Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ


คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้


 

           


เหนื่อยแต่มีความสุข


"ผมรู้ว่าผมเหนื่อย! ผมท้อ! แต่ผมไม่รู้ว่าผมทำไปเพื่ออะไร? แต่ที่รู้ๆ ผมมีความสุข เมื่อผมเห็นผู้ฟังขี่มอเตอร์ไซค์คันเก่าๆ มาที่หน้าสถานี แล้วหยิบแบงก์ยี่สิบออกจากกระเป๋าเสื้อของเขา ใส่ในกล่องรับบริจาคหน้าสถานี" คำพูดของครูบุญจันทร์ จันหม้อ หัวหน้าสถานีวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่


 


 


เริ่มก่อตั้งวิทยุชุมชนคนกระเหรี่ยงคนเมือง


ครูบุญจันทร์ จันหม้อ นอกจากจะเป็นครูประจำโรงเรียนประถมในเขตพื้นที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่แล้ว ครูบุญจันทร์ยังเป็นครูผู้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชาวกระเหรี่ยงโพล่งด้วย และด้วยสายเลือดของความเป็นกระเหรี่ยงโพล่ง จึงได้ร่วมกับชมรมโพล่งเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอำเภอฮอด-ดอยเต่า และสภาวัฒนธรรมอำเภอฮอด ก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนขึ้นในวันที่ 14 ธันวาคม 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนในชุมชนได้มีพื้นที่ได้แสดงออกทางวัฒนธรรมของตนเอง เช่น การร้องเพลงโพล่ง การเป่าเขาควาย การพูดภาษาโพล่ง การบอกเล่าองค์ความรู้วิถีชีวิตของบรรพบุรุษที่สมดุลกับธรรมชาติ การบวชป่าเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น


 


ในช่วงแรกของการก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชน สมาชิกของชุมชนได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานีจำนวนทั้งสิ้น 15 คน และมีอาสาสมัครหรือคณะทำงานไม่ต่ำกว่า 20 คน โดยได้แบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายรายการ ฝ่ายเทคนิค ฝ่ายธุรการ เป็นต้น และทุกวันอาทิตย์ของต้นเดือน คณะกรรมการของสถานีจะมาประชุมร่วมกัน เพื่อประเมินผลรายการ และปรึกษาหารือเรื่องการบริหารจัดการภายในสถานี


 


 


งดโฆษณา เพราะขาดเสรีภาพและศักดิ์ศรี


ครูบุญจันทร์เล่าว่า สถานีวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อน เคยรับโฆษณาให้แก่ร้านค้าต่างๆในชุมชน ในช่วง 1 ปีแรก เพราะเห็นว่ากรมประชาสัมพันธ์อนุญาตให้วิทยุชุมชนสามารถโฆษณาได้ชั่วโมงละ 6 นาที แต่หลังจาก 1 ปี นั้น ก็หยุดไม่รับโฆษณาอีกเลย เนื่องจากคณะกรรมการสถานีได้มาทบทวนกันแล้ว เห็นว่าไม่มีความเป็นอิสระในการจัดรายการ ต้องมาคอยเปิดสปอตโฆษณาให้ร้านค้า และนำเสนอเรื่องราวของท้องถิ่นได้น้อย และรู้สึกว่าเสียศักดิ์ศรีสำหรับคนทำงานเพื่อส่วนรวม ที่ต้องมาคอยทวงเงินจากร้านค้าที่ทางสถานีได้โฆษณาให้แล้ว


 


 


เทคนิคการระดมทุน


หลังจากสถานีวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนได้หยุดรับโฆษณา คณะกรรมการของสถานีได้ช่วยกันระดมทุนด้วยวิธีการต่างๆ จากคนในชุมชน เช่น การตั้งกล่องรับบริจาคหน้าสถานี และสถานที่สำคัญๆในชุมชน การประกาศผ่านรายการวิทยุขอให้คนในชุมชนรับเป็นเจ้าภาพช่วยค่าน้ำค่าไฟค่าโทรศัพท์ของสถานี การจัดงานทอดผ้าป่าวิทยุชุมชน เป็นต้น


 


ปัจจุบันสถานีวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนได้รับเงินบริจาคประมาณ 3,000-6,000 บาทต่อเดือน และหากสถานีวิทยุชุมชนประกาศขอแรงจากคนในชุมชนให้มาช่วยกันสร้างห้องน้ำ ปรับปรุงหลังคาของสถานี คนในชุมชนก็จะมาช่วยกันเป็นจำนวนมากทุกครั้ง


 


ทุกสิ้นเดือน คณะกรรมการของสถานีจะสรุปจำนวนเงินที่ได้รับจากการบริจาค แล้วประกาศให้ชุมชนหรือผู้ฟังได้รับรู้ผ่านทางสถานี และกล่าวขอบคุณผู้บริจาคเงิน หรือสิ่งของต่างๆ ในช่วงเวลาเปิดและปิดสถานี โดยจะประกาศรายชื่อของผู้บริจาคเงินทุกคน ไม่ว่าจะบริจาคเงินจำนวนเท่าไรก็ตาม เงินที่ได้จากการบริจาคในแต่ละเดือนนั้น มีความเพียงพอต่อรายจ่ายของสถานี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ประจำเดือน ส่วนค่าตอบแทนของคนทำงานหรือผู้จัดรายการนั้น ทางสถานีไม่ต้องจ่าย เนื่องจากอาสาสมัครทุกคนมาช่วยทำงานวิทยุชุมชนด้วยความเสียสละ ไม่คาดหวังเรื่องค่าตอบแทน


 


 


จัดด้วยใจ..ให้สิ่งดี..มีประโยชน์


ครูบุญจันทร์เล่าต่อว่า "ผมเคยถามผู้จัดรายการของสถานีว่า ทำไมพวกเขายังคงมาจัดอยู่ที่สถานีวิทยุชุมชนแห่งนี้? ทั้งที่ไม่ได้เงิน แถมยังต้องเสียเวลา เสียค่าน้ำมันรถเอง และซีดีเทปเพลงต่างๆก็ไม่มีให้ ผู้จัดรายการทุกคนต้องนำมาจากบ้านกันเองทั้งหมด


 


พวกเขาตอบว่า อยากให้คนในชุมชนได้ฟังสิ่งดีๆ มีประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาไม่มีสื่อไหนที่จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนของเรา และมาจัดรายการวิทยุชุมชนที่นี่ รู้สึกว่า มีความสุขมากกว่าไปจัดรายการวิทยุที่สถานีอื่นๆ เพราะมีความเป็นกันเอง มีเรื่องอะไรก็พูดคุยกันแบบฉันท์พี่น้อง เห็นใจกัน หากผู้จัดรายการคนไหนไม่ว่าง ต้องไปขายของในตลาดนัด ติดทอผ้า ต้องไปทำความสะอาดโรงเรียนเพราะเป็นภารโรงของโรงเรียน ก็มาจัดรายการแทนกัน"


 


 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net