Skip to main content
sharethis

21 ก.พ.52 ในเวทีคู่ขนาดอาเซียนภาคประชาชน มีห้องสัมมนาย่อยว่าด้วยเรื่อง "สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อประสิทธิภาพขององค์กรประชาสังคมในการพัฒนาและปกป้องสิทธิมนุษยชน?" (An enabling environment for CSO effectiveness in development & human rights advancement?)


 



--------------------------------------------------------------


 



เอเมอร์ลีน กิล จากองค์กรฟอรัมเอเชีย กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้ว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นอย่างมากในอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของประเทศต่างๆ ซึ่งเกี่ยวพันกับการต่อต้านการก่อการร้าย แต่จากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่แล้วเป็นการใช้เพื่อกดทับเสรีภาพในการพูด การแสดงออก ของประชาชน และนักสิทธิมนุษยชน


 



รัฐบาลในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ออกฎหมายเพื่อให้ปราบปรามการชุมนุมโดยสงบของประชาชนได้ ทำให้นักสิทธิมนุษยชนและประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิในการแสดงออกเรียกร้องเรื่องต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีการสกัดกั้นสื่อ และมีการฟ้องทางแพ่ง ฟ้องหมิ่นประมาทกับนักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น


 


สำหรับในมาเลเซีย กฎหมายความมั่นคงอนุญาตให้ตำรวจจับกุมใครก็ตามที่ทำให้ความมั่นคงของมาเลเซียสั่นคลอน เป็นผลให้ปีที่แล้วมีผู้ถูกจับไปแล้ว 3 คน ทั้งนักข่าวที่เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐ หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งโดนข้อหาละเมิดอัลเลาะห์


 


ขณะที่ประเทศไทยมีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลปัจจุบันและผู้สนับสนุน โดยพยายามโยงพวกเขาเป็นขบวนการล้มล้างกษัตริย์


 



โดยสรุปแล้วรัฐบาลในเอเชียพยายามจะออกกฎหมายให้เข้มงวดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและนักสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เดียวกันก็ออกกฎหมายแปลกๆ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ถูกลงโทษได้เมื่อละเมิดสิทธิประชาชน ดังนั้น กลไกด้านสิทธิมนุษยชนที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นในอาเซียนควรต้องเป็นอิสระจากรัฐในทุกมิติ ตรวจสอบได้และสร้างการยอมรับ สนับสนุนในหมู่ประชาชน รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระัวังและรายงานการละเมิดสิทธิ โดยอาจเชื่อมโยงกับคณะกรรมการสิทธิที่มีอยู่แล้วในประเทศต่างๆ แม้ว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิในแต่ละประเทศจะไม่มีประสิทธิภาพมากนักก็ตาม


 



ยัป สวี เซง ผู้อำนวยการองค์การเสียงประชาชนมาเลเซีย กล่าวถึงข้อบ่งชี้สำคัญ 6 ประการสำหรับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนที่จะจัดตั้งขึ้นว่า 1.ควรต้องปฏิบัติตามเป้าประสงค์ของอาเซียนไม่ว่าจะเรื่องส่งเสริมประชาธิปไตย นิติรัฐ ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน 2. ต้องเป็นอิสระจากรัฐ 3.ต้องมีประสิทธิภาพ แปลว่าต้องมีอำนาจในการรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบ เรียกข้อมูลจากทุกฝ่าย รวมทั้งทำให้รัฐบังคับใช้ข้อเสนอต่างๆ ได้จริง


 


4.การเลือกคณะกรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาเซียน ต้องให้มีทุกๆ ส่วนเข้าไปมีตำแหน่ง ไม่ใช่เฉพาะตัวแทนภาครัฐเป็นหลัก โดยควรเปิดให้สาธารณะร่วมคัดสรรด้วย 5.ด้านสนับสนุนทรัพยากร เงินทุน ต้องจัดให้มีเพียงพอต่อการดำเนินการ โดยอาจนำเงินมาจากกองเลขาธิการอาเซียน ซึ่งมีเงินเบื้องต้นที่ประเทศต่างๆ ลงขันไว้อยู่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ 6. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และกระบวนการต่างๆ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้


 



ราช กุมาร นักสิทธิมนุษยชนจากอินเดีย กล่าวว่า นักสิทธิมนุษยชนซึ่งทำการเรียกร้องสิทธิให้คนอื่นนั้นถูกคุกคามอย่างหนัก และยังไม่ได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะมีกฎบัตรแห่งสหประชาชาติแล้วก็ตาม ดังนั้นจึงควรมีการหารือกันเพื่อสร้างกลไกบางอย่างเพื่อปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเด็นการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนนี้ไม่สามารถแยกกันออกจากการเมือง ต้องมีการกดดันให้รัฐบาลต่างๆ มีเจตจำนงในด้านนี้ เพราะหลายครั้งการคุกคามนักสิทธิมนุษยชนนั้นเกิดจากการกระทำของรัฐเสียเอง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ การละเมิดสิทธิกินความกว้างขวางและมีจุดกำเนิดจากการค้า การลงทุนก็ได้เช่นกัน


 


จุดเริ่มต้นการผลักดันเรื่องนี้ อาจเริ่มจากการร่วมหารือกันภายในประเทศอาเซียน แล้วทำการศึกษาเปรียบเทียบกับกฎบัตร หรืออนุสัญญาต่างๆ ด้านนี้ที่มีอยู่ ศึกษาแนวโน้มปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในภูมิภาค เพื่อหากลไกที่เหมาะสมลงตัวที่สุดกับภูมิภาคนี้ และยังต้องทำให้มีความยืดหยุ่นพอที่จะปรับเข้ากับสถานการณ์แต่ละประเทศด้วย



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net