ชาวบ้าน 4 พื้นที่ ยื่นหนังสือวุฒิสภา ตรวจสอบธรรมาภิบาลโครงการสร้างโรงไฟฟ้า ชี้ทำประเทศชาติเสียหาย

จากกรณี เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ตัวแทนชาว บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้น ได้เข้ายื่นจดหมายต่อ นายพรชัย รุจะประภา ปลัดกระทรวงพลังงานใน ระหว่างการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการว่าด้วย แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 (พีดีพี 2007) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ที่สโมสรทหารบก เพื่อเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งในส่วนของ กฟผ.และไอพีพี เนื่องจากขณะนี้พลังงานไฟฟ้าสำรองในระบบเหลือเกินกว่ามาตรฐานมากแล้ว

 

วานนี้ (13 ก.พ.52) เวลาประมาณ 11.00 น. ณ ห้องประชุมรัฐสภา เครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้า 4 พื้นที่ ประกอบด้วย เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว คัดค้านโรงไฟฟ้าก๊าซเสม็ดเหนือเสม็ดใต้  อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม, สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม คัดค้านโรงไฟฟ้าก๊าซหนองแซง อ.หนองแซง สระบุรี และ อ.ภาชี จ.อยุธยา และเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ได้ทำการยื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ในการตรวจสอบธรรมาภิบาลในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2550-2564 หรือแผนพีดีพี 2007

 

โดยหัวข้อที่ยื่นตรวจสอบ ประกอบด้วย 1.การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่สูงเกินจริง 2.การเปิดประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี และการเร่งรัดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 3.เงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รัฐอาจเสียเปรียบเอกชน 4.การปรับปรุงแผนพีดีพี 2007 ครั้งที่ 2 และ 5.ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน

 

ทั้งนี้ หนังสือระบุด้วยว่าการอนุมัติแผนพีดีพี 2007เมื่อปี 2550 ซึ่งนำมาสู่การเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน(ไอพีพี) รวมทั้งเดินหน้าโครงการของ กฟผ.อีกหลายโครงการในขณะนี้ ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการข้างต้นได้ตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนดังกล่าว พบว่า การดำเนินการหลายอย่างเป็นไปโดยขาดหลักธรรมาภิบาล และจะนำไปสู่ความเสียหายของประเทศชาติ นอกเหนือไปจากความเสียหายต่อชุมชนท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน

 

 

 

 

ที่ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า

 

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552

 

เรื่อง      ขอให้ตรวจสอบธรรมาภิบาลในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2550-2564

 

เรียน      ประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา

 

สิ่งที่ส่งมาด้วย      สรุปปัญหาของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2551-2564 จากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของกระทรวงพลังงาน วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552

 

สืบเนื่องจากการอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2550-2564 หรือแผนพีดีพี 2007 เมื่อปี 2550 และนำมาสู่การเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน(ไอพีพี) รวมทั้งเดินหน้าโครงการของ กฟผ.อีกหลายโครงการในขณะนี้ พวกเราในฐานะประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการข้างต้น ได้ตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนดังกล่าว พบว่า นับตั้งแต่การอนุมัติแผนฯ จนถึงปัจจุบัน การดำเนินการหลายอย่างเป็นไปโดยขาดหลักธรรมาภิบาล และจะนำไปสู่ความเสียหายของประเทศชาติ นอกเหนือไปจากความเสียหายต่อชุมชนท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นแก่พวกเราอีกด้วย จึงขอชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นต่อกรรมาธิการฯ ดังนี้

 

1. การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่สูงเกินจริง

การวางแผนพีดีพี 2007 ยังคงซ้ำรอยความผิดพลาดที่เป็นมาตลอดในแผนฉบับก่อนๆ โดยการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าอย่างสูงเกินความเป็นจริง ซึ่งนำไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มากเกินความจำเป็น และจะกลายเป็นภาระของประชาชนผู้จ่ายค่าไฟต่อไป ความผิดพลาดของการพยากรณ์ฯ ดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ผ่านพ้นปีที่หนึ่งของแผน คือปี 2551 ที่ผ่านมานั้น ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นจริงเท่ากับ 22,568 เมกะวัตต์(ต่ำกว่าปี 2550) ในขณะที่แผนพีดีพีพยากรณ์ไว้ถึง 23,957 เมกะวัตต์ (สูงเกินไป 1,389 เมกะวัตต์ เท่ากับโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี 1 โรง) นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2551 การใช้ไฟฟ้าได้ลดต่ำลงอย่างมาก ทำให้กำลังผลิตสำรองของประเทศสูงถึง 60% จากระดับมาตรฐานที่ 15%

 

2. การเปิดประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี และการเร่งรัดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

หลังการอนุมัติแผนฯ ในเดือนมิถุนายน 2550 กระทรวงพลังงานและ กฟผ.ก็ได้ทำการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีในทันที โดยมีข้อสังเกตว่า ตามมติ ครม. ได้อนุมัติให้เปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าเอกชนจำนวน 3,200 เมกะวัตต์ แต่ผลการประมูลกลับมีการคัดเลือกโรงไฟฟ้าที่จะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าถึง 4,400 เมกะวัตต์ (เท่ากับเพิ่มโรงไฟฟ้าขึ้นอีก 2 โรง) ดังนั้น การเปิดประมูลไอพีพีครั้งนี้ ขัดกับมติ ครม.หรือไม่

 

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังเคยระบุว่า โครงการที่เข้าเสนอประมูลจะต้องมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มาประกอบการประมูลด้วย แต่ปรากฏว่าในการประมูล ผู้เข้าร่วมประมูลยังไม่ได้จัดทำรายงานอีไอเอเสร็จสิ้นแต่อย่างใด รวมทั้งต่อมา กระทรวงพลังงานยังได้กำหนดเงื่อนไขว่า โครงการที่ได้รับคัดเลือกจะต้องจัดทำอีไอเอให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2551 มิฉะนั้นจะต้องถูกตัดสิทธิ์ แต่จนถึงขณะนี้ก็คือ  3 ใน 4 โครงการก็ยังจัดทำอีไอเอไม่แล้วเสร็จ แต่กลับมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ไปเรียบร้อยแล้ว

 

นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ซึ่งเป็นเดือนที่เกิดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของปี ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่างทราบแล้วว่าแผนพีดีพี 2007 มีความผิดพลาดและจะต้องมีการทบทวนแผนใหม่ รวมทั้งต่อมาในครึ่งหลังของปี 2551 วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าการใช้ไฟฟ้าโดยรวมจะลดต่ำลงมาก แต่แทนที่จะทำการทบทวนแผนอย่างเร่งด่วน กฟผ.กลับเร่งรัดทำการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับไอพีพี 3 โครงการในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2551 ซึ่งจะกลายเป็นภาระผูกพันทางการเงินต่อรัฐไปอีก 25 ปี เหตุการณ์ครั้งนี้เปรียบเทียบได้กับการเร่งรัดทำสัญญาซื้อไฟฟ้าเอกชนในขณะเกิดวิกฤตฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 และกลายเป็นโครงการที่ไม่สามารถยกเลิกได้ ถึงแม้จะไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างก็ตาม

 

3. เงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รัฐอาจเสียเปรียบเอกชน

สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.กับไอพีพี (Power Purchase Agreement : PPA) เป็นสัญญาสัมปทานที่มีโครงสร้างเช่นเดียวกับสัญญาโรงไฟฟ้าหินกรูด-บ่อนอก ซึ่งเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสัญญาที่รัฐเสียเปรียบเอกชน แม้แต่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในขณะนั้นเอง(จาตุรนต์ ฉายแสง) ก็เคยกล่าวถึงปัญญาดังกล่าว แต่ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดที่เข้ามาตรวจสอบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไอพีพีแต่อย่างใด

 

4. การปรับปรุงแผนพีดีพี 2007 ครั้งที่ 2

            ขณะนี้ กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพีดีพี 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งปรากฏว่า ยังคงมีข้อกังขาหลายประการ กล่าวคือ

 

4.1 ในการปรับลดตัวเลขพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า คณะทำงานของกระทรวงพลังงานได้จัดทำตัวเลขออกมาเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ปรากฏว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 2564 มีค่าลดลงจากแผนพีดีพีเดิม 10,170 เมกะวัตต์ แต่ในการปรับปรุงแผนฯ กระทรวงพลังงานกลับใช้ตัวเลขพยากรณ์ฯ ที่จัดทำโดย กฟผ. ซึ่งเป็นค่าพยากรณ์ที่สูงกว่าของคณะทำงานกระทรวงพลังงาน  โดยค่าพยากรณ์ของ กฟผ.ลดลงจากแผนพีดีพีเดิมเพียง 4,333 เมกะวัตต์ (ปี 2564)

 

4.2 ภาพรวมของแผนพีดีพีฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 นี้ ปรากฏว่า กฟผ.ได้สัดส่วนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มากขึ้นกว่าแผนเดิม รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากไอพีพีก็จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

            4.3 มีการยัดไส้โรงไฟฟ้าใหม่ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (เอ็กโก้) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. เข้ามาในแผนอย่างผิดหลักการ เนื่องจากเอ็กโก้ถือเป็นบริษัทโรงไฟฟ้าไอพีพี ซึ่งเป็นโครงการที่จะต้องเปิดประมูลแข่งขัน

 

            4.4 มีการปลดโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ.ออกจากระบบเร็วขึ้น โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการรักษาระดับกำลังผลิตสำรองไม่ให้สูงเกินไป

 

5. ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน

            กฟผ.ได้มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงแผนพีดีพีครั้งนี้ ซึ่งแผนที่ออกมาก็ดูจะเอื้ออำนวยให้ กฟผ.ได้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากไอพีพี ซึ่งมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทเอ็กโก้ของ กฟผ.ได้มีส่วนในการถือหุ้นอยู่ในโรงไฟฟ้าไอพีพีหลายโครงการที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ด้วย

 

            ในส่วนของกระทรวงพลังงาน นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (เอ็กโก้) ซึ่งเป็นบริษัทไอพีพี ที่ กฟผ.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนอม โดยที่แผนพีดีพีฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 มีการยัดไส้โรงไฟฟ้าใหม่ของเอ็กโก้ที่ขนอมเข้ามาในแผนด้วย

 

            จึงกล่าวได้ว่า กลุ่มผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดแผนพีดีพี ถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้ประโยชน์จากการกำหนดนโยบายของตนเองด้วย ซึ่งเป็นการผิดหลักธรรมาภิบาล และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ส่วนรวม

 

            จากสภาพปัญหาดังกล่าว พวกเราจึงของร้องเรียนต่อกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ให้ดำเนินการตรวจสอบธรรมาภิบาลในการวางแผนพีดีพี 2007 ตลอดจนการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากแผนฉบับนี้ ตามประเด็นปัญหาที่ได้นำเสนอมาข้างต้น

 

สำหรับข้อมูล/หลักฐานเพิ่มเติม พวกเราจะรวบรวมเพื่อนำเสนอต่อกรรมาธิการฯ ในโอกาสต่อไป

 

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

 

 

………………………………………………………

นส.ธนิกา  บุญธรรมหนัก

ผู้แทนเครือข่ายรักษ์แปดริ้ว คัดค้านโรงไฟฟ้าก๊าซเสม็ดเหนือเสม็ดใต้  อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

 

………………………………………………………

นส.นันทวัน หาญดี

ผู้แทนเครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม, สนามชัยเขตจ.ฉะเชิงเทรา 

 

………………………………………………………

นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี

ผู้แทนเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม คัดค้านโรงไฟฟ้าก๊าซหนองแซง อ.หนองแซง สระบุรี และ อ.ภาชี จ.อยุธยา 

 

………………………………………………………

นายสุทธิ  อัชฌาศัย

ประธานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก 

 

………………………………………………………

นส.วัชรี เผ่าเหลืองทอง 

ฝ่ายประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า

 

 

..................................................

 

อ่านเพิ่มเติม

พีดีพี 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2: ปัญหาเชิงกระบวนการและเนื้อหา

สนพ.ซุ่มปรับแผนพีดีพี 2007 ลดจัดหาไฟฟ้า 6,000เมกะวัตต์ แต่ กฟผ.ยังสร้างเพิ่ม-ชาวบ้านบุกค้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท