Skip to main content
sharethis

ประชาชนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กลุ่มปัญหาการถูกละเมิดในสิทธิที่ดินทำกิน กลุ่มปัญหาไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มปัญหานโยบายเรียกคืนที่ดินราชพัสดุ 1 ล้านไร่ และกลุ่มปัญหาชุมชนแออัด คนไร้บ้าน และที่อยู่อาศัยในเมือง ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดชุมนุมใหญ่ระหว่างวันที่ 4 - 10 มี.ค 2552 เพื่อผลักดันให้เกิดแนวทาง ยุทธศาสตร์ และแผนงานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรรายรายย่อยและกลุ่มคนไร้ที่ดินทำกินทั้งในระสั้นและระยะยาว


 


โดยในวันที่ 5 มี.ค. ในเวลา 10.00น. เครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จะเคลื่อนขบวนจากทำเนียบรัฐบาลไปที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อทักท้วงการประสานงานแก้ไขปัญหาคนจนไม่ถูกจุดของนายถาวร   เสนเนียม รมช.มหาดไทย จากนั้น ทำพิธีปล่อยเต่าจำนวน 20 ตัว และแถลงข่าวข้อเสนอการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่หน้ากระทรวงมหาดไทย ในเวลา 11.00น. และ เคลื่อนขบวนไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอ่านแถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2 ในเวลา 13.00 น. 


 


 



แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 1
"รัฐต้องจริงใจ เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับเกษตรกรและคนจนเมือง"


จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ในประเด็นมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากร โดยเฉพาะ มาตรกรการแก้ไขปัญหาข้อที่ ...๘ ที่ระบุว่า "คุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรในระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร"


แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินโดยประชาชนภาคเหนือ/สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค รวมถึงองค์กรแนวร่วม ประกอบด้วย พี่น้องกรณีปัญหาสหกรณ์การเช่าที่ดิน พิชัยภูเบนทร์ จ.อุตรดิตถ์ และกรณีปัญหาสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง จ.นครปฐม รวมพื้นที่ปัญหาทั้งสิ้น 25 จังหวัดและพื้นที่ปัญหาคนจนเมืองทั่วประเทศ เป็นเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการที่ดินของรัฐ มีการต่อสู้เรียกร้องให้รัฐมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม สามารถปฏิบัติได้จริง


เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เห็นว่าแนวคิดการจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่เน้นกลไกตลาดและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เป็นอยู่และระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบปัจเจกบุคคล ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงของชุมชน และไม่ใช่แนวทางที่จะนำไปสู่การปฎิรูปที่ดินให้สำเร็จลงได้ การแก้ไขปัญหาของชุมชนต้องให้บทบาทหลักกับองค์กรชุมชน ต้องให้อำนาจชุมชนในการจัดการที่ดิน ให้อำนาจชุมชนในการป้องกันปัญหาที่ดินหลุดมือในอนาคต ด้วยระบบโฉนดชุมชน ระบบธนาคารที่ดิน ภายใต้แผนการจัดการทรัพยากรขององค์กรชุมชนหรือธรรมนูญชุมชน


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการเรียกร้องต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อให้มีกลไกการแก้ไขปัญหาหรือเกิดผลในทางปฏิบัติในพื้นที่ต่างๆ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แต่กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมากลับเป็นไปอย่างล่าช้า และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้การดำเนินงานไม่มีข้อยุติ กลายเป็นปัญหาเรื้อรังและยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยหลายครั้ง มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในระดับพื้นที่หลายชุด แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่ก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด ต่อมา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ได้มีการยื่นหนังสือ คปท. ที่ 001 / 2552 เรื่อง ขอให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ต่อนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 ตัวแทนของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินได้เข้าประชุมหารือกับนาย ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีข้อสรุปว่า


1. รมช.มหาดไทย นายถาวร เสนเนียม จะประสานกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฎิรูปที่ดินฯ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผู้แทนของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินจำนวนรวมทั้งสิ้น 24 คน เป็นคณะกรรมการร่วม  ทั้งนี้โดยยึดหลักนโยบายของรัฐบาลมากกว่าการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมในการแก้ไขปัญหา


2. จากนั้น ให้คณะกรรมการดังกล่าวจัดประชุมครั้งที่ 1 ก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 (ก่อนเวทีอาเซียนซัมมิท วันที่ 26 กุมภาพันธ์) โดยผู้แทนของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ และผู้แทนของรัฐบาลซึ่ง นายถาวร เสนเนียม ได้มอบหมายให้ นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้รับผิดชอบประสานงานกำหนดวันประชุม


3.ส่วนการนำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินทั้งสิ้น 13 ข้อ เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งที่ประชุมได้เสนอให้มีการออกหนังสือเวียนจากรัฐมนตรีถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติการจับกุมและทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านในเบื้องต้น เช่น กรณีการตัดโค่นยางพาราและการจับกุมชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น


การติดตามผลกับการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่เห็นความคืบหน้าในทางปฏิบัติ ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแต่อย่างใด ทุกพื้นที่พี่น้องต้องทนกับสภาพปัญหาจนสุดจะทน รอไม่ไหวกับความเฉื่อยชา เฉื่อยช้าของรัฐบาล ณ วันนี้  เราจึงต้องลุกขึ้นมาทวงถามสัญญา สะสางปัญหาที่คั่งค้างจากรัฐบาลที่เคยรับปากไว้ "รัฐต้องให้ความจริงจัง จริงใจ กับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ให้กับเกษตรกรและคนจนเมือง" เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เชื่อมั่นว่า หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาตามแนวทางของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ที่ได้ยื่นข้อเสนอไว้แต่ต้นได้ จะทำให้ทุกชุมชนกลายเป็นชุมชนต้นแบบของทางออกในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับทุกชุมชนทั่วประเทศ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ จะปักหลักอยู่ตรงนี้อย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจ


ชุมชนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
ข้างทำเนียบรัฐบาล
4 มีนาคม 2552


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net