Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา ได้จัดสัมมนาหัวข้อ "มาตรการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความคิด เห็นข้อเท็จจริงและปัญหาการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ในลักษณะหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพ โดย นายวิชญะ ตาปสนันท์ ที่ปรึกษาสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจถึงปัญหาการหมิ่นเบื้องสูง ที่ไม่ใช่กระทบแค่ตัวบุคคล แต่หมายรวมถึงความมั่นคงของประเทศ หากหมิ่นเบื้องสูงเท่ากับละเมิดความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ซึ่งนับว่ามีความสำคัญระดับต้นๆ เป็น 1ใน 3 เสาหลักของชาติ ซึ่งการหมิ่นสถาบันมีมานานแล้ว ตั้งแต่การแจกใบปลิว ออกหนังสือปกเหลือง ปกแดง การพูดปากต่อปาก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ปัจจุบันวิธีการมีหลากหลาย และเป็นยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมีการแพร่ขยายมากขึ้น ดังนั้น การจัดการจะต้องมีความเหมาะสมทางด้านความมั่นคง การจัดทางกฎหมายเป็นเรื่องสุดท้าย เมื่อเรื่องเกิดขึ้นจะต้องมีการสืบสวนโดยฝ่ายข่าว เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงและต้นตอ จากนั้นจะมีการแบ่งกลุ่ม หากกรณีใด ไม่กระทบมากจะใช้วิธีแค่ตักเตือนหรือคาดโทษ เพราะบางกรณีเกิดจากความคึกคะนองและไม่เข้าใจ ไม่ถึงกับต้องใช้กฎหมายจัดการเรื่องก็จบลงด้วยดี แต่กรณีที่กระทบมากจะต้องดำเนินการคดีตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีเจตนากระทำและเป็นสันดาน


นายวิชญะ กล่าวว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดการเรื่องการหมิ่นพระบรมฯมาโดยตลอด แต่ไม่เป็นข่าว ซึ่งกลุ่มบุคคลที่กระทำเป็นแค่คนบางกลุ่มเท่านั้น และไม่เคยมีคดีใดที่ไม่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษหากขอไป รวมถึงกรณี นายแฮร์รี่ สื่อชาวออสเตรเลีย ที่กำลังขอไป ในส่วนของการเผยแพร่ในเว็บไซต์ได้มีการขอความร่วมมือจากเอกชน ให้ดำเนินการตามความเหมาะสม รัฐจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากไม่ได้ ซึ่งภาคเอกชนเองก็รู้ว่าจะทำอย่างไร เพียงแต่ขอให้มีหมายศาลเพื่อเป็นการป้องกัน การฟ้องร้องจากผู้ใช้บริการหากมีการปิดเว็บไซต์ นอกจากนี้ จะต้องมีการส่งเสริมเกี่ยวกับความสำคัญของสถาบันไม่ใช่เพียงแต่การจัดทำ สารคดีเทิดพระเกียรติ แต่ต้องให้ทุกคนรู้สึกร่วม ในความสำคัญของสถาบัน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สถานการณ์ในปัจจุบันรุนแรงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การเมืองเป็นตัวผลักดัน ดังนั้น การป้องกัน ปราบปราม และส่งเสริมจะต้องทำควบคู่กันไปโดยทำอย่างมีสติและข้อมูลพื้นฐาน อย่าไปให้ความสำคัญโดยการตีฆ้องร้องป่าวจะทำให้คนอื่นรู้กันทั่ว อย่างสภาบน สภาล่างก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาเรื่องนี้ และออกแถลงข่าว ซึ่งทำให้คนสนใจมากขึ้น


นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ปัญหาหมิ่นพระบรมฯมีมานาน แต่อยู่ในวงจำกัด แต่ปัจจุบันแพร่หลายในเว็บไซต์มากขึ้น ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ไม่ปกติและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะได้ผนวกเข้าเป็นปัญหาทางการเมืองไปแล้ว เช่น กรณี ดา ตอร์ปิโด นักวิชาการเข้าชื่อให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บทความของอาจารย์ ใจ อึ๊งภากรณ์ กรณีเรียกร้องประชาธิปไตยแบบใหม่ที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเท่ากับการต่อต้านรัฐบาลปัจจุบัน และกองทัพด้วย ฯลฯ สถานการณ์ยกระดับจากปกติจนเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน อย่าง เว็บมนุษยดอทคอม และฟ้าเดียวกัน ซึ่งมีความหมิ่นเหม่ที่เชื่อมโยงกับการเมือง ไม่น่าใช่ฝีมือของโจรพูโลตามที่เคยเป็นข่าว ปัญหานี้จะแก้โดยกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ต้องแก้ด้วยการเมือง โดยทำได้ 3 ทาง คือ การปฏิรูปการเมือง ซึ่งจะต้องแก้ความขัดแย้งที่สะสมมานานให้ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ การปฏิรูปสื่อ โดยเฉพาะสื่อของรัฐและจัดระบบวิทยุชุมชน และการปรับปรุงการส่งเสริมการเทิดพระเกียรติ


"การที่ฝ่ายความมั่นคง บอกว่า ได้ทำงานแต่ไม่แถลง เพราะการพูดมากทำให้เป็นเรื่องใหญ่ไม่เป็นผลดี การบอกเช่นนี้ผมก็ร้อนตัวเหมือนกระทำความผิด ที่ผมไปเสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ผมไว้ใจฝ่ายความมั่นคง แต่ไม่ไว้ฝ่ายการเมือง เพราะปัญหานี้ไปแปรสภาพเป็นการเมือง อย่าปลอบใจตัวเองว่า เรื่องนี้ฝ่ายมั่นคงจัดการได้ ดังนั้น ผมจำเป็นต้องเปลืองตัว" นายคำนูณ กล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น ที่ประชุมได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็น โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายสนับสนุนความเห็นของ นายคำนูณ กรณีการตั้งคณะกรรมาธิการของรัฐสภาเพื่อช่วยศึกษาปัญหาดังกล่าว และไม่เห็นด้วยที่จะใช้วิธีแบบเงียบไม่เป็นข่าวจัดการปัญหาการหมิ่นฯ เป็นการอ้างเพื่อกลบเรื่องของตัวเองที่ไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่ตัวแทนจากฝ่ายกองทัพ ระบุว่า ทางกองทัพได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเชิงบูรณาการ เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งเรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะความไม่ปลอดภัยของผู้ทำงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากดำเนินการตามคำขอจะมีความเจริญก้าวหน้า หากไม่ทำตามจะเข้าไปตบยุง หรือถูกเช็กบิล ทำให้ข้าราชการเหมือนใส่เกียร์ว่าง แต่ความจริงแล้วทางกองทัพพบข้อมูลใด เข้าข่ายหมิ่นก็จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงไอซีทีดำเนินการตรากฎหมาย นอกจากนี้ ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ส่วนใหญ่มีผู้กระทำคนเดียว แต่สามารถเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว และหากมีการพูดต่อๆ กันไป ก็กระตุ้นความสนใจของประชาชน ให้เข้าไปค้นหาเว็บไซต์นั้นๆ เช่น เกียวกรณีคลิปดารา


ตัวแทนกระทรวงไอซีที กล่าวว่า กฎหมายที่ใช้อยู่สามารถใช้ได้อยู่แล้ว และขณะนี้กระทรวงได้ปรับเปลี่ยนบุคคล ที่มาดูแลเรื่องเว็บหมิ่นฯ ถ้าหากประชาชน มีเรื่องเหล่านี้ก็สามารถร้องเรียนได้ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1112 ในต่างประเทศ ถ้าจะปิดเว็บไซต์จะต้องเป็นคำสั่งของศาล ขณะที่ตัวแทนฝ่ายตำรวจ กล่าวว่า เมื่อศาลสั่งปิดเว็บไซต์จะต้องสั่งสำนวน มายังพนักงานสอบสวน ขณะนี้มี 2 พันกว่าเว็บไซต์ เท่ากับ 2 พันกว่าคดี ถือว่าจำนวนมาก ถามว่า การดำเนินการจะดำเนินการได้รวดเร็วหรือไม่นั้น ตำรวจก็เหมือนลูกเมียน้อย เพราะทุกอย่างก็มาลงที่ตำรวจทั้งนั้น


 


ที่มา: http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000015264

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net