สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ (24 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2552)

28 มกราคม 2552

 

โครงการอาหารโลกชี้ชาวพม่า 6 ล้านคนขาดแคลนอาหาร

โครงการ อาหารโลกออกรายงานเตือนว่าประชากรในพม่าจำนวน 6 ล้านคนขาดแคลนอาหารอย่างหนักและกำลังรอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประชาชนในเขตลุ่มน้ำอิระวดีที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กิส และประชาชนที่อยู่ในรัฐชินที่หนูกัดกินพืชผลได้รับความเสียหาย

 

นอก จากนี้ยังระบุว่า ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือด้านอาหารให้กับชาวชินในรัฐชินและชาวมุสลิมโรฮิงยาได้เท่าที่ควร เนื่องจากการเข้มงวดของทางการพม่า ที่ห้ามนานาชาติเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน (BBC News)

 

 

30 มกราคม 2552

 

ชาวพม่าขอลี้ภัยเข้าญี่ปุ่นเพิ่มสองเท่า

รัฐบาลญี่ปุ่นชี้จำนวนประชาชนที่ขอลี้ภัยในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสองเท่า จากเดิมปีที่แล้ว 816 คน เพิ่มขึ้นเป็น 1,599 คน แต่มีผู้ที่ได้รับอนุญาตเพียง 57 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า โดยญี่ปุ่นได้ถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่รับผู้ลี้ภัยจำนวนน้อย ในขณะที่สหรัฐอเมริกาให้รับผู้ลี้ภัยนับหมื่นต่อปี (AFP)

 

 

2 กุมภาพันธ์ 2552

 

อิบราฮิมเข้าพบนางซูจีรอบใหม่

นาย อิบราฮิม แกมบารี ทูตพิเศษของยูเอ็นเข้าพบนางอองซานซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีและผู้นำระดับสูงของพรรคเอ็นแอลดีในกรุงย่างกุ้งอีก ครั้งในการเดินทางเยือนพม่ารอบใหม่

 

มีรายงานว่า นางซูจีได้กล่าวกับนายอิบราฮิมแกมบารีว่า การเจรจารวมถึงการปฏิรูปการเมืองในพม่าจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อนางซูจี และสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีที่กำลังถูกกุมขัง รวมถึงนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ ได้รับการปล่อยตัว โดยการเยือนพม่าครั้งนี้ นายอิบราฮิมยังล้มเหลวเมื่อไม่สามารถเข้าพบปะกับนายพลอาวุโสตานฉ่วย ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อการเยือนพม่าของนายอิบราฮิมจะไม่สามารถแก้ไขปัญหา วิกฤติการเมืองในพม่าได้ (Irrawaddy)

 

 

โรฮิงยาออกแถลงการณ์ตอบโต้รัฐบาลพม่า

ชาวมุสลิมโรฮิงยาในบังกลาเทศออกแถลงการณ์ตอบโต้และประท้วงรัฐบาลพม่าอย่างหนัก หลังรัฐบาลพม่าระบุลงในหนังสือพิมพ์พม่าท้องถิ่นฉบับหนึ่งว่า ชาวมุสลิมโรฮิงยาไม่ใช่พลเมืองของประเทศพม่า รวมถึงระบุว่าชาวมุสลิมโรฮิงยาที่ถูกทางการไทยผลักดันออกนอกประเทศเองก็ไม่ ใช่ชาวมุสลิมโรฮิงยาที่มาจากประเทศพม่าเช่นเดียวกัน

 

ขณะที่ในแถลงการณ์ของชาวมุสลิมโรฮิงยาชี้แจงว่า ชาวมุสลิมโรฮิงยานั้นได้โยกย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลาหลายร้อยปี และนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1936 ในยุคที่อยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษนั้น ชาวมุสลิมโรฮิงยายังได้เคยรับเลือกให้เข้าไปดำรงตำแหน่งในรัฐสภามาแล้วหลายคน (Kalandan Press)  

 

 

3 กุมภาพันธ์ 2552

 

รัฐบาลพม่าสร้างโรงงานผลิตอาวุธแห่งใหม่

มีรายงานว่าการก่อสร้างโรงงานผลิตอาวุธสงครามแห่งใหม่ของรัฐบาลพม่า ซึ่งตั้งอยู่ในเขตมะกวย ทางตอนกลางของประเทศเดินหน้าแล้วเสร็จแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง โดยกำหนดการแล้วเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งทางการพม่าคาดหวังว่าจะสามารถผลิตอาวุธสงครามและรถถังให้กับทางกองทัพ พม่า ขณะที่ชาวบ้านร้องเรียนว่า ที่ตั้งของโรงงานผลิตอาวุธแห่งใหม่นี้ เป็นที่ดินที่รัฐบาลยึดมาจากพื้นที่เพาะปลูกทำกินของชาวบ้าน (Mizzima)

 

 

 

6 กุมภาพันธ์ 2552

 

นักศึกษาปี 1988 ถูกส่งไปเรือนจำเขตชนบท

มีรายงานว่านักโทษทางการเมืองจำนวน 13 คนจากลุ่มนักศึกษา1988 ถูกทางการพม่าย้ายจากเรือนจำอินเส่งไปยังเรือนจำในเขตชนบทของรัฐอาระกัน เขตอิระวดี เขตพะโค และภาคมัณฑเลย์

 

ก่อนหน้านี้นายมินโกนาย แกนนำนักศึกษาปี 1988 ก็ถูกส่งตัวไปกุมขังในเรือนจำทางภาคตะวันออกของรัฐฉาน ทั้งนี้พบว่านักโทษทั้ง 13 คนเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ถูกทางการพม่าพิพากษาจำคุกเมื่อปีที่แล้ว ด้านญาติของนักโทษการเมืองระบุ การย้ายนักโทษทางการเมืองไปอยู่ในเรือนจำในเขตชนบทนั้น ทำให้ญาติของนักโทษไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมได้บ่อยครั้งเหมือนเช่นเคย (Irrawaddy)

 

 

อินโดจะให้สถานะลี้ภัยกับโรฮิงยา

รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ฮัสซัน วิรายุดา เปิดเผยว่าจะพิจารณาให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้อพยพชาวโรฮิงยาที่ทางการ อินโดนีเซียให้ความช่วยเหลือไว้ หลังถูกกองทัพไทยลากเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ออกมาทิ้งกลางทะเล แม้ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียระบุว่า ชาวโรฮิงยาเหล่านี้เป็นผู้อพยพทางเศรษฐกิจและจะดำเนินการส่งกลับ

 

นอกจากนี้จะอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอช ซีอาร์เข้าเยี่ยมชายชาวโรฮิงยาทั้ง 400 คนที่ได้รับการช่วยเหลือจากเรือสองลำที่ลอยเคว้งอยู่นอกชายฝั่งทางเหนือของ เกาะสุมาตราในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้ทางการอินโดนีเซียปฏิเสธไม่ให้ยูเอ็นเอชซีอาร์พบคนเหล่านี้ (เนชั่น)

 

 

แองเจลิน่าเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยทางภาคเหนือของไทย

แองเจลินา โจลี นักแสดงชื่อดัง ในฐานะทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) พร้อมแบรด พิตต์ สามี ได้เดินทางเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอย จ.แม่ฮ่องสอน โดยดาราสาวชื่อดังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือให้ผู้อพยพชาวพม่าใน ค่ายผู้อพยพสามารถดำรงชีวิตอยู่ในลักษณะที่พึ่งพาตนเองได้

 

ก่อนหน้านี้ ในปี 2547 แองเจลิน่าเคยเดินทางมาเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยชาวพม่ามาแล้วครั้งหนึ่ง ขณะที่ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอยเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่เป็นอันดับที่สาม โดยมีผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้จำนวน 111,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงที่หนีจากภัยสงครามในพม่า (AFP)

 

 

ที่มา: รวมรวมและเรียบเรียงโดยสาละวินโพสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท