Skip to main content
sharethis

การที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ได้เข้ามาบริหารประเทศนั้น ส่งผลให้ความสนใจของคนใต้ต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เชื่อว่ามีมากขึ้น ถึงจะมีความหวังมากน้อยแค่ไหนก็ตาม อย่างน้อยก็คงไม่อาจเฉื่อยชาและชาชินกับความเป็นความตายที่ยังมีอยู่ทุกวัน


 


ที่ผ่านมาร้างเวทีในการแสดงบทบาทในฐานะฝ่ายบริหารมานาน โอกาสในการแสดงฝีมือในฐานะผู้กุมอำนาจ สั่งการ ชี้อนาคตชายแดนใต้จึงไม่มี นี่จึงเป็นโอกาส


 


ดังนั้นในช่วงที่ร้างเวทีนั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบรรดานักการเมืองที่ก้าวเข้ามารับผิดชอบแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระดับนโยบาย ผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในซีกไทยรักไทย ในช่วงที่เรืองอำนาจอยู่นั่น ก็คือ "จาตุรนต์ ฉายแสง" อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549


 


ถึงแม้ข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาในสาระสำคัญ จะไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ หรือที่นำลงสู่การปฏิบัติในบางประเด็น ก็ดำเนินการไปอย่างกระท่อนกระแท่น ที่พอจะเป็นน้ำเป็นเนื้อคงมีแต่เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ที่ดำเนินไปค่อนข้างครอบคลุมทั่วถึง


 


จากจุดเริ่มต้นของความรุนแรง ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 มาจนถึงวันนี้ครบ 5 ปีเต็ม กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 6 ภายใต้การเข้ามารับช่วงแก้ปัญหาของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ "จาตุรนต์ ฉายแสง" คิดเห็นอย่างไร เชิญติดตามอ่าน


 


000


 


 


มองอนาคตชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร



ดูจากสถิติในช่วง 5 ปีมานี้ เมื่อดูในรายละเอียด จะพบว่าแม้เหตุความรุนแรงจะน้อยครั้ง แต่ความรุนแรงกลับมากขึ้น



การจัดการกับความรุนแรง มีการใช้กำลังทหารจำนวนมาก  ใช้บุคลากรถึง 5 - 6 หมื่นคน ใช้ทรัพยากรเป็นแสนล้าน คำถามก็คือ เราจะทำแบบนี้ไปได้นานขนาดไหน เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนหรือไม่


 


ส่วนสำคัญที่ที่คิดว่าขาดไป คือ การประเมินความเข้าใจ และความคิดของผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่รัฐบาล ลงมาจนถึงเจ้าหน้าที่ และความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน หรืออาจจะมีการประเมิน แต่ไม่ได้นำเสนอในเวทีที่เหมาะสมก็ได้


 


จากที่ผมสัมผัสมาบ้าง ฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง น่าจะประเมินได้ว่า ในด้านความเข้าใจ ไม่ได้พัฒนาไปในทางที่ดีต่อการแก้ปัญหา ที่เป็นอย่างนี้เพราะขาดแนวทางในการแก้ปัญหา แนวทางการต่อสู้ทางความคิด ไม่ได้รับการให้ความสนใจ


 


 




ปี 2552 ถ้ายังเดินตามรอยเดิม เหตุการณ์จะไม่ดีขึ้น


 


ไม่ดีขึ้น ไม่มีทางอธิบายได้ว่า จะดีขึ้นได้อย่างไร มันจะกลายเป็นปัญหาคาราคาซังที่ฝ่ายรัฐ ต้องสิ้นเปลืองบุคลากร งบประมาณ ท่ามกลางความเสียหายจำนวนมากต่อไป ขณะที่ปัญหาจะไม่หยุดนิ่ง


 


ปัญหาเชิงคุณภาพอาจจะเปลี่ยนไป ความคิดคนอาจจะเปลี่ยนไป บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ บทบาทของต่างประเทศอาจจะมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางที่ไม่เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหา


 


 




รูปธรรมการต่อสู้ทางความคิด มีอะไรบ้าง



ก่อนการต่อสู้ทางความคิด ต้องทำความเข้าใจ เพื่อกำหนดทัศนคติ หรือชุดความคิดที่สอดคล้องกับปัญหา เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือ การลดเงื่อนไขของปัญหา ต้องดูว่าปัญหามาจากอะไรบ้าง ที่พูดกันอยู่ คือ เกิดจากความไม่ยุติธรรม เกิดจากการปล่อยปละละเลยในการพัฒนา เกิดจากการไม่ดูแลด้านการศึกษาให้ดี ที่สำคัญขาดความเข้าใจ ที่จะยอมรับหรือเคารพอัตลักษณ์ของประชาชน ถ้าจะแก้ปัญหานี้ ต้องให้สังคมไทย โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบเข้าใจ และยอมรับเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ปัญหาอื่นๆ ก็จะตามมา



อีกด้าน คือ ด้านของขบวนการ ผมเชื่อว่าปัจจุบันน่าจะมีบทบาทมากขึ้น ส่วนนี้จะมีปัญหาในการสร้างความเข้าใจต่อกัน ตั้งแต่ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ การใช้หลักการทางศาสนา ในส่วนนี้เราก็ต้องทำความเข้าใจ


 


การต่อสู้ทางความคิด ต้องทำทั้งสองส่วน ทั้งด้านผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่รัฐบาล มาจนถึงเจ้าหน้าที่ จากชั้นสูงสู่ระดับล่าง ต้องเข้าใจในเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ทำตัวหรือแสดงออกอะไร ที่จะสร้างเงื่อนไขทำให้เกิดความไม่พอใจ


 


ต้องส่งเสริมให้เกิดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ   เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาตัวเอง และพัฒนาประเทศ


 


ส่งเสริมให้มีการใช้กฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมจริงๆ


 


ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากๆ ถึงขั้นมีส่วนร่วมกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง


 


การรักษาความสงบ การระงับความรุนแรง ต้องเน้นการเมืองนำการทหาร ทั้งการจับกุม การสอบสวนสืบสวน หรือการปะทะต่อสู้กันด้วยกำลัง ต้องคำนึงถึงผลทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น ผลทางการเมืองในที่นี้ คือ ผลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน อะไรที่ทำแล้วประชาชนไม่พอใจ ยิ่งไม่ร่วมมือ ไม่ควรทำ


 


เราต้องต่อสู้ทางความคิดอย่างจริงจัง โดยอาศัยข้อมูลความรู้ที่รวบรวมขึ้นจากนักคิด ผู้มีประสบการณ์ทั้งหลาย เรียนรู้จากต่างประเทศ ที่แก้ปัญหาทำนองนี้ได้ดีกว่าเรา ทั้งจากบทความของนักวิชาการ จากข้อมูลของประชาชนและผู้นำในพื้นที่ นำมาประมวลขึ้นเป็นชุดความคิด นำมาต่อสู้ให้ฝ่ายรัฐปรับความคิดเสียใหม่


 


ขณะเดียวกัน ประชาชนต้องพูดกันเรื่องประวัติศาสตร์ ความคิดต่อศาสนา ความคิดต่อการศึกษา


 


ความคิดเรื่องประวัติศาสตร์ มีปัญหากันทั้งสองฝ่าย มีความเข้าใจที่บิดเบือนทึกทักไปเอง ความจริงอยู่ที่วันนี้เป็นอย่างไร ในอดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันควรจะเป็นอย่างไร ถึงจะเป็นประโยชน์กับประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาชนทั้งประเทศ


 


การย้อนหลังอดีตของคนกลุ่มหนึ่งในทางประวัติศาสตร์ วางบรรทัดฐานว่าเราจะแช่ประวัติศาสตร์ให้อยู่ตรงปีนั้นปีนี้ เป็นไปได้จริงหรือ


 


ในขณะที่ประเทศไทยเป็นรัฐสมัยใหม่มีจังหวัดต่างๆ 76 จังหวัดอย่างนี้ การอยู่ร่วมกันจะทำอย่างไร ถึงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด


 


เรื่องศาสนา แน่นอนว่าฝ่ายรัฐยังไม่เข้าใจ ไม่ส่งเสริมการนับถือศาสนาอย่างเพียงพอ ก็ต้องสู้กันทางความคิด ขณะที่ฝ่ายขบวนการนำความคิดเกี่ยวกับการต่อสู้ทางศาสนามาใช้เป็นประโยชน์ จนเลยเถิดไปถึงขั้นฆ่าผู้บริสุทธิ์ ฆ่าผู้ไม่เกี่ยวข้องก็ได้ขึ้นสวรรค์ ทั้งๆ ที่ความคิดแบบนี้ อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามก็ได้


 


ส่วนการศึกษา ไม่ควรปล่อยให้ล้าหลัง คือ ทางฝ่ายรัฐต้องไม่จัดการศึกษา โดยไม่คำนึงถึงลักษณะพิเศษ ไมคำนึงว่าประชาชนจำนวนต้องการศึกษาศาสนาอิสลาม และประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการศึกษาเรื่องกฎหมายมาก


 


อีกด้านหนึ่ง คือ การศึกษาความรู้ด้านสามัญ ที่เป็นความรู้ทางวิชาชีพ ซึ่งเป็นความรู้สมัยใหม่ ทำให้เกิดการพัฒนา เป็นการศึกษาที่ชาวมุสลิมทั่วโลก ในหลายๆ ประเทศเรียนรู้กันอย่างกว้างขวาง มีผู้รู้ นักวิชาการ นักคิดสมัยใหม่ นักวิทยาศาสตร์ ที่เป็นชาวมุสลิมมากมาย ส่วนนี้ก็ต้องให้ความรู้กับคนจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


รัฐต้องทำความสนใจอีกอย่างหนึ่งว่า ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายู ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ต้องให้ความรู้โดยใช้ภาษามาลายูด้วย


 


เมื่อประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เป็นธรรมดาและเป็นเรื่องสากล ที่รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียนภาษาไทยกลาง เพราะจะเป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ในการติดต่อกับผู้อื่น ทุกประเทศเขาก็ทำกันอย่างนี้


 


ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ ครู มหาวิทยาลัย ต้องรู้จักวิธีการสอนหนังสือ และถ่ายทอดวิชาความรู้ แก่ผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแรก ซึ่งแตกต่างจากการสอนประชาชนส่วนอื่นของประเทศ


 


เรื่องนี้ มีองค์ความรู้ สถาบันสอนภาษาทั่วโลก สรุปเอาแล้วว่า ต้องสอนภาษาแม่ก่อนสอนภาษาที่สอง จึงจะพัฒนาเด็กให้เข้าใจภาษาไทยกลาง เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิชาต่างๆ แต่ผู้สอนต้องเรียนรู้วิธีสอน ให้สอนความรู้ทั่วๆ ไป ความรู้เบื้องต้นจากภาษาแม่ แล้วมาสอนสองภาษา มันเป็นเทคนิคที่สถาบันสอนภาษาต่างประเทศเขาศึกษา ทดลองใช้กันทั่วโลก


 


ส่วนความเข้าใจต่อกลุ่มคนที่มีชาติพันธุ์ต่างกัน มีความคิดความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกัน ต้องหาความรู้ ต้องให้ผู้รู้ในพื้นที่ ผู้รู้ทางศาสนา มาศึกษาร่วมกันว่า ความรู้ทางศาสนาที่ถูกต้อง คือ อะไร ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์กัน มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง ถึงความจำเป็นที่จะต้องรู้วิชาสามัญ และวิชาชีพ ต้องศึกษาจากประเทศต่างๆ


 


ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ทางความคิดกันอย่างจริงจัง ต้องทำอย่างเป็นระบบ ต้องใช้เวลานาน และต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาอื่นๆ


 



ในช่วงที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ผลักดันเรื่องนี้มา ขณะนี้มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว


 


ยังไม่มีโอกาสได้ประเมินหรือได้คิด รายละเอียดต่างๆ ก็ไม่ทราบ เท่าที่ฟังจากผู้ที่สนใจก็ดูเหมือนจะชะงักไปพอสมควร บางเรื่องยังทำอยู่บ้าง ตอนนั้นอาศัยนักวิชาการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เอง มีนักวิชาการมุสลิมเข้ามาร่วมหลายคน ตอนนี้เขายังคงช่วยงานอยู่ แต่โดยหลักใหญ่มันชะงัก



บางเรื่องเริ่มได้ไม่ดีนัก เช่น การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในการศึกษาความรู้วิทยาการที่เป็นแบบสามัญ แบบสมัยใหม่ มีการเริ่มบ้างแต่ไม่มีใครทำการบ้านเสริมอย่างจริงจัง


 


การสอนสองภาษา คิดว่ามีคนรู้ มีคนทำงานเรื่องนี้อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ถ้าให้เข้าใจแพร่หลายคิดว่าคงยังห่างไกล


 


ที่สำคัญระบบต้องเอื้อต่อการทำให้ประชาชนในพื้นที่ ได้รับการศึกษาที่ดี เรียนจบแล้วมีงานทำ ได้ประโยชน์จากการพัฒนา เรียนจบแล้วมีงานทำ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ไม่ใช่ออกจากระบบการศึกษาแล้ว ไปเรียนประเทศอื่น กลับมาไม่สามารถทำงานได้ ถ้าให้เขาออกนอกระบบ เขาก็ไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา เรื่องนี้ยังต้องพูดกันอีกมาก เพื่อให้การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การศึกษาตามความหมายปกติ



 


 


การต่อสู้ทางความคิดยังไม่ปรากฏยังไม่เห็นยังมืดพอสมควร



ยังไม่ได้คุยกันอย่างจริงจัง สังเกตจากการพูดของผู้เกี่ยวข้องบางคน มันยังไม่ถูกจับมาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้รับผิดชอบจริงๆ ไม่เข้าใจเรื่องการเคารพในอัตลักษณ์ การยอมรับความแตกต่าง ผู้รับผิดชอบบางคนคิดว่าจะต้องกลืนซะให้หมด


 


การที่จะให้คนเหล่านี้ เป็นผู้นำการต่อสู้ทางความคิด จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงทางความคิดซะเอง


 


ตอนหลังผู้รับผิดชอบระดับสูง พูดเรื่องสมานฉันท์ได้ พูดเรื่องจะทำให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น นับเป็นความก้าวหน้าระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถพูดได้ตรงจุดทีเดียว พอเหตุการณ์ผ่านไป เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่เข้าใจว่า สมานฉันท์คืออะไร ความรุนแรงเกิดทุกวัน จะมาห้ามจับห้ามต่อสู้กันหรืออย่างไร มีเสียงสะท้อนออกมาอย่างนี้


 


ต่อมา ก็เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของกำลัง เพื่อตรึงฝ่ายตรงกันข้ามให้อยู่กับที่ แต่ไม่ค่อยได้พูดเรื่องแนวความคิด เรื่องการเคารพ การยอมรับความแตกต่าง การส่งเสริมให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของประเทศ ดูจากบรรยากาศ ฟังจากเสียงสะท้อน บรรยากาศแบ่งเป็นคนละฝ่ายมากขึ้น ตรงนี้น่ากลัว ไปกดไปตรึงไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ แต่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้าน คิดตรงกันข้ามกับเจ้าหน้าที่ไปเลย แบบนี้ระยะยาวจะแก้ปัญหาไม่ได้


 


 



ถ้าเป็นแบบนี้ การสร้างองค์กรใหม่ โดยอ้างว่าเพื่อให้มีกฎหมายรองรับ ไม่น่าจะแก้ปัญหาอะไรได้



เรื่องใหญ่ คือ ความเข้าใจเรื่องแนวทางที่จะทำให้ประชาชนทั้งประเทศ หันมาเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน มีความเท่าเทียมกัน เคารพและยอมรับอัตลักษณ์ของเขา เพื่อลดเงื่อนไขการกระทบกระทั่งบาดหมาง การดูถูกเหยียดหยามทำร้ายกัน ลดความคิดที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง


 


เรื่ององค์กรก็มีความสำคัญ ไม่ใช่ไม่สำคัญ ถ้าไม่มีองค์กรดูแลประสานหลายฝ่าย ปล่อยประละเลย เหมือนกับว่าเป็นเรื่องของโจรไม่กี่คน ปัญหาจะลุกลาม เนื่องจากเกิดช่องว่าง เมื่อเกิดช่องว่างฝ่ายขบวนการก็ทำงานได้เต็มที่ ทำให้เข้มแข็งขึ้น


 


การสร้างองค์กรขึ้นมาแก้ปัญหา ถ้าเป็นองค์กรที่ต่างคนต่างสั่ง เป็นองค์กรที่ไม่ได้เน้นทำความเข้าใจ ไม่กำหนดยุทธศาสตร์ กำหนดแนวทางให้ชัดเจน หรือเป็นองค์กรที่เอารัฐมนตรีมารวมกันมากๆ ซึ่งในอดีตเคยทำมาแล้ว เสร็จแล้วไม่ได้คุยแนวทางอะไรกันมาก พอนายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องรีบทำ ต่างคนก็เร่งสั่งสายงานในกระทรวงตัวเอง ปล่อยให้คนรับผิดชอบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่งดูตาพริบๆ บางช่วงรัฐมนตรีก็หายไปเลย จะทำอะไรต่อก็ไม่ได้ ต้องรอฟังรัฐมนตรีสั่ง งานก็ไมมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นเอกภาพทางนโยบาย


 


องค์กรที่กำลังจะทำอยู่ ถ้าต้องมีกฎหมายรองรับ ก็ออกกฎหมายซะ ระบบการบริหารจัดการจะเป็นอย่างไร ระหว่างที่ไม่มี สบ.ชต.  ตอนนี้ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา มีรัฐมนตรีจำนวนมากอยู่ในนั้น


 


การมีรัฐมนตรีพลเรือน เข้ามาดูแลการทำงานของตำรวจ ทหาร พลเรือนเป็นเรื่องดี แต่พอมีรัฐมนตรีจำนวนมาก ไม่รู้ว่าเวลาสั่งการจะสั่งกันยังไง นายกรัฐมนตรีมาทีหนึ่ง ก็แห่กันมา เสร็จแล้วรัฐมนตรีแย่งกันสั่ง ลักษณะแบบนี้เคยเกิดมาแล้ว ผมไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิม


 


จะตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาหรือไม่ คณะกรรมการพิเศษจะสั่งการอย่างไร ต่างคนต่างสั่ง หรือจะรวบรวมคำสั่ง แล้วให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการแทน เหมือนการเอาร่มชูชีพ 2 อัน อันหนึ่งกลับหัวลงข้างล่าง อีกอันหนึ่งอยู่ข้างบน ข้างบนเป็นรัฐมนตรีหลายๆ กระทรวงมาประชุมกัน แล้วรวบมาอยู่ที่เอวคน นำลงสู่การปฏิบัติตรงด้านกลับหัวลงข้างล่าง เหมือนเอาลูกขนไก่มาชนกัน ถ้าเป็นแบบนี้ อาจจะดีกว่าให้ต่างคนต่างสั่ง


 


ส่วนการจัดองค์กรก็เป็นเรื่องสำคัญ จะทำอย่างไรให้ฝ่ายการเมือง ฝ่ายที่รับผิดชอบนโยบายสามารถกำกับดูแลฝ่ายปฏิบัติได้ นี่เป็นเรื่องใหญ่ บางช่วงให้ผู้บัญชาการทหารบกรับผิดชอบไปเลย โดยไม่มีนโยบายกำกับ นอกจากบอกว่าให้สมานฉันท์ มันก็ไม่เกิดแนวทางเป็นยุทธศาสตร์ชัดเจน


 


การจัดองค์กรในทางปฏิบัติต้องทำให้การเมืองนำการทหารได้จริง คือ มีนโยบายที่ดี ซึ่งเป็นคำถามใหญ่ว่า จะมีได้หรือไม่ ถ้ามีแล้ว ทำอย่างไรให้ฝ่ายความมั่นคง ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองทำตามอย่างเป็นเอกภาพ  ตรงนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจติดตาม


 


รัฐบาลนี้กับกองทัพมีความสัมพันธ์ที่ดี เพราะกองทัพช่วยล้มรัฐบาลที่แล้ว แต่งตั้งรัฐบาลนี้เองกับมือ มีความใกล้ชิดกัน ถ้านำความใกล้ชิดมาทำสิ่งนี้ได้ จะมีประสิทธิภาพสูง หมายความว่ามีนโยบายที่ดีตรงกัน ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ทำไปในทิศทางเดียวกัน แต่ผมสงสัยมากว่า ผู้นำกองทัพจะเข้าใจหรือเปล่า


 


ผมเกรงว่า ผู้นำกองทัพปัจจุบัน จะไม่เข้าใจปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีแนวทางที่ดี ถ้าไม่เข้าใจ และรัฐบาลไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจได้ มันจะไม่เป็นเอกภาพ ถึงตรงนั้นก็จะกลับมาเป็นปัญหา เพราะรัฐบาลสั่งกองทัพไม่ได้


 


อย่าลืมว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกองทัพ ถ้าผู้นำกองทัพกับกระทรวงกลาโหมไม่ฟังรัฐบาล มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ ตอนนี้กองทัพมีอำนาจต่อรองเหนือรัฐบาล เพราะเป็นรัฐบาลที่ทหารตั้งมาเอง


 


อย่าลืมว่าปัญหาภาคใต้พอทำนานๆ เข้างบประมาณเป็นแสนล้านไปอยู่ตรงนั้น ต่อไปจะมากขึ้นเรื่อยๆ งบประมาณเหล่านี้ดูแลโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นหลัก หมายถึงดูแลโดยทหารนั่นเอง ถ้าฝ่ายการเมืองเข้าไปดูแลมาก กำหนดทิศทางมาก กองทัพจะยอมหรือไม่


 


นี่ยังไม่นับรวมถึงการทำความเข้าใจกับผู้รับผิดชอบทุกระดับว่า การเมืองต้องนำการทหาร เช่น การตั้งด่านเป็นการป้องกันคนพกพาอาวุธก็จริง แต่ตั้งด่านแล้วประชาชนเกลียดชัง เพราะไปสร้างความเดือดร้อน ไปดูถูก แสดงความไม่ไว้วางใจประชาชน ทำให้ปัญหาขยายตัวไม่หยุด อันนี้มันก็ไม่คุ้ม ต้องคำนึงถึงด้วย เพราะนี่คือปัญหา


 


การเมืองการทหาร จะเอายังไง การตรวจค้นบ้านชาวบ้านโดยการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ถ้าเกิดปะทะกัน มีผู้นำท้องถิ่นตาย หรืออีกหลายคนตาย หรือบาดเจ็บกันหลายคน ได้อาวุธบ้าง ไม่ได้บ้าง ถึงแม้จะระงับการก่อความรุนแรงลงได้ แต่สะสมความเกลียดชัง อย่างนี้ คือ การเมืองไม่สามารถนำการทหารได้ หรือเป็นการทหารที่ไม่คำนึงถึงการเมือง ไม่ใช่การเมืองนำการทหาร


 


อย่างนี้ต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นงานใหญ่ งานยาก แต่ต้องทำเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ เพราะถ้าไม่ทำปัญหาจะสั่งสมไปเรื่อยๆ ไปกดทับเอาไว้โดยกำลังทหารด้วยงบประมาณมหาศาล ระวังสุดท้ายปัญหาจะเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ ยากจะแก้ได้สำเร็จ


 


ในที่สุด ต้องตั้งคำถามว่า รัฐไทยสามารถทุ่มเทกำลังบุคลากรจำนวนมหาศาลอย่างนี้ หรือมากกว่านี้อีกหลายเท่าได้อีกนานแค่ไหน นี่คือ เรื่องใหญ่ที่ต้องคิดกันอย่างจริงจัง


 


 




ถ้าเป็นอย่างนี้ สบ.ชต. ของพรรคประชาธิปัตย์อาจจะไปไม่ถึงฝัน เพราะทหารคงไม่ยอมให้องค์กรนี้ลดอำนาจตัวเอง ถ้าออกมาได้ รูปร่างหน้าตาของ สบ.ชต. อาจจะไม่เหมือนเดิม น่าจะถูกแปรญัติมโหฬาร


 


ทำนองนั้น เมื่อก่อนการแก้ปัญหาร่วมมือกันหลายฝ่าย มีทหารมากหน่อย ต่อมาทหารถูกเบียด ถูกกันออกไปให้บทบาทกับตำรวจมากขึ้น ฝ่ายอื่นเข้ามาดูแลมากขึ้น มีความพยายามจัดองค์กรอยู่บ้าง อย่างกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เอาหลายฝ่ายมาช่วยกัน


 


ต่อมา ก็ยกอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารบกไปเลย ทหารจึงมีอำนาจภายใต้คราบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจนถึงปัจจุบัน มีงบประมาณใช้จ่ายมหาศาลผ่านมือทหาร


 


ปัญหาใหญ่อยู่ที่ไม่มีการเมืองนำการทหาร ไม่มีแนวทางหรือยุทธศาสตร์ที่ดีไปกำหนดให้ผู้ปฏิบัติ รับไปปฏิบัติ ที่ว่าต้องมียุทธศาสตร์และแนวทางที่ดี ไม่ใช่คิดเอาเอง หรือคิดสะเปะสะปะ


 


จากนี้ไป ใครจะจัดองค์กรต้องตอบคำถาม 3 - 4 ข้อ องค์กรที่จะสร้างขึ้นมา จะมีแนวทางและยุทธศาสตร์ที่ดีได้อย่างไร เมื่อมียุทธศาสตร์แล้ว จะมีการนำไปกำกับแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้การเมืองนำการทหารได้อย่างไร จะสร้างเอกภาพในการคิดในการวางแผนและปฏิบัติได้อย่างไร ทำให้นโยบายต่างๆ นำลงสู่การปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร


 


ไม่ใช่ล้มองค์กรนี้ตั้งองค์กรนั้น เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งองค์กรใหม่ ถ้าไม่ตอบคำถาม 3 - 4 ข้อที่ว่ามา ถึงตั้งองค์กรใหม่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ดีไม่ดีจะเป็นอุปสรรคตัวใหม่ ถ้าออกแบบไม่ดีพอ


 


เรื่องใหญ่อยู่ที่ความรู้ความเข้าใจในการแก้ปัญหาของสังคมไทย ทั้งภาคประชาชน ภาคสังคม และรัฐ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการกับสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์เฉพาะ ขาดความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์เชื้อสายมลายู ที่ยังพูดภาษามลายูเป็นภาษาแม่ มีวัฒนธรรมมลายู นับถือศาสนาอิสลาม ภายใต้กระแสคิด กระแสการเคลื่อนไหวของมุสลิมหัวรุนแรง ที่มีอยู่หลายประเทศ


 


การที่ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอัตลักษณ์อย่างนี้ สังคมไทย รัฐไทย จะทำอย่างไรให้เขาสมัครใจ เต็มใจ มีความสุขใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ร่วมเป็นเจ้าของประเทศ ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันพัฒนาประเทศ ร่วมกันจัดการ เพื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข


 


ถึงจะยังมีปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นบ้าง ยังมีขบวนการเคลื่อนไหวต่อเนื่องอยู่บ้าง แต่ไม่ลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่โต เช่นเดียวกับหลายประเทศ ที่จัดการกับปัญหาทำนองนี้ได้


 


ถ้าจัดการไม่ดี ผมเกรงว่าปัญหาจะลุกลามใหญ่โต เป็นความขัดแย้งระหว่างสังคมใหญ่กับสังคมเล็ก ระหว่างคนที่นับถือศาสนาต่างกัน ระหว่างประชาชนที่มีประวัติ มีชาติพันธุ์ วัฒนธรรมต่างกัน ที่ขยายวงความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งก็เกิดขึ้นในหลายประเทศ และบางประเทศต้องแยกจากกัน


 


เพราะฉะนั้น ความรู้ความเข้าใจ ในการจัดการกับกรณีนี้ จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้วยการรวบรวมเอาความรู้ บทเรียนจากประเทศต่างๆ และภายในประเทศเราเอง มาพัฒนาเป็นองค์ความรู้ เรียนรู้ทำความเข้าใจว่า จะจัดการปัญหานี้อย่างไร จึงจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่มีสันติสุข ได้ประโยชน์ร่วมกัน นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด


 


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อภิสิทธิ์ V.S. จาตุรนต์: บทบริหาร - บทวิพากษ์ดับไฟใต้, 20/1/2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net