อภิสิทธิ์-กษิต พบตัวแทนภาคประชาสังคมพม่าและกัมพูชา รับรองจะพยายามให้กลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทำงานได้


ภายหลังจากที่ผู้นำกัมพูชาและพม่าไม่อนุญาตให้ตัวแทนภาคประชาสังคมจากประเทศของ ตนเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนายกษิต ภิรมย์ ได้ออกมาพบตัวแทนทั้ง 2 ด้วยตนเอง พร้อมรับรองว่าจะพยายามให้กลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทำงานได้

เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. วันที่ 28 ก.พ. ตัวแทนนักกิจกรรมจากงานมหกรรมประชาชนอาเซียน จำนวน 8 คน จากมาเลเซีย ไทย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ได้เข้าพบผู้นำชาติอาเซียนทั้ง 10 ชาติ ที่โรงแรมดุสิตธานีหัวหิน ทั้งนี้ตามกำหนดการเดิมนั้น จะมีนักกิจกรรมจากอาเซียนทั้งหมด 10 คน แต่เนื่องจากผู้นำของพม่าระบุว่า หากมีตัวแทนจากนักกิจกรรมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตยชาวพม่าเข้าพบ จะเดินออกจากที่ประชุม ขณะที่สมเด็จฮุน เซน ผู้นำกัมพูชาเรียกร้องให้ส่งตัวแทนภาคประชาสังคมที่ตนเตรียมมา เข้าร่วมประชุมแทน หากมิเช่นนั้น จะเดินออกจากที่ประชุมเช่นกัน

โดยข้อเรียกร้องของผู้นำสองประเทศได้รับการสนับสนุนจากผู้นำของเวียดนาม และลาว ซึ่งระบุพร้อมจะเดินออกจากที่ประชุมตามผู้นำจากพม่าและกัมพูชาเช่นกัน  ทั้งนี้ ประเทศลาวไม่มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าพบผู้นำ เนื่องจากเกรงกลัวด้านความปลอดภัย และประเทศบรูไนไม่มีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

วัชรา นายน์ดู ชาวมาเลเซีย ตัวแทนนักกิจกรรมที่เข้าพบผู้นำอาเซียน เปิดเผยว่า  ผู้นำอาเซียนพบภาคประชาชน ได้พูดคุย 5 ประเด็นคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนของอาเซียน  แรงงานอพยพ  พม่า และปัญหาเพศสภาวะโดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้นำ 2 ประเทศเท่านั้นคือ ไทยและเวียดนาม ซึ่งคำตอบต่อข้อเสนอของฝ่ายภาคประชาชนยังเป็นคำตอบเชิงหลักการและต้องจับตาภาคปฏิบัติต่อไป

วัชราระบุว่า ผู้นำเวียดนามได้กล่าว สนับสนุนการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม ขณะที่ผู้นำของไทยมีท่าทีรับฟังมากที่สุด

นางสุนทรี เซ่งกิ่ง ชาวไทย ที่เป็นตัวแทนเข้าพบผู้นำ กล่าวว่าผู้นำไทยมีท่าทีรับฟังมากที่สุด แต่ก็ต้องดูต่อไปว่า ในทางปฏิบัติและจะเกิดผลจริงจังอย่างไรหรือไม่ และได้แสดงความเสียใจที่นักกิจกรรมจากพม่าและกัมพูชา ไม่สามารถเข้าร่วมการสนทนากับผู้นำได้

"เรารู้สึกเสียใจกับเพื่อนๆ จากประเทศสมาชิกที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าร่วมการสนทนากับผู้นำ และรู้สึกอายที่ประเทศไทยไม่มีเสรีภาพมากเพียงพอที่จะทำให้พวกเขาได้มีโอกาสพูด ผู้นำของไทยและรัฐบาลไทยยังไม่ได้ใช้ความพยายามมากพอ"

ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ นักสิทธิมนุษยชนไทย กล่าวว่า ปัญหาของการที่นักกิจกรรมจากประเทศพม่าและกัมพูชาได้แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ภาคประชาสังคมพร้อมและพยายามให้เกิดการมีส่วนร่วมและเกิดการสนทนา ระหว่างภาครัฐและประชาสังคม แต่ปัญหาคือรัฐบาลในอาเซียนยังไม่ต้องการการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม

ด้านนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผอ.สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าผู้นำสองประเทศคือไทยและเวียดนาม มีท่าทีที่ดีในการตอบข้อเสนอของกลุ่มนักกิจกรรมจากอาเซียน แต่ก็ยังต้องมองต่อไปถึงกระบวนการปฏิบัติและการสร้างองค์กรรองรับ สำหรับผู้นำประเทศอื่นๆ นั้นไม่มีการตอบสนองใดๆ แต่อ่านได้จากท่าทีว่าไม่ดีนัก

นายฐิตินันท์ กล่าวว่า ครั้งนี้ไม่เพียงเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับผู้นำของประเทศและรัฐบาลในอาเซียน ที่จะมีการสนทนากับภาคประชาสังคม แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีของภาคประชาสังคมที่จะเรียนรู้เพื่อต่อสู้ตามกติกาและ ช่องทาง ไม่ทำลายโอกาสนั้น อย่างไรก็ตามนายฐิตินันท์กล่าวต่อไปว่า แม้ผู้นำจากสองประเทศจะมีท่าทีที่ดีต่อภาคประชาสังคม แต่การปฏิบัติให้เกิดผลจริงจัง และการสร้างกลไก รวมทั้งองค์กรที่จะรองรับนั้น ยังไม่แน่ชัด และเป็นไปได้ว่า การผลักดันในระดับอาเซียนอาจจะไม่เพียงพอ และให้ข้อสังเกตว่า กลไกและมาตรการต่างๆ จะได้ผลมากกว่าหากถูกบรรจุในวาระของการประชุมผู้นำระดับภูมิภาคเอเชีย 

หลังจากที่ผู้นำ 10 ชาติได้พบปะกับตัวแทนภาคประชาสังคมแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาที่ห้องรับรองภูหลวง 1 โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน เพื่อพบปะกับตัวแทนของภาคประชาสังคมที่เหลือ รวมทั้ง ขิ่น โอมาร์ จากประเทศพม่า และเพ็ญ โสมะนี จากกัมพูชาที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้นำของประเทศทั้ง 2 ให้เข้าพบ

ขิ่น โอมาร์ กล่าวกับนายกรัฐมนตรีไทยในฐานะเป็นประธานอาเซียน ว่ามีความเป็นห่วงว่าอาเซียนจะจัดการกับปัญหารการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าอย่างไร และกรณีของนางอองซาน ซูจี ซึ่งยังไม่รับการปล่อยตัว การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เพ็ญ กล่าวฝากถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมอาเซียน โดยหวังว่าภาคประชาสังคมอาเซียนจะได้รับการสนับสนุนให้สามารถร่วมกิจกรรมและเป็นหนึ่งเดียวกัน และต้องการให้เกิดการสนับสนุนด้านการเงินแก่กลุ่มประชาสังคมในระดับท้องถิ่น กลุ่มคนยากจน และชาติพันธุ์ที่เป็นคนกลุ่มน้อย รวมถึงแสดงความกังวลต่อความปลอดภัยของนักกิจกรรมในกัมพูชา และความปลอดภัยของตนเองที่เข้าร่วมในการสนทนาครั้งนี้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบรับว่า ปัญหาต่างๆ ที่นักกิจกรรมทั้งสองได้หยิบยกมานั้นเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก และครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ได้มาพบปะพูดจากันในห้องเดียวกัน และแน่นอนว่ายังมีอีกหลายๆ คำถามที่ยังต้องการจะถาม แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าไม่เพียงประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะถูกพูดออกมา แต่เสียงของนักกิจกรรมเหล่านี้ก็ยังเป็นเสียงที่ควรจะถูกได้ยินด้วย

ทั้งนี้ การที่ภาคประชาสังคมได้กล่าวปัญหาออกมา ก็สามารถเป็นแรงกดดันต่อผู้นำและในฐานะประธานอาเซียน ก็พยายามที่จะขยับและปรับปรุง และทำให้เกิดความมั่นใจว่า กลไกต่างๆ จะสามารถดำเนินการได้

นายกษิต ภิรมย์ กล่าวรับรองว่ารับรู้และตระหนักถึงปัญหาที่กล่าวมา สำหรับกรณีของเพ็ญ โสมะนี นักกิจกรรมชาวกัมพูชานั้น นายกษิต ให้การรับรองว่าเขาจะปลอดภัย และชื่อของเขาไม่ถูกเอ่ยถึงและไม่เป็นที่รับรู้ในที่ประชุม

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตัวแทนภาคประชาสังคมพม่า-กัมพูชา ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบผู้นำอาเซียน 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท