Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พลเมืองหัวอ่อน


 


 


การแถลงข่าวผ่านอินเตอร์เน็ตข้ามประเทศของศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน และดร.แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในนามตัวแทนนักวิชาการและบุคคลสำคัญทั่วโลกทั้งสิ้น 54 คน ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบจากผู้นำในรัฐบาลไทยอย่างทันทีทันใด แต่น่าเสียดายว่า ปฏิกิริยาดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงความคับแคบของผู้นำไทยที่ชอบอ้างประชาธิปไตยตลอดเวลา เป็นปฏิกิริยาของ "ปัญญาชนหัวนอก" ที่ไม่สนใจศึกษาข้อมูลพื้นฐานก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นออกมา แต่กลับใช้วิธี "ปัดประเด็นให้ตกไป" แบบไทย ๆ และใช้ข้อกล่าวหาที่น่ากลัวต่อผู้ที่มีความเห็นแตกต่างจากตน ดังต่อไปนี้


 


1. ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่นักวิชาการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ "ผมเคยถามชาวต่างประเทศว่า ที่คุณมาขอให้ยกเลิกกฎหมายนี้ แต่ทำไมคุณมีกฎหมายไม่ให้หมิ่นศาล ดังนั้น มันก็ต้องมีกลไกลักษณะนี้"


 


การพูดเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าท่านนายกฯ คงไม่ได้อ่านจดหมายเปิดผนึกที่นักวิชาการทั่วโลกลงทุนลงแรงเขียนถึงท่านเลย (หรืออ่านแต่ไม่เห็น เพราะอคติมาบดบังไว้) เพราะในจดหมายนั้นไม่มีข้อความตรงไหนเลยที่เรียกร้องให้มีการ "ยกเลิก" กฎหมายหมิ่นฯ หรือมาตรา 112 แม้แต่ที่เดียว สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องคือ "การปฏิรูป" หรือพูดให้ง่ายขึ้นคือขอให้พิจารณา "ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ตกเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคุกคามผู้อื่น และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายด่างพร้อยต่อชื่อเสียงของประเทศไทยและสถาบันกษัตริย์บนเวทีสากลยิ่งไปกว่านี้" ส่วนจะแก้ไขปรับปรุงให้มีหน้าตาอย่างไร ธงชัยได้กล่าวอย่างชัดเจนในช่วงของการแถลงข่าวว่า เป็นเรื่องที่ผู้คนในสังคมไทยจักต้องพิจารณา-ถกเถียง-แสวงหาทางออกกันเอง


 


2.  ท่านนายกฯ ยังย้ำอีกว่า "ผมไม่ยอมให้ใครมาอ้างสิทธิเสรีภาพ แล้วมาทำร้ายสถาบัน ถ้ามีวาระซ่อนเร้น ผมไม่รับฟัง" ส่วนท่านกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็โยงการเคลื่อนไหวของนักวิชาการทั่วโลกเข้ากับการเคลื่อนไหวของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ด้วยการบอกนักข่าวว่า ให้ไปถามธงชัยว่า "อยากให้ไทยเป็นรีพับรีกันก็บอกมาให้ชัด"


 


คำพูดข้างต้นย่อมทำให้ผู้คนเข้าใจได้ว่าการเคลื่อนไหวของธงชัยครั้งนี้มีวาระซ่อนเร้น ไม่จริงใจ และต้องการเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นสาธารณรัฐ ซึ่งเท่ากับต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง


 


นี่เป็นวิธีการการตอบโต้ง่าย ๆ แบบไทย ๆ แต่น่ากลัวอย่างยิ่ง


 


ง่ายในแง่ที่ว่า สำหรับสังคมไทย ข้อกล่าวทำนองนี้ได้กลายเป็นเหตุผลในตัวมันเอง โดยผู้ใช้ข้อกล่าวหานี้ไม่จำเป็นต้องยกเหตุผลมาโต้แย้ง-ถกเถียงกับอีกฝ่ายหนึ่งอีกต่อไปว่า จริงหรือไม่ที่กฎหมายนี้มักถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองเพื่อกลั่นแกล้งทำลายฝ่ายตรงข้ามของตน จริงหรือไม่ที่กฎหมายนี้กระทบต่อสิทธิมนุษยชนของผู้คนในสังคม จริงหรือไม่ที่การใช้กฎหมายนี้อย่างพร่ำเพรื่อ ขาดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายได้สร้างผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อภาพพจน์ของประเทศไทย


 


น่ากลัวในแง่ที่ว่า ข้อกล่าวหาทำนองนี้ได้เคยนำไปสู่การสังหารผู้คนกลางเมืองเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519


 


นอกจากนี้ เมื่อเข้าใจกันว่าธงชัยมี "วาระซ่อนเร้น" ย่อมเข้าใจต่อได้ว่าพวกนักวิชาการและบุคคลสำคัญทั่วโลกอีก 53 คนถูกธงชัยหลอกให้มาร่วมลงนามโดยไม่รู้จักคิดเอง แต่พลเมืองหัวอ่อนอยากกราบเรียนให้ศิษย์เก่าอ๊อกซ์ฟอร์ดช่วยกรุณาพิจารณารายชื่อผู้ที่ร่วมลงนามในจดหมายอีกสักครั้งเถิดว่าพวกเขาซึ่งประกอบด้วยผู้นำ-นักการเมืองชื่อดังของอังกฤษและอิตาลี  นักวิชาการชื่อก้องโลก หลายคนได้รับเชิญเป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสถานของอังกฤษ และสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นพวกหัวอ่อน ถูกหลอกได้ง่าย ๆ จริงหรือ


 


หากเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ ประเทศที่ให้การศึกษาและอบรมแก่ท่านผู้นำของเรา พลเมืองหัวอ่อนเชื่อแน่ว่า ผู้นำของอังกฤษจักต้องหันมาพิจาณาตัวเองและรับข้อเสนอแนะเหล่านั้นไว้พิจารณาอย่างจริงจัง แวดวงปัญญาชนและสื่อมวลชนของเขาก็จักตื่นตัวกันอย่างยิ่ง ไม่ใช่พากัน self-censored อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้


 


ข้อโต้แย้งยอดนิยมอีกประการหนึ่งของคนไทยก็คือนี่เป็นเรื่อง "ภายในของไทย"  (= คนอื่นอย่ายุ่ง) ถ้าเป็นชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปพูดก็คงไม่ถือสากัน แต่คนระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ น่าจะมีความเป็นโลกาภิวัตน์มากกว่านี้สักหน่อย คงไม่มีความจำเป็นที่พลเมืองหัวอ่อนต้องบอกแก่ท่านว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ใช่เรื่องผูกขาดของรัฐบาลภายในประเทศอีกต่อไป แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นหลักการสำคัญในนโยบายต่างประเทศของประเทศที่เจริญแล้วทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นทั่วโลกคงไม่ต้องสนใจว่าทหารพม่าจะละเมิดสิทธิมนุษยชนกับประชาชนของตนเองอย่างไร พูดไปก็จะเหมือนสอนฤาษีให้ ยึดสนามบิน อ่านหนังสือ


 


ในทางกลับกัน ผู้นำของไทยควรจะถามตัวเองว่าใครกันแน่ที่หลอกตัวเอง ปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาที่กำลังท้าทายสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ ในขณะที่ก็ป่าวร้องอยู่ทุกวันว่าจะฟื้นฟูความสมานฉันท์ให้คืนสู่สังคมไทย ไม่อยากเห็นประเทศแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เป็นเหลืองเป็นแดง แต่อนิจจา! วิธีการตอบโต้กับความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้นำไทยก็ยังไม่สามารถหลุดจากกรอบเหลือง-แดงอยู่นั่นเอง ในกรณีนี้ ก็โดยการผูกโยงธงชัยเข้ากับเรื่อง "รีพับลิกัน" อันเป็นข้อหาทำนองเดียวกับที่ทักษิณถูกเล่นงานนั่นเอง


 


พลเมืองหัวอ่อนใคร่กราบเรียนให้ท่านได้ทราบว่า ประเทศนี้ไม่ได้มีแค่สองสีเท่านั้น และคนจำนวนมากก็อาจจะมีหลาย ๆ สีปนเปกันไป หลายคนอาจเป็นสีรุ้งที่สวยสดงดงามกว่าการเป็นแค่สีเหลืองหรือแดงเท่านั้น  เพราะฉะนั้น ได้โปรดเลิกป้ายสีให้กับผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกับตนเสียทีเถิด ตัวท่านเองในขณะนี้ก็พยายามปฏิเสธว่าตนเองไม่ใช่พวกสีเหลือง หรือตัวแทนของกลุ่มพันธมิตรฯไม่ใช่หรือ ถ้าท่านอยากให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เชื่อท่าน ก็เลิกวิธีนี้เสียเถิด


 


พลเมืองหัวอ่อนใคร่ขอร้องให้ท่านได้โปรดพิจารณาเนื้อหาข้อเรียกร้องของนักวิชาการทั่วโลกอีกครั้ง แล้วท่านจะพบว่าสาระสำคัญที่พวกเขาต้องการให้รัฐบาลของท่านพิจารณาคือ ผลกระทบจากการใช้กฎหมายหมิ่นฯเป็นเครื่องมือทางการเมือง และการใช้กฎหมายหมิ่นฯแบบตามอำเภอใจทั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา และในอนาคตที่จะตามมา โดยมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศว่าจะสร้างมาตรการปราบปรามให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ยกเลิกการฟ้องร้องต่อผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นฯในขณะนี้ ย่อมเป็นผลมาจากความคิดเห็นที่ว่า ในเมื่อตัวกฎหมายและการบังคับใช้ที่ผ่านมามีปัญหา ก็ควรจะต้องพิจารณายกเลิกคดีต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน


 


ขอย้ำว่าการเรียกร้องให้มีการแก้ไข-ปรับปรุงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นคนละเรื่องกับการเคลื่อนไหวเรื่องสาธารณรัฐโดยสิ้นเชิง ได้โปรดอย่างเบี่ยงเบนประเด็นเหล่านี้ไปสู่เรื่อง "สาธารณรัฐ" เลย


 


ท่านนายกฯอภิสิทธิ์ ก็ยอมรับเองไม่ใช่หรือว่า การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นฯมีปัญหา ต้องปรับปรุงแก้ไข ถ้าหากท่านจริงใจกับคำพูดของท่านเอง ท่านก็น่าจะเป็นฝ่ายริเริ่มเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหานี้เสียเอง จะได้ไม่ต้องคอยหวาดระแวงว่าคนอื่นจะมีวาระซ่อนเร้นอีกต่อไป


 


แต่หากท่านละเลยไม่สนใจแก้ไขสิ่งที่ท่านเห็นว่าเป็นปัญหา จะให้เราเข้าใจได้ไหมว่า ท่านเองก็กลัวอยู่ไม่น้อยว่าจะถูกพันธมิตรของท่านป้ายสีแดงเข้าใส่เช่นกัน จะให้เราเข้าใจได้ไหมว่า ท่านเองก็ตกเป็นเหยื่อของบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวที่กำลังครอบงำสังคมไทยอยู่ในขณะนี้เช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net