อธิปไตยและธรรมนูญชุมชน ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบของบ้านทับเขือ-ปลักหมู

อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ

ก่อนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะหยิบยกเรื่องการปฏิรูปที่ดินมาพูดถึงกันจนกลายเป็นกระแสนั้น  มีชุมชนจำนวนไม่น้อยที่ริเริ่มทำให้เห็นเป็นรูปธรรมไปก่อนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ภาคเหนือ  ภาคอีสาน หรือว่าภาคใต้  เช่นที่บ้านทับเขือ-ปลักหมู  อ.นาโยง จ.ตรัง 


บุญ แซ่จุง เครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กรณีแนวคิดการสร้างอธิปไตยชุมชนและธรรมนูญชุมชน ในกรณีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบของบ้านทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง จ.ตรัง ในเวทีเมื่อเสวนาเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

ในพื้นที่ของบ้านทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง จ.ตรัง ชาวบ้านกว่า 60 ครอบครัวไม่มีที่ดินทำกิน เขาไม่มีที่ดินเพื่อเป็นฐานที่สำคัญของชีวิต แล้วถ้าหากว่าเขาเดินทางไกลออกไปกว่านั้นก็คือการเข้าไปทำงานในโรงงาน หรือว่ากลายเป็นพี่น้องที่อยู่ในสลัม ซึ่งหากชาวบ้านออกไปจากที่ดินนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจะหนักมากกว่าเก่า เพราะว่าทักษะของชาวบ้านในโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้นไม่มี แล้วสุดท้ายก็จะกลายเป็นปัญหาของประเทศอีกต่อไป

 

ในการปฏิรูปที่ดินโดยองค์กรชุมชน ถามว่าทำไมบ้านทับเขือถึงต้องมีการพูดถึงธรรมนูญชุมชน ทำไมต้องพูดถึงเรื่องสังคม หรือว่าพูดถึงเรื่องการผลิต วิถีการผลิต การตลาด เรื่องการยกระดับศักยภาพในการผลิต ก็เพราะว่าที่ดินมันเกี่ยวโยงกับเรื่องราวต่างๆ อีกหลายๆ เรื่อง การปฏิรูปที่ดินในนามขององค์กรชุมชนมันรวมถึงการปฏิรูปวิถีการผลิตของตนเองที่เราตกเป็นทาสของภาคอุตสาหกรรมมานาน พี่น้องภาคใต้ชาวเทือกเขาบรรทัดก็เหมือนกัน เราไม่มีความรู้เรื่องยางพาราเลยนอกจากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับภาคอุตสาหกรรม ถ้าหากวันนี้เขาไม่รับซื้อยางพาราเราก็ตาย แม้แต่ไม้กวาดยางพารา ชาวบ้านก็ทำไม่เป็น เราจึงกลายเป็นทาสแรงงานพร้อมๆ กับยกที่ดินให้ภาคอุตสาหกรรมด้วยความภาคภูมิใจ

 

คำถามที่เป็นโจทย์ของเราในส่วนของบ้านทับเขือ-ปลักหมู หรือในส่วนของพี่น้องเทือกเขาบรรทัดก็คือ ทำอย่างไรที่เราจะทำการปฏิรูปที่ดินโดยองค์กรชุมชนซึ่งจะนำไปสู่การปลดปล่อยศักยภาพของพี่น้องภาคเกษตรกรให้เป็นไทขึ้นมาได้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกๆ คนโดยเฉพาะรัฐที่จะต้องให้ความร่วมมือกับองค์กรชุมชนด้วย เพราะทุกรัฐบาลที่ผ่านมามีแต่เพียงการเหยียบย่ำ เพราะว่าเขานิยามสิทธิเอาไว้เพียงแค่ 2 อย่างเท่านั้น รัฐส่งเสริมเทิดทูนเพียงแค่ 2 สิทธิเท่านั้นคือสิทธิแห่งรัฐ อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สิทธิที่ 2 เป็นสิทธิของปัจเจกบุคคล ซึ่งชุมชนหายไป ซึ่งมีแต่เพียงตัวหนังสือที่รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ แต่ว่ามันไม่มีภาคปฏิบัติอะไรเลย ไม่มีอะไรมารองรับสิทธิเหล่านี้เลย

 

หลังจากการสรุปบทเรียนการต่อสู้หลังปี 2544 พี่น้องในเขตชุมชนเทือกเขาบรรทัดก็บอกว่าจะมีเพียงแค่สิทธิอย่างเดียวไม่พอ มันจะต้องมีอธิปไตยชุมชน มันต้องมีอำนาจซึ่งจะนำไปสู่ศักยภาพของชาวบ้าน จะให้สิทธิในที่ดินกับชาวบ้าน ไม่มีเมล็ดพันธุ์ ไม่มีปุ๋ยให้ ไม่มีอะไรให้สักอย่าง คนอื่นเขาก็แย่งยึดไป มันจึงนำไปสู่ที่มาของสิทธิชุมชนและธรรมนูญชุมชน ที่ต้องมององค์กรทั้งหมด เราจัดการผลิตของเราเอง และในขณะเดียวกันเราก็คือถึงตลาดที่จะเป็นตัวกระจายผลผลิต สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างศักยภาพของชุมชน ซึ่งการที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้จะต้องลงไปในเรื่องของวิถีวัฒนธรรมด้วย ซึ่งถ้าหากเรายังติดยึดในสังคมสิทธิปัจเจกตัวใครตัวมันแล้ว เราก็ทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้

 

ทุกวันนี้เรารับวิถีทุนนิยมเข้ามาเต็มๆ ถ้าหากเรายังไม่สร้างระบบสิทธิขึ้นมาใหม่ ที่นี่ชาวบ้านนั้นพูดถึงโฉนดชุมชนซึ่งจะนิยามเอาไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับชุมชน จากแปลงรวมใหญ่ๆ มีการจัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับชุมชน คือสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างผู้คนกับชุมชนที่ไม่ใช่บุคคลไปบุกรุกชุมชน แต่บุคคลต้องขึ้นกับสังคมชุมชนโดยมีธรรมนูญชุมชนที่เราช่วยกันร่างกันขึ้นมาเป็นตัวกำกับ

 

อันนี้เป็นการลุกขึ้นมาเพื่อที่จะหาทางออกของภาคประชาชน ว่าสังคมที่เป็นปัจเจกนั้นมันไม่ไหว  การผูกขาดโดยบุคคลนั้นมันไม่ไหว จะทำอย่างไรที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิบุคคลกับสิทธิชุมชนใหม่ ที่มีกติกากำกับในสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ และสร้างขึ้นมาจากบุคคลที่รู้ในปัญหาเหล่านี้ เพราะว่าถ้าหากสั่งมาจากข้างบนแล้วมันก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาอะไรได้ ซึ่งในการจัดการระดับชุมชนที่เราออกเป็นธรรมนูญของเราเองนั้น ระดับล่างคือ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ล่าสุดนายอำเภอปะเหลียน จ.ตรัง ลงนามยอมรับแล้ว เราจะรอดูว่ารัฐบาลนั้นจะยอมลงนามหรือไม่ หรือว่าจะยังยึดมั่นกับโครงสร้างที่กรมป่าไม้วางเอาไว้ ที่ผูกขาดโดยกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่มีการกระจายลงสู่ข้างล่างแม้แต่น้อย.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท