Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Intelligence Unit


เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.siamintelligence.com/how-communist-party-of-thailand-defeated/ วันที่ 16 ก.พ. 2552


 


[หมายเหตุ: บางกอกโพสต์นำบทวิเคราะห์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเวียดนาม ที่เป็นไปในลักษณะทั้งการร่วมมือทางการค้า ผสมกับความหวาดระแวงระหว่างทั้งสองฝ่าย อันเนื่องมาจากสงครามระหว่างจีนกับเวียดนาม (Sino - Vietnamese war) ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งเชิงการเมืองโลก (geopolitics) ที่เกิดการแตกตัวในค่ายคอมมิวนิสต์ จีน-โซเวียต อันเนื่องมาจาก เหมาเจ๋อตุงไม่ถูกกับครุสชอฟ หลังยุคสตาลิน และปัญหาระหว่างท่าทีของโซเวียตต่ออินเดีย กับกรณีเวียดนามยึดกัมพูชา — ซึ่งตอนนั้นเขมรแดงถือว่าเป็นแนวร่วมและใกล้ชิดกับจีน) เวียดนามก็หันเข้าหาโซเวียตมากขึ้น จีนจึงรู้สึกว่าเวียดนามเป็นภัยคุกคาม


 


สงครามจีน-เวียดนามเป็นสงครามที่ทั้งสองฝ่ายพยายามลืม แต่กระนั้นก็ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายตายไปเกือบ 40,000 คน ทั้งนี้ความขัดแย้งในครั้งนั้นทำให้จีนหันมาทบทวนความร่วมมือกับรัฐบาลไทย และละทิ้งความร่วมมือกับเวียดนาม (ซึ่งในขณะนั้นมีความใกล้ชิดกับโซเวียต) ในแนวทางการกดดันภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งนั่นหมายถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่ต้องถือว่าเป็นขั้นสงครามกลางเมืองระหว่าง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐไทย ในขณะนั้น ให้เริ่มดำเนินไปสู่เส้นทางแห่งการยุติความขัดแย้งลงด้วย


 


SIU ขอนำเสนอบทวิเคราะห์ผลกระทบต่อสงครามครั้งนั้น ซึ่งส่งผลมายังผลกระทบที่ทำให้ พคท. ต้องพ่ายแพ้ในตอนแรก ก่อนจะนำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันในวันพรุ่งนี้]


 


 


……


 


เมื่อพูดถึงขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ที่มีขนาดใหญ่ ชัดเจนที่สุด และมีกำลังกล้าแข็งที่สุด คงไม่อาจไม่พูดถึง "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" ได้ ขบวนการของ พคท. ดูเหมือนว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากขบวนนักศึกษา-ปัญญาชน หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพิ่มมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงในศูนย์การนำของ พคท. เองก็มีความแตกแยกทางความคิดกันอยู่ก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว เริ่มตั้งแต่


 


* การแยกตัวของ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร และ ผิน บัวอ่อน โดยประเสริฐ เสนอแนวทางการสู้ในสภา ส่วนผินไม่เห็นด้วยกับแนวทางซ้ายจัดของนักศึกษา


* การวิพากษ์ศูนย์กลางของพรรคภายใต้การนำของดำริห์ เรืองสุธรรม เรื่องนี้ถึงกับทำให้พรรคเกือบแตกและรบกันเอง [ดูกรณีการวิพากษ์ศูนย์กลางของพรรคภายใต้การนำของดำริห์ เรืองสุธรรม ใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ประวัติ พคท. ฉบับ พคท. (2), ฟ้าเดียวกัน 1:2]


* การวิพากษ์ของแกนนักศึกษาที่เข้าป่าไปสมทบ กับพคท. นักศึกษามองว่า แกนนำพคท. เก่าล้าหลัง ที่เชื่อทฤษฎี กึ่งศักดินา กึ่งเมืองขึ้น แล้วเลยกำหนดยุทธศาสตร์เป็น ชนบท ล้อมเมือง กล่าวคือไปลอกแนวยุทธศาสตร์เอามาจากจีนโดยไม่ดัดแปลง เรื่องนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ "สหายนักศึกษารุ่นใหม่" เข้าร่วมการปฏิวัติกับ พคท. ก็เริ่มมีการแตกแยกทางความคิด ในแง่ "การวิเคราะห์สังคมไทย" ขึ้นมา (ดู ธิกานต์ ศรีนารา, จาก "กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา" ถึง "ทุนนิยม" : วิวาทะว่าด้วย "ลักษณะสังคมไทย" ใน พคท., ฟ้าเดียวกัน 4:4)


 


 


 



เอกสารบรรยายสรุป นโยบาย 66/2523


 


ดูเหมือนแวดวงวิชาการจะยอมรับว่าความแตกแยกทางความคิด ในเรื่อง "การวิเคราะห์สังคมไทย" เป็นปัจจัยภายในด้านหลัก ที่ทำให้ขบวน พคท. ล่มสลาย โดยมีปัจจัยภายนอก คือการแตกแยกใน communist bloc ของ สหภาพโซเวียต และจีน มีบางส่วนอาจกล่าวถึง นโยบาย 66/2523 ว่าเป็นปัจจัยหนุนเสริมบ้าง


 


เนื้อหาใน "วันนั้นจะชนะได้ยังไง" ของ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ สร้างความเชื่อมโยงและบ่งบอกแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจกว่านั้น


 


(1) พล.อ. ชวลิต ให้ความสนใจในแนวคิดของ มาร์กซ์-เหมา หลังจากพบว่า ปฏิบัติการทางทหาร ที่เขากล่าวว่าได้รับความรู้มาจากสหรัฐฯ ไม่สามารถใช้ต่อสู้กับ พคท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ลักษณะยุทธศาสตร์ของ พคท. เป็นลักษณะของการเมืองนำการทหาร ซึ่งเหนือกว่ากองทัพไทยและโลกเสรีในสมัยนั้นที่ยังมีลักษณะเน้นหนักด้านการท หาร)


 


ตอนนี้เองที่กองทัพ เริ่มศึกษาพิจารณากันอย่างหนักถึงเหตุผล พยายามแสวงหาหนทางที่จะกลับเป็นฝ่ายที่เห็นชัยชนะได้บ้าง ลูกหลานจบการศึกษาจากโรงเรียนทหาร ตำรวจ ใช้เวลาเรียน 5-6 ปี ออกมารับราชการ ลงพื้นที่ปฏิบัติการในสนามเพียง 6 เดือน ก็ต้องสูญเสียแขน ขา อวัยวะ และแม้ชีวิต สภาพขณะนั้นผู้ใดไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้ชิดดังกล่าว จะไม่มีวันได้รับทราบความเจ็บปวดในหัวใจที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวันและคืน ของเหล่าทหารหาญและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน


 


ผมเริ่มได้คิดว่า "ด้วยความถือตัวว่าเป็นผู้รู้และชำนาญ ในกระบวนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์" ซึ่งเป็นความคิดและหลักการที่ผิด เพราะได้รับมาจากการปฏิบัติการกับกองทัพสหรัฐฯ ในต่างแดน ผมเกือบนำกองทัพและประเทศชาติไปสู่ความหายนะเสียแล้ว จึงเริ่มกลับมาพิจารณาหลักการพื้นฐาน ในการต่อสู้หรือการทำการรบ ซึ่งจะต้องเริ่มด้วยการพิจารณาเพื่อให้เข้าใจฝ่ายตรงข้ามให้ถ่องแท้ เป็นขึ้นตอนแรก และจะต้องศึกษาพิจารณาโดยตรงจากบุคคล/หลักฐานเอกสารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ศึกษาจากฝ่ายเราหรือฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งเรายึดถือมาตลอด


 


(2) พล.อ.ชวลิต ได้รับความช่วยเหลือ/คำแนะนำ จาก ผิน บัวอ่อน, ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร, ซึ่ง พล.อ. ชวลิต ระบุว่าได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจาก พล.ต. ระวี วันเพ็ญ พล.ท. ประสิทธิ์ นวาวัฒน์ พล.อ. มานะ เกษรสุข พ.อ.ชวัติ วิสุทธิพันธุ์ โดยแนะนำให้รู้จัก ประเสริฐ และ ผิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคำสั่ง 66/2523 ประเสริฐ เคยต่อว่า พล.อ. ชวลิต ที่ใช้กำลังปราบปราม พคท. หลังการออกคำสั่ง 66/2523


 


 


 


 



รูป ผิน บัวอ่อน หรือในนามปากกา "อำนาจ ยุทธวิวัฒน์" เขาเคยดำรงตำแหน่งกรมการเมืองของพคท.


 


 


(3) เบื้องหลังการเปลี่ยนนโยบายของกองทัพในการต่อสู้กับ พคท. ก็ต้องมีการอธิบายและต่อสู้ทางความคิดภายในกองทัพไทยเองด้วย


 


(4) มีการเจรจาให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ยุติความช่วยเหลือ ต่อความเคลื่อนไหวของ พคท. ชัดเจนที่สุดคือการขอให้ ยุติการออกอากาศ สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) โดย พล.อ. ชวลิต เดินทางไปปักกิ่งร่วมกับ พล.อ. พัฒน์ อัคนิบุตร และ พล.ท. ผิน เกษร โดยไปพบปะกับ เติ้ง เสี่ยว ผิง


 


นอกจากจีนแล้ว ลาวก็ยังตัดความสัมพันธ์กับ พคท. โดยปิดพรมแดนด้านไทยและจีน ไม่ให้พคท. ใช้เป็นทางผ่าน รวมทั้งให้ พคท. อพยพสำนักต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในลาวออกไปท้งหมด สมพรให้สัมภาษณ์ว่า ใช้เวลาในการ "อพยพ 2 เดือน และใช้ช้าง 100 เชือก" (ดูสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, อ้างแล้ว)


 


พคจ. ยังเสนอให้ สปท. งดโจมตีไทย (ข้อเสนอนี้ จีนเริ่มเสนอตั้งแต่ปลายปี 2521 แต่ ธง, อุดม, ประสิทธิ์, ดำริห์, อัศนี เห็นว่า ถ้าจะให้งดโจมตีรัฐบาล ก็ให้ปิดไปเลยดีกว่า ในขณะที่วิรัช และสมาชิกบางคน เสนอว่าน่าจะกระจายเสียงต่อไป ภายหลังมีการลงมติ ฝ่ายให้ปิดเป็นฝ่ายชนะคะแนน ดังนั้น สปท. จึงมีการกระจายเสียงครั้งสุดท้ายวันที่ 11 กรกฎาคม 2522 (ดูสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, อ้างแล้ว)


 


ปี 2524 เกิดวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ ผู้ปฏิบัติงาน พคท. ทยอยออกจากป่า หลังจากรัฐบาลออกคำสั่ง 66/2523 ภายหลังมีคำสั่ง 65/2525 เรื่อง แผนรุกทางการเมือง ซ้ำอีกครั้ง ปฏิบัติการของ พคท. อ่อนกำลังลงทุกที (ปี 2525 ศูนย์การนำย้ายจากภาคเหนือไปอยู่ภาคใต้, 2530 ศูนย์การนำที่ย้ายมาอยู่ภาคตะวันตก สลายไปโดยปริยาย เนื่องจากระดับนำถูกจับกุมเป็นครั้งที่ 2)


 


ปี 2534 ผู้ปฏิบัติงานชุดสุดท้ายของ พคท. ในเขตงานภาคใต้ ออกจากป่า.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net