4 คำถามสัมภาษณ์ "เกษียร เตชะพีระ" เรื่องคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย

การถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมากว้างขวางอย่างที่คนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันอาจจะไม่เคยสัมผัสมาก่อน แม้จะมีประเด็นที่ถกเถียงแตกต่างและหลากหลาย กระนั้นก็ยังอาจจะกล่าวได้ว่า ความวิตกกังวลในระดับต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่แล้วมิใช่เป็นเรื่องการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ หากแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้กฎหมาย ม.112 หรือที่เรียกกันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งล่าสุด นักวิชาการชื่อดังจากทั่วโลก 54 ได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการ "ปฏิรูป" กฎหมายนี้ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็เพื่อ "ปกป้องพระเกียรติยศ" ของพระมหากษัตริย์ไทย ดังปรากฏความในแถลงการณ์ว่า

 

"แทนที่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะเป็นไปเพื่อปกป้องพระเกียรติยศ กลับยิ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และประเทศไทย"

 

อย่างไรก็ตามมีความพยายามของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม และแม้แต่คนในรัฐบาลที่พยายามเบี่ยงเบนประเด็น จงใจบิดข้อเท็จจริง กระทั่งเข้าข่ายใสร้ายป้ายสีผ่านสื่อสารมวลชนบางฉบับให้คนเข้าใจผิด ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงได้

 

"ประชาไท" จึงเรียนขอสัมภาษณ์ อ.เกษียร เตชะพีระ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 54 นักวิชาการนานาชาติ แต่น่าจะช่วยทำให้ข้อถกเถียงในประเด็นข้างต้น ชัดเจน และสร้างสรรค์ต่อไป

 

 

(หมายเหตุประชาไท การสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นการสัมภาษณ์ผ่านทางอีเมลล์ และกองบรรณาธิการ 'ประชาไท' ของดแสดงความเห็นท้ายบทสัมภาษณ์)

 

0 0 0

 

1.ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น  สถาบันพระมหากษัตริย์จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงนั้น ต้องอยู่ได้ด้วย "พระคุณ"  มิใช่ "พระเดช"  อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

เกษียร : ฐานคติของสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนจาก [ลัทธิเทวสิทธิ์และ L"Etat, c"est moi. หรือรัฐคือองค์กษัตริย์เอง] ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น à [popular consent หรือฉันทานุมัติ/การยินยอม-ยอมรับโดยสมัครใจของประชาชน] ในระบอบประชาธิปไตย หลัง 2475 - กล่าวให้ถึงที่สุด popular consent นี่แหละเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กที่ปกปักรักษาสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

 

popular consent ตรงข้ามกับ state coercion หรือการที่รัฐใช้อำนาจบังคับให้สยบยอม; popular consent เป็นเครื่องมือหลักในการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย ขณะ state coercion เป็นเครื่องมือหลักในการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในระบอบเผด็จการอำนาจนิยม

 

การรักษาเสริมสร้างการยินยอม-ยอมรับโดยสมัครใจของประชาชนอาศัยพระคุณ ไม่ใช่พระเดช ยิ่งใช้พระเดชหรือ coercion มาก ยิ่งไปลดทอนน้ำหนักของ consent ลง กลายเป็นเปลี่ยนย้ายสถานะความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ไปตั้งบนฐานพระเดช บนฐานของการใช้อำนาจรัฐบังคับให้สยบยอม มิใช่การยินยอม-ยอมรับโดยสมัครใจภักดิ์ของประชาชนต่อพระราชอำนาจนำและพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันกษัตริย์อันเป็นจุดเด่นของรัชกาลปัจจุบัน

 

ผู้เสนอและทำการปกป้องสถาบันกษัตริย์โดยใช้พระเดชเป็นหลักเหนือพระคุณ จนบดบังพระคุณให้จางเลือนไป จะทำให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อนโดยมิตั้งใจ นั่นจะเป็นการผลักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ไถลเลื่อนไปสู่ลักษณะของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในนามของสถาบันกษัตริย์โดยไม่รู้ตัว

 

 

2.การต่อสู้ทางการเมืองในรอบ 4 ปีที่ผ่านมามีการใช้สถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง มีคำขวัญในการปลุกระดมเช่น "เราจะสู้เพื่อในหลวงหรือการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อจะสื่อไปยังพระบรมวงศานุวงศ์  เช่น "เสื้อเหลือง"  "ผ้าพันคือสีฟ้า"   ปรากฏการณ์เช่นนี้เคยมีในประวัติศาสตร์การปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ใดมาก่อนหรือไม่ และ อาจารย์มองปรากฏการณ์เช่นนื้อย่างไร

เกษียร : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ 1) พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และ 2) อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เป็น historic compromise ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯและคณะราษฎรในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทยเมื่อ พ.ศ. 2475 ดังปรากฏความในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับแรก 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งพระองค์ทรงร่างขึ้นด้วยพระองค์เองตามพระราชประสงค์ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญสมัยนั้นเห็นพ้องทุกประการและมิได้แก้ไขแต่ประการใดว่า: -

 

"จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประสิทธิ์ประสาทประกาศพระราชทานแก่ประชากรของพระองค์ ให้ดำรงอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"

 

แปลว่า ณ วินาทีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมไปสู่ระบอบใหม่ พระมหากษัตริย์และปวงชนชาวไทยได้บรรลุฉันทามติร่วมกันว่า ชาติไทยไม่ต้องการกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ใต้กฎหมายและอำนาจอธิปไตยเป็นของพระองค์) และไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ (ที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์) หากต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

นี่เป็นเรื่องที่ตกลงกันไปแล้วในประวัติศาสตร์ไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯได้ตรัสกับพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาและอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก 10 ธันวาคม 2475 ว่า "เมื่อพระองค์พระราชทาน (รัฐธรรมนูญ) แล้วก็เท่ากับให้สัตยาธิษฐาน.....มีความในพระราชปรารภที่ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์สมัครสมานกับประชาราษฎร์ ในอันที่จะรักษาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เจ้านายที่จะทรงเป็นพระมหา กษัตริย์องค์ต่อ ๆ ไป ก็เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" (ปรีดี พนมยงค์, "จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม", ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, น. 439)

 

การเรียกร้องให้ถวายพระราชอำนาจคืน ให้พระองค์ทรงใช้อำนาจพระราชทานนายกฯอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและเป็นการปกครองแบบมั่วก็ดี, การยึดอำนาจ-โค่นรัฐบาลด้วยวิธีการใดๆ อันนอกกติการัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าเพื่อสถาบันกษัตริย์ก็ดี, การเสนอให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐก็ดี ก็คือการพยายามรื้อ historic compromise นั้นกลับมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ เหมือนหนึ่งเสนอให้สังคมไทยถามและตอบกันใหม่ว่า ตกลงพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือหรือภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ? อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์หรือประชาชน? และจะมีสถาบันกษัตริย์หรือไม่? ซึ่งจะส่งผลสะเทือนต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหลัง 2475 อย่างยิ่ง

 

 

3.การที่นักวิชาการทั่วโลก ลงชื่อเรียกร้องให้ "ปฏิรูป" กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  เราสามารถพูดหรือยังว่าประเด็นเรื่องการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยมิได้เป็นเรื่องกิจการภายในประเทศแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว  และถ้าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องทางสากลแล้วจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในประเทศอย่างไรบ้าง  รวมทั้งอาจารย์คิดว่าเรื่องดังกล่าวจะดำเนินต่อไปอย่างไร

เกษียร : การธำรงคงไว้, ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือแม้กระทั่งยกเลิกกฎหมายฉบับใดๆ ของไทยย่อมเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยที่กระทำได้ผ่านสถาบันการเมืองและกระบวนการนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ในความหมายนี้ เรื่องดังกล่าวก็ย่อมเป็นกิจการของรัฐชาติไทย ตราบเท่าที่ประชาคมโลกยังอยู่ในระบบรัฐชาติและเคารพหลักอำนาจอธิปไตยของกันและกัน

 

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ประชาคมอารยะของโลก และภาคีข้อตกลง สนธิสัญญารวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่างๆ แน่นอนว่าการดำเนินการใดๆ ของรัฐไทยย่อมต้องคำนึงถึงและรักษากรอบกติกาเหล่านั้นที่เราได้ตกลงผูกพันตนเองร่วมกันไว้กับนานาอารยะประเทศ

 

ที่สำคัญสังคมไทยยังเป็นสังคมเปิดและเป็นมิตรกับประชาคมโลก ชาติไทยเอาตัวรอดมาได้ท่ามกลางความผันผวนเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของโลกก็โดยการเปิดรับ ปรับตัว รับมือการท้าทายนานาชนิดจากกระแสโลกด้วยสติปัญญานับแต่รัชกาลที่ 4 และ 5 เป็นต้นมา จึงไม่แปลกที่เราจะรับฟังและพิจารณาข้อคิดเห็นของมิตรผู้ห่วงใยและหวังดีต่อประเทศไทยที่อาจเห็นตรงหรือเห็นต่างไปจากเรา การสานเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นฉันมิตรอย่างเปิดเผยกับพวกเขาว่าอะไรทำได้และควรทำ อะไรทำไม่ได้และไม่ควรทำ เพราะเหตุผลใด เพื่อหาแง่คิดข้อเสนอที่จะอำนวยประโยชน์สุขและความเจริญก้าวหน้าแก่ชาติเราจึงควรเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปอย่างปกติธรรมดาและเยือกเย็น เพราะถึงอย่างไรในท้ายที่สุดแล้ว อำนาจพิจารณาตัดสินใจเรื่องนี้ย่อมอยู่กับประชาชนไทย

 

 

4.การที่นายกรัฐมนตรียืนยันที่จะไม่ทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยอ้างลักษณะเฉพาะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย หรือการที่รัฐมนตรีว่ากรการกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าการที่นักวิชาการเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีวาระซ่อนเร้นเรื่องการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐอาจารย์มีความเห็นอย่างไร

เกษียร : พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์บางฉบับชวนให้คิดเห็นไปเช่นนั้น แต่เมื่ออ่านเนื้อข่าวดู ก็พบว่านายกฯอภิสิทธิ์หรือแม้กระทั่งรองนายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณ ต่างก็เห็นว่ามีบางอย่างในการใช้กฎหมาย   หมิ่นฯ (หมายถึงมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา) ที่เป็นปัญหา ทำให้มันกลายเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายต่างๆ ใช้รังแกฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง กลายเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ลงมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างมิบังควรและทำให้เรื่องลุกลามบานปลายออกไป เช่น การเปิดช่องให้ใครก็ได้ฟ้องร้องผู้อื่นว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, หรือการขาดหน่วยงานที่อิสระจากการเมืองมาทำหน้าที่กลั่นกรองดูแลคดีความเรื่องนี้อย่างเป็นกลาง เป็นต้น

 

ผมไม่คิดว่าสิ่งที่นายกฯอภิสิทธิ์หรือรองนายกฯสุเทพเป็นห่วงและอยากปฏิรูปแก้ไขเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแสดงว่าทั้งสองท่านมีวาระซ่อนเร้นเรื่องจะเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรํฐ ผมเชื่อว่าบรรดานักวิชาการทั้งหลายที่เรียกร้องทำนองเดียวกันนี้ก็ทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจเช่นกัน พูดให้ถึงที่สุดมีฉันทามติพอสมควรในสังคมการเมืองไทยว่า เรื่องนี้มีปัญหา ว่าการใช้ข้อหานี้รังแกกันทางการเมืองทำให้พระมหากษัตริย์ทรงเดือดร้อน ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท สมควรปรับปรุงแก้ไข เพื่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อลดความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยลงให้อยู่ในระดับปกติ

 

ลักษณะเฉพาะพิเศษของสังคมวัฒนธรรมไทยก็ดี ของสถาบันกษัตริย์ไทยก็ดี เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งกว้างขวางทางประวัติศาสตร์ มีประเด็นหลากหลายซับซ้อน ชวนคิดค้นถกเถียงอภิปราย ควรแก่การศึกษาวิจัยทางวิชาการสืบไปในสังคมไทยให้มากกว่าที่ผ่านมา ไม่ควรหยิบมาใช้อ้างกันในบริบททางการเมืองเฉพาะหน้าอย่างง่ายๆ เพื่อตัดบทการสนทนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท