Skip to main content
sharethis

เลสลี โคห์


The Straits Times


22 มกราคม2552


กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดของไทยทำให้ประเทศไทยประสบ "ปัญหามากมาย" อดีตรัฐมนตรี และเอกอัครราชทูต กล่าวยอมรับ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2552 และชี้ว่าต้องเพิ่มแรงกดดันให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบทที่ว่าด้วยการอนุญาตให้บุคคลใดก็ได้สามารถฟ้องร้องผู้อื่นว่ากระทำการหมิ่นสถาบันฯ


ดร.เตช บุนนาค ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ กล่าวอ้างถึงความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายที่ให้การปกป้องพระราชวงศ์ และตั้งข้อสังเกตว่า ภายใต้กฎหมายหมิ่นฯ ตำรวจและศาลต้องปฏิบัติตามหน้าที่ตามที่มีการกล่าวหากันว่ามีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


"มีคดีหมิ่นฯ เข้าสู่การพิจารณาของศาลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ้นเปลืองเวลาเป็นอย่างมาก" เขากล่าว "และสร้างปัญหาให้ประเทศไทยมากมาย เราทุกคนตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี"


การยอมรับอย่างตรงไปตรงมาของนักการทูตผู้มากประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงสั้นๆ เมื่อปีที่ผ่านมา มีขึ้นในระหว่างการบรรยายที่สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เมื่อวันที่ 21มกราคม ที่ผ่านมา


ถึงแม้ว่าการบรรยายของ ดร.เตช จะเน้นไปที่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีส่วนเกื้อหนุนต่อการพัฒนาประเทศ แต่ประเด็นที่อยู่ในความสนใจ เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และความยุ่งเหยิงทางการเมืองภายในประเทศ เป็นประเด็นที่มีการตั้งคำถามมากที่สุดในช่วงการตอบคำถามที่ตามมาหลังจบการบรรยาย


กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่แข็งกร้าวกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อนักเขียนชาวออสเตรเลียถูกตัดสินให้จำคุก 3 ปี ในข้อหาหมิ่นสถาบันฯ รวมถึงการที่นักวิชาการผู้หนึ่งต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกัน


ทางด้านครอบครัวของนักเขียนชาวออสเตรเลียกล่าวว่าพวกเขาได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แล้ว (21 มกราคม)


เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของไทยยังได้ทำการบล็อกเว็บไซต์จำนวนนับพันแห่งที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะของคนไทย ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิและองค์กรสื่อต่างๆ ซึ่งกล่าวว่า กฎหมายหมิ่นฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้าม


"ไม่เป็นที่สงสัยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทยมากเพียงใด แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้ว ความเข้มงวดของกฎหมายหมิ่นฯ เป็นเรื่องที่น่าตกตะลึงเป็นอย่างยิ่ง" ผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายผู้หนึ่งกล่าว


ดร.เตช ตอบคำถามว่า ปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้แก้ไขกฎหมายดังกล่าว แต่เขาไม่ได้อธิบายโดยละเอียด


เขายังชี้ด้วยว่า กฎหมายหมิ่นฯ ไม่ได้มีในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ก็มีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนจากการถูกหมิ่นประมาท


"เรื่องสถาบันของแต่ละประเทศเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน" ดร.เตช กล่าว "คุณไม่สามารถเปรียบเทียบเรื่องของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษกับพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยได้"


 


เรียบเรียงจาก


Lese majeste laws 'a problem' for Thais


http://www.asianewsnet.net/news.php?id=3548&sec=1

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net