Skip to main content
sharethis

องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 ก.พ. เรียกร้องให้บรรดารัฐภาคีอาเซียนกำหนดให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญในการประชุมสุดยอดประชุมอาเซียน ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ที่ประเทศไทย เพื่อแสดงพันธกิจที่มีต่อธรรมนูญอาเซียน โดยยกตัวอย่างปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า รวมถึงการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยทางเรือชาวโรฮิงญา


 


ดอนนา เกสต์ (Donna Guest) ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่า อาเซียนจะต้องดำเนินการทันทีเพื่อแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เป็นข้อกังวลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเด็นส่งผลกระทบด้านลบทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก


 


"หากอาเซียนไม่ใช้โอกาสนี้พัฒนากลไกที่เข้มแข็งและมีอำนาจในการรับข้อร้องเรียน สอบสวน และจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในรัฐภาคีทั้งสิบแห่งเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ อาเซียนก็จะสูญเสียความน่าเชื่อถือไป" ดอนนา เกสต์กล่าว



 


 


 


แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล
แถลงการณ์



26
กุมภาพันธ์ 2552



สิทธิมนุษยชนควรเป็นวาระสำคัญของอาเซียน


 


แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลเรียกร้องให้บรรดารัฐภาคีอาเซียนกำหนดให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญสุดในการประชุมสุดยอดประชุมอาเซียน ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ที่ประเทศไทย เพื่อแสดงพันธกิจที่มีต่อธรรมนูญอาเซียน


 


"การปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยทางเรือชาวโรฮิงญาแสดงให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้เกิดปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค" ดอนนา เกสต์ (Donna Guest) ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าว "อาเซียนจะต้องดำเนินการทันทีเพื่อแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เป็นข้อกังวลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเด็นส่งผลกระทบด้านลบทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก"


 


ในช่วงก่อนการประชุมสุดยอดที่ประเทศไทย แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่าแม้อาเซียนได้เริ่มตระหนักถึงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้ แต่ยังมีงานต้องทำอีกมาก


 


ในปัจจุบันรัฐภาคีทุกแห่งในอาเซียนให้สัตยาบันรับรองธรรมนูญอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยหลายมาตราเพื่อแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมาตราที่กำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานสิทธิมนุษยชนของอาเซียน แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่า หน่วยงานดังกล่าวจะต้องมีความเข้มแข็ง ทำงานแบบมืออาชีพ เป็นอิสระ เป็นตัวแทนของคนกลุ่มต่าง ๆ และส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลยังเรียกร้องให้รัฐภาคีแห่งอาเซียนทุกแห่งให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ในขณะที่หน่วยงานสิทธิมนุษยชนของอาเซียนจะทำหน้าที่ช่วยเหลือให้รัฐภาคีปฏิบัติตามสนธิสัญญาดังกล่าวได้


 


"ปัญหาท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับหน่วยงานสิทธิมนุษยชนของอาเซียนที่จัดตั้งขึ้นมาได้แก่ สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายในพม่า" ดอนนา เกสต์ กล่าว "การละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในรัฐภาคีของอาเซียนแห่งนี้ดำเนินมาหลายทศวรรษ ทั้งในรูปของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เพื่อให้หน่วยงานสิทธิมนุษยชนแห่งนี้ทำหน้าที่สมกับชื่อองค์กร จะต้องให้อำนาจหน่วยงานดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในพม่าได้อย่างเหมาะสม"


 


วันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง 24 คน แต่จนถึงปัจจุบันมีนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่อีกกว่า 2,100 คน ซึ่งนับเป็นจำนวนสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี


 


วิกฤตล่าสุดที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยทางเรือชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นชาวมุสลิมที่หลบหนีภัยคุกคามจากภาคตะวันตกของพม่า สะท้อนถึงมิติระดับภูมิภาคของปัญหาสิทธิมนุษยชน เมื่อเดือนที่แล้วแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลประเทศบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และไทย หลังจากที่ชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่าหลายพันคนหลบหนีทางเรือเข้าสู่ประเทศไทยและมาเลเซีย ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนสาบสูญ ซึ่งคาดว่าจะจมน้ำตาย ในขณะที่ทหารไทยได้บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยกว่า 1,000 คนทันทีที่เดินทางด้วยเรือจนถึงภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทย


 


ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศอาเซียนแสดงให้เห็นว่าสามารถร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคได้ โดยอาเซียนเป็นผู้นำในการจัดตั้งกลุ่ม Tripartite Core Group ร่วมกับองค์การสหประชาชาติและรัฐบาลพม่า เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนกับผู้รอดชีวิตจากพายุไซโคลนนาร์กิสเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551  


 


"ปัญหาสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการแก้ไขในระดับภูมิภาค เช่นเดียวกับระดับชาติและนานาชาติ การส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อคุ้มครองสิทธิมีคุณค่าอย่างสำคัญต่อภูมิภาคอื่นด้วย" ดอนนา เกสต์กล่าว "หากอาเซียนไม่ใช้โอกาสนี้พัฒนากลไกที่เข้มแข็งและมีอำนาจในการรับข้อร้องเรียน สอบสวน และจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในรัฐภาคีทั้งสิบแห่งเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ อาเซียนก็จะสูญเสียความน่าเชื่อถือไป"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net