Skip to main content
sharethis

เรื่องโดย : ธนวดี ท่าจีน มูลนิธิเพื่อนหญิง


วัน สตรีสากล กำเนิดจากการต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานทอผ้า เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ต้องทำงานหนักวันละ 12-15 ชั่วโมงต่อวัน แต่ได้รับค่าแรงเพียงเล็กน้อย มีสวัสดิการในโรงงานที่เลวร้าย กรรมกรหญิงที่ตั้งครรภ์เมื่อถึงกำหนดคลอดก็ถูกไล่ออกจากงาน คนงานคนแล้วคนเล่าที่เจ็บป่วยต้องล้มตายในขณะที่ทำงาน ภายใต้การนำของ คลารา แซทคิน สตรีชาวเยอรมัน กรรมกรหญิงส่วนใหญ่อายุ 18-19 ปี ได้ร่วมกันนัดหยุดงานและเดินขบวนในวันที่ 8 มีนาคม 1909 อย่างกล้าหาญ หลายร้อยคนถูกจับกุมและต้องขึ้นศาล เพื่อเรียกร้องให้ลดเวลาการทำงานเหลือ 8 ชั่วโมง รวมทั้งปรับปรุงสวัสดิการ ผลการเดินขบวนครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก การเรียกร้องดำเนินมาจนถึง 8 มีนาคม 1910 ที่ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้ผ่านญัตติเกี่ยวกับระบบการทำงานแบบ 3 แปด คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง ศึกษา 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง กำหนดค่าจ้างแรงงานหญิงให้เท่ากับชายในงานที่เท่ากัน คุ้มครองสตรีและแรงงานเด็ก และที่สำคัญได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากลตั้งแต่ปี 1910


องค์การสหประชาชาติได้มีการประชุมสตรีโลกครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2518 ที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ครั้งที่ 2 ที่กรุงเคนยา ประเทศไนโรบี จนเป็นที่มาของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ และครั้งที่ 3 ในปี 2538 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน จัดคู่ขนานระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมกับการผลักดันให้รัฐบาลทั่วโลกมีส่วนร่วมในการสร้างมาตรการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ยกระดับคุณภาพชีวิต ยุติการใช้ความรุนแรงต่อสตรี


องค์กรสตรีในประเทศไทย อาทิ มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER) สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ได้มีการรณรงค์และผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญในมิติแห่งสตรีมาตั้งแต่ปี 2530 จนรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญและจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรี แห่งชาติ (กสส.) ขึ้นในปี 2534 เพื่อเป็นองค์กรประสานการขับเคลื่อนวาระของเด็กและสตรีเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันสตรีสากล ปัจจุบัน กสส. ได้ถูกปรับเข้ามาอยู่ในเนื้องานของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยในปี 2552 วันสตรีสากลได้เริ่มต้นจากปลายปี 2551 ด้วยการจัดสมัชชาสตรีภูมิภาค การคัดเลือกบุคคล/องค์กรดีเด่น และการประชุมสมัชชาสตรีแห่งชาติ การมอบรางวัลซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 4-5 มีนาคม 2552 ณ อิมแพคเมืองทองธานี


การมอบรางวัลบุคคล/องค์กรสตรีดีเด่น ถือเป็นไฮไลท์วันสตรีสากลที่เรามักจะเห็นการประกาศรายชื่อบุคคล/องค์กร มีด้วยกันหลายกระทรวง/หน่วยงาน นับเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์แบบอย่างที่ดีในทางสร้างสรรค์ของสตรี เป็นกำลังใจให้บุคคล/องค์กร เพื่อการขับเคลื่อนสร้างความเป็นธรรมในสังคม


ประเทศไทยได้มีการจัดงานวันสตรีสากลมาหลายปี เมื่อมาดูในภาพรวมเราก็อาจจะหลงใหลได้ปลื้มว่าสถานภาพของหญิงไทยดีขึ้น เพราะมีการผลักดันนโยบายและกฎหมาย จนรัฐบาลได้มีการเห็นชอบประกาศใช้พระราชบัญญัติหลายฉบับ เช่น พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546, พรบ.ชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2548, ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276-277 พ.ศ.2550, พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551, พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551, มีการจัดตั้งกลไกคณะกรรมการ/กองทุนระดับจังหวัดและระดับชาติรองรับ เพื่อบูรณาการการทำงานแบบสหวิชาชีพ แต่เมื่อติดตามดูในภาคปฏิบัติ มีการทำงานเป็นรูปธรรมจริงจังไม่ถึง 5 จังหวัด เพราะขาดกลไกการกระตุ้นติดตามประเมินผล จะฟื้นคืนชีพคึกคักขึ้นมาเฉพาะในเทศกาลวันสตรีสากล/วันยุติความรุนแรงต่อ ผู้หญิงและเด็ก กลุ่มผู้หญิงโดยทั่วไปก็ยังไม่รับรู้บทบาทและภารกิจของกลไกหลัก รวมทั้งเนื้อหาสาระของกฎหมายโดยรวม


เมื่อมาแตะดูงบประมาณที่ใช้สำหรับกิจกรรมด้านสตรีมีไม่ถึงร้อยละ 0.1 งบประมาณที่ได้มาก็เป็นประเภทเบี้ยหัวแตก หรือต้องไปเบียดจากงบปกติ บางหน่วยงานถึงกลับลืมด้วยซ้ำว่ามีงบประมาณเรื่องผู้หญิง งบประมาณจึงมีไม่เพียงพอ กระจายไม่ทั่วถึง บุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจ การโยกย้ายบ่อยจนทำให้บุคลากรของรัฐขาดทักษะความชำนาญ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิง นั่นย่อมหมายถึงคุณภาพชีวิตของครอบครัว ชุมชน และประเทศโดยรวม เพราะผู้หญิงคือตัวหลักสำคัญในการดูแลสมาชิกของครอบครัว ตั้งแต่ลูก หลาน สามี พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คนแก่ คนพิการ สังคมคาดหวังความรับผิดชอบจากผู้หญิงสูงมาก แต่กลับมีงบประมาณน้อยนิดในกิจกรรมสตรี


8 มีนาวันสตรีสากล รางวัลที่ต้องมาพร้อมกับเนื้อหา จึงเป็นคำถามที่ผู้เขียนต้องการเสนอแนะแนวทางให้รัฐบาลได้ดำเนินการเร่งด่วนในสามประการหลัก


ประการแรก การจะแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวอย่างมีคุณภาพได้นั้น ผู้หญิงต้องรู้เท่าทัน ฉลาด เก่ง จึงควรมีการจัดประชุมเพื่อจัดทำฐานข้อมูลจังหวัดเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี และสังคม /เพื่อบูรณาการแผนงาน งบประมาณ และบุคลากร เพื่อจะได้มีการเร่งรัดติดตามดูการใช้แผนและงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ผลักดันให้เกิดการบูรณาการแผนปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพราะมีแผนบูรณาการมาหลายปี แต่สภาพความเป็นจริงคือต่างคนต่างทำ คุณภาพชีวิตของครอบครัวไทยจึงอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน จากการสำรวจครอบครัวในกรุงเทพฯ 600 ครอบครัว โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2549 พบว่า มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวร้อยละ 29 ทำให้ประมาณการได้ว่า ครอบครัวไทยที่มีประมาณ 18.1 ล้านครอบครัว จะมีครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงถึง 5.24 ล้านครอบครัว ผู้สูงอายุถูกทำร้าย/ทอดทิ้งมากขึ้น เรายังพบปัญหาเด็กขาดสารอาหาร ไม่ได้เรียนหนังสือ ถูกทอดทิ้ง เยาวชนติดยาเสพติด ติดเกมส์รุนแรงลามก ยกพวกตีกัน มั่วสุมในอบายมุข คุกคามทางเพศเพื่อนหญิง แต่งตัวไม่เหมาะสม หลงใหลฟุ้งเฟ้อวัตถุนิยม ด้วยภาวะที่อ่อนต่อโลกเด็กผู้หญิงบางคนจึงถูกชักจูงเข้าไปสู่วงจรการค้า ประเวณีด้วยวัยเพียง 13 ปี หากมีการสำรวจกันในทุกจังหวัด จะพบเห็นเด็กหญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวนมากซึ่งอยู่ในวัยเรียน ขายพวงมาลัย ขอทาน เป็นพนักงานเสริฟตามร้านอาหาร บาร์เบียร์ คาราโอเกะ นุ่งน้อยห่มน้อย เต้นโคโยตี้ หรือขายบริการทางเพศผ่านอินเตอร์เน็ต มีอยู่ทั่วประเทศ


ประการที่สอง ควรมีการจัดสรรงบประมาณจัดตั้งกองทุนสตรี ร้อยละ 5 จากงบประมาณแผ่นดิน และร้อยละ 2 จากงบประมาณขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น  เพื่อ ใช้เป็นเงินสนับสนุนกิจกรรมให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการ ศึกษา การรวมกลุ่ม สร้างความมั่นคงในอาชีพที่เหมาะสม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การได้รับความคุ้มครองในด้านสิทธิสุขภาพภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบนโยบาย แผน และการใช้งบประมาณของกลไกรัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการจัดตั้งกลไกการคุ้มครองสิทธิในระดับชุมชน เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ภัยคุกคามทางเพศ และการเป็นกลุ่มเสี่ยงของขบวนการค้ามนุษย์


ประการที่สาม   ควรมีแผนและงบประมาณจากรัฐบาลและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ให้กับศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในทุกจังหวัด และกลุ่มงานสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และสตรี บช.น.1-9, ตำรวจภูธร ภาค 1-9 และศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชายแดนภาคใต้, กองบังคับการการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งดำเนินการกวาดล้างแหล่งอบายมุข ปิด ลดจำนวน ไม่ควรอนุญาติให้เปิดสถานบริการ ร้านอาหารคาราโอเกะแอบแฝงขายบริการทางเพศ เพราะกลายเป็นแหล่งมั่วสุมยาเสพติด เพศสัมพันธ์ ควรส่งเสริมพื้นที่สีขาว เพื่อให้เด็กและครอบครัวได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมถนนคนเดิน คาราวานเยาวชนพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ลานศิลปะ/ดนตรี/กีฬา เหล่านี้เป็นต้น


8 มีนาวันสตรีสากล มูลนิธิเพื่อนหญิงขอฝากการบ้านให้ท่านนายก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เร่งปฏิบัติการเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัว/ชุมชนไทยเข้มแข็ง แข็งแรง สมบูรณ์ มีคุณภาพ เด็กๆ เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่อบอุ่น ปลอดภัย เหมาะสมตามพัฒนาการของเด็ก เยาวชน และครอบครัว.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net