ว.เพื่อให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งได้


นายพิสิฐ กิตติเจริญฤกษ์ ผู้ปกครองนักเรียนที่ชำระเงินล่าช้า กล่าวว่า ได้ประชุมผู้ปกครอง และนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหาชำระค่าลงทะเบียนล่าช้า ซึ่งมีมติว่าจะเดินทางไป สกอ.ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น. เพื่อไปดูแนวทางช่วยเหลือของ สกอ.เพราะยังไม่วางใจ รวมทั้งจะช่วยกระจายข่าวให้กับนักเรียนที่ชำระค่าสมัครเอเน็ตไม่ทันอีก 2 หมื่นคนให้ทราบ


น.ส.ศุภรัตน์กล่าวว่า เมื่อ 2-3 วันก่อน เว็บไซต์ที่กลุ่มของตนทำขึ้นเพื่อรวบรวมรายชื่อ และหมายเลขโทรศัพท์ผู้ที่มีปัญหาชำระเงินค่าสมัครเอเน็ตล่าช้า ประมาณ 102 คน โดนแฮกข้อมูล และปล่อยไวรัสเข้าเครื่อง ทำให้คอมพิวเตอร์เสียหายไป 3 เครื่อง เรื่องนี้ยังไม่ได้สรุปว่าใครทำ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าจะเป็นผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ และที่เพิ่งบอกเพราะเพิ่งคิดขึ้นมาได้ 


นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา กล่าวว่า วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ทาง กมธ.จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การหารือเพื่อหามาตรการ รวมถึงตั้งข้อสังเกตเพื่อเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

 

 

 

..............................

ที่มา: เว็บไซต์มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท