Skip to main content
sharethis


เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวเล็กๆ ของชาวบ้าน ต.ห้วยแห้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ออกมาตั้งเต็นท์ชุมนุมเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแก้ปัญหาบ่อกำจัดขยะอันตรายของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)  

คนที่อยู่ห่างไกลออกมาอาจรู้สึกว่าข่าวคราวการต่อสู้ของพวกเขาช่างดูกระจ้อยร่อย ในท่ามกลางพื้นที่ที่มีโรงงานมากถึง 1,274 แห่ง โดยเฉพาะโรงปูนซีเมนต์ และเป็นจังหวัดมีปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ แต่ก่อนความเคยชินจะชักนำไปสู่ข้อสรุปเช่นนั้น อยากให้ลองทำความรู้สึกกับเรื่องราวของพวกเขาสักนิด

(ภาพ 1-3)

ชาวบ้านตั้งเต็นท์เรียกร้องให้ปิดบ่อขยะ หน้าศาลากลางจังหวัด และจัดนิทรรศกาลให้ความรู้คนทั่วไป

 

บ่อขยะแห่งนี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2541 และเข้าตลาดหุ้นอย่างเป็นทางการในปี 2550 และเป็นข่าวฮือฮาเมื่อ ตระกูล "เหลืองวิริยะ" ผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แบ่งขายหุ้นให้กับกลุ่มตระกูลนักธรุกิจหลายกลุ่มตระกูล  และที่โดดเด่นก็มี "จึงรุ่งเรืองกิจ" ผู้เคยเป็นลูกค้ารายสำคัญกันมาก่อน

วิสัยทัศน์ของ สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ผู้บริหาร BWG-Better World Green นั้นเห็นว่าอนาคตของธุรกิจนี้สดใสอย่างยิ่ง เพราะโรงงานอุตสาหกรรมในไทย 20,000 กว่าแห่ง เข้าระบบกำจัดของเสียแบบได้มาตรฐานเพียง 20% ยังเหลือส่วนแบ่งตลาดอีกมากมาย ภายใต้บริษัทกำจัดขยะใหญ่ 3 รายของไทย (บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน)(PRO), บริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด(มหาชน)(GENCO), และบริษัทเเบตเตอร์ เวิลด์ กรีนฯ)

นี่อาจเป็นนิมิตหมายอันดีที่โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการกำจัดของเสียอย่างถูกต้อง ปลอดภัย เพื่อที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่อีกต่อไป ชั่วแต่ว่าโรงงานกำจัดของเสียจะไม่เป็นผู้ทำให้ชุมชนเดือดร้อนเสียเอง

เพียง 1-2 ปีหลังดำเนินการ ชาวบ้านก็เริ่มออกมาส่งเสียงคัดค้านเมื่อรู้ว่าแท้จริงพื้นที่ตรงหุบเขาซึ่งเป็นตาน้ำที่นายทุนกว้านซื้อและอ้างว่าจะสร้างโรงงานทำปุ๋ยหมักนั้น กลับกลายเป็น บ่อกำจัดขยะขนาดมหึมา โดยเริ่มต้นก็เป็นการจำกัดขยะทั่วไป ก่อนจะได้รับอนุญาตเพิ่มเติมในกำจัดขยะและสารเคมีอันตราย

 

ภาพถ่ายทางอากาศ พื้นที่บ่อขยะ เมื่อปี 2546

 

ภาพบ่อขยะยุคแรก ช่วงปี 2541-2543

 

แม้ในเวลาต่อมาจะมีการเคลื่อนไหวถึงขั้นปิดทางเข้าออกบ่อขยะ แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาจัดการปัญหา มีก็แต่ผู้ใหญ่บ้านหญิง "ศรีวรินทร์ บุญทับ" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ผู้ใหญ่ซิ้ม" ที่ช่วยเหลือทำเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลายเป็นแกนนำต่อสู้เรื่องนี้ไปโดยปริยาย แม้จะถูกข่มขู่ว่าอาจถูกปลดออกจากตำแหน่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 4-5 ปีมานี้ กลิ่นเหม็นโชยรบกวนชาวบ้านชุมชนรอบบ่อขยะชนิดที่ไม่อาจหลับตาได้ลง จินดา ธารรักษา ชาวบ้านต.กุนกเป้า เล่าว่า กลิ่นเหม็นมักโชยมากลางดึก จนต้องเอาผ้าห่มอุดจมูก และในช่วงหลายปีมานี้ น้ำฝน และน้ำผิวดินก็ไม่สามารถดื่มกินได้อีกต่อไป แม้นำมาหุงข้าวข้าวก็บูดเน่าอย่างรวดเร็ว

"หุงเช้า เที่ยงข้าวก็บูดแล้ว ตอนนี้ชาวบ้านต้องซื้อน้ำถังกินกันทั้งหมด" จินดากล่าว และเสริมว่าเมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ประกอบกับชาวบ้านเริ่มเจ็บป่วยและเสียชีวิตกันมากขึ้นด้วยโรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ พวกเขาก็ไม่อาจจะสันนิษฐานสาเหตุเป็นอื่นได้นอกจากมลพิษที่ดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา

ส่วนผู้หญิงหลายคนที่อาศัยใกล้บ่อขยะต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขามักมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่ทั่วท้อง ซีดเหลือง รวมทั้งเด็กๆ ที่เกิดใหม่ก็มีปัญหาสุขภาพและมีความจำสั้น

จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายแพทย์ 8 กรมการแพทย์ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเลือดและปัสสาวะของราษฎรที่อาศัยอยู่รอบบ่อขยะ ในตำบลหนองปลาไหลเกือบ 200 คน รวมทั้งตรวจสภาพอากาศในบริเวณดังกล่าวด้วย พบว่า มีสารเคมีในตัวอย่างเลือดของราษฎรที่เป็นสารก่อมะเร็งในปริมาณสูง ไม่ว่า Hydrazine, Acrylonitrile, Aniline, Tetrachloroethane, Tetrachlorethylene Epichlorohydrin, Dimethyl Sulfate, Metyl Amine, Halothane, Nitrobenzene, Methane (ทำความรู้จักสารเหล่านี้ในตารางข้างท้าย)

 

------------

 "นางสาวสมควร" : ชีวิตของคนขนขยะเคมี

 

นางสาวสมควร เกิดญาติ ชาวบ้าน หมู่ 7 ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่บ่อขยะ BWG มา กว่า 10 ปีก่อนที่จะออกจากงาน เล่าว่า เธอทำงานที่บ่อขยะมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นกิจการเมื่อปี 41 โดยเป็นลูกจ้างรายวันทำงานขนย้ายถังขยะ จนถึงปี 2549 เกิดอุบัติเหตุทำให้สารเคมีในถังกระเด็นโดนร่างกายได้รับบาดเจ็บ

 

สมควร เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุเธอทำงานตามหน้าที่ปกติคือการขนย้ายถังสารเคมี ซึ่งเป็นพลาสติกขนาด 20 ลิตร จากรถสิบล้อเข้าไปในโกดัง แต่ถังผุและเกิดหลุดมือแตก ทำให้เกิดควันฟุ้งกระจายเต็มไปหมด ทุกคนที่อยู่บริเวณนั้นต้องกระโจนหนีเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นอันตราย แต่ตนเองตกใจจนไม่รู้จะทำอย่างไรโชคดีที่สามีมาช่วยดึงตัวออกมาจากบริเวณนั้น สารเคมีดังกล่าวมีสีเข้มเหมือนน้ำซีอิ้ว และได้กระเด็นถูกเสื้อผ้าจนเปื่อย ส่วนที่ถูกร่างกายทำให้เกิดเป็นแผลไหม้ต้องรีบล้างน้ำสะอาด

 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ได้รู้ว่าถังสารเคมีที่ขนอยู่ทุกวันนั้นเป็นสารอันตรายจากเดิมที่ไม่เคยสนใจ และทางบ่อขยะก็ไม่เคยบอกว่าจะต้องขนอะไร มีหน้าที่ขนก็ขนให้เสร็จ

 

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว เธอได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ จ.สระบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ทำสัญญาการรักษาพยาบาลกับบ่อขยะจึงไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล แต่ทางโรงพยาบาลก็ให้เพียงเฮรูดอยไว้ทาแผล ส่วนทางบ่อขยะก็ไม่ได้ชดเชยค่าเสียหายใดๆ

 

"มันคุ้มกับชีวิตไหม" สมควรตัดพ้อถึงสาเหตุการตัดสินใจลาออกใน 2 วัน หลังจากเกิดอุบัติเหตุ เมื่อ 2 ปีก่อน แต่เธอกลับถูกหาว่าใจเสาะเลยทำงานต่อไม่ได้ 

 

สมควรเล่าถึงการทำงานในบ่อขยะให้ฟังว่า เธอเป็นพนักงานรายวัน ทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ได้รับค่าจ้างวันละ 200 บาททุกวันเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่หากเป็นกะกลางคืนก็จะได้คืนละ 400 บาท จะมีการจ่ายเงินสัปดาห์ละครั้ง หากใครอยากได้เงินมากจะทำงานติดต่อกันก็ไม่มีใครว่า

 

ส่วนอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก ถุงมือ ผ้ากันเปื้อน ฯลฯ เธอได้รับคำแนะนำให้ใส่ป้องกันตัวหลังเกิดอุบัติเหตุ แต่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมี

 

สมควรบอกเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ช่วงแรกที่บ่อขยะเปิดทำการยังมีการเปิดให้ชาวบ้านเข้าไปเก็บของขายได้ ต่อมาเมื่อมีการเปิดรับพนักงานจึงได้ไปสมัครเข้าทำงาน จากการสังเกต เริ่มต้นจะมีรถวิ่งเข้าออกบ่อขยะวันละประมาณ 10 คัน โดยขยะที่นำมาทิ้งส่วนใหญ่เป็นขยะหมู่บ้านทั่วไป ระยะต่อมาก็จะมีสารเคมีอย่างโซดาไฟและกรดบางตัว มาจนประมาณปี 2545 เริ่มมีการเอาสารเคมีบางอย่างจากนอกประเทศเข้ามากำกัด โดยนำขยะมาพักไว้ในโกดังที่สร้างขึ้นภายในบริเวณบ่อขยะ ให้สารอยู่ตัวก่อนที่จะทยอยขนย้ายออกมากำจัดในบ่อขยะ บ่อที่ 3

 

ในพื้นที่บ่อขยะแบ่งออกเป็น 3 บ่อ บ่อแรกเป็นบ่อที่ชาวบ้านเคยสามารถเข้ามาเก็บขยะได้ แต่ตอนนี้มีการปิดบ่อไปแล้ว (บ่อที่หนึ่งมีกองขยะสูงเท่าเนินเขาย่อมๆ และมีพลาสติกปิดคลุมไว้) บ่อที่ 2 เป็นบ่อขยะที่มีการทิ้งขยะอยู่ และบ่อที่ 3 คือบ่อทิ้งสารเคมี

 

วิธีกำจัดขยะในบ่อที่ 3 จะมีการเทสารเคมีลงในบ่อกรด ยิงปูนผงใส่ ตามด้วยน้ำอ้อยและหัวน้ำหอม คนให้เข้ากันด้วยแม็คโคร แล้วจึงใช้รถสิบล้อขนไปทิ้งที่บ่อ 3 แต่ในบางครั้งหากโกดังไม่มีพื้นที่สำหรับรองรับขยะสารเคมีจำนวนมากที่เข้ามาได้ทัน ทางโรงงานก็จะนำสารเคมีไปทิ้งในบ่อที่ 3 โดยไม่มีการบำบัดก่อนแล้วใช้แม็คโครในการบีบอัด ซึ่งทำให้เกิดควันฟุ้งกระจาย แต่ชั่วไม่กี่วันควันก็จะจางหายไป

 

ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน นี่คือบ่อขยะบ่อที่ 3 สำหรับขยะอันตรายและสารเคมี

 

สิ่งเหล่านี้คนที่อยู่ข้างนอกจะไม่ได้รับรับรู้ หรือเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะการเข้าไปดูการทำงานของบ่อขยะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าและต้องได้รับอนุญาตก่อน 

 

ในส่วนขยะจากต่างประเทศนั้น สมควรเล่าว่าได้รับรู้ข้อมูลจากการพูดคุยกันของฝ่ายเสมียนของบ่อขยะว่า มีการรับขยะจากต่างประเทศมากำจัด โดยส่งมาทางเรือและมีรถพ่วงสิบล้อไปขนย้ายมากำจัด ทั้งจากท่าเรือที่สงขลา ยะลา สมุทรปราการ ฯลฯ และเท่าที่เคยสอบถามคนขับรถขนย้ายขยะทำให้รู้ว่ารถขนย้ายบางชุดที่เข้ามาต้องใช้เวลาเดินทางถึง 3 วัน และมีรถขนขยะในชุดเดียวกันถึง 30 คันรถ 

 

"วันหนึ่งมีรถพ่วงวิ่งเข้าออกโรงขยะอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืนนับ 100 คันรถ" สิ่งที่สมควรบอกกับเรา

 

เมื่อถามถึงการเจ็บป่วยขณะที่ทำงานในบ่อขยะ สมควร บอกว่ากลิ่นเหม็นทำให้มีอาการเวียนหัว หายใจไม่ออก แน่นหน้าอกอยู่เป็นประจำ เคยไปหาหมอที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ก็ไม่ได้บอกให้รู้ว่าเป็นโรคอะไร แค่ให้ยามากินก็ให้กลับบ้านได้ นอกจากนี้อาการต่างๆ ที่เป็น หากกินน้ำมากๆ กินยาแก้ปวด พักสัก1-2 วัน ก็ทำงานต่อได้ จึงคิดว่าเป็นแค่ไม่สบายธรรมดา

 

"เหม็นก็ต้องทำ เพราะเราอยากได้เงินเขา" สมควรบอกกับเราเมื่อถามถึงความรู้สึกของคนที่ทำงานในบ่อขยะต่อกลิ่นเหม็นที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน

 

อดีตคนทำงานบ่อขยะเล่าต่อมาว่า คนในพื้นที่ที่ทำงานในบ่อขยะส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับขยะโดยตรง หรือจะต้องทนกับกลิ่นขยะมากนัก เพราะทำงานอยู่ในส่วนสำนักงาน เป็นคนเดินเอกสารหรืออยู่ในตำแหน่งเสมียน ส่วนกลุ่มคนที่ทำงานกับขยะส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัดอย่างในภาคอีสานที่เข้ามาทำงานโดยผู้รับเหมา ครั้งละเป็น 100 คน และจะมีการเปลี่ยนชุดคนทำงานหมุนเวียนกันไป  

 

ส่วนสมควรเอง หลังออกจากงานและเริ่มเข้ามาเป็นแนวร่วมต่อต้านบ่อขยะ เธอเล่าว่าเมื่อไม่นานมานี้ได้ถูกชักชวนจากพนักงานในระดับหัวหน้าของบ่อขยะให้กลับเข้าทำงานในตำแหน่งที่ดีกว่าเดิม มีเงินเดือนสูงขึ้น โดยให้ไปเป็นพนักงานส่งเอกสาร แต่เธอไม่ยอมรับข้อเสนอจึงถูกข่มขู่ เนื่องจากเคยทำงานในบ่อขยะมานานและรู้ข้อมูลของบ่อขยะ

 

"ลูกปืนลูกไม่กี่สตางค์ เค้าบอกกับหนูอย่างนี้" สมควรกล่าว

 

ก่อนหน้านี้สมควร อาศัยอยู่ในพื้นที่ หมู่ 8 ต.ห้วยแห้ง ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งของบ่อขยะที่ 3 ไม่ถึง 1 กิโลเมตร และมีเพียงทางรถไฟเป็นตัวกั้นเขตแดน แต่หลังออกจากงานและไม่สามารถทนกับกลิ่นเหม็นของขยะที่เธอบอกว่า "โชยมาทั้งวันทั้งคืน" ได้ จึงต้องย้ายออกมาอยู่ในบ้านที่อยู่ปัจจุบัน และทิ้งที่อยู่เดิมและที่ดินเนื้อที่กว่า 18 ไร่ เอาไว้ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

 

"ที่ดินจะขายทิ้งก็ไม่ได้ จากที่ดินราคาไร่ละเป็นแสน ตอนนี้ให้เฉยๆ ก็ยังไม่มีคนเอาเลย" สมควรเล่าด้วยน้ำเสียงหดหู่

 

เธอเล่าอีกว่า แม้จะย้ายมาอยู่ในพื้นที่ซึ่งห่างจากบ่อขยะกว่า 5 กิโลเมตร แต่กลิ่นขยะก็ยังตามมาถึง เพราะที่บ่อขยะตั้งอยู่บนรอยต่อของพื้นที่ 3 ตำบล และในฤดูหนาวกลิ่นขยะจะเหม็นรุนแรงมากกว่าปรกติ ซึ่งกลิ่นของขยะพิษที่ไม่สามารถควบคุมได้นี้ คือสิ่งที่ชาวบ้านทนไม่ได้ และหากไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องในวันนี้ อีก 2-3 ปี ข้างหน้าชาวบ้านคงอยู่กันไม่ได้

 

จากการสอบถามล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านที่ชุมนุมกันอยู่ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดเพื่อต่อต้านบ่อขยะ มาตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.ก็ยังคงตั้งเต็นท์อยู่ที่เดิม หลังจากที่นัดผู้ว่าเพื่อเอาคำตอบใน 7 วัน และวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมาครบกำหนด แต่ก็ไม่มีคำตอบอะไรคืบหน้าจากทางจังหวัด

 

"ถ้าไม่สู้ก็ตาย มารวมตัวกันสู้อยู่ที่นี่ดีกว่า" สมควรบอกกับเราพร้อมย้ำว่ายังยืนหยัดที่จะชุมนุมเรียกร้องต่อไปแม้จะไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนใดๆ จากทางจังหวัด นอกจากคำว่า "รอไปก่อน" และผู้ว่าเพิ่งเข้ามาทำงาน "ทำอะไรไม่ได้"

 

ขณะนี้ ข้อเรียกร้องของชาวบ้านคือให้มีการปิดบ่อขยะ และให้ดำเนินกิจการอย่างอื่น เพราะชาวบ้านไม่แน่ใจว่า หากยังมีการเปิดบ่อขยะต่อไปถึงรับปากว่าจะไม่มีขยะสารพิษ แต่เรื่องผลประโยชน์ที่ได้จากการกำจัดขยะเหล่านี้เป็นจำนวนคันละหลายล้านบาท กลัวจะมีการทำเหมือนๆ เดิมอีก

 

สมควรบอกว่าชาวบ้านที่ยังชุมนุมเรียกร้องให้ปิดขยะอยู่ในขณะนี้ เพราะทุกคนต่างเป็นห่วงอนาคตของลูกหลานที่จะต้องอยู่ในชุมชนนี้ต่อไป

 

เธอตอกย้ำข้อหวั่นวิตกนี้ด้วยการบอกเล่าถึงหลาวสาวอายุ 3 เดือนของเธอ ซึ่งป่วยมีอาการหายใจไม่ได้ ต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสระบุรี ล่าสุดได้ย้ายไปพักฟื้นยังต่างจังหวัดทั้งแม่ทั้งลูก เพราะหมออรพรรณ์ตรวจแล้วพบว่ามีสารเคมีที่เป็นพิษในเลือดสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องให้ไปอยู่นอกพื้นที่ นอกจากนี้พ่อสามีของเธอเพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือด เมื่อวันที่ 7 ส.ค.51 ที่ผ่านมา ซึ่งเธอเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับกลิ่นเหม็นที่ปะปนไปด้วยสารพิษของบ่อขยะ

 

"ไม่มีใครอยากมาอยู่อย่างนี้ ถ้าพวกเราไม่ได้ป่วยจริงๆ คงไม่มา" อดีตคนทำงานในบ่อขยะกล่าว

 

 

------------

ถาวร ศรีถา อายุ 40 ปี

ถาวร ศรีถา เป็นชาวบ้านหมู่ 8 ต.หนองปลาไหล อีกคนหนึ่งที่เคยเข้าไปทำงานในแผนกคัดแยกกับทางบ่อขยะ ในยามที่เขาหางานทำไม่ได้ ถาวรทำงานได้เพียง 6 เดือนก็ต้องลาออก เนื่องจากเกิดอาการเปื่อย และเจ็บปวดบริเวณอวัยวะเพศ สาเหตุเกิดจากการที่เขาปวดปัสสาวะขณะทำงาน แล้วถอดถุงมือออกปฏิบัติภารกิจ โดยที่ไม่ล้างมือให้สะอาดก่อน เมื่อปฏิบัติเช่นนี้เป็นประจำ ทำให้เกิดอาการข้างต้น สุดท้ายต้องออกมานอนรักษาตัวอยู่กับบ้านหลายเดือน

"ผมทรมานกับมันอยู่ 4 เดือนเต็ม จะบอกพ่อแม่พี่น้องก็กลัวเขาเป็นห่วง ชีวิตเราถ้าจะตายก็ให้ตายไปคนเดียวอย่าให้คนอื่นเดือดร้อน จะไปหาหมอก็ไม่กล้า และไม่มีเงินจะรักษา ค่อยให้มันหายเอง ผมทนอยู่ 4 เดือนเต็ม" ถาวรกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net