Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ


คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้


เผยแพรครั้งแรกในเว็บไซต์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)


 


"ใบอนุญาตวิทยุชุมชนชั่วคราว" เป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจจากสังคมในขณะนี้ เพราะ


เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ในการก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนของกลุ่มธุรกิจ และการเมือง และเกี่ยวข้องกับสิทธิ


ของภาคประชาชนที่เรียกร้องกันนานกว่า 10 ปี ในการก่อตั้งและดำเนินงานสถานีวิทยุชุมชน เพื่อ


ประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง


 


เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา คณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ปีพ.ศ. 2551 ได้จัดประชุมเฉพาะกลุ่ม หรือ Focus Group เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ เรื่องการร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยประเด็นสำคัญในการหารือได้แก่ นิยามความหมายของวิทยุชุมชน การยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นขอใบอนุญาต หลักเกณฑ์ทางเทคนิคว่าด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ ผังรายการสัดส่วนรายการ การบริหารจัดการสถานีวิทยุชุมชน ฯลฯ


 


การนิยามความหมายของคำว่า "วิทยุชุมชน" มีนักวิชาการหลายท่าน รวมถึงผู้ปฏิบัติการวิทยุชุมชน และนักพัฒนาเอกชนได้ให้นิยามความหมายของคำว่าวิทยุชุมชนที่คล้ายคลึงกัน คือ


 


คำว่า "ชุมชน" ในที่นี้ มี 2 ประเภท คือ ชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวกันตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์หรือกายภาพ และชุมชนที่รวมตัวกันเพราะมีความสนใจในประเด็นใดประเด็นหนึ่งร่วมกัน เช่น ชุมชนของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ชุมชนทางศาสนาวัฒนธรรม เป็นต้น โดยการรวมตัวนี้ จะต้องไม่มุ่งหวังผลกำไรในทางธุรกิจ ต้องเป็นอิสระจากการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น และที่สำคัญ คือ คนในชุมชนต้องมีส่วนร่วม มีคุณธรรม จริยธรรม


 


ส่วนหลักฐานเอกสารที่ใช้ในการยื่นขอใบอนุญาตวิทยุชุมชนนั้น นอกจากจะประกอบไปด้วยชื่อสถานี ที่ตั้ง รายชื่อกลุ่มคนหรือองค์กรที่ร่วมจัดรายการ วัตถุประสงค์ของสถานี โครงสร้างการบริหารจัดการของสถานี ผังรายการ และลักษณะเครื่องส่ง กำลังส่งแล้ว เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ ยังให้เพิ่มเรื่องของประวัติการก่อตั้งสถานี และระบุที่มาของรายได้ แหล่งทุนด้วย


 


อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเอกสารที่ส่งมานั้น ตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ มีนักวิชาการหลายท่านเสนอให้นำหลักฐานหรือเอกสารที่ส่งมาเปิดเผยสู่สาธารณชนให้รับทราบผ่านเว็บไซต์ ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้สังคมตรวจสอบ ท้วงติงกันเอง


 


ด้านเทคนิคว่าด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ ทางเครือข่ายวิทยุชุมชนของภาคประชาชนมีความเห็นว่า การกำหนดกำลังส่ง ขนาดของเสา และรัศมีการกระจายเสียง ไม่ควรกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ควรมีความยืดหยุ่น ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ สถานที่ตั้งของสถานี และมิติทางสังคมวัฒนธรรมด้วย


 


ผังรายการและสัดส่วนรายการ ใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ปีพ.ศ. 2551 ที่ระบุให้ต้องมีสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนหรือท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของผังรายการทั้งหมด


 


ส่วนการบริหารจัดการสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนนั้น ควรมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ประกอบไปด้วยคณะกรรมการสถานีไม่น้อยกว่า 5 คน ผู้อำนวยการสถานี 1 คน เจ้าหน้าที่รายการ/ธุรการ/เทคนิคอย่างน้อยฝ่ายละ 1 คน โดยบุคคลทั้งหมดต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการ สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


 


อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการถกเถียงแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นข้อสรุปที่จะนำมาจัดทำเป็นร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ควรจะต้องมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ในภูมิภาคต่างๆ ก่อนนำมาประกาศใช้จริง


 


การให้ใบอนุญาตชั่วคราวแก่วิทยุชุมชนนี้ หากเป็นผลสำเร็จ ลุล่วงไปได้ด้วยดี ถือเป็นความก้าวหน้าของการปฏิรูปสื่อในประเทศไทย เพราะเป็นการยอมรับสิทธิในการสื่อสารของชุมชนแม้ว่าใบอนุญาตชั่วคราวจะมีอายุแค่ 1 ปีก็ตาม


 


แต่หากมองในแง่ของการปฏิรูปสื่อ ที่ต้องกระจายทรัพยากรคลื่นความถี่ของชาติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รัฐบาลก็ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการดูแลจัดการ และยอมรับสิทธิในการสื่อสารของทุกกลุ่มในสังคม เพราะทุกวันนี้สังคมไทยไม่ได้มีแต่วิทยุชุมชนเท่านั้น แต่มีวิทยุศาสนา วิทยุของสถาบันการศึกษา วิทยุธุรกิจ วิทยุท้องถิ่น และวิทยุอื่นๆ อีกมากมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net