Skip to main content
sharethis

ทีมข่าวอิศรา 


โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา  


 


ข้อสังเกตของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นของการต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของ จ.สงขลา โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2552 ซึ่งมีการต่ออายุมาแล้วถึง 14 ครั้ง ถูกมองว่าเป็นการ "ส่งสัญญาณ" ถึงกระบวนการใช้ "กฎหมายพิเศษ" ในดินแดนด้ามขวาน ซึ่งแม้จะก่อประโยชน์อย่างมหาศาลต่อปฏิบัติการของภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง แต่อีกด้านหนึ่งก็สร้างปัญหาตามมาไม่ใช่น้อย          


 



สอดรับกับเสียงเรียกร้องของภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในพื้นที่ ซึ่งยื่นข้อเสนอมาเนิ่นนานให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยุติการประกาศกฎอัยการศึก อันเป็นกฎหมายพิเศษ 2 ฉบับที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่  ณ ปัจจุบัน ท่ามกลางปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ถูกจุดประเด็นขึ้นอย่างหนักหน่วงรุนแรงตั้งแต่เปิดศักราชปี 2552 เป็นต้นมา


                   



แน่นอนว่าทั้งเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนบางส่วน และการส่งสัญญาณของฝ่ายการเมือง ย่อมถูกคัดค้านอย่างแข็งขันจากฝ่ายความมั่นคง เพราะหน่วยงานระดับปฏิบัติที่รับผิดชอบการจัดการปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ต่างเชื่อมั่นว่า "กฎหมายพิเศษ" คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ "รัฐ" ยังตรึงสถานการณ์เอาไว้ได้จนถึงทุกวันนี้         


 



กลายเป็น "2 ขั้วความคิด" ที่หาจุดลงตัวยากอย่างยิ่ง เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง...



ทว่าหากลองหันไปฟัง "หลักคิด" จากผู้ที่ติดตามปัญหา และยังรับผิดชอบด้านการช่วยเหลือเยียวยาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ "กฎหมายพิเศษ" อาจทำให้เราได้เห็น "รากแก้วของปัญหา" ตลอดทั้ง "มุมมองใหม่ๆ" ที่อาจเป็นทางสายกลางอันเหมาะเจาะได้ระหว่าง "ปีกความมั่นคง" และ "ปีกสิทธิมนุษยชน"         


 



ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อภิปรายประเด็นที่ว่านี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ ในการสัมมนาโครงการเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ชุดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม ครั้งที่ 3 หัวข้อ "บทบาทกระบวนการยุติธรรมกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้"  เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ        


 



"เราต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจสาเหตุของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้เสียก่อน ถึงจะใช้กฎหมายที่มีอยู่ได้อย่างมีทิศทาง ปรากฏผลสัมฤทธิ์ และสอดคล้องกับเนื้อหาของปัญหาที่เกิดขึ้นจริง แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าแต่ละฝ่ายยังมีความเห็นและความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอยู่" ชาญเชาวน์ เริ่มต้น        



เขาชี้ว่า ข้อใหญ่ใจความของปัญหาการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันนี้อยู่ที่การขาด "นิตินโยบาย" ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาในภาพรวม     


     



"วันนี้เรามีกฎหมายที่เป็นเครื่องมืออยู่ 4 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) และ ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) โจทย์ก็คือเราจะบริหารอย่างไรให้สามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้สอดคล้องกับนโยบาย คำตอบที่เราต้องหาให้ได้ก็คือ นิตินโยบายคืออะไร ตรงนี้ต้องชัด ไม่ใช่เอากฎหมายมากางแล้วว่าไปตามตัวบท (มาตราต่างๆ ในกฎหมาย) แต่มันตัองมีการบริหารจัดการ เพราะกฎหมายทุกฉบับมีหลักนิติธรรมและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ในนั้นอยู่แล้ว"    


      



ชาญเชาวน์ ชี้ว่า เมื่อขาดแนวปฏิบัติที่ดีและสอดคล้องกัน ทำให้ความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้คือนักกฎหมายในซีกฝ่ายบริหารต้องวางแนวปฏิบัติในการทำงาน หรือที่เรียกว่า "นิตินโยบาย" ออกมาให้เร็วที่สุด        


 



"เราต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดความขัดแย้งกันอยู่ตรงนั้น มีปัญหาการเมืองแทรกอยู่ด้วย มันจึงไม่ใช่เหตุลัก วิ่ง ชิง ปล้นธรรมดา คำถามก็คือเราจะทำอย่างไรที่จะจัดการกับสถานการณ์ร้ายที่มีปัญหาการเมืองอยู่ภายใน"    


      



รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า ขณะนี้เครื่องมือของรัฐชัดเจนอยู่แล้ว คือมีกฎหมาย 4 ฉบับ แต่เมื่อนำเครื่องมือใส่ลงไป กระบวนการบริหารจัดการกลับไม่ชัดเจน เช่น เมื่อจับกุมคนผิดหรือผู้ต้องสงสัยได้ จะนำตัวไปลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ หรือนำบุคคลเหล่านั้นไปแก้ไขเพื่อให้กลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง เพราะปัญหาในพื้นที่มีความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่       


  



"ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 450 กว่าคนที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ (เรือนจำต่างๆ ในพื้นที่) เราจะลงโทษเขาหรือแก้พฤติกรรมของเขาเพื่อให้เขากลับคืนสู่สังคม นโยบายตรงนี้ต้องชัดเจนเสียก่อน ตำรวจ ทหาร กระทรวงยุติธรรมต้องมองไปในทิศทางเดียวกัน หาไม่แล้วก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน"          


 



ชาญเชาวน์ เสนอว่า แนวทางแก้ไขปัญหาคือรัฐบาลต้องวาง "นิตินโยบาย" ให้ชัด แล้วดึงจุดเด่นที่เป็นข้อดีของกฎหมายพิเศษแต่ละฉบับซึ่งมีบัญญัติไว้อยู่แล้วออกมา และนำไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งนั่นจะเป็นการลดปัญหาการร้องเรียนเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเสรีภาพขั้นพื้นฐาน     


     



"กฎหมายพิเศษแต่ละฉบับมีจุดเด่นของตัวมันเอง เช่น กฎอัยการศึก จริงๆ แล้วก็เป็นกฎหมายที่ดี ทำให้ทหารมีอำนาจเหนือพลเรือนทุกตำแหน่ง สามารถตรวจ ค้น ยึด เพื่อสกัดสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที ซึ่งก็มีความจำเป็นสำหรับบางสถานการณ์"  


       



"ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีจุดเด่นตรงที่การบริหารจัดการอำนาจพิเศษอยู่ในมือฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน สามารถรวมอำนาจของรัฐมนตรีทุกกระทรวงเพื่อยุติสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อประชาชนและความมั่นคงได้อย่างทันการณ์ แต่ขณะเดียวกันก็มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจ คือในระดับนโยบาย กฎหมายกำหนดให้ต้องต่ออายุทุกๆ 3 เดือน ขณะที่ในระดับปฏิบัติ ต้องให้ศาลตรวจสอบความจำเป็นของหมายจับทุกๆ 7 วัน ที่สำคัญการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยต้องทำรายงานเสนอต่อศาลเป็นระยะ และญาติสามารถขอดูได้ตลอดเวลา"         


 



"ขณะที่ พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็มีเจตนารมณ์ในการจัดตั้งหน่วยงานหลักเพื่อรับผิดชอบและบูรณาการงานหลายๆ ส่วนเข้าด้วยกันภายใต้การกำกับของ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) เพื่อให้การปฏิบัติเป็นเอกภาพ ทั้งยังมีบทบัญญัติส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นอีกด้วย"          


 



รองปลัดกระทรวงยุติธรรม สรุปความเห็นของเขาว่า กฎหมายทุกฉบับมีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจ และรับรองการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเอาไว้พอสมควร แต่ปัญหาก็คือรัฐไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนพอ และละเลยที่จะปฏิบัติตามกฎหมายในบางเรื่อง จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา


        



"ตัวอย่างเช่น การที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องทำรายงานผลการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยต่อศาล พร้อมทั้งทำสำเนาเอาไว้ให้ญาติผู้ที่ถูกจับกุมได้ตรวจสอบ แต่เวลาผมไปตามดูกลับไม่มี ตรงนี้ทำให้ของดีๆ ต้องเสียไป และการใช้กฎหมายพิเศษจึงไม่ได้ผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร" ชาญเชาวน์ ระบุ        


 



ถือเป็นมุมมองและข้อสังเกตจากการทำงานในพื้นที่จริงซึ่งทั้งระดับปฏิบัติและระดับนโยบายต้องรีบอุดช่องโหว่โดยด่วน!


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net