Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์


ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Watch สกว.ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์ลดโลกร้อน (measwatch.org) 1 มีนาคม 2552


 


 


ประเด็นหนึ่งในการเจรจาเรื่องโลกร้อนที่มีผลเกี่ยวโยงกับประเทศไทยอย่างมาก คือ เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนาหรือที่นิยมเรียกกันว่า "REDD" ซึ่งเป็นคำย่อที่มาจาก Reducing Emission from Deforestation and Degradation in Developing Countries (ดูรายละเอียดได้จากงานศึกษาของ ผศ.ดร.ลดาวัลย์ พวงจิตร ในโครงการติดตามความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์ลดโลกร้อน www.measwatch.org)


 


จากรายงานศึกษา พบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าใน เขตร้อนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ในการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ครั้งที่ 11 (COP11) ในปี พ.ศ.2548 ประเทศ ปาปัวนิกินีและประเทศคอสตาริกาจึงได้มีการเสนอแนวคิดให้เพิ่มเรื่องของการ ทำลายป่าเข้าไปในกลไกการพัฒนาที่สะอาดเพื่อสร้างแรงจูงใจที่จะลดปัญหาการ ทำลายป่า แนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยในเวลาต่อมา


 


แต่เดิม ภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ได้มีการกำหนดประเภทของโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด 15 ประเภท โดยมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาคป่าไม้เพียงประเภทเดียวคือ "โครงการปลูกป่า" (Afforestation/Reforestation) แต่เนื่องจากการปลูกป่าตาม CDM มีเงื่อนไขและข้อกำหนดมากมาย ทำให้ทั่วโลกมีโครงการปลูกป่าภายใต้ CDM เพียงโครงการเดียวที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการบริหาร CDM คือโครงการปลูกป่าลุ่มแม่น้ำ Pearl River ของ ประเทศจีน (ส่วนโครงการปลูกป่าขายคาร์บอนเครดิตที่เริ่มมีการทำในประเทศไทยที่ จ.สกลนคร ที่เคยกล่าวถึงในคอลัมน์นี้นั้นเป็นโครงการแบบสมัครใจ ไม่ได้อยู่ภายใต้ CDM)


 


อย่างไรก็ตาม ในการประชุม COP13 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550  ได้กำหนดให้ REDD เป็นกลไกเพิ่มเติมและเป็นอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกับกลไก CDM หลังจากนั้นก็ได้มีการประชุมเจรจาเรื่อง REDD อีกหลายครั้งแต่ยังไม่มีข้อสรุปยุติ เนื่องจากยังมีประเด็นที่ไม่ชัดเจนอีกหลายประการซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่ เท่าเทียมกันระหว่างประเทศสมาชิก และยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวเนื่องจากเกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่นและ นโยบายป่าไม้ของแต่ละประเทศ ประเด็นเกี่ยวกับ REDD ที่ยังต้องศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาระบบ อาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่


 


(1) ประเด็นด้านเทคนิควิธีการ (Methodological Issues) มีประเด็นเจรจาเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบและประเมินผล เช่น รูปแบบของ REDD (บาง ประเทศเสนอให้พิจารณาเฉพาะการทำลายป่าเท่านั้น ไม่รวมปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมเพราะจำแนกได้ยาก แต่บางประเทศเสนอให้รวมเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่าด้วย) คำนิยามของป่า (แต่ละประเทศมีนิยามคำว่า "ป่า" แตกต่างกันไป) และวิธีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น


 


(2) ประเด็นด้านการสร้างแรงจูงใจ (Positive Incentives) เป็น ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการสร้างแรงจูงใจที่มากเพียงพอให้ชุมชนเกิดความต้องการ รักษาป่า ซึ่งอาจเป็นการให้เงินตอบแทน (เงินจากกองทุน การเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ) หรือ การใช้กลไกทางการตลาด (เช่น การซื้อขายคาร์บอนเครดิต การแลกเปลี่ยนโอกาสทางการค้า การจ้างงาน การยกเลิกหนี้ ฯลฯ)


 


(3) ประเด็นด้านนโยบาย (Policy Approach) เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายป่าไม้ของแต่ละประเทศที่จะส่งเสริมให้กลไก REDD สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 


ในการเจรจาครั้งล่าสุด คือ COP14 ที่โปแลนด์เมื่อเดือนธันวาคม 2552 ผลการเจรจายังไม่มีข้อสรุปในประเด็นต่างๆ ที่หยิบยกขึ้นมาเจรจา แต่มีแนวโน้มไปในทิศทางว่า REDD จะ เป็นกลไกที่สำคัญในพันธกรณีต่อเนื่องหลังพิธีสารเกียวโต และให้ประเทศภาคีสมาชิกเสนอข้อคิดเห็นด้านข้อมูลทั่วไปของแต่ละประเทศ ตลอดจนความต้องการด้านเทคนิค การสร้างศักยภาพ การติดตามตรวจสอบ และการจัดทำรายงานเสนอไปยังสำนักเลขาฯ ของ COP ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552 นี้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเจรจาต่อไป


 


กรณีเรื่อง REDD เป็นสัญญาณอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของความตกลงแก้ไขปัญหาโลกร้อนฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้น (Post-Kyoto Regime) ซึ่งจะมีผลกระทบเกี่ยวโยงกับประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net