Skip to main content
sharethis

แม้การประชุมสุดยอดผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนครั้งที่ 14 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ก็ผ่านพ้นได้ด้วยดี ประเด็นหลักอยู่ที่ความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เข้มแข็ง


 


แต่กล่าวสำหรับในภาคใต้ของไทย ได้ถูกวางกอบการพัฒนาให้เป็นอย่างไรนั้น ความสำคัญก็น่าจะอยู่ที่การรับรู้และการมีส่วนร่วมของชาวบ้านว่ามีมากน้อยแค่ไหน


 


และแม้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (ปี 2550 - 2554) ได้กำหนดวิสัยทัศน์มุ่งสู่ "สังคมอยู่เย็นเป็นสุขรวมกัน" โดยยึด "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นแนวปฏิบัติ


 


แต่ดูเหมือนว่ากรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค โดยเฉพาะในภาคใต้ จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 สู่การปฏิบัติที่เผยแพร่ออกมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 นั้น แนวทางการพัฒนายังคงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาขนาดใหญ่และการใช้ศักยภาพของพื้นที่อย่างเต็มที่


 


โดยได้แบ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์ แต่ละยุทธศาสตร์ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาซึ่งสอดคลองไปกับบทบาทการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยภาคใต้ได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มีจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและพัทลุง กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน มีจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส


 


ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการใช้โอกาสและศักยภาพของพื้นที่อย่างเต็มที่โดยเฉพาะในด้านการค้าและการขยายฐานอุตสาหกรรม


 


โดยยุทธศาสตร์ที่ 2 ขยายฐานเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความหลากหลายของแหล่งสร้างรายได้และการจ้างงานให้แก่ภาค


 


ประเด็นสำคัญในแนวทางการพัฒนาอยู่ที่การใช้ความได้เปรียบของพื้นที่สร้างโอกาสการพัฒนารองรับการขยายการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศโดย ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กขึ้นในภาคใต้ในระยะเวลาที่เหมาะสม


 


โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพดังกล่าว ได้แก่ แถบจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และแถบจังหวัดปัตตานี ที่มีบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศแสดงความสนใจที่จะลงทุนตั้งโรงงานเหล็กขั้นต้นขึ้นในพื้นที่ภาคใต้


 


ทั้งนี้เพื่อเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตอุตสาหกรรมเหล็กบริเวณอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เริ่มประสบปัญหาและข้อจำกัดด้านการขยายพื้นที่และการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน


 


อย่างไรก็ตามจะต้องมีการเตรียมพื้นที่เนื่องจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเหล็กมีความต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ การจัดหาแหล่งน้ำและโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านการยอมรับของชุมชน


 


เช่นเดียวกับ การศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานของประเทศในระยะยาว เนื่องจากฐานการผลิตในภาคตะวันออกมีข้อจำกัดด้านการขยายพื้นที่รองรับ


 


โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพ คือ แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ซึ่งต้องเตรียมจัดหาพื้นที่และด้านต่างๆ โดยเฉพาะการยอมรับของประชาชนและชุมชนในพื้นที่


 


ขณะที่การพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจ คือ การพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบโครงการ JDS และกรอบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย หรือ IMT-GT ได้แก่


 


พัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor) สงขลา-ปีนัง-เมดาน โดยเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสะเดา - ปาดังเบซาร์ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชายแดน โดยให้สิทธิประโยชน์จูงใจ


 


พัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจอันดามัน ระนอง-ภูเก็ต-อาเจ๊ะห์ ให้เป็นพื้นที่การพัฒนาเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว การค้า และการคมนาคมขนส่ง กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระหว่างกัน


 


พัฒนาเมืองและตลาดชายแดน ได้แก่ ด่านสะเดา ปาดังเบซาร์ วังประจัน เบตง สุไหงโก-ลก ตากใบ และด่านเปิดใหม่ ได้แก่ ด่านบ้านประกอบ และด่านบูเก๊ะตา


 


และพัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งทะเลอ่าวไทยและระบบการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารสินค้าและบริการ ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ โดยเฉพาะบริเวณสงขลา-สตูล และพัฒนาชุมชนศูนย์กลาง ณ จุดที่เป็น Gateway ทั้งสองฝั่งทะเลด้วย


 


ในขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคการผลิตหลักเพื่อให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับภาคการผลิตที่เป็นรายได้หลักของภาคใต้ ได้แก่


 


ยางพารา โดยให้กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นฐานการผลิตของประเทศ โดยพัฒนาจังหวัดสงขลา เป็น Rubber City


 


ปาล์มน้ำมัน เร่งขยายพื้นที่ปลูก โดยเฉพาะพื้นที่ทิ้งร้างและพรุในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ส่งเสริมการแปรรูป โดยเฉพาะการผลิต Bio-diesel โดยพัฒนาให้จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็น"Oil Palm City" ส่วนจังหวัดกระบี่เป็นแหล่งปลูกปาล์มและอุตสาหกรรมแปรรูปปาล์มน้ำมันขั้นต้น ทั้งนี้เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของกระบี่ ให้เอื้อต่อการท่องเที่ยว


 


การประมง พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในจังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ให้มีมาตรฐานฟาร์มตามระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (GAP) เพื่อรักษาตลาดเดิม ควบคู่กับการเร่งขยายตลาดจากข้อตกลงการค้า FTA กับประเทศคู่ค้า เช่น ญี่ปุ่น ฯลฯ เพื่อให้มีตลาดเพียงพอรองรับผลผลิต รวมทั้งเป็นวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลที่มีฐานการผลิตหลักอยู่ในจังหวัดสงขลาและปัตตานี


 


ผลไม้ ส่งเสริมการพัฒนาสวนผลไม้เพื่อควบคุมคุณภาพตามระบบ GAP ในชนิดที่มีศักยภาพและโอกาสการส่งออกจากการทำข้อตกลง FTA เช่น จีน ญี่ปุ่น โดยเฉพาะ มังคุด ทุเรียน ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา


 


ส่งเสริมการเลี้ยง โค สุกร โดยเฉพาะที่ราบลุ่มแถบจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา


 


ฟื้นฟูการทำนาข้าวและเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวท้องถิ่นให้มีผลผลิตต่อไร่สูง โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำปากพนัง ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำปัตตานี


 


การท่องเที่ยว การรักษาชื่อเสียงและเพิ่มมนต์เสน่ห์แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลกลุ่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน เพิ่มบทบาท "ICT City" ของจังหวัดภูเก็ต พัฒนากิจกรรม MICE และ Marina เพื่อเพื่อเพิ่มจุดขายแก่กลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง


 


พัฒนาเมืองท่องเที่ยวชายแดนไทย - มาเลเซีย ได้แก่ เมืองหาดใหญ่ สะเดา เบตง สุไหงโก-ลก เช่น การกำหนดเป็นเมืองปลอดภาษี เป็นต้น


 


ส่วนในยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพและมีภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อเสริมสมรรถนะการพัฒนาภาค มีแนวทางการพัฒนา เช่น ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการแก้ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมการแก้ปัญหาความไม่สงบตามแนวทางการมีส่วนร่วมโดยยึดหลักสมานฉันท์และสันติวิธี เป็นต้น


 


ยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชน เช่น สนับสนุนการจัดทำแผนชุมชนที่มีคุณภาพ ส่งเสริมระบบสหกรณ์ เป็นต้น


 


ยุทธศาสตร์ที่ 5 ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาสมดุลเชิงนิเวศน์อย่างยั่งยืน เช่น ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 33 ของพื้นที่ภาค ฟื้นฟูดินเค็ม ดินเปรี้ยว บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ฟื้นฟูที่ดินนากุ้งร้างและเหมืองแร่ร้าง จังหวัดพังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา เร่งแก้ปัญหาและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เช่น การพิจารณารื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่เกิดปัญหาและไม่ได้ใช้ประโยชน์ และเพิ่มระบบควบคุมและกำจัดมลภาวะในเมืองศูนย์กลางภูเก็ต สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ โดยการใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย เป็นต้น


 


ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ถูกว่าไว้อย่างไร ความสำคัญน่าจะอยู่ที่ชาวบ้านจะส่วนร่วมอย่างไรในสถานการณ์ที่ปัจจุบันโครงการขนาดใหญ่ของรัฐมักถูกต่อต้านและไม่ไว้วางใจจากชาวบ้าน


 


 


 


โครงการที่สำคัญ (Flagship Project)


 


สำหรับโครงการสำคัญๆ ที่ควรมีเพื่อให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ได้รับการขับเคลื่อนให้บรรลุวัตถุประสงค์ มีดังนี้


 


ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคการผลิตหลักเพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน


 


1. โครงการพัฒนาสงขลาเป็นศูนย์กลางการผลิตการแปรรูป และการค้ายางพาราของประเทศ


โดยพัฒนาสถาบันเฉพาะทางยางพารา เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับยาง พัฒนาอุตสาหกรรมยาง โดยมีฐานที่สงขลา พัฒนาสงขลาเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายยางพาราระหว่างประเทศ


 


2. โครงการพัฒนาสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปปาล์มน้ำมันครบวงจร


โดยพัฒนาสถาบันเฉพาะทางที่เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตปาล์ม ผลิตเมล็ดปาล์มพันธุ์ดีให้เพียงพอ กำหนดเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และพัฒนากำลังคนรองรับ


 


3. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังและลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้


โดยกำหนดเขตพื้นที่ส่งเสริมการทำนาเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอ พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตสูง พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และพัฒนาโรงสีข้าวในระบบสหกรณ์


 


4. โครงการพัฒนาธุรกิจบริการกลุ่ม MICE และ Marinaเกาะภูเก็ต


โดยกำหนดพื้นที่และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจบริการกลุ่ม MICE และ Marina พัฒนาบุคลากรรองรับบริการรูปแบบใหม่และพัฒนาบริการพื้นฐานสนับสนุน


 


ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ขยายฐานเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความหลากหลายของแหล่งสร้างรายได้และการจ้างงานให้แก่ภาค


 


1. โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้


โดยพัฒนาการผลิตวัตถุดิบ พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล พัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาลในการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิต และพัฒนาบุคลากรรองรับ


 


ยุทธศาสตร์ที่ 3 : พัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพและมีภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อเสริมสมรรถนะการพัฒนาภาค


 


1. โครงการแก้ปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการในจังหวัดชายแดนภาคใต้


โดยจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการทุกมิติเพื่อแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จที่ครอบคลุมทั้งปัญหาที่ดินทำกิน หนี้สิน ที่อยู่อาศัย ฯลฯ


 


2. โครงการพัฒนาแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อไปทำงานต่างประเทศ


โดยสำรวจความต้องการแรงงานในต่างประเทศเพื่อจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม คัดเลือกผู้ว่างงานที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศเพื่อฝึกอบรมทักษะฝีมือ จัดส่งแรงงานที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วไปทำงาน และติดตามผลเพื่อให้ความดูแลคุ้มครอง


 


ยุทธศาสตร์ที่ 4 : เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชน


1. โครงการพัฒนาข้าวสังข์หยดเป็นสินค้าเชิงสุขภาพ


โดยกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวสังข์หยดเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอ พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตสูง และจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเพื่อแปรรูปข้าวสังข์หยดเป็นสินค้าเชิงสุขภาพ


 


2. โครงการพัฒนาการผลิตสินค้าฮาลาลระดับชุมชนแบบครบวงจร


โดยสำรวจความต้องการ พัฒนาทักษะผู้ผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานสินค้า พัฒนาการหีบห่อ และพัฒนาช่องทางการตลาด


 


ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาสมดุลเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน


1. โครงการฟื้นฟูอ่าวปัตตานี


โดยขุดลอกบริเวณตื้นเขิน ป้องกันการปล่อยน้ำเสีย ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และตรวจสอบคุณภาพน้ำในอ่าวอย่างต่อเนื่อง


 


2. โครงการฟื้นฟูการทำนาในพื้นที่นาร้างในจังหวัดชายแดนภาคใต้


โดยกำหนดพื้นที่ส่งเสริม บริการพื้นฐานเพียงพอ พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตสูงและมีคุณภาพ พัฒนาเทคโนโลยีและทักษะการประกอบอาชีพแก่ชาวนา และส่งเสริมการทำนาปีละ 2-3 ครั้ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net