Skip to main content
sharethis

จากการเยือนสหรัฐฯ ของนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับปากสมาคมอุตสาหกรรมยาสหรัฐฯ (PhRMA) และองค์กรอุตสาหกรรมไบโอเทค (BIO) ว่า จะใช้ซีแอลเป็นหนทางสุดท้ายเพื่อการเข้าถึงยาราคาถูก และยังได้ตกลงทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ร่วมกันเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น ซึ่งท่าทีดังกล่าวสร้างความสับสนและผิดหวังให้กับภาคประชาสังคมไทย


 


นายบริพัตร ดอนมอญ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ (ประเทศไทย) ซึ่งได้ไปหารือกับนายอลงกรณ์ก่อนเดินทางไปสหรัฐฯ กล่าวว่า ไม่รู้ว่ารัฐมนตรีกลับคำหรือเปล่า เพราะตอนนั้นรัฐมนตรียืนยันกับประชาชนที่ไปพบอย่างชัดเจนว่า หากมีความจำเป็นต้องทำซีแอล ก็จะดำเนินการทันที เพราะถือเป็นนโยบายของทั้งกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาล ไม่ได้บอกว่าจะใช้ซีแอลเป็นแค่หนทางสุดท้าย และที่น่าสงสัยที่สุดคือ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่ทำร่วมกันกับฟาร์ม่า มีเนื้อหาเป็นอย่างไร ไปยอมอ่อนข้อให้ประเทศไทยต้องรับเงื่อนไขที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ทริปส์ หรือไม่ เพราะข้อกล่าวหาของฟาร์ม่าเกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ทั้งสิ้น ซึ่งจะขัดขวางการเข้าถึงยาราคาถูกของประชาชน นอกจากนี้ เรายังกังวลว่า รัฐบาลกำลังสมคบกับบริษัทยา มาบังคับให้ประชาชน "ร่วมจ่าย" (co-pay) โดยอ้างว่า เป็นวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึง "ยาราคาแพง"


 


ทางด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ซึ่งได้ไปหารือกับนายอลงกรณ์ก่อนเดินทางไปสหรัฐฯ เช่นกันเห็นว่า ท่าทีของรัฐมนตรีเป็นการอ่อนข้อต่ออุตสาหกรรมยาจนเกินไป เจรจาอย่างไม่มีศักดิ์ศรีเสมอกัน ทั้งที่ขณะนี้ PhRMA และ BIO มีสถานะทางสังคมที่ตกต่ำอย่างมากในสหรัฐฯ ทั้งสององค์กรเสนอให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองสูงสุด (PFC) มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลสหรัฐฯ และทั้งสององค์กรล็อบบี้ยิสต์นี้ก็ไม่ได้กล่าวหาเฉพาะไทยประเทศเดียว แต่ยังกล่าวหาอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อินเดีย บราซิล ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้น จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็เชื่อว่า อุตสาหกรรมยากำลังเผชิญวิกฤต เพราะขณะนี้รัฐบาลโอบาม่า กำลังจะปฏิรูประบบสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงยาและการรักษามากขึ้น ซึ่งนั่นจะต้องทำให้ยามีราคาถูกลง อุตสาหกรรมยาจึงหมดโอกาสที่จะทำกำไรสูงสุดอย่างในยุคของรัฐบาลบุชแล้ว


 


ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยสาระของแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่ไปทำร่วมกับกลุ่มธุรกิจในสหรัฐฯ รวมทั้งอุตสาหกรรมยา เพราะจากแผนปฏิบัติการที่สหรัฐฯ เคยเสนอมาก่อนหน้านี้ เกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ทั้งสิ้น เช่น บังคับให้ไทยแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อยืดอายุสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ บังคับให้ไทยผูกขาดข้อมูลทางยา อนุญาตให้บังคับใช้สิทธิเฉพาะสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติเท่านั้น และบังคับให้ สำนักงาน อย.ทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญา แทนที่จะใส่ใจเรื่องคุณภาพยาเท่านั้น


 


"นายอลงกรณ์รับปากว่า จะไม่ยอมอะไรที่เกินไปกว่าทริปส์ และไม่ขายตัว ขายชาติ ขอให้รับผิดชอบคำพูดตัวเองด้วย" นางสาวสุภัทรา กล่าว


 


ในประเด็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์อ้างว่า จะได้รับความร่วมมือจากอุตสาหกรรมยาข้ามชาติมากขึ้น นางสาวสุภัทรามองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยาข้ามชาติไม่เคยยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีเลย แต่ยังพยายามที่จะขัดขวางการผลิตยาชื่อสามัญด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้น การส่งนักวิจัยให้ไปเข้าการอบรมโดยองค์กรอุตสาหกรรมไบโอเทค (BIO) ที่เมืองแอตแลนต้า คงจะไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากไปถูกล้างสมองให้เชื่อว่า ต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุด เช่นที่ข้าราชการหลายคนในกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอยู่ในขณะนี้


 


ดังนั้น หากอุตสาหกรรมยามีความจริงใจควรร่วมมือและสนับสนุนการทำสิทธิบัตรร่วม (Patent Pool) ที่เป็นมติของสมัชชาอนามัยโลก โดยนำสิทธิบัตรที่แต่ละบริษัทมีอยู่มารวมกองแล้วเปิดโอกาสให้บริษัทยาชื่อสามัญของประเทศกำลังพัฒนานำไปพัฒนาต่อยอดผลิตเป็นยารวมเม็ด (Fix dose combination) หรือสูตรยาที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ บริษัทเจ้าของสิทธิจะได้รับค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล นี่จึงจะเป็นหนทางหนึ่งในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่แท้จริง นางสาวสุภัทรา กล่าว


 


 


 


ไทยกับสิทธิบัตรยา: บททดสอบด่านแรกสำหรับนโยบายด้านการค้าของโอบามา
โดย เจมส์ เลิฟ ผู้อำนวยการ Knowledge Ecology International, สหรัฐฯ


ที่มา: http://www.huffingtonpost.com/


 


 


ในวันที่ 30 เมษายน สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) จะประกาศรายงานที่เรียกว่า "รายงาน 301 พิเศษ" ซึ่งรายงาน 301 ของ USTR นี้แทบไม่เป็นรู้จักในสหรัฐฯ แต่มักเป็นข่าวหน้าหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาหลายต่อหลายประเทศ USTR อธิบายเกี่ยวกับรายงานไว้ดังนี้ว่า   


--- "รายงาน 301 พิเศษ" เป็นรายงานประจำปีถึงสถานการณ์การให้ความคุ้มครองและบังคับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) ในทั่วโลก จัดทำโดยสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ตามบทบัญญัติในมาตรา 301 พิเศษแห่งกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ปี 2517 (Trade Act) ----

รายงานดังกล่าวนี้เป็นบัญชีรายชื่อประเทศที่ USTR ระบุว่าไม่ได้มาตรฐานสหรัฐฯ ในด้านการให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะจำแนกประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีตามประเภทต่างๆ อาทิเช่น "ประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ" (Priority Watch list) "ประเทศที่ถูกจับตามอง" (Watch List) และ "มาตรา 306" (Section 306) ในรายงาน 301 พิเศษประจำปี 2551 ที่มีความยาว 51 หน้านั้นเริ่มต้นด้วยบทบรรยายเกี่ยวกับนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจำนวน 15 หน้า ตามด้วยบทวิเคราะห์ประเทศต่างๆ เป็นรายประเทศอย่างละเอียด นับเป็นรายงานที่แจกแจงนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ไว้อย่างละเอียดลออ ชัดเจน และครอบคลุมหลากหลายประเด็น เช่น การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรกับยาจำเป็นต่อชีวิต นโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับเครื่องเล่นเพลงแบบดิจิตัล หรือข้อยกเว้นในกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษา        

ในอดีต (นับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเรแกน จอร์จ บุช คลินตัน และจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช) รายงานดังกล่าวมีความลำเอียงเลือกข้างอย่างมาก จนเรียกได้ว่าเป็นรายงานฉบับตัดต่อของเอกสารที่ให้ข้อมูลด้านเดียวซึ่งนำเสนอโดยกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ที่เป็นนายหน้าหรือตัวแทนอุตสาหกรรมยา บันเทิง และสิ่งพิมพ์ โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาที่มีหน้าที่ทบทวนรายงานฉบับนี้ก็ล้วนแต่เป็นฝีมือล็อบบี้ของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ทั้งสิ้น     

บททดสอบด่านแรกสำหรับรัฐบาลของโอบามาก็คือ รายงาน 301 ประจำปี 2552 ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า สมาคมผู้ผลิตและวิจัยยาแห่งสหรัฐอเมริกา (PhRMA) รวมทั้งสมาชิกสภาคองเกรสจากทั้งสองพรรคจำนวนหนึ่ง ต่างหาทางผลักดันให้มีการลงโทษประเทศไทยที่ในอดีตใช้สิทธิที่ได้รับการรับรองในความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และมติขององค์การอนามัยโลก (WHO) อีกนับไม่ถ้วนเพื่อปกป้องพลเมืองของตนจากราคายาที่แพงลิบลิ่วด้วยการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยาติดสิทธิบัตรเพียงหยิบมือ     



แรงกดดันจากสหรัฐฯ ต่อไทยนั้นได้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางภายในกลุ่มประชาคมด้านสาธารณสุขทั่วโลก รัฐบาลของเราเพิกเฉยและละเมิดความตกลงระดับระหว่างประเทศมากมายที่อนุญาตหรือแม้กระทั่งเรียกร้องให้ไทยต้องลงมือดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชนโดยถ้วนหน้า

จุดยืนของสหรัฐฯ จึงเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่อาศัยในไทย และแสดงให้เห็นถึงความไม่แยแสสนใจต่อพันธกิจที่เราได้ให้ไว้ใน WTO (ปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุขปี 2544)

สมาชิกสภาคองเกรสจำนวนมากจากทั้งสองพรรคมักนิยมใช้ถ้อยคำปลุกระดมเกี่ยวกับการบังคับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศกำลังพัฒนา แต่แท้จริงคนเหล่านี้ไม่ได้มีความเข้าใจในกฎหมาย หลักศีลธรรม หรือผลกระทบในทางปฎิบัติแต่อย่างใด เมื่อถูกผลักดันโดยกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ที่ยอมจ่ายให้กับใครก็ตามที่มีอำนาจ สมาชิกสภาสหรัฐฯ บางรายถึงกับเห็นว่าการใช้ปากเที่ยวปราศรัยว่า อุตสาหกรรมสหรัฐฯ กำลังถูกบรรดาประเทศกำลังพัฒนารุมทึ้งด้วยการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของเราไปเป็นเรื่องง่ายกว่าการต้องมานั่งหาหนทางเพื่อปฏิรูปสหรัฐฯ ให้กลายเป็นประเทศที่ก้าวหน้าและมีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้นอย่างแท้จริงในเศรษฐกิจสมัยใหม่นี้   

ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โอบามาจะได้ฝากฝีไม้ลายมือในนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก แต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายในเวลาอันสั้นย่อมเป็นสิ่งที่ท้าทาย เมื่อพิจารณาจากอคติและการให้ค่าที่หยั่งรากฝังลึกในระบบปัจจุบัน รวมถึงการขาดความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาตลอดจนประสบการณ์ความเจนสนามในตัวผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) คนใหม่ นายรอน เคิร์ก (Ron Kirk) แต่อย่างน้อยที่สุด ไทยก็ไม่สมควรถูกขึ้นบัญชี 301 จากการดำเนินการอันน่ายกย่องชื่นชมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า และรัฐบาลเองก็ควรสั่งการให้ทีมงานมือดีๆ ด้านสาธารณสุขและนวัตกรรมของตนเข้ามาตรวจสอบนโยบายผิดๆ ที่ USTR พยายามผลักดันไปทั่วโลกในขณะนี้      

เจ้าหน้าที่รัฐบาลอย่างไมเคิล โฟรแมน (Michael Froman) น่าจะหาเวลามาพบปะพูดคุยกับกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานในประเด็นด้านสาธารณสุขและการค้า กลุ่มผู้บริโภค บรรณารักษ์ และธุรกิจด้านนวัตกรรมที่ต่างมีความเข้าใจถึงประโยชน์โดยรวมจากนโยบายด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่มีดุลยภาพกว่าที่เป็นอยู่นี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net