Skip to main content
sharethis





หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 16 ก.พ. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเผยแพร่แถลงการณ์เรื่อง


 "การเสนอแก้ไขกฎหมายคือเสรีภาพพื้นฐานของพลเมือง" ผ่านทาง www.midnightuniv.org ยืนยันการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 กระทำได้ในฐานะของพลเมืองและเป็นเสรีภาพที่ต้องได้รับการเคารพ ความพยายามบิดเบือนว่าผู้เสนอแก้ไขหรือยกเลิกให้กลายเป็นบุคคลที่ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นับเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการของสังคมในระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง อีกทั้งเป็นการคุกคามการแสดงความเห็นอันเสรีของพลเมือง


 


 


แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


การเสนอแก้ไขกฎหมายคือเสรีภาพพื้นฐานของพลเมือง


 


การกระทำอันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นกฎหมายเรื่องหนึ่งที่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคมไทยอย่างสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาซึ่งมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นรุนแรง กฎหมายนี้ก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างกว้างขวาง


 


แม้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายจะต้องการมุ่งปกป้องสถาบันกษัตริย์จากการถูกล่วงละเมิดโดยไม่ชอบ แต่ในความเป็นจริงได้มีการกล่าวหากับบุคคลเป็นจำนวนมากว่ากระทำความผิดในข้อหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการกระทำหลายประการที่อาจมิได้เข้าข่ายต่อสิ่งที่เป็นความผิดในกฎหมาย เช่น การนำพระราชดำรัสมาพิมพ์เป็นสติ๊กเกอร์ ถ้อยคำบางคำที่ถูกตีความในทางลบต่อสถาบันกษัตริย์ การกระทำซึ่งเป็นการเพิกเฉยต่อสัญลักษณ์ของสถาบัน ฯลฯ


 


นอกจากนั้น ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมก็ยังเกิดข้อสงสัยว่า ได้มีการดำเนินไปอย่างเป็นธรรมเพียงพอหรือไม่ บุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาหลายคนไม่ได้รับการประกันตัว การได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐที่แตกต่าง อันเนื่องจากถูกมองว่าเป็นข้อหาที่ละเมิดต่อเบื้องสูง ซึ่งล้วนแต่ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า "ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลเกิดขึ้น"


 


ด้วยเหตุที่การเริ่มคดีดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยง่าย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองระหว่าง บุคคลหรือกลุ่มต่างๆ ภายใต้การกล่าวอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในเรื่องนี้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะกับฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง เกือบทุกฝ่ายต่างก็ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


 


ภายใต้สภาวการณ์ที่กฎหมายได้ทำให้เกิดปัญหาขึ้นเช่นนี้ การเสนอความเห็นเพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายจึงเป็นเสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองในสังคมที่จะกระทำได้ ซึ่งการแก้ไขนี้อาจนำไปสู่ทางออกในหลายรูปแบบ ซึ่งขึ้นกับความเห็นและมติของสังคมจะถกเถียง แลกเปลี่ยน และผลักดันความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายให้เกิดการยอมรับในสังคมอย่างไร


 


บุคคลผู้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายไม่ว่าจะเป็นไปด้วยการเสนอให้ปรับปรุงเล็กน้อย หรือมาก หรือแม้กระทั่งให้ยกเลิกก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขนี้ ซึ่งทั้งหมดสามารถที่จะกระทำได้ในฐานะของพลเมืองและเป็นเสรีภาพที่ต้องได้รับการเคารพ ความพยายามบิดเบือนว่าผู้เสนอแก้ไขหรือยกเลิกให้กลายเป็นบุคคลที่ไม่จงรัก ภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นับเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการของสังคมในระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง อีกทั้งเป็นการคุกคามการแสดงความเห็นอันเสรีของพลเมือง


 


หัวใจสำคัญประการหนึ่งของการทำให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการการกลั่นแกล้งทางการเมือง ก็ด้วยการร่วมขบคิดถึงปัญหาและแสวงแนวทางแก้ไขที่เปิดให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเสรี และเคารพซึ่งศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของซึ่งกันและกัน


 


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


16 กุมภาพันธ์ 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net