Skip to main content
sharethis

วานนี้ (23 ก.พ.52) เมื่อเวลา 10.30 น. ศาลปกครองระยอง มีการนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีชาวบ้านมาบตาพุด ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรณีที่ละเลยต่อหน้าที่ไม่ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุม ลดและขจัดมลพิษ และขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยมีนายเจริญ เดชคุ้ม กับพวกรวม 27 คน เป็นโจทก์ ในคดีหมายเลขดำที่ 192/2550 ณ ห้องพิจารณาคดี 1 ชั้น 1


 


สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 1 ต.ค.50 ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง จาก 11 ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมหนักในนิคมอุตสาหกรรมมาเป็นเวลานาน ได้มอบอำนาจให้โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม โดย นายสุรชัย ตรงงาม นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ นางสาวมนทนา ดวงประภา และนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เป็นผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีทั้ง 27 ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต่อศาลปกครองระยอง


 


วานนี้ ศาลออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสแถลงด้วยวาจาต่อหน้าศาล โดยผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำแถลงการณ์ และผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำชี้แจงต่อศาล และไม่มีการแถลงด้วยวาจา ส่วนตุลาการผู้แถลงคดี ได้ชี้แจงด้วยวาจาต่อองค์คณะประกอบคำแถลงการณ์เป็นหนังสือ และมีประเด็นสำคัญ โดยสรุป คือ


           


ประเด็นที่ 1 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ เป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ ตุลาการผู้เถลงเห็นว่า ตาม มาตรา 56 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และมาตรา 67 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้รับรองสิทธิในดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน รวมถึง มาตรา 59 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการ ควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้


 


ประเด็นที่ 2 คำขอท้ายคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 59 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยประกาศให้พื้นที่มาบตาพุด และเทศบาลมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด


 


ตามข้อเท็จจริงในสำนวนคดีที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเอกสารของนักวิชาการที่ได้มีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเสนอต่อศาล ชี้ให้เห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมในเขตมาบตาพุดและใกล้เคียงก่อให้เกิดมลพิษ ผลการศึกษาต่างๆ สรุปได้สอดคล้องกันว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมเหมราชตะวันออก เป็นพื้นที่มีปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ ขยะพิษ และมีแนวโน้มก่อให้เกิดความเสียหาย


 


เอกสารดังกล่าวเป็นที่น่าเชื่อถือ และข้อมูลที่เป็นประจักษ์คือมีการรั่วไหลของสารเคมี มีผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ และโรคมะเร็งสูง รวมถึงเหตุการณ์ที่โรงเรียนในมาบตาพุด ต้องย้ายโรงเรียนจากเดิมซึ่งอยู่ในพื้นที่กันชน เห็นได้ว่ามีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ และมลพิษมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีการสะสมเป็นเวลานาน มีโรงงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก


 


ตุลาการผู้แถลงคดี ได้สรุปความคิดเห็นให้ผู้ถูกฟ้องประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง มาบข่า เนินพระ และทับมา ภายใน 45 วันนับแต่ศาลมีคำพิพากษา โดยความเห็นดังกล่าวเป็นของตุลาการผู้แถลงคดี ไม่ผูกพันองค์คณะตุลาการผู้รับผิดชอบคดี ดังนั้น คำพิพากษาอาจมีแนวเดียวกับตุลาการผู้แถลงคดีหรือไม่แตกต่างไปก็ได้


 


ทั้งนี้ ศาลมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 3 มีนาคม 2552 เวลา 11.00 น. ที่ศาลปกครองระยอง     


 


           



การดำเนินการที่ผ่านมา


 


เมื่อวันที่ 1 ต.ค.50 เวลา 14.00 น. ชาวบ้านมาบตาพุด 27 คน จาก 11 ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เดินทางไปยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ศาลปกครองระยอง กรณีละเลยต่อหน้าที่ เนื่องจากไม่ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุม ลดและขจัดมลพิษ และ ขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคมว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่ใน สิ่งแวดล้อมที่ดี


 


เนื่องจากการที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมหนักในนิคมอุตสาหกรรมมาเป็นเวลานาน หลายคนเจ็บป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง และอีกหลายชีวิตต้องสังเวยให้กับโรคร้ายที่มาจากมลพิษอุตสาหกรรม ประกอบ กับสภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมตกอยู่ในสภาวะที่เลวร้าย มีมลพิษทางอากาศที่ร้ายแรง มลพิษทางน้ำและอันตรายจากกากของเสียอันตราย และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐไม่ได้ทำให้ปัญหาสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดดีขึ้น ประชาชนยังคงต้องรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายตลอดเวลา และมีแนวโน้มว่าจะมีการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่อีกโดยไม่คำนึงถึงปัญหาที่ เป็นอยู่


 


สภาพปัญหาทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าวมีแนวโน้มรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) จึงใช้ช่องทางตามมาตรา 59 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่ง ให้อำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่จะประกาศให้เขตพื้นที่มาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินมาตรการควบคุม ลดและขจัดมลพิษ แต่เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ มิได้ดำเนินการตามกฎหมาย


 


"แม้ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมไปเมื่อเดือนม.ค.แล้ว เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของมลพิษและปัญหาสุขภาพ และเพื่อจัดทำแผนอย่างเป็นระบบเพื่อลดมลพิษ แต่จนบัดนี้ชาวบ้านก็สะท้อนว่ายังไม่เห็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม จึงต้องเปิดประเด็นเพื่อให้มีการนำข้อมูลมาดูกันในชั้นศาล" สุรชัย ตรงงาม ทนายความจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าว


 


 


 


อ่านเพิ่มเติม


 


ก๊าซนิคมฯ มาบตาพุดรั่วหามส่งโรงพยาบาล 30 ราย


ขยาย "มาบตาพุด" : การเบียดเบียนที่ไม่สิ้นสุดในยุคเศรษฐกิจพอเพียง

"มาบตาพุด" : ความเจริญที่ทำร้าย "เจริญ" และคนอื่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net