Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



อ..อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา Shukur2003@yahoo.co.uk


 


 


 ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน


 


 ผู้เขียนได้มีโอกาสรับข้อมูลจากนายเถลิงศักดิ์ ราชชำรอง ประธานเครือข่ายพนักงานราชการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ซึ่งได้กรุณาสะท้อนถึงความเดือดร้อนของครูซึ่งมีสถานะเป็นพนักงานราชการชายแดนภาคใต้ทำการสอนและประสาทวิชาให้กับลูกศิษย์ท่ามกลางความรุนแรงที่กำลังคลุกกรุนปลายด้ามขวานตลอดระยะเวลา 5 ปี


 


ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างส่วนราชการตามการปฏิรูประบบราชการ เมื่อปี พ.ศ.2545 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้นำระบบลูกจ้างสัญญาจ้างเดิมมาปรับปรุงรูปแบบการจ้างงานในหน่วยงานภาครัฐ ให้มีความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งขยายผลให้มีความหลากหลายของรูปแบบการจ้างงานในส่วนของการจ้าง โดยได้เปลี่ยนชื่อจาก "ลูกจ้างสัญญาจ้าง" เป็น "พนักงานราชการ" เพื่อดึงดูดใจและแสดงสถานะที่ชัดเจน ตลอดจนการวางระบบบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เรื่องการกำหนดลักษณะงาน ตำแหน่ง และกรอบอัตรากำลัง การกำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ การสรรหาและเลือกสรร และการประเมินผลการปฏิบัติงาน ภายใต้หลักการบริหารทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ คือ หลักสมรรถนะ (Competency) หลักผลงาน (Performance) และหลักคุณธรรม (Merit) ตลอดจนมอบอำนาจให้ส่วนราชการบริหารจัดการเอง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารภาครัฐแนวใหม่ ดังนั้นระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ จึงกำหนดไว้ เป็นทางเลือกของการจ้างงานภาครัฐที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว เน้นการจ้างบุคลากรตามหลักสมรรถนะ และหลักผลสัมฤทธิ์ของงาน ให้มีการเข้าและออกจากงานตามสัญญาจ้างซึ่งเป็นไปตามภารกิจโดยมีการต่อสัญญาได้ แต่ไม่ใช่การจ้างงานตลอดชีพ กล่าวคือต้องมีระยะเวลาสิ้นสุดตามนโยบายแผนงาน หรือโครงการ โดยให้ความเป็นอิสระ และยืดหยุ่นแก่ส่วนราชการในการดำเนินการ


 


กระทรวงศึกษาธิการได้รับระบบปรับเปลี่ยนโครงสร้างส่วนราชการตามการปฏิรูประบบราชการ เมื่อปี พ.ศ.2545 ตามนโยบายจากรัฐบาลที่ผ่านมา โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หันมาใช้ระบบครูอัตราจ้างทดแทนครูในระบบ เนื่องจากรัฐบาลได้ค้นพบถึงความประหยัดงบประมาณกว่าจ้างครูในระบบหลายเท่า จึงได้ใช้นโยบายการจ้างครูอัตราจ้างต่อเนื่องและเป็นเวลาอันยาวนาน ไม่คำนึงถึงชีวิตจิตใจ และตระหนักในอนาคตของครูอัตราจ้าง หรือที่เรียกว่าพนักงานราชการ ตำแหน่งครูผู้สอน ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวความคิดของมาสโลว์ (Maslow) ที่ได้อธิบายถึงลำดับความต้องการของมนุษย์ ขั้นพื้นฐาน ความมั่นคงในอาชีพ การยอมรับในสังคมที่มีต่อวิชาชีพครู เพราะการเป็นครูจ้างหรือพนักงานราชการ มีข้อแตกต่างไปจากข้าราชการครูอย่างสิ้นเชิง


 


หากย้อนมองเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมาในสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำรัฐบาล โดย พณฯ ท่านชวน หลีกภัย ได้ให้ความมั่นคงปลอดภัยแก่ครูอัตราจ้างทั่วประเทศ โดยเฉพาะครูอัตราจ้างในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอในจังหวัดสงขลา) สมัยนั้น พณฯ ท่านชวน หลีกภัย ได้มอบนโยบายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการปรับสถานะครูอัตราจ้างชั่วคราวรายเดือน บรรจุเป็นข้าราชการ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ช่วงปลายปี พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นที่น่ายินดียิ่งกับครูจ้างในยุคนั้น


 


ต่อมานายพิษณุ ตุลสุข ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เปิดเผยว่า ตามที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาวิสามัญเกี่ยวกับตำแหน่ง ซึ่งทำการแทนคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีมติอนุมัติให้ใช้อัตรากำลังข้าราชการครูที่ได้รับคืนจากการเกษียณอายุราชการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2550 มาบรรจุเป็นตำแหน่งครูผู้ช่วยในโรงเรียน ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐกำหนดจำนวนอัตรา คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถเรียกบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วยได้ โดยใช้ได้ทั้ง 3 วิธี คือ เปิดสอบบรรจุครูใหม่ เรียกบุคคลที่ขึ้นบัญชีไว้ในปี 2550 และปี 2551 มาบรรจุ และเปิดสอบคัดเลือกวิธีพิเศษจาก พนักงานราชการ ร้อยละ 25 ของอัตราที่แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาได้รับจัดสรร สาเหตุที่การเปิดสอบบรรจุครูผู้ช่วยครั้งนี้ สามารถเปิดสอบคัดเลือกวิธีพิเศษจากพนักงานราชการได้ ร้อยละ 25 ของอัตราที่แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาได้รับจัดสรร เพราะอัตราดังกล่าวเป็นอัตราที่ได้จากการเกษียณอายุราชการ อย่างไรก็ตามในการเปิดสอบบรรจุครูใหม่นั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใดทำเรื่องเสนอขออนุมัติเข้ามายังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะการเปิดสอบบรรจุครูใหม่ต้องใช้งบประมาณในการจัดสอบ ส่วนที่การเรียกบุคคลที่ขึ้นบัญชี และเปิดสอบคัดเลือกวิธีพิเศษจากพนักงานราชการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสามารถทำได้เลย


 


นายพิษณุ กล่าวต่อไปว่า ส่วนความคืบหน้าการบรรจุครูผู้ช่วย จำนวน 5,152 อัตรา ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติคืนให้ 100% จากการเกษียณอายุราชการ ในปีงบประมาณ 2551 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานคณะกรรมการกำหนด เป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ เพื่อพิจารณาอนุมัติ พร้อมทั้งรอกรมบัญชีกลางอนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานใช้งบประมาณปี 2552 เพื่อนำมาใช้ในการบรรจุอัตราดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากสำนักงบประมาณ ไม่สามารถจัดตั้งงบประมาณได้ทัน เพราะเป็นอัตราที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้หลังจากที่ได้มีการจัดทำพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 เสร็จแล้ว


 


ดังนั้นคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง เพื่อขออนุมัติใช้งบประมาณปี 2552 ในการบรรจุไปก่อน โดยจะให้สำนักงบประมาณจัดตั้งงบประมาณกลางมาคืนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในภายหลัง ซึ่งสอดคล้องกับ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้เสนอให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการดูการศึกษาชายแดนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จย่าทรงออกแบบไว้ ขอให้เปลี่ยนการดูงานต่างประเทศไปเป็นดูงานพื้นที่ชายแดนไทย จะช่วยเรื่องความมั่นคงของชาติได้ดีที่สุด และคุณภาพการศึกษาที่มีครูเป็นหัวใจ การผลิตครูต้องได้คนเก่งและดี ยังสอดคล้องกับ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การแก้ปัญหาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยจะต้องยกเรื่องการพัฒนาคุณภาพเป็นพระเอก (คม ชัด ลึก วันที่ 25 ธันวาคม 2551)


 


จากที่กล่าวมาข้างต้นพบว่า ขวัญและกำลังใจของครูเหล่านี้กำลังได้รับผลกระทบ ในรายงานการวิจัยของผู้เขียนและคนอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะนำสู่ผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนส่วนหนึ่งคือ การมุ่งเสริมสร้างขวัญและกำลังใจครู บุคลากรทางการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประสบเหตุการณ์ก่อความไม่สงบโดยทางตรงและทางอ้อม


 


การปรับสถานะพนักงานราชการที่ผ่านการทดลองการสอน และผ่านกระบวนการประเมินสมรรถนะการปฏิบัติงาน บรรจุให้เป็นข้าราชการครูโดยวิธีพิเศษ แก่พนักงานราชการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ในอัตราร้อยละ 100 เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจชั้นดีโดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้เพิ่มไปอีกนอกจากเหตุการณ์ไม่สงบที่ต้องระวังตัวเองตลอดเวลา


 


พนักงานราชการดังกล่าวล้วนเป็นทรัพยากรบุคคลที่อยู่ในภูมิลำเนาเดิม เข้าใจบริบท สภาพปัญหาของท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นเป็นอย่างดี มีความตระหนักในความแตกต่างของวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี การสื่อความหมายระหว่างครูและนักเรียน ตลอดจนมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ เก่ง ดี มีสุข ที่สำคัญพนักงานราชการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ อดทน ยึดถือความดี มีคุณธรรม เพื่อให้บังเกิดผลดีแก่นักเรียน ชุมชน และประเทศชาติ สืบต่อไป


 


จากการแถลงนโยบายของ พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พนักงานราชการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ ต่างมีแรงบันดาลใจให้เกิดความคาดหวัง และทวีความมุ่งมั่นที่จะฟันฝ่าอุปสรรคแก้ปัญหาใดๆ ที่จะเกิดขึ้น และจะเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในการปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นครู พันธกิจที่สำคัญ คือการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกคนได้รับการพัฒนาให้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีความเป็นสากล มีจิตใจที่สร้างสรรค์สู่นวัตกรรม อยู่ในโลกที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย และมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นประชาธิปไตย มีคุณธรรมนำความรู้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง


 


นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ หากเป็นไปได้ก็ควรหรือโปรดกรุณาพิจารณาบรรจุพนักงานราชการ ตำแหน่งครูผู้สอนโดยวิธีพิเศษให้เป็นข้าราชการตำแหน่งครูผู้ช่วยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ จะเป็นการดียิ่ง


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net