Skip to main content
sharethis


ชายอินเดียยืนอ่านหนังสือพิมพ์ที่มีภาพปกประธานาธิบดีโอบามา ในมุมไบเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา

(ที่มาภาพ:
PAL PILLAI / AFP / Getty Images)


 จากข้อมูลของสมาคมนักหนังสือพิมพ์โลก (World Association of Newspapers: WAN) พบว่าในขณะที่ตัวเลขผู้สมัครเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์ในยุโรปและอเมริกาเหนือลดลง 1.84% และ 2.14% ตามลำดับในปี ค.. 2006-07 แต่ในทางกลับกัน ในภูมิภาคเอเชียพบว่ามีคนอ่านหนังสือพิมพ์มากขึ้น


เฉพาะในอินเดียประเทศเดียวมีผู้อ่านหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้น 11.5 ล้านคนในปี 2008 และมีรายได้จากการขายโฆษณาเพิ่มถึง 10% ซึ่งถึงแม้จะไม่เท่ากับเมื่อสองปีที่แล้ว แต่โดยภาพรวมแล้วยังคงแข็งแกร่งอยู่สำหรับอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ของอินเดีย "ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถผ่อนคลายกับถ้วยชาในตอนเช้าได้ หากปราศจากหนังสือพิมพ์" ราหุล คันสาล (Rahul Kansal) หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Times of India กล่าว


การที่สื่อในเอเชียขยายตัวมากขึ้นได้สะท้อนถึงการร่วงโรยของเหล่าผู้นำเผด็จการ เช่นตัวอย่างในอินโดนีเซียจำนวนของผู้ทำกิจการหนังสือพิมพ์ที่มีไม่กี่สิบรายในสมัยของซูฮาร์โต แต่หลังเขาหมดอำนาจในปี 1998 การแข่งขันในธุรกิจนี้ก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีกว่า 800 รายแล้ว อุตสาหกรรมนี้ในอินโดนีเซียกำลังดูเหมือนว่าจะไปได้สวย ถึงขั้นที่หนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษอย่าง Jakarta Globe ต้องเพิ่มความเร็วในการจัดพิมพ์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่หนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับวิกฤตและต้องปิดกิจการไปหลายแห่ง


"ชนชั้นกลางในอินโดนีเซียกำลังขยายตัว และหลายครอบครัวมักจะสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์ถึงสองฉบับ" อาลี บาสยาห์ ซูร์โย (Ali Basyah Suryo) ที่ปรึกษาด้านกลยุทธของ Jakarta Globe กล่าว "ผู้คนชอบที่จะมีหนังสือพิมพ์ไว้ในมือเสมอ และอาจตัดปะคัดลอกเก็บเรื่องราวเหล่านั้นไว้ มันเป็นสินค้าที่มีคุณค่า"


ขณะเดียวกันที่จีน รัฐบาลมีการส่งคำสั่งเซ็นเซอร์ถึงกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทุกวัน แต่การปฏิวัติสื่อก็เริ่มขึ้นด้วยเช่นกันจากเมื่อหลายสิบปีก่อนที่รัฐบาลกลางเริ่มระงับการให้เงินอุดหนุนหนังสือพิมพ์ โดยปัจจุบันตลาดเสรีกลายเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้ข่าวต้องขายได้ ขณะที่ People's Daily ยังคอยเป็นปากเป็นเสียงให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเหนียวแน่น แต่หนังสือพิมพ์หัวอื่นๆ ก็กำลังนำเสนอดึงดูดผู้อ่านด้วยข่าวสืบสวนเรื่องคอรัปชั่นต่างๆ หรือไม่ก็เสนอข่าวอื้อฉาวของคนดัง


อัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตต่อประชากรทั้งหมดยังคงต่ำในเอเชีย ทำให้หนังสือพิมพ์ยังคงมีส่วนสำคัญในการรับรู้ข่าวสาร เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมามีชาวอินเดียเพียง 12.24 ล้านคนที่สมัครเป็นสมาชิกอินเตอร์เน็ต เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่สมาชิกหนังสือพิมพ์แล้วมีถึง 180 ล้านคน


 



จากการประเมินจากเวบ www.internetworldstats.com พบว่าจำนวนชาวเอเชียที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้นมีถึงประมาณ 650.4 ล้านคน แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนต่อประชากรทั้งหมดแล้ว ยังพบว่ายังคงมีสัดส่วนต่อประชากรทั้งหมดไม่มากนักคือประมาณ 17.2% จากประชากรทั้งหมด 3,780,819,792 คน


แม้แต่ในภูมิภาคแห่งเทคโนโลยีอย่างเอเชียตะวันออกที่อินเตอร์เน็ตแพร่หลาย หนังสือพิมพ์ยังคงเป็นช่องทางรับข่าวสารหลัก ในญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละครอบครัวมักจะเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์มากกว่าหนึ่งฉบับ ทั้งนี้ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นเองก็เป็นผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ที่ผู้อ่านครองใจมากที่สุดในโลก ด้วยการตอบรับเป็นสมาชิกของหนังสือพิมพ์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง


"ถึงแม้หนังสือพิมพ์ในประเทศอื่นๆ เจอปัญหา แต่ยังมีหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นหลายฉบับที่พิมพ์ออกมาวันละหลายล้านฉบับ" โยอิชิ ฟูนาบาชิ (Yoichi Funabashi) บรรณาธิการบริหารของ Asahi Shimbun หนังสือพิมพ์อันดับสองของโลกที่มียอดสมาชิกถึง 8 ล้านราย (โดยอันดับหนึ่งก็คือคู่แข่งอย่าง Yomiuri Shimbun)


กระนั้นพวกเขาก็ไม่ทิ้งตลาดผู้บริโภครุ่นใหม่ Asahi Shimbun มีบริการรับข่าวสารทางโทรศัพท์มือถือ โดยบริการนี้พึ่งถูกนำมาใช้ในช่วงหน้าร้อนและมีเป้าหมายเพิ่มสมาชิกให้ได้ 10 ล้านคนในระยะเวลาอันใกล้


นอกจากที่เอเชียเป็นภูมิภาคที่อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์รุ่งเรืองที่สุดแล้ว ภูมิภาคนี้ยังเป็นพื้นที่ที่อันตรายสำหรับนักข่าวอีกด้วย จากข้อมูลของสถาบันสื่อนานาชาติ (International Press Institute) พบว่าในปี 2008 มีนักข่าวในเอเชีย 26 คนเสียชีวิต ซึ่งสถิตินี้แย่ยิ่งกว่าภูมิภาคตะวันออกกลาง นอกจากนี้ยังมีนักข่าวในเอเชียอีก 54 คนถูกคุมขัง


ที่มา :
Newspapers in Asia: A Positive Story (www.time.com, 19/02/2009)
www.internetworldstats.com


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net