รายงาน : ความเข้มของอียูเป็นภัยคุกคามการเข้าถึงยาของประเทศยากไร้

ชื่อบทความเดิม : กฎระเบียบการค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดของอียูเป็นภัยคุกคามต่อการเข้าถึงยาของประเทศยากไร้


โดย เดวิด โครนิน

Intellectual Property Watch , 18 กุมภาพันธ์ 2552
……………………………………………………..

 

 


บรัสเซลล์ - กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขทั่วโลกมองว่า ความพยายามของสหภาพยุโรปที่จะบรรจุบทบัญญัติด้านสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์ที่เข้มงวดในข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจานั้นอาจเป็นภัยต่อการเข้าถึงยาของประเทศกำลังพัฒนา

ในการเจรจาการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับอินเดีย โคลอมเบีย เปรู และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปเสนอว่าผู้ผลิตยาสมควรได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากกฎข้อบังคับด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแลในประเทศเหล่านี้ไม่มีสิทธิใช้ข้อมูลของบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สามารถอนุมัติการขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญของยาติดสิทธิบัตรนั้นๆ ได้

สำหรับโคลอมเบียและเปรู คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้มีการ "ผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา" เป็นเวลาอย่างมากสุด 11 ปี

Germán Holguín ผู้อำนวยการองค์กร Misión Salud ในโคลอมเบีย แย้งว่าบทบัญญัติในข้อนี้ "จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเข้าถึงยาและการสาธารณสุขโดยทั่วไปในภูมิภาคนี้"

เขาทำนายว่าหากมีการบังคับใช้บทบัญญัตินี้เป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงการค้าเสรี โอกาสเข้าถึงยาราคาถูกของกลุ่มประเทศแถบเทือกเขาแอนดีสจะต้องถูกริดรอนอย่างหนัก เนื่องจากยาชื่อสามัญนั้นโดยเฉลี่ยจะมีราคาถูกกว่ายามียี่ห้อถึง 4 เท่าตัว หรือถึง 35 เท่าตัวสำหรับยาบางรายการ เขากล่าวเตือนว่า มาตรการใดๆ ก็ตามที่มุ่งจำกัดการวางจำหน่ายยาเหล่านี้ย่อมส่ง "ผลที่เลวร้าย" ต่อภูมิภาคที่มีความยากจนแพร่หลายไปทั่ว

"ข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศเราจะมีผลลงเอยเป็นความทุกข์ยากแสนสาหัสและคร่าชีวิตมนุษย์จำนวนมาก" เขากล่าวเสริม "พวกเราขอย้ำอีกทีว่าปัญหานี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เราไม่คาดคิดเลยว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะปฏิบัติต่อเราด้วยท่าทีอันน่ารังเกียจและประสงค์ร้ายเช่นนี้"

"เราไม่คาดคิดเลยว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะปฏิบัติต่อเราด้วยท่าทีอันน่ารังเกียจและประสงค์ร้ายเช่นนี้" เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโคลอมเบียผู้หนึ่งกล่าว

Holguín กล่าวว่าคณะกรรมาธิการยุโรปเรียกร้องมาตรฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดยิ่งกว่าข้อเรียกร้องที่สหรัฐฯ ต้องการบรรจุในข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาเมื่อปีที่ผ่านมาเสียอีก จากงานศึกษาวิจัยจำนวนหนึ่งในโคลอมเบียในปี 2550 ได้พยากรณ์ไว้ว่า แนวทางตามข้อเสนอของคณะเจรจาการค้าสหรัฐฯ จะส่งผลให้ยามีราคาสูงขึ้นร้อยละ 46 เป็นอย่างต่ำ อันจะทำให้โคลอมเบียต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

จากบทวิเคราะห์ข้อเรียกร้องชุดใหม่ของคณะกรรมาธิการยุโรปได้ข้อสรุปยืนยันว่า ข้อเสนอเหล่านี้มีบทบัญญัติที่เกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (ความตกลงทริปส์) ขององค์การการค้าโลก

Xavier Seuba จากมหาวิทยาลัย Pompeu Fabra ในกรุงบาเซโลน่า ผู้เขียนบทวิเคราห์ฉบับดังกล่าว [http://www.haiweb.org/20012009/19%20Dec%202008%20Policy%20Paper%20EU-CAN%20Association%20Agreement%20(Final%20EN).pdf] กล่าวว่าความตกลงทริปส์ให้อิสระแก่รัฐบาลประเทศต่างๆ ในการกำหนดแนวทางการใช้กฎข้อบังคับด้านทรัพย์สินทางปัญญากับยาเป็นพิเศษ แต่ในทางตรงกันข้าม ข้อเรียกร้องของคณะกรรมาธิการยุโรปกลับสนับสนุน

"กรอบโครงสร้างที่เข้มงวดและเคร่งครัดสำหรับการวางมาตรการและปฏิบัติการต่างๆ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเทศนั้นๆ ต้องยอมรับและปฏิบัติตาม"

นอกจากนี้ Seuba ยังได้หยิบยกประเด็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับกรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากรสั่งยึดยาว่า เหตุการณ์ในทำนองนี้จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งยิ่งขึ้น อันเป็นผลพวงจากยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรปที่ต้องการผนวกบทบัญญัติด้านทรัพย์สินทางปัญญาไว้ในข้อตกลงการค้าเสรีที่ได้เจรจากับประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นผลสำเร็จ

กรณีทางการสั่งยึดยานี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมา กล่าวคือเจ้าหน้าที่การท่าเมืองรอตเตอร์ดัมสั่งสกัดสินค้าคือยาโลซาร์แทนซึ่งเป็นยารักษาความดันโลหิตสูงที่ลำเลียงมาจากอินเดียเพื่อส่งไปยังบราซิล แม้ว่ายาโลซาร์แทนจะเป็นยาชื่อสามัญที่ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถูกเจ้าหน้าที่สั่งยึดหลังจากมีบริษัทที่ไม่ระบุชื่อแห่งหนึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาดังกล่าวในเนเธอร์แลนด์

Seuba กล่าวว่าร่างข้อตกลงการค้าเสรีที่เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปกำลังเจรจากับโคลอมเบียและเปรูนั้นจะทำให้บริษัทยาสามารถขัดขวางการขนส่งลำเลียงยาชื่อสามัญได้สารพัดกรณี ยิ่งกว่านั้นสหภาพยุโรปยังหาทางขยายขอบเขตอำนาจเกินกว่าที่ความตกลงทริปส์กำหนดไว้ ทั้งที่ความตกลงทริปส์นั้นจำกัดการใช้อำนาจสั่งยึดเฉพาะกับสินค้าปลอมแปลง ไม่ใช่ยาชื่อสามัญ

"ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปต่อกลุ่มประเทศแถบเทือกเขาแอนดีสจะทำให้ผู้ทรงสิทธิสามารถสกัดการนำเข้า ส่งออก การนำเข้าแล้วส่งออกไป รวมถึงการเข้าและออกของสินค้าที่ต้องสงสัยว่าละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาภายในเขตศุลกากร" Seuba กล่าวในที่ประชุมสภายุโรปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์



 "จะเห็นว่าข้อเรียกร้องนี้มุ่งขยายขอบเขตมาตรการบังคับให้ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งยังให้อำนาจแก่ผู้ทรงสิทธิเป็นอันมาก ทำให้สามารถสกัดกั้นสินค้าขู่แข่งได้โดยอ้างว่าเป็นสินค้าต้องสงสัยว่าละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา"

การเจรจาการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับโคลอมเบียและเปรูเริ่มขึ้นในปี 2549 ในตอนต้นโบลิเวียและเอกวาดอร์ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศแถบเทือกเขาแอนดีสเช่นกันก็เข้าร่วมการเจรจาด้วย ทว่าภายหลังจากที่รัฐบาลเอียงซ้ายของทั้งสองประเทศแสดงความไม่สบายใจต่อมาตรการที่คณะกรรมาธิการยุโรปให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน ฝ่ายหลังจึงได้ประกาศเมื่อปลายปี 2551 ว่าจะร่วมเจรจาต่อไปแต่เฉพาะกับโคลอมเบียและเปรูเท่านั้น

นายอีโว โมราเลส ประธานาธิบดีโบลิเวีย กล่าวว่าการตัดสินใจของสหภาพยุโรปในครั้งนี้จะบั่นทอนศักยภาพในการรวมกลุ่มเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคภายในกลุ่มประเทศในแถบเทือกเขาแอนดีส ในหนังสือฉบับหนึ่งที่มีถึงคณะกรรมาธิการยุโรปในเดือนที่ผ่านมา นายโมราเลสระบุว่า แทนการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มที่กับสหภาพยุโรป โบลิเวียขอเลือกข้อตกลงทางการค้าที่สร้างปัญหาให้ประเทศน้อยกว่า ด้วยไม่มีการบรรจุบทบัญญัติที่ "จำกัดสิทธิของประเทศในการกำหนดนโยบายแห่งชาติในประเด็นสำคัญๆ เช่น การลงทุน การบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดหาของรัฐ"

Serge Le Gal เจ้าหน้าที่การค้าสหภาพยุโรป ออกมาปฏิเสธว่า คณะกรรมาธิการยุโรปไม่ได้ต้องการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกภายในกลุ่มประเทศในแถบเทือกเขาแอนดีสแต่อย่างใด พร้อมอ้างถึงความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัฐบาลโคลอมเบียที่หันมาใช้แนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberal) อย่างกว้างขวาง กับรัฐบาลชาติอื่นๆ ในละตินอเมริการที่นิยมแนวทางแบบสังคมนิยมมากกว่า พร้อมถามว่า "นี่เป็นความผิดของคณะกรรมาธิการยุโรปหรือ เราต้องตัดสินใจและเดินหน้าต่อไป"


ข้อเรียกร้องของอียูต่อภูมิภาคเอเชีย
ข้อเรียกร้องที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดเตรียมไว้สำหรับการเจรจากับอินเดียและอีก 10 ประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นั้นมีข้อกำหนดในทำนองเดียวกัน ทั้งการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา และข้อเสนออื่นๆ ที่เสนอต่อเปรูและโคลอมเบีย แต่สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน คณะกรรมาธิการยุโรปยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ต้องการสำหรับการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา สามารถอ่านข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปได้ที่ http://www.ip-watch.org/weblog/wp-content/uploads/2009/02/eu-proposal-asean.doc

Alexandra Heumber จากองค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) หนึ่งในกลุ่มองค์กรสาธารณกุศล ออกมากล่าวเตือนว่าความพยายามใดๆ ก็ตามเพื่อมุ่งจำกัดการใช้ยาชื่อสามัญจะเป็นการทำร้ายผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ARV) ซึ่งเป็นยาสำคัญสำหรับรักษาโรคเอชไอวี/เอดส์

พร้อมกล่าวเสริมว่า เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ป่วยจะเกิดเชื้อดื้อยาต่อยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน ฉะนั้นแพทย์จึงต้องสั่งจ่ายยาสูตรใหม่ที่เรียกกันว่า "ยาต้านไวรัสสูตรสำรอง" ในไทยยาสูตรใหม่เหล่านี้มีราคาแพงกว่ายาต้านไวรัสสูตรที่ใช้รักษากันโดยทั่วไปถึง 22 เท่าตัว

"ประเทศที่มีรายได้ปานกลางเช่นไทยนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก" Heumber กล่าว "เพราะเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการผลิต จึงถูกบริษัทยาที่มีรัฐบาลสหรัฐฯ หนุนหลังกดดันอย่างหนักให้ยกระดับความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มงวดยิ่งขึ้น"

"แต่ขณะเดียวกัน ประเทศเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีกลุ่มลูกค้าจากชนชั้นร่ำรวยซึ่งเป็นตลาดที่ทำกำไรงาม จึงถูกตัดสิทธิจากนโยบายระบบราคาที่แตกต่างที่บริษัทยาเสนอแก่ประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุด ทว่าในความเป็นจริง เอชไอวี/เอดส์ยังคงเป็นโรคของคนยากจน ระบบบริการสาธารณสุขในประเทศเหล่านี้ยังไม่มีกำลังพอที่จะจ่ายค่ายาราคาแพงๆ ที่บริษัทยาตั้งไว้ได้"

สมาคมและอุตสาหกรรมยาแห่งสมาพันธรัฐยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตยามียี่ห้อ ไม่ออกมาให้ความเห็นตามที่ติดต่อไปแต่อย่างใด

ล่าสุด - South Centre ได้ประกาศเตือนประเทศในภูมิภาคแอฟริกาที่จะร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรปว่าจะเสียมากกว่าได้ พร้อมแนะให้ใช้การเจรจา(http://www.southcentre.org/index.php?option=com_docman&task=doc_download&gid=1247&Itemid) นอกจากนี้ Trade Law Centre for South Africa ได้มีรายงานว่า Catherine Ashton กรรมาธิการยุโรปด้านการค้าจะเดินทางเยือนบอสวาน่าในสัปดาห์นี้เพื่อเจรจาการค้า (http://www.tralac.org/cgi-bin/giga.cgi?cmd=cause_dir_news_item&cause_id=1694&news_id=60315&cat_id=1026)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท