Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี


โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ในรายการเช้าทันโลก FM 96.5 MHz (12 กุมภาพันธ์ 2552)


ที่มา : http://radio.mcot.net/player/playProgramClip.php?id=47925


 






ลำดับเหตุการณ์


3 ก.พ.52  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยดำเนินการตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร และความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ประกาศให้พืชสมุนไพรซึ่งใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชรวม 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก คื่นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1


ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร ได้ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้ผู้ใดก็ตามที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อขายพืชสมุนไพรดังกล่าวต้องแจ้งล่วงหน้าต่อเจ้าพนักงานตามแบบฟอร์มที่กรมวิชาเกษตรเป็นผู้กำหนด ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษตามความในมาตรา 71 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


11 ก.พ.52 เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรสาธารณะประโยชน์ 12 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกคำประกาศดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า การออกกฎระเบียบดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การควบคุมเกษตรกร ชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อยโดยแท้ เนื่องจากประกาศควบคุมเฉพาะ "ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี" และ "เฉพาะที่นำไปใช้ในการป้องกันกำจัด ทำลาย ควบคุมแมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช"


13 ก.พ.52  กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศให้สมุนไพรไทย 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ควรการทบทวนการออกประกาศฉบับนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้ง 2 ด้าน เพราะเกี่ยวข้องกับแพทย์พื้นบ้านและแพทย์แผนไทยอีกทั้งยังกระทบต่อวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนที่ใช้กระบวนการทางธรรมชาติในการทำสารควบคุมแมลง นอกจากนี้ยังควรตรวจสอบการออกประกาศว่าเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ เพราะออกประกาศในขณะที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเองยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่ อีกทั้งการใช้วิธีการเวียนหนังสือเพื่อลงมติ ที่เป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบตามหลักปกครอง


นพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ควรมีการถอนประกาศดังกล่าว  แม้ว่าการออกประกาศฉบับนี้ทำไปเพื่อเจตนาคุ้มครองผู้บริโภค แต่ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า น่าจะใช้วิธีอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดกว่า


 


 



ภาพจากไบโอไทย


 


ประกาศฉบับประวัติศาสตร์ : เส้นทางการขึ้นบัญชีสมุนไพรเป็นวัตถุอันตราย  


วิฑูรย์ : ประกาศนี้ จริงๆ แล้วผลักดันโดยกรมวิชาการเกษตร โดยอ้างว่าต้องการควบคุมคุณภาพของสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ หรือสมุนไพรนั่นเองทั้งที่ชาวบ้านใช้กันมาช้านานแล้วและกว้างขวางแพร่หลายมาก การออกประกาศนี้จึงนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่กำหนดให้พืชสมุนไพร เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หมายความว่าการจะมีไว้ครอบครอง การผลิต จะต้องทำตามหลักเกณฑ์วิธีการที่เขากำหนด ถ้าดำเนินการอยู่โดยไม่จดแจ้งจะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท


จริงๆ แล้วหลายคนก็ประหลาดใจมาก คณะกรรมการวัตถุอันตรายน่าจะมีการควบคุมการใช้สารเคมีทั้งในทางอุตสาหกรรมและการเกษตรมากกว่า เพราะมันสร้างปัญหามากมาย ยกตัวอย่างว่า ปัญหามันมาถึงขั้นที่ว่าขณะนี้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคไม่ปลอดภัยเลยในการบริโภคอาหารที่ใช้สารเคมีเหล่านี้ ผมเป็นคณะกรรมการอาหารเชียงใหม่ปลอดภัย ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน จากการเจาะเลือดแม่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามี 44% เลือดมีระดับสารตกค้างของเคมีกำจัดศัตรูพืชในระดับที่ไม่ปลอดภัย ขนาดอาจารย์และนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งอยู่ในคณะเกษตร ก็ตรวจเลือดแล้วพบว่าอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัยนี้ใกล้เคียงกัน ที่แม่โจ้ถึงกับประกาศว่า สิ่งที่ร่ำเรียนมาทั้งหมดโดยพึ่งพาสารเคมีนั้น ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง


เรามีปัญหาหนักขนาดนี้ แต่แทนที่จะควบคุมสารเคมี แต่กลับมาควบคุมชาวบ้านซึ่งใช้สารสมุนไพร ซึ่งมีโทษน้อยมากหรืออาจไม่มีเลย หลายฝ่ายจึงคิดไปในแง่ที่ว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไหม เพราะกระบวนการในการออกประกาศนี้ไม่ถูกต้องชอบธรรมหลายประการ


มี 2 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1.คณะกรรมการนั้นมีหน่วยงานบางหน่วยงานที่ได้ตั้งข้อสังเกตหรือข้อโต้แย้งไว้ แต่อยู่ๆ คำประกาศนี้ก็ออกมาเมื่อ 3 ก.พ.อย่างรวดเร็ว โดยที่หน่วยงานดังกล่าวยังไม่ได้มีโอกาสแสดงความเห็นข้อเสนอแนะอย่างเป็นทางการเลย 2.กรรมการที่อนุมัติให้มีประกาศฉบับนี้ เป็นกรรมการที่ไม่ชอบ เพราะ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มีการปรับปรุงแก้ไขเป็นฉบับที่3 เมื่อเดือน ก.พ.51 หลังจากออกกฎหมายมาเมื่อปี 2535 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอร่างปรับปรุงฉบับนี้ ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการมี 5 ท่านซึ่งมาจากองค์กรสาธารณประโยชน์เข้าไปอยู่ในกรรมการชุดนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นองค์การที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสุขภาพ ผู้บริโภค เกษตรกรรมยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และการกำกับของเสียอันตราย อีกทั้งในบทเฉพาะกาลเขียนไว้ว่าระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการชุดนี้ ให้กรรมการชุดเก่าทำหน้าที่ได้ไม่เกิน 180 วัน ถ้านับเมื่อราชกิจจานุเบกษาประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับปรับปรุงนี้ก็บังคับใช้ตั้งแต่ 25 ก.พ.ก็ถือว่าเกินระยะเวลาแล้ว เมื่อไปค้นมติครม.ก็พบว่ายังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่เลย


 


สำรวจอิทธิพลของบรรษัทเคมีด้านการเกษตร


วิฑูรย์ : บริษัทอุตสาหกรรมสารเคมีมีผลประโยชน์มหาศาล บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ควบคุมการค้าขายสารเคมีในทั่วโลก ที่ครอบครองตลาดหลักตอนนี้มีประมาณ 10 บริษัท ซึ่งล้วนแล้วแต่มีกิจการในเมืองไทยทั้งสิ้น เช่น บริษัทใหญ่ที่สุดคือ ซินเจนต้า ควบคุมผูกขาดทั้งในกิจการสารเคมี ยารักษาโรค เมล็ดพันธ์ ยาในปศุสัตว์ บริษัทมอนซานโตก็ใหญ่มาก ควบคุมการค้าขายเมล็ดพันธุ์และยาปราบศัตรูพืช บริษัทนี้มีบทบาทในทุกประเทศของโลกในการผลักดันนโยบายที่ตัวเองประสงค์กับรัฐบาลท้องถิ่น อย่างตอนมีการเจรจาเอฟทีเอไทย-อเมริกา มอนซานโต้ก็ล็อบบี้รัฐบาลไทย เข้าพบนายกฯ และรัฐมนตรีหลายคน รวมถึงระดับเจ้าที่ของราชการที่ดูแลกำกับความปลอดภัยด้วย โดยเฉพาะกรณีการผลักดันเรื่องจีเอ็มโอ (การตัดแต่งพันธุกรรม) นอกจากนี้มอนซานโต้ยังเป็นบริษัทต้นๆ ที่ค้าขายสารเคมีทางการเกษตร ที่ชื่อว่าไกลโฟเซท ครองตลาดมากที่สุดในโลก


กรณีตัวอย่างที่สำคัญคือ ในประเทศอินเดีย บริษัทสาขาของมอนซานโต้ถึงกับไปจดสิทธิบัตรสารสกัดจากสะเดา ซึ่งอยู่ในรายการของพืชที่อยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายของอินเดีย เหมือนกับที่กรมวิชาการเกษตรกำลังผลักดันในไทยนี้แหละ จนเป็นที่คัดค้านของคนอินเดียทั่วประเทศ เพราะไปขโมยภูมิปัญหาท้องถิ่นของชาวบ้านซึ่งใช้มาเป็นพันปี เพราะคนอินเดียเอาเปลือกของสะเดามาเป็นสารกำจัดศัตรูพืช กำจัดแมลง รวมทั้งใช้ประโยชน์ในทางยา เครือข่ายขององค์กรประชาชน นักสิ่งแวดล้อมทั่วโลก มาร่วมรณรงค์คัดค้านเรื่องนี้ บางคนก็มาร่วมฟ้องกรณีนี้ด้วยให้บริษัทมอนซานโต้ให้ถอนการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากสะเดา ซึ่งการฟ้องให้เพิกถอนประสบผลสำเร็จในยุโรป แต่ในอเมริกายังไม่ปรากฏผล


 


แล้วอิทธิพลของสมุนไพรในหมู่เกษตรกรไทยล่ะ ?


วิฑูรย์ : ที่จริงมีการตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามของอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่มาสร้างภาระในการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์มาโดยตลอด ยกตัวอย่าง เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมการซึ่งมาจากหลายฝ่าย เช่น สาธารณสุข เกษตร ภาคประชาชน พยายามผลักดันกฎหมายให้มีการตั้งองค์กรเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทย ปรากฏว่า บริษัทสารเคมีเหล่านี้ ร่วมกับอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงเกษตรออกมารวมตัวกันคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายนี้มุ่งที่จะเก็บภาษีสารเคมีของกลุ่มบริษัทนี้ จนถึงที่สุด รมว.เกษตรขณะนั้นในรัฐบาลชั่วคราว ตัดสินใจไม่เสนอร่างกฎหมายนี้สู่ สนช. ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีประโยชน์มากในการควบคุมสารเคมีทางการเกษตร เพราะจะมีการเก็บภาษีแล้วจะนำเงินเหล่านี้ไปใช้ส่งเสริมการเกษตรแบบอินทรีย์


การใช้สมุนไพรต่างๆ ที่มีอยู่แล้วและกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทดแทนเคมีทางการเกษตร ขณะที่การนำเข้าสารเคมีการเกษตรเพื่อควบคุมศัตรูพืชของไทยมีมหาศาล ณ ปี 2551 อยู่ที่ 18,565 ล้านบาท แต่การส่งเสริมการใช้สมุนไพรขององค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชาวบ้าน และหน่วยงานราชการอย่างหน่วยงานด้านสาธารณสุข เท่าที่เราประมวลกันเองก็มีไม่น้อยเช่นกัน คือ มีคนที่ใช้สมุนไพร 13 รายการที่ว่า ประมาณ 500,000 ครอบครัวในประเทศไทย หรือ 1 ใน 4 ของคอรบครัวเกษตรปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นสัดส่วนการตลาดที่สำคัญ


ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย สันนิษฐานได้ว่าบริษัทเหล่านี้อยู่เบื้องหลังของการออกประกาศฉบับนี้ คนที่อยู่ในแวดวงการเกษตรมา 20-30 ปี เราจะเห็นคนกลุ่มเดิมมีบทบาททางนโยบายในการสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ หรือการไม่พึ่งพาสารเคมีในประเทศไทยอย่างชัดเจน ก่อนหน้านี้ก็มีการออกประกาศของกระทรวงที่ต้องขึ้นทะเบียนสำหรับผู้ที่จะทำปุ๋ยชีวภาพเป็นการค้า แต่ประกาศคราวนี้เป็นการควบคุมเกษตรกรรายย่อยเลย ควบคุมวิธีการที่ชาวบ้านจะตัด บด หมัก สมุนไพรเพื่อใช้ทางการเกษตร ชาวบ้านที่มาแถลงข่าวในวันที่ 11ก.พ. จึงมีทั้งในฐานะเป็นผู้จำหน่วยสมุนไพรเหล่านี้ ถุงละ 10 บาท 20 บาท และชาวบ้านทั่วไปที่เป็นผู้ซื้อ เขายกขบวนมาเลย เช่น ที่โรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรีที่มีสมาชิกนับพันครอบครัว และมีชื่อเสียงทั่วประเทศ


ดังนั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งดูแลเรื่องนี้ตามกฎหมายและกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นผู้ชงเรื่องนี้ต้องแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน ไม่เช่นนั้นหลายฝ่ายคงต้องตั้งข้อสงสัยในเรื่องของบทบาทของบริษัทข้ามชาติด้านเคมีด้านการเกษตรที่มีอิทธิพลในเรื่องนี้ เพราะทุกคนรู้ประวัติของแต่ละคนในกระทรวงดี ทุกท่านลองไปค้นหาชื่อข้าราชการที่ผลักดันเรื่องนี้แล้วลองไปดูว่าคนกลุ่มนี้ในอดีตได้ทำอะไรบ้างจะเห็นทันทีว่าไปเกี่ยวข้องเรื่องที่ไม่ชอบมาพากลอะไรบ้างเกี่ยวกับการเกษตรในบ้านเรา


 


บทบาทบรรษัทเคมีเกษตรในประเทศมหาอำนาจ "อเมริกา"


วิฑูรย์ : ในสหรัฐอเมริกาที่เราคิดว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย บริษัทเหล่านี้เป็นผู้บริจาคเงินมหาศาลให้กับผู้แข่งขันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในสมัยของจอร์จ บุช มอนซานโต้ให้การสนับสนุนบุช เป็นเงินสูงสุดในบรรดาบริษัทเคมีด้านการเกษตร และในที่สุดเมื่อจอร์จ บุช ดำรงตำแหน่งประธาธิบดี บริษัทเหล่านี้ก็ยังเทเงินสนับสนุนบุช ถึง 75% อีก 25% ให้กับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม คล้ายๆ ไทยเหมือนกัน


ถึงขนาดที่ว่ามีองค์กรของอเมริกาที่เริ่มมอนิเตอร์ว่าบริษัทเหล่านี้ได้ทุ่มเงินไปเท่าไรในการเมืองอเมริกาและการล็อบบี้นโยบายต่างๆ ทำให้เห็นภาพชัดเจนถึงความสัมพันธ์ของมัน เช่น ตอนที่ไทยทำเอฟทีเอกับสหรัฐ มอนซานโต้ก็อยู่ในทีมเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีสหรัฐด้วย และมีตำแหน่งสำคัญต่างๆ เช่น หน่วยงานด้านการควบคุมความปลอดภัย เหมือน อย.ในบ้านเรา  เป็นบอร์ดด้านสิ่งแวดล้อมใหญ่ในสหรัฐอเมริกา กระทั่งการเจรจา WTO ที่ฮ่องกง หัวหน้าคณะเจรจาด้านการเกษตรก็เป็นคนในเครือข่ายบรรษัทเหล่านี้ มีการแต่งตั้งกันก่อนหน้าไม่กี่เดือน ขนาดในกรรมาธิการด้านการเกษตรในวุฒิสภาของสหรัฐ  ก็มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเคมีด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ถึง 13 คนในช่วงของประธานาธิบดีจอร์จ บุช


ที่ชัดเจนที่สุดคือ นโยบายจีเอ็มโอ ในสหรัฐ คนอาจคิดว่าสหรัฐเป็นประชาธิปไตย แต่กรณีนี้มันไม่ใช่ กรณีสินค้าที่มาจากผลิตภัณฑ์จีเอ็นโอ คนในสหรัฐมากกว่าครึ่งปฏิเสธอาหารจีเอ็นโอ แต่มากกว่า 90% เรียกร้องให้รัฐบาลติดฉลากที่ระบุว่าสินค้าพวกนั้นมาจากวัตถุดิบจีเอ็มโอหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลกลับล้มเหลวในการผลักดันมาตรการติดฉลากนี้ออกมา เพราะอิทธิพลของบรรษัทเหล่านี้ จนถึงขณะนี้อเมริกาก็ยังเปิดเสรีให้มีการค้าขายอาหารจีเอ็มโอได้ แต่คนที่ไม่ต้องการจีเอ็มโอไม่มีสิทธิรู้ว่าที่เขากินนั้นใช่หรือไม่ ตรงนี้ต่างจากยุโรปมาก ซึ่งกระบวนการประชาธิปไตยเป็นไปได้มากกว่า มีพื้นที่มากกว่า แต่ก็ต้องต่อสู้กับบรรษัทเหล่านี้อย่างมกาเช่นกัน แต่สื่อมวลชนที่นั่นมีส่วนช่วยเปิดเผยข้อเท็จจริง ตรวจสอบได้เยอะ


 


นอกจากนี้กระบวนการแทรกแซงยังลงไปถึงนโยบายของระดับท้องถิ่น เพราะบางแห่งก็ประกาศให้พื้นที่ของตนเองเป็นเขตปลอดเคมีการเกษตรหรือจีเอ็มโอ แต่บรรษัทก็ทุ่มเงินมหาศาลให้มีการแข่งกันดำรงตำแหน่งผู้บริหารในระดับอำเภอนั้น เพื่อไม่ให้นโยบายนี้ออกมา สู้กันในระดับนั้นเลย


 


ให้เวลา  7 วัน ก่อนเดินหน้าตรวจสอบใหญ่


วิฑูรย์ : เราจะให้เวลาประมาณ 7 วัน ดูว่ากระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมจะดำเนินการอย่างไร ถ้าพยายามที่จะเบี่ยงเบนประเด็นหรือบิดเบือนเรื่องนี้ เราจะดำเนินการต่อไปแน่


ขอยกตัวอย่างการเบี่ยงเบนที่ผ่านมาเช่น บอกว่าการประกาศให้พืชสมุนไพรมาอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เป็นการช่วยเหลือด้วยซ้ำไป เพราะมีการคุ้มครองไม่เข้มงวด (ไม่เข้มงวดของเขาคือจำคุก และปรับด้วย) ถ้าให้เป็นชนิดที่ 2 จะควบคุมเข้มงวดกว่านี้ นี่เป็นการบิดเบือนเนื้อหา เพราะแต่เดิมคำประกาศให้ขิงข่า ตะไคร้ อยู่ในบัญชีที่ 2 นั้นเป็นการควบคุมสารสกัดทางเคมี ไม่ใช่ตัวพืช แต่ครั้งนี้เป็นการควบคุมตัวพืชสมนุไพรโดยตรง และที่น่าสนใจคือควบคุมการใช้ระดับท้องถิ่น ชาวบ้านเขาไม่ได้ทำกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีอะไรเลย บด สับ ขายกันอย่างนั้น ประกาศบอกว่าถ้าทำแบบนี้แล้วไม่จดแจ้งมีความผิด


ถ้าทางการยังไม่ยอมรับว่านี่ได้สร้างภาระให้กับชาวบ้าน เราจะไปร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรี และยื่นร้องต่อคณะกรรมาธิการธรรมภิบาลของวุฒิสภา ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ว่ามีเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มไหนอย่างไร


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net